1

ผมขับรถผ่านร้านรวงสองข้างทางยามค่ำหลังเลิกงาน หลายร้านประดับประดาด้วยต้นคริสต์มาส ตุ๊กตาซานตาคลอส (บ้างคล้าย บ้างดูแปลกๆ) แสงสีจากแสงไฟประดิษฐ์วิบวาบ ลวดลายที่ถูกวาดบนประตู กระจก หน้าต่างร้าน แม้อยู่ในปีที่สองของโรคระบาด แม้จะมีมวลความเงียบเหงา แต่มนุษย์ก็ไม่เคยหยุดเฉลิมฉลอง ค่ำคืนยังคงถูกแต่งแต้มด้วยสีสันหลากหลาย เฉกเช่นกับทุกปลายปี

นึกย้อนไปว่าเรามีความสุขกับบรรยากาศช่วงปลายปีแบบเต็มความรู้สึกจริงๆ ครั้งสุดท้ายตอนไหน ถ้านับเอาว่าเป็นปลายปี 2019 ก่อนโรคระบาดจะมาถึง แม้จะเพียงสองปี แต่ก็รู้สึกราวกับเป็นอดีตอันไกลโพ้น เหมือนซากฟอสซิลที่เพิ่งถูกขุดขึ้นหลังจากฝังมืดอยู่ใต้ดินมาเนิ่นนาน

กระซิบบอกตัวเองผ่านเงาสะท้อนในกระจกรถว่า แม้จะเล็กน้อย แต่เราก็ยังสัมผัสถึงความสุขได้ บางคนมีงานเลี้ยงเล็กๆ กับคนใกล้ตัว บางคนใช้เวลากับคนที่รัก บางคนนับถอยหลังช่วงสิ้นปีเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา พวกเรายังได้กลับบ้าน

ถ้าเป็นวันวัยที่ยังเด็กกว่านี้ ช่วงปลายปีสำหรับผมคือช่วงเวลาของการกอบโกยความสุขให้มากที่สุด จากบรรยากาศและผู้คนรอบข้าง หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการใช้ชีวิตมาตลอดปี

แต่เมื่อวันที่เติบโตขึ้น ผมพบว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ

2

ไม่กี่วันที่ผ่านมา การงานทำให้ผมได้ย้อนไปเห็นภาพข่าวภาพหนึ่ง เป็นภาพของ สุรีรัตย์ ชิวารักษ์ หรือ ‘แม่สุ’ มารดาของ ‘เพนกวิน’ นักกิจกรรมทางการเมือง ที่ทำการโกนผมบริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และสิทธิการประกันตัวให้ลูกชาย หลังจากศาลปฏิเสธการประกันตัวเพนกวินมานับสิบครั้ง

ใบหน้าของหญิงผู้เป็นแม่ถูกมองเห็นแค่ครึ่งบน เนื่องจากสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เห็นแววตาที่อ่อนล้า เปลือกตาบวมจากการร้องไห้ ดูเศร้าสร้อย น่าสะเทือนใจ

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน แต่จนบัดนี้ ไม่ใช่แค่เพนกวิน แกนนำหลายคน รวมไปถึงเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและแสดงออกทางการเมือง ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่หลังลูกกรง และอาจต้องอยู่ข้ามปี นั่นหมายถึงว่าจะมีคนอย่าง ‘แม่สุ’ ที่ต้องคลาดกับคนที่รัก ไม่รู้อีกกี่คน พ่อแม่กับลูก คนรักกับคนรัก เพื่อนกับเพื่อน

อย่างน้อยก็ในช่วงสิ้นปีนี้

3

นึกย้อนไปถึงสิ่งที่อาจารย์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องคนจนเมือง เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ในวันนั้น พออาจารย์รู้ว่าผมเป็นคนเชียงใหม่ ท่านก็ ‘ปั๊ดเมือง’ ใส่ผมเกือบตลอดบทสนทนา แม้จะมีบรรยากาศความคุ้นเคยจากคนบ้านเดียวกัน แต่หัวข้อที่พูดคุยก็เข้มข้นพอจะทำให้อาจารย์ต้องเบรก แค่นหัวเราะ และยกบุหรี่จุดสูบอยู่เป็นระยะ

“ผมคิดว่าโควิดมาซ้ำเติมโครงสร้างสังคมไทยที่มันย่ำแย่อยู่แล้ว ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงมากขึ้น โดยมีความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลและระบบราชการมาทำให้หนักขึ้น โควิดจึงเป็นตัวที่กระชากเอาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่ครั้งหนึ่งพอจะค้ำๆ กันอยู่บ้างกระแทกลงมา

“เราจะเห็นว่า คนจนเมือง แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ ซึ่งอยู่ข้างล่างของความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ถูกโควิดทำให้หนักลงไปอีก แต่เดิม ในช่วงประมาณปี 2560 สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ออกมารายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำระบุว่า คนจนในบ้านเราเหลือ 5 ล้านกว่าๆ แต่มีคนเกือบจน 10 ล้าน แต่วันนี้ผมคิดว่าคนจนที่มีอยู่ 5-6 ล้าน จะร่วงลงมาหนักมากขึ้น และคนเกือบจนจะร่วงลงมาเป็นคนจน แปลว่าคนจนของเราจะเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล จำนวน 10 ล้านขึ้นไป”

จากสถิติดังกล่าว นอกจาก ‘คนจนเมือง’ จะเพิ่มขึ้นแล้ว ‘คนจนความสุข’ ในสังคมไทยก็น่าจะเพิ่มขึ้นด้วย ผมคิดง่ายๆ ว่าในจำนวนคนเหล่านี้ จะมีสักกี่คนกัน ที่มองเทศกาลคริสต์มาส หรือเทศกาลปีใหม่ เป็นเรื่องของความสุขและความอบอุ่น เหมือนที่คนชนชั้นกลางอย่างผมมอง 

ขณะที่คนจนเมืองจำนวนมากที่อยู่ในสังคมเดียวกัน บางคนอาจต้องนอนข้างถนนข้ามปี โดยไม่รับรู้ถึงแสงสีเสียงของการเฉลิมฉลอง กล่องของขวัญเล็กๆ หรือจะสู้กล่องกระดาษลังสำหรับปูนอน ปีใหม่แล้วยังไง ก็แค่อีกวันที่พวกเขาถูกลืมเหมือนเดิม

4

ปีนี้มนุษยชาติเริ่มมีความหวัง หลังจากมี ‘วัคซีน’ หลากยี่ห้อที่ถูกผลิตออกมาเพื่อต่อสู้กับไวรัสร้าย ซึ่งก็มีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันไป และถูกแจกจ่ายไปให้แต่ละประเทศทั่วโลกจัดสรรให้กับประชาชน

ขณะที่ประเทศไทย ผลลัพธ์ของการไม่เข้าร่วม COVAX ทำให้การจัดซื้อวัคซีนของรัฐมีเพียงสองยี่ห้อเท่านั้น คือแอสตราเซเนกาและซิโนแวค โดยเฉพาะซิโนแวคที่ประสิทธิภาพดูจะด้อยที่สุดในบรรดาวัคซีนโควิด-19 ที่มีในปัจจุบัน แต่กลับถูกสั่งซื้อมาเป็นจำนวนมาก

มหากาพย์วัคซีนในประเทศไทยทำให้หลายคนมองว่ารัฐบาลล้มเหลวในการจัดหาและจัดสรรวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนทางเลือก (ที่ควรจะเป็นวัคซีนหลัก) อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับไวรัสมากที่สุด ที่กว่าจะนำเข้ามาก็ปลายปีแล้ว ขณะที่โมเดอร์นา ซึ่งประชาชนต้องควักเงินในการพรีออร์เดอร์ ก็ต้องรอแล้วรอเล่า จากการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก แถมยังเต็มไปด้วยข้อสงสัยในความโปร่งใสของการจัดหาวัคซีน

แม้สถานการณ์การฉีดวัคซีนของประเทศไทยในเดือนธันวาคมนี้จะดีขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ ‘ยังไม่ได้วัคซีนแม้แต่เข็มเดียว’ อยู่จำนวนมาก โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ตัวเลขผู้ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวในไทยมีประมาณ 7-8 ล้านคน และเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘ฮาร์ดคอร์’ หรือกลุ่มคนที่ปฏิเสธการรับวัคซีนด้วยเหตุผลต่างๆ และยึดมั่นในความคิดดังกล่าว

สฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปล ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า ‘ฮาร์ดคอร์’ ในบริบทประเทศไทยอาจฟังดูแรงเกินไป เพราะคำคำนี้ใช้เรียกคนที่ไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการเข้าถึงวัคซีน แต่ไม่ยอมฉีด เพราะความเชื่ออย่างผิดๆ ที่ฝังลึก เช่น กลัววัคซีนเข้าไปทำให้ร่างกายข้างในผิดปกติ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า anti-vaxxer 

พร้อมกันนั้น ยังให้ทรรศนะว่า คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวในประเทศไทยน่าจะมาจากสามกลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มที่ต่อต้านวัคซีนซิโนแวคกับกลุ่มที่ต่อต้านการฉีดสูตรไขว้ รวมถึงผู้มีโรคประจำตัว และคนที่กลัวแพ้หรือกลัวผลข้างเคียงของวัคซีน สอง กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงวัคซีนจริงๆ เนื่องจากการจัดสรรวัคซีนทั่วประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก และสาม กลุ่มคนที่จ่ายเงินจองโมเดอร์นาสองเข็ม และตั้งใจอดทนรอฉีดวัคซีนยี่ห้อนี้เป็นสองเข็มแรกของตัวเอง

จะเห็นได้ว่า ทั้งสามกลุ่มล้วนเป็นผลมาจากการบริหาร ‘วัคซีน’ ของรัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะในแง่ของการจัดสรร การเข้าถึง หรือการให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อลดข้อกังวลของประชาชนที่มีความไม่มั่นใจในวัคซีน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยต่างจังหวัดจำนวนมากเลือกมาแสวงหาโอกาสในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา และเฝ้ารอช่วงเทศกาลหยุดยาวบนหน้าปฏิทิน เพื่อกลับบ้านไปหาคนที่รัก แต่ในขวบปีที่ไม่ปกตินี้ คนที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวงและอยู่ในกลุ่ม ‘ยังไม่ได้รับวัคซีนสักเข็ม’ ไม่กล้ากลับบ้าน เพราะกลัวติดเชื้อไม่รู้ตัว และเอาเชื้อไปติดคนที่บ้าน

ขนาดเพื่อนผมบางคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ยังไม่กล้ากลับบ้านเลย 

“กูไม่ได้กลับเป็นปีแล้ว” มันว่า 

5

นับตั้งแต่มีโควิด-19 อิสรภาพที่เคยมีก็เหมือนถูกริบหาย การใช้ชีวิตยากขึ้น ส่วนคนที่ยากอยู่แล้ว ก็ยากขึ้นไปอีก 

คนที่ไม่เดือดร้อน (หรือเดือดร้อนแต่ไม่มาก) ได้ฉีดวัคซีน มีงานทำ มีสังคมให้พบปะ บ่นว่าสิ้นปีไม่มีความสุขเลย เพราะไม่ได้ฉลองอย่างสุดเหวี่ยง แต่ก็ยังได้กลับไปพบครอบครัว

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เพื่อนร่วมสังคมจำนวนไม่น้อย วัคซีนสักเข็มก็ยังไม่เคยเห็น และคงไม่ได้กลับบ้านในช่วงสิ้นปีนี้ (อีกแล้ว)

ทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่ได้กลับไปพบกับคนที่รักเสียที ทำไมเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกินที่คนเหล่านี้จะได้กลับไปหาคนที่รัก ถ้าเขาเป็นผู้เลือกจะไม่กลับเองก็คงไม่เท่าไร แต่ถ้าเป็นภาวะต้องจำยอมทั้งที่ไม่เต็มใจจากโครงสร้างทางสังคมก็น่าเห็นใจ

เพราะความน่าไว้วางใจในการใช้ชีวิตของคนในประเทศนี้มันน้อยเหลือเกิน

จะโทษใครดีล่ะ

6

สำหรับผม เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง สิ้นปีที่จะกำลังจะมาถึง ผมคงได้อยู่บนเครื่องบินชั้นประหยัด โดยสารสู่บ้านเกิดตามปกติเหมือนทุกปี ที่ที่มีบ้าน ครอบครัว เพื่อนฝูง รออยู่

แต่สิ่งที่ไม่มีวันเหมือนเดิมคือ ผมจะไม่ลืมว่า ยังมีอีกหลายชีวิตที่ไม่ได้มีความโอกาสเช่นเดียวกับผม มีอีกหลายคนที่ไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้เจอคนที่รัก เพราะความย่ำแย่และความล้มเหลวของผู้มีอำนาจบริหารประเทศ

Tags: , , , ,