1

8 พฤษภาคม 2555 อำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ เสียชีวิตในคุก จากการถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขานุการส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น จำนวน 4 ข้อความ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น คดีของอากงมีความผิดปกติหลายประการ เรื่องแรกก็คือ อากงปฏิเสธมาตลอด เขาส่ง SMS ไม่เป็น แม้เบอร์โทรศัพท์จะเคยเป็นของตัวเอง แต่ก็เลิกใช้ไปนานแล้ว เรื่องที่สอง อากงไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ปรากฏว่าเป็น ‘เสื้อแดง’ และไม่มีทางรู้เบอร์ของเลขาฯ นายกฯ อภิสิทธิ์ ขณะเดียวกัน อากงยังเคยไปลงชื่อถวายพระพรในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะที่ประทับรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชอีก และไปร่วมเคารพพระบรมศพ สมเด็จพระพี่นางฯ ที่ท้องสนามหลวงอีกด้วย

แต่ตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งรับผิดชอบคดีในเวลานั้น ไม่เชื่อสิ่งที่ ‘อากง’ ชี้แจง โดยระบุว่าอากง เป็น ‘แดงฮาร์ดคอร์’ ที่จังหวัดสมุทรปราการ และอาจมีขบวนการ ‘ล้มเจ้า’ หนุนหลัง เพื่อให้ส่งข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

หากจำกันได้ บริบทของสังคม ณ ปี 2553 ยังอยู่ภายใต้ความ ‘อึมครึม’ หลังจากสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 100 คน คนเสื้อแดงจำนวนมากถูกระบุว่าเป็นพวก ‘ล้มสถาบันฯ’ ขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง จากการไม่ลงมา ‘ยุติความขัดแย้ง’ เมื่อมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นกลางกรุง ไม่ต้องพูดถึงบทบาทของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มคนเสื้อแดงเต็มที่

นั่นจึงเป็นเหตุให้ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ มีความอ่อนไหวอย่างมาก ในสายตาฝ่ายอำนาจรัฐและฝ่ายความมั่นคง การดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จึงต้องนำกลับมาใช้เพื่อ ‘ปราม’ ไม่ให้มีการ ‘หมิ่นฯ’ ขยายตัวเป็นวงกว้าง และจำเป็นต้องหาบางคดีตัวอย่างที่ทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัว ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้

เรื่องเศร้าก็คือ ‘อากง’ ถูกเลือกให้เป็นตัวอย่างเชือดไก่ให้ลิงดู จะได้ไม่มีใครกล้าหมิ่นฯ​ อีกต่อไป

2

3 สิงหาคม 2553 ตำรวจเข้าจับกุมอากงที่ห้องเช่าซอยวัดด่านสำโรง และนำตัวไปฝากขังทันที อากงถูกฝากขังรอบแรกเป็นเวลา 63 วัน โดยไม่ได้รับการประกันตัวตาม ‘มาตรฐาน’ ของคดี 112 เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ว่าเป็นคดีโทษหนัก

แม้จะได้ประกันตัวในศาลอุทธรณ์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงต้นปี 2554 เรื่องถึงชั้นอัยการ อัยการตัดสินใจสั่งฟ้องอากงด้วยมาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ศาลกลับมีคำสั่ง ‘ไม่ให้ประกัน’ ด้วยเหตุผลว่า ‘พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี’ แม้คดีจะยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีคำพิพากษาเกิดขึ้น

เป็นเหตุผลที่เป็นทางการ เหตุผลเดียวกับการไม่ให้ประกันตัว ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์ และผู้ต้องหาคดี 112 คนอื่นๆ ในอีก 11 ปีถัดมา

ส่วนเหตุผลที่ไม่เป็นทางการ ละไว้ในฐานที่เข้าใจกัน…

 

3

อากงติดคุกในระหว่างรอตัดสินคดีนานกว่า 10 เดือน อำนาจรัฐถูกเปลี่ยนจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กว่าศาลจะตัดสินก็ต้องรอให้ถึงเดือนพฤศจิกายน 2554

ระหว่างนั้น อานนท์ นำภา ทนายฝ่ายอากงพยายามนำสืบว่า SMS ที่เลขานุการของอภิสิทธิ์ได้รับนั้น ถูกส่งมาจากเบอร์ดีแทคที่ไม่ได้ลงทะเบียน แม้ฝ่ายอัยการนำสืบว่าหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ที่ตรงกับเบอร์ดังกล่าวเป็นหมายเลขเดียวกับเครื่องอากง ทว่าผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าหมายเลขอีมี่นั้น สามารถปลอมแปลงได้ง่าย ขณะที่ทนายฝ่ายอากงยืนยันว่าโทรศัพท์โมโตโรลาจอขาวดำ และเบอร์โทรศัพท์เบอร์นี้ อากงใช้เพียงคนเดียว ไม่เคยถอดเปลี่ยนซิม และใช้คุยกับลูกสาวเท่านั้น

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำพิพากษาศาล ระบุว่า ประเด็นที่อ้างถึง ‘หมายเลขอีมี่’ นั้น จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ว่าไม่ได้เป็นผู้ส่ง SMS และแม้จะมีช่องโหว่ทางเทคนิคมากมาย แต่ศาลก็ยังเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ส่ง SMS โดยไม่มี ‘พิรุธ’ อื่นใด

“เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน”

“ซึ่งจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมด ซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใดๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้อง…”

คำตัดสินของผู้พิพากษาชนาธิป พิพากษาว่าอากงอำพลมีความผิดตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์จริง ศาลตัดสินให้จำคุกมาตรา 112 หนักที่สุดเพียงบทเดียว 4 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมแล้วอากงในวัย 62 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี

 

4

คดีอากงสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการศาลอย่างหนัก เพราะแม้ศาลจะมีคำพิพากษามาแล้ว สังคมก็ยังไม่เชื่อว่าอากงเป็นผู้ส่ง SMS จริง มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจำนวนมากยืนกรานว่าหมายเลขอีมี่โทรศัพท์ที่อัยการนำสืบ และศาลใช้เป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินว่าอากงส่ง SMS จริงนั้น ไม่สามารถเชื่อถือได้ ซ้ำยังมีปฏิกิริยาจากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีเกี่ยวกับคดีนี้ว่า

“สหรัฐอเมริกาให้ความเคารพอย่างสูงสุดต่อสถาบันกษัตริย์ของไทย แต่กระบวนการยุติธรรมไทยอาจไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น”

สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรมในเวลานั้น เขียนบทความโต้ตอบปฏิกิริยาดังกล่าวลงหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ อย่างดุเดือด ในหัวข้อว่า ‘อากงปลงไม่ตก’ เนื้อหาโดยสรุปคือการยืนยันว่าศาลยังคงยุติธรรม และการตัดสินเป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ที่กระทำความผิดคิดวางแผนไตร่ตรองในการกระทำความผิดอย่างแยบยลแนบเนียนด้วยแล้ว  ก็ยิ่งสมควรใช้วิธีการที่เหมาะสม ในการคุ้มครองรักษาความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนด้วย”

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก ที่ศาลออกมาตอบโต้ปฏิกิริยาต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เคยเกิดขึ้นแล้ว

 

5

หลังจากศาลชั้นต้นตัดสิน อากงพยายามยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง ด้วยเหตุผลสำคัญคือป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลว่า ‘เชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี’ และโรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถดูแลอาการเจ็บป่วยได้อยู่แล้ว

เว็บไซต์ iLaw รวบรวมข้อมูล พบว่า นับแต่วันฟ้องคดี 18 มกราคม 2554 จนถึงวันที่ขอถอนอุทธรณ์วันที่ 3 เมษายน 2555 รวมศาลชั้นต้นยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำนวน 4 ครั้ง ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องจำนวน 3 ครั้ง และศาลฎีกายกคำร้องจำนวน 1 ครั้ง

ในเวลานั้น หลายเสียงพูดตรงกัน มีความพยายาม ‘ล็อบบี้’ ให้อากงรับสารภาพ เพื่อจะได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเหมือนกับคดีอื่นๆ เพราะเป็นที่รู้กันว่ามาตรา 112 นั้น มาตรฐานของศาลหรือ ‘ยี่ต๊อก’ ศาลจะไม่ให้ประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี ซึ่งหมายความว่าอากงจะติดคุกยาวนานต่อไปเรื่อยๆ

แต่ยังไม่ทันได้เริ่มขั้นตอนดังกล่าว อากงก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เพราะปวดท้องอย่างหนัก มีการไต่สวนในเวลาต่อมา พยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้การว่า โรงพยาบาลไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งและเครื่องมือเฉพาะทาง การส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลอื่นจะกระทำได้ด้วยการตัดสินใจของผู้อำนวยการโรงพยาบาลเท่านั้น

“ใครตายก่อน ก็ให้ไปรอในสวรรค์” คำคำพูดสุดท้ายก่อนที่อากงจะเข้าคุก ซึ่งฝากถึงป้าอุ๊ ภรรยา

“กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว” คือคำสุดท้ายของภรรยาของอากง ที่พูดกับศพอากงหลังจากดูศพสามี

 

6

บทสรุปคดีอากงสร้างความสะเทือนใจ แต่ไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้กับสังคมไทยได้ หลังจากเหตุการณ์นั้นใหม่ๆ มีการรณรงค์และมีความพยายามยื่นแก้ไขมาตรา 112 แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลและจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นประเด็น ‘อ่อนไหว’ มากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมาจากพรรคที่ถูกข้อครหาว่า ‘ล้มเจ้า’ เป็นทุนเดิม

สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ ผ่านมา 11 ปี กระบวนการจัดการกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าผิดมาตรา 112 ยังคงเป็นเหมือนเดิม แม้เราอาจจะพูดถึงได้มากขึ้น แต่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการศาล ยังคงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้ และดูเหมือนจะแย่ไปกว่านั้นอีก คดีของเพนกวิน รุ้ง และคนอื่นๆ ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาแทรกแซง ละเมิดสิทธิไม่ให้คุยกับทนาย ทั้งการพิจารณาคดียังเป็นไปอย่างปิดลับ ราวกับอยู่ใน ‘ยุคกลาง’ ไม่ต้องสนใจหลักการการดำเนินคดีอย่างเปิดเผย ไม่ต้องสนใจแม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักการสากลว่า ‘ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์’

การเสียชีวิตของอากง ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่า การใช้กระบวนการยุติธรรมและมาตรา 112 ทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นผลดีกับใคร

กฎหมายนี้อาจทำให้คนกลัวได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถามว่าเมื่อคน ‘ตื่น’ แล้ว ก็ไม่มีวันและเหตุผลอะไรต้องกลัวอีก ในทางกลับกัน การใช้ต้นทุนที่มีของ มาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมไปแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งนานวัน ยิ่งส่งผลกระทบกับทั้งกระบวนการยุติธรรม และสิ่งที่กฎหมายนี้ใช้ปกป้องคุ้มครอง นั่นคือสถาบันพระมหากษัตริย์

เพราะกฎหมายจะทำให้คน ‘เคารพ’ ได้ และเกรงกลัวได้ ในแง่หนึ่ง กฎหมายจำเป็นต้องอยู่บนหลักการขั้นพื้นฐาน ต้องสมเหตุสมผล และปฏิบัติในฐานะคน เท่ากับคน คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และยึดมั่นในหลักยุติธรรมสำคัญคือ ต้องมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ขณะเดียวกัน กระบวนการก็ต้องเป็น ‘อิสระ’ ปราศจากการแทรกแซงโดยผู้ใด หรืออำนาจใด

น่าเสียดายที่ผ่านมานับสิบปี กระบวนการยุติธรรมไทยยังคงกระท่อนกระแท่น ไปไม่ถึงไหนเลย

หากดวงวิญญาณของอากงรับรู้ ขอให้ปกป้องผู้ต้องหาทุกคนให้ปลอดภัยจากทั้งโรคภัยไข้เจ็บ และจากกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ ที่ทำร้ายคนไปไม่รู้กี่คนแล้วด้วยเทอญ

 

อ้างอิง

https://www.blognone.com/node/28771

https://freedom.ilaw.or.th/case/21#progress_of_case

https://thaipublica.org/2011/11/ten-questions-ah-kong/

https://prachatai.com/journal/2011/12/38314

https://www.posttoday.com/politic/report/126926

Tags: , , , ,