(1)
“คุณเชื่อในตัวสุเทพ และ กปปส. จริงเหรอ?” เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมถาม ‘ผู้ใหญ่’ ในแวดวงราชการคนหนึ่ง ระหว่างการสนทนานอกรอบ
ในเวลานั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ ‘ยุบสภา’ หลังการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบ ‘เหมาเข่ง’ ชั่วข้ามคืน กลายเป็นข้อผิดพลาดใหญ่ เรียก ‘มวลมหาประชาชน’ ลงท้องถนนได้ ในตัวเลขที่สุเทพเคลมว่าเป็นแสนเป็นล้านคน
ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศ ที่มีหัวหน้าพรรคจบจากประเทศต้นกำเนิดของระบบรัฐสภา ก็สนับสนุนแนวทางนั้น ตัดสินใจให้ ส.ส. ของพรรค ลาออกทั้งหมด เพื่อบีบตัวเองลงท้องถนน ต่อสู้ร่วมกับกปปส. อย่างเต็มที่ ไม่นานหลังจากนั้น พรรคนี้ก็ปฏิเสธที่จะลงเลือกตั้ง ยืนยันข้อเสนอร่วมกับผู้ชุมนุม ขอให้ต่อสู้บนท้องถนนได้รับชัยชนะ แล้ว ‘ปฏิรูปประเทศ’ ก่อน ค่อยรอลงเลือกตั้งรอบหน้า
“เปล่า ผมเชื่อในการปฏิรูปประเทศ และผมเชื่อว่าถ้าเราผ่านพ้นจุดนี้ ผ่านพ้นการชุมนุม กปปส. ไปได้ พลังของประชาชนจะเปลี่ยนประเทศเราให้ดีขึ้นได้จริง” ผู้ใหญ่คนนั้น ตอบคำถามผม
(2)
ช่วงเวลานั้น ผมเป็นนักข่าวได้สักระยะแล้ว ผ่านเหตุการณ์แปลกๆ มาก็มาก แต่ในเวลานั้นหลายอย่าง ‘ผิดปกติ’ จริงๆ เป็นต้นว่า การสมัครรับเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่นซึ่งควรจะเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นเหตุปะทะรุนแรง เมื่อผู้ชุมนุม กปปส. ยกขบวนไปล้อมสนามกีฬา จนทำให้ตำรวจและผู้ชุมนุม เสียชีวิตฝั่งละ 1 คน
ภาพที่เราเห็นเป็นประจำคือความรุนแรง ชนิดที่สังคมไทยไม่อาจจินตนาการได้ วันเลือกตั้งล่วงหน้ามีการใช้ ‘ปืนกล’ ใส่ถุงป๊อปคอร์นยิงต่อสู้กันที่แยกหลักสี่ไม่ไกลจากบ้านผม จนลุงที่ไปรอรับหลานอยู่แถวนั้นเสียชีวิตไปด้วย ขณะเดียวกัน แกนนำ กปปส. ที่ไปปิดหน่วยเลือกตั้งก็ถูกกระสุนยิงหัวจนเสียชีวิตที่แถววัดศรีเอี่ยมเหมือนกัน จนดูเหมือนมีความพยายาม ‘ปั่น’ เหตุการณ์ให้รุนแรง ให้อยู่นอกเหนือจากการควบคุม เพื่อให้เห็นว่าเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ควบคุมไม่ได้แล้ว ไม่เหลือทางเลือกอื่นให้ควบคุมเหตุการณ์ นอกเหนือจากการเอารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นนายกฯ รักษาการ ออกไป
ที่น่าสนใจก็คือ ในห้วงเวลาเดียวกับที่มีเหตุรุนแรง ยังคงมีการจัดเวที กปปส. Art Lane แถวๆ ชิดลม-เพลินจิต ดารา นักร้อง นักแสดงชื่อดัง ยังคงแสดงอาการ ‘สะใจ’ ที่ฝ่าย กปปส. มีอาวุธสงครามยิงคน และกลายเป็นตราบาปติดตัวเขามาจนถึงทุกวันนี้
ขณะเดียวกัน บรรดานักข่าวอาวุโสหลายๆ คนรอบๆ ตัวผมก็ยังบอกกับผม นักข่าวเด็กๆ ที่เชื่อสนิทใจว่าเรื่องทั้งหมดนี้ผิดปกติว่า
“เชื่อเถอะ พี่ว่าแนวทางของกำนันสุเทพถูกต้องแล้ว”
(3)
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ การชุมนุมของ กปปส. นั้นลากยาวข้ามปีมานานถึงเดือนพฤษภาคม มีเหตุร้ายแรง มีผู้เสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจหรือฝ่ายผู้ชุมนุม ยุทธวิธีของสุเทพและ กปปส. ในการเผด็จศึกระยะหลังคือ พยายามทำให้เกิดวิธีที่เรียกว่า ‘ปฏิวัติประชาชน’ เพราะในระบบรัฐสภา สุเทพบีบให้ยิ่งลักษณ์ยุบสภาจนเหลือสภาเดียวคือ ‘วุฒิสภา’ และมีพรรคพวกของเขา อย่างกลุ่ม 40 ส.ว. นั่งอยู่
แต่ในเวลาเดียวกัน กลไกภายใต้ฝ่ายบริหาร สุเทพยังไม่สามารถทำอะไรได้ ยิ่งลักษณ์ในฐานะรัฐบาลรักษาการยังมี ‘ความชอบธรรม’ ในทางกฎหมาย เพราะฉะนั้น วิธีบีบอีกอย่างหนึ่งก็คือ การบีบผ่าน ‘รัฐวิสาหกิจ’ และ ‘ข้าราชการ’ ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการของยิ่งลักษณ์ให้ ‘นัดหยุดงาน’ ลากลับบ้าน โดยสุเทพยกขบวนไปเยี่ยมด้วยตนเองทุกหน่วยงาน โดยมีแม่ยกป้าๆ ลุงๆ เอาพวงมาลัยหอบเงินเป็นปึกไปห้อยคอลุงกำนัน
ในเวลานั้น ผม ซึ่งรับผิดชอบดูแลข่าว ‘สาธารณสุข’ แทบจะไม่ได้ทำข่าวด้านนี้ เพราะกระทรวงสาธารณสุขนำโดยปลัดกระทรวง ดันเลือกเส้นทางเดียวกับ กปปส. นั่นคือไม่ฟังฝ่ายการเมือง ไม่เอารัฐบาลโกงประชาชน จนทำให้รัฐมนตรีซึ่งเป็นหมอเหมือนกันและสนิทสนมโดยส่วนตัวกับยิ่งลักษณ์ โกรธจนหน้าดำหน้าแดงที่ไม่สามารถคุมกระทรวงนี้ได้ เลยต้องปรับโหมดเป็น ‘การเมือง’ เต็มที่ เช่นเดียวกับพรรคพวกในวงการสื่ออีกหลายคน
วันหนึ่ง ผมไปคุยกับอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยใจกลางเมือง ไม่ไกลจากเวทีชุมนุม อาจารย์ท่านนั้นเล่าความ ‘เสียสละ’ อย่างสูงของลุงกำนัน ด้วยการที่ลุงต้องเอาที่ดินจำนวนมากที่สุราษฎร์ธานีเข้าไปจำนองในธนาคาร และตัดทยอยขายบางส่วน เพื่อเอาเงินทุนมาเติม หล่อเลี้ยงให้การชุมนุมของชาวนกหวีดในเมืองหลวงยังคงเดินต่อได้
ในห้วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน การบีบไปยังข้าราชการของ กปปส. ไม่ได้เห็นผลเท่าไรนัก อีกขาหนึ่งเลยต้องบีบไปที่ ‘แบงก์’ ของรัฐอย่างธนาคารออมสิน ไม่ให้ปล่อยกู้ให้กับชาวนาเพื่อรับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว และในอีกขา ทาง ‘กฎหมาย’ บรรดาพลพรรคก็ยื่นสารพัดคดีให้ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ตรวจสอบทุกเรื่องที่พอจะเป็นประเด็นได้ เพื่อให้รัฐบาลรักษาการของยิ่งลักษณ์หมดสภาพ เปิดทางไปสู่การแต่งตั้งนายกฯ ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งให้หานายกฯ ตามประเพณีการปกครอง และให้นายกฯ มาตรา 7 ตั้ง ‘สภาประชาชน’ เพื่อปฏิรูปประเทศ
ถึงเรื่องพวกนี้ จะฟังดู ‘เหลือเชื่อ’ และ ‘ไร้สาระ’ มากแค่ไหน แต่ผมอยากจะบอกว่า ณ ปี 2557 มีคนยอมรับพล็อตนี้จริงๆ แม้แต่ในองค์กรสื่อใหญ่แบบที่ผมทำงานอยู่ ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่า แม้แต่ผู้พิพากษาระดับสูงหลายคนก็ร่วมสมาทานแนวคิดนี้ พร้อมกับลงถนนเป่านกหวีดด้วย จนมีรูปถ่ายติดตัวหลอกหลอนมาจนถึงวันนี้
“ผมจะบอกอะไรให้ เรื่องนี้มันจะต้องจบ และมันจะจบในเวลาไม่นานนัก เพราะประเทศชาติไม่สามารถแบกรับความเสียหายไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว” อาจารย์ท่านนั้นบอกกับผม
(4)
ในแง่หนึ่ง การชุมนุม ‘ชัตดาวน์’ ส่งผลเสียในทางเศรษฐกิจจริง งบโฆษณาเริ่มถอนออกจากสื่อ อีเวนต์ขนาดใหญ่ต้องหลีกเลี่ยง ที่แย่ไปกว่านั้นคือการใช้จ่าย จัดซื้อจัดจ้างจากนโยบายรัฐแทบชะงักงัน และเมื่อเงินจากโครงการรับจำนำข้าวไปไม่ถึงชาวนา เศรษฐกิจฐานรากก็แย่ไปด้วย
กระนั้นเอง แรงผลักจึงทำให้นักธุรกิจใหญ่ร่วมกันต่อสายไปถึงสุเทพให้เรื่องนี้จบลงเสียที ในอีกด้าน ทุกวงสนทนานักธุรกิจใหญ่ มักจะ ‘คุยข่ม’ กันเสมอ ว่าใครจะเข้ามาเป็น นายกฯ คนนอก, นายกฯ มาตรา 7 หรือ นายกฯ จากการรัฐประหาร แต่ที่แน่ๆ เมื่อเลยเถิดไปถึงขนาดนี้ ‘พรรคเก่าแก่’ ที่เลือกเส้นทางนอกสภาล้วนแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะเป็นแนวทางไหน
แล้วก็อย่างที่เรารู้กัน การชุมนุมยาวนาน 6 เดือนจบลงด้วยการ ‘ทุบโต๊ะ’ รัฐประหารของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และบทเพลง ‘เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน’
สุเทพเฉลยทีหลังกับผู้ชุมนุม กปปส. วงปิด ที่บังเอิญมีนักข่าวจากบางกอกโพสต์นั่งอยู่ด้วยว่า เขาใช้เงินไปกับการชุมนุมครั้งนี้กว่า 1,400 ล้านบาท และในอีกด้าน เขายัง ‘ไลน์’ คุยกับคุณประยุทธ์ซึ่งเขาสนิทสนมมาตั้งแต่ปี 2553 มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สถานการณ์เพิ่งเริ่มสุกงอม
“คุณสุเทพและมวลมหาประชาชนเหน็ดเหนื่อยมามากแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาทหารมาสานต่อหน้าที่ภารกิจนี้” คือประโยคท้ายๆ ที่ผู้บัญชาการทหารบก คุยกับลุงกำนัน..
แน่นอน การเดินทางมาถึงวันนี้ 7 ปีหลัง เราไม่สามารถตัดลุงกำนัน กปปส. พรรคเก่าแก่ และคนที่เชื่อแนวทางนี้ออกจากสมการการเมืองไทยได้เลย
เพราะถ้าไม่มี กปปส. ก็ไม่มีเหตุอันควรใดที่จะพาทหารกลับเข้าสู่วงจรอำนาจลากยาวมาจนถึงวันนี้
(5)
เรื่องที่เขียนมาข้างต้น คือสิ่งที่พรั่งพรูออกมาจากความทรงจำ ทันทีที่ได้เห็นคำสั่งศาลตัดสินจำคุกแกนนำ กปปส. จำนวนมาก ตั้งแต่ลุงกำนัน รัฐมนตรี (อดีต) พระสงฆ์ และเห็นบรรดากองเชียร์จำนวนไม่น้อยร้องไห้ที่ศาลอาญา ก่อนจะปรารภว่า “ทำไมคนทำเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างบรรดาแกนนำ กปปส. ถึงต้องมีจุดลงเอยแบบนี้”
อันที่จริง ผมเชื่อว่ากองเชียร์จำนวนมากไม่ได้ผิดอะไร หลายคนอยากเห็นการปฏิรูป อยากเห็นประชาธิปไตยที่จับต้องได้จริง เบื่อการเมืองแบบรัฐสภาเพราะเชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญคือ อยากปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากอริราชศัตรูอย่าง ‘คนเสื้อแดง’ และ ‘ระบอบทักษิณ’
แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืม ก็คือจนถึงวันนี้ ผ่านมา 7 ปี ยังไม่ได้มีการปฏิรูปใดที่จับต้องได้ เราแทบยังไม่ได้ ‘ฉันทามติ’ ว่าจุดกึ่งกลางอยู่ตรงไหน ที่สำคัญคือเมื่อเราอยู่ในระบอบ ‘สุดโต่ง’ ภายใต้เผด็จการทหารมา 7 ปีก็ต้องกลับไปสู่การชุมนุม ‘มุมกลับ’ ใช้ ‘ลัทธิแก้’ นกหวีดเพื่อกลับไปหาความเป็นปกติ และกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการชุมนุมลักษณะนี้ ก็เชื่อได้ว่า จะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
ระบบรัฐสภายังย่ำแย่เหมือนเดิม รัฐธรรมนูญก็ยังเถียงกันอยู่ถึงทุกวันนี้ว่าจะแก้อย่างไร และจะมีหน้าตาแบบไหน อันดับการคอร์รัปชันต่ำลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่น่าขำขัน แบบที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ระบุว่า เป็นเพราะจำนวนประเทศเข้าร่วมจัดอันดับมีมากขึ้น
น่าเสียดายที่เรายังอยู่ที่เดิม โดยที่บรรดา กปปส. และกองเชียร์ไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไร เสมือนว่ายังคงอยู่ในช่วงเวลาที่เสียงนกหวีดดังกึกก้องไปหมด พร้อมทั้งคิดว่าบ้านเมืองขณะนี้ ทุกอย่าง ‘ดี’ อยู่แล้ว
7 ปีหลังการชุมนุมของ กปปส. เสียงนกหวีด ดูเหมือนจะไม่ได้หายไปไหน แต่ยังดังก้องอยู่ในหัวของกองเชียร์ จนไม่อาจได้ยินอะไรอย่างอื่นเลยนั่นเอง
Fact Box
- กปปส. ย่อมาจาก ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ด้วยเหตุที่ชื่อเต็มยาวมากขนาดนี้ ทำให้สื่อมวลชนจำนวนมาก หลีกเลี่ยงที่จะเขียนชื่อเต็ม และเรียกโดยภาพรวมว่า กปปส. แทน
- โครงสร้างของ กปปส. มีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ และมีเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ลูกบุญธรรมของสุเทพ เป็นโฆษก ตำแหน่งสูงสุดของ กปปส. คือตัวสุเทพ ที่เป็นเลขาธิการ โครงสร้างคล้ายกับ ‘พรรคคอมมิวนิสต์จีน’ ทำให้ กปปส. ไม่มีประธาน ถึงกระนั้นเอง ก็มีเสียงลือจำนวนมากว่า ใครคือประธาน กปปส. ตัวจริง
- หลังการออกมาเปิดเผยเรื่องการ ‘ไลน์’ คุยกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง และการเปิดเผยเรื่องเงินที่ใช้จัดการเวที 1,400 ล้านบาท ราว 1 เดือน สุเทพ ได้ตัดสินใจอุปสมบทที่วัดท่าไทร และไปจำวัดที่วัดสวนโมกข์ (สวนโมกขพลาราม) จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยสุเทพใช้เวลาบวชยาวนานกว่า 1 ปี และระบุว่าหลังจากลาสิกขา จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และจะเดินหน้าทำ ‘การกุศล’ ผ่านมูลนิธิมวลมหาประชาชนเท่านั้น