แม้ว่าเด็กสาวชาวซาอุดีที่ ‘หนีออกจากบ้าน’ ลงเอยด้วยการลี้ภัยในแคนาดา แต่กรณีของ ‘ราฮาฟ’ ทำให้โลกเพ่งเล็งปัญหาสิทธิสตรีของซาอุดีอาระเบีย ต้องดูกันว่า หลังจากนี้ ผู้ปกครองของประเทศเคร่งจารีตแห่งนี้จะผ่อนคลายระบบ ‘ชายผู้คุ้มครอง’ แค่ไหน อย่างไร

เมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาประเทศไทย ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนุน วัย 18 ปี เดินทางถึงแคนาดาโดยสวัสดิภาพ หลังถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยกักตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา

โลกเขม้นมองซาอุดีอาระเบียมาโดยตลอดว่ากดขี่ผู้หญิง สถานะของประเทศนี้ในเรื่องสิทธิสตรีนับว่าย่ำแย่ รายงานของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ในหัวข้อ Global Gender Gap เมื่อปี 2017 จัดให้ประเทศพี่เบิ้มในคาบสมุทรอาหรับแห่งนี้อยู่ในอันดับที่ 138 จาก 144 ประเทศ

สถานะดังกล่าวถือว่ากระเตื้องขึ้น เพราะถ้าเทียบกับรายงานเมื่อปี 2016 ซาอุดีอาระเบียอยู่ในอันดับที่ 141 จาก 144 ประเทศ การไต่อันดับนี้นัยว่าเป็นผลจากความพยายามปฏิรูปของมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซาลมาน ที่อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ ผ่อนคลายข้อห้ามเรื่องการทำกิจกรรมร่วมกันของชายหญิง รวมถึงเปิดรับทหารหญิงเป็นครั้งแรก

ระบบ ‘ชายเป็นใหญ่’

ถึงกระนั้น การละวางธรรมเนียม ‘ชายเป็นใหญ่’ ที่ยึดถือกันมาช้านาน ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อปีที่แล้ว เจ้าชายโมฮัมเหม็ดให้สัมภาษณ์นิตยสาร The Atlantic ในสหรัฐฯ ว่า ตัวท่านเองก็อยากเลิกระบบชายผู้คุ้มครอง แต่ยังทำไม่ได้ ท่านบอกว่า ถ้าล้มเลิกกฎประเพณีข้อนี้ เท่ากับท่านกำลังสร้างปัญหาแก่ครอบครัวจำนวนมากที่ไม่อยากให้เสรีภาพแก่ลูกสาว

ตามระบบที่ว่านี้ หญิงซาอุดีทุกคนต้องมีชายผู้คุ้มครอง ส่วนใหญ่ก็คือพ่อ หรือสามี บางครั้งก็เป็นลุง น้า พี่หรือน้อง หรือกระทั่งลูกชาย ไม่ว่าฝ่ายหญิงต้องการจะแต่งงาน ขอหนังสือเดินทาง เปิดบัญชีธนาคาร เดินทางไปต่างประเทศ ต้องได้รับความยินยอมจากฝ่ายชายก่อน

อันที่จริง ราฮาฟไม่ใช่ผู้หญิงคนแรกที่หนีออกนอกประเทศ หลายรายเคยทำมาแล้ว แต่ถูกส่งตัวกลับบ้าน ความสมหวังของเธอในครั้งนี้ ด้านหนึ่งอาจอธิบายว่าเป็นผลจากพลังของโซเชียลมีเดีย ที่เธอใช้ทวิตเตอร์ร้องขอความสนับสนุนอย่างได้ผล ในอีกด้านหนึ่ง เป็นความประจวบเหมาะที่โลกยังไม่หายพรั่นพรึงกับการสังหารโหดสื่อมวลชน จามาล คาช็อกกี บวกกับชื่อเสียงในทางลบเรื่องสิทธิสตรีของประเทศบ้านเกิดของเธอ

ในช่วงที่มีข่าวครึกโครมในสัปดาห์ที่แล้ว ไม่เพียงผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวต่างชาติเท่านั้นที่ช่วยกันรณรงค์ให้ปล่อยตัวราฮาฟ ในซาอุดีอาระเบียก็เกิดกระแสเรียกร้องให้ยุติระบบชายผู้คุ้มครอง ด้วยแฮชแท็ก #EndMaleGuardianship

แพทย์หญิงคนหนึ่ง อายุ 36 ปี มีลูกสองคน เรียนจบฮาร์วาร์ด ทวีตข้อความว่า เธอยังคงได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นผู้เยาว์ “ฉันได้รับความไว้วางใจให้ตัดสินความเป็นความตายของคนไข้ ได้รับความไว้วางใจให้เลี้ยงดูบุตร แต่ไม่ได้รับความไว้วางใจให้ตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง ช่างย้อนแย้งจริงๆ!”

ที่ดูจะย้อนแย้งยิ่งกว่านั้น ผู้หญิงชาวซาอุดีที่สนับสนุนระบบชายเป็นใหญ่ก็มีไม่น้อย พวกเธอบอกว่า ระบบนี้ตั้งอยู่บนความรักที่พ่อหรือสามีมีให้แก่ลูกสาวหรือภรรยา เพราะว่าเขารัก เขาจึงคอยปกป้อง ที่สำคัญ มันเป็นธรรมเนียมที่ทำกันมาอย่างนี้

สำหรับปฏิกิริยาของฝ่ายชายดูจะคาดเดาได้ หลายคนประณามราฮาฟที่สร้างความเสื่อมเสียแก่ครอบครัว และเลิกนับถืออิสลาม

ปฏิรูปสถานะสตรี ยังอีกนาน

ระบบผู้พิทักษ์ชายนี้ ไม่เชิงเป็นกฎหมายเสียทีเดียว หากแต่เป็นธรรมเนียมที่สืบทอดจนเป็นส่วนหนึ่งของศาสนบัญญัติ ที่เรียกว่า ชะรีอะห์ ด้วยเหตุที่มีมิติทางศาสนาตามการตีความแบบเคร่งครัดเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การยกระดับสถานะของผู้หญิงในสังคมกลายเป็นประเด็นอ่อนไหว

สตรีชาวซาอุดีเริ่มรณรงค์ในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2016 ด้วยการชูคำขวัญ “ฉันคือผู้คุ้มครองตัวเอง” การจุดกระแสครั้งนั้นดูจะได้ผลในระดับหนึ่ง พระราชาธิบดี ซาลมาน ออกโองการฉบับหนึ่งเมื่อปี 2017 อนุญาตให้ผู้หญิงตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนและการรักษาพยาบาลได้เอง ถึงแม้นักเคลื่อนไหวบอกว่า เรื่องเหล่านี้ยังไม่ค่อยเป็นจริงในทางปฏิบัติ

การซื้อบ้านหรือการไปเช่าห้องพักอาศัย ถ้าไปติดต่อเจรจาตามลำพัง ก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้หญิงทำได้ยากถึงแม้ไม่ได้มีข้อห้ามอย่างเป็นทางการ รวมถึงการไปสมัครงานด้วย แม้ว่าทางการยกเลิกข้อกำหนดตามกฎหมายไปแล้ว แต่นายจ้างก็ยังถามหาความยินยอมของญาติฝ่ายชายอยู่เหมือนเดิม

การปฏิรูปที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การขับรถ เมื่อปีที่แล้ว ทางการอนุญาตให้ผู้หญิงขอใบขับขี่และขับรถโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้คุ้มครอง

อย่างไรก็ดี ประเด็นใหญ่ที่คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกนาน คือ การขอหนังสือเดินทาง และการไปต่างประเทศ ข้อนี้มีกฎระเบียบว่า ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ชาย  

เมื่อราฮาฟผละหนีจากพ่อขณะไปคูเวต เดินทางคนเดียวมาแวะที่ประเทศไทย และร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติ จึงเป็นการท้าทายต่อประเพณีเก่าแก่อย่างถึงแก่น

การกระทำของเธอจะเป็นแบบอย่างให้หญิงสาวชาวซาอุดีคนอื่นๆ เดินตามหรือเปล่า ผู้ปกครองของซาอุดีอาระเบียจะชั่งน้ำหนักอย่างไรระหว่างอิสรภาพของผู้หญิงกับขนบจารีต ต้องคอยดูกันต่อไป

 

อ้างอิง:

Tags: , , ,