เป็นเรื่องบังเอิญที่มีการอ้างอิงถึงชื่อของเมืองเมืองหนึ่งในรัฐแมรี่แลนด์ถึงสองครั้งจากเจ้าของร้านแอนทีคที่ฉันไปชมมา ครั้งหนึ่งคือเจ้าของแผงในตลาดนัดจอร์จทาวน์ (George Town Flea Market) ในวอชิงตัน ดี.ซี. และอีกครั้งจากร้านของเก่าในเมืองชาร์ลทาวน์ เวสต์ เวอร์จิเนีย ทั้งสองคนแนะนำตรงกันว่า ถ้าชอบเดินเล่นในเมืองเก่าและชอบซื้อของเก่าด้วย ควรจะไปที่เมืองเฟรเดอริก (Frederick) ให้ได้สักครั้ง และก็เป็นเรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่เมืองที่ว่านั่นอยู่กลางทางระหว่างวอชิงตัน ดี.ซี. ไปยังชาร์ลทาวน์พอดี เลยมีโอกาสไปเที่ยวโดยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก หากได้ความรู้สึกที่ดีกลับมา พร้อมกับกระเป๋าสตางค์ที่แบนลงไปทุกที
เฟรเดอริกเป็นเมืองขนาดปานกลางค่อนไปทางเล็ก ห่างจากวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยการนั่งรถไฟ MARC Train ราวหนึ่งชั่วโมง หรือถ้าจะเรียกอูเบอร์มาจากเมืองหลวงเขาก็มาส่ง (นั่งเมโทรสายสีแดงมาจนสุดสายที่ Shady Grove เรียกอูเบอร์จากตรงนั้น ใช้เวลาประมาณ 35-40 นาที)
ย่านเมืองเก่าของเฟรเดอริกตั้งอยู่บนถนนสายหลักที่ตัดกันสองเส้น มีเส้นหนึ่งเลียบลำคลองที่ถูกปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสวนสาธารณะ ความน่ารักของเมืองนี้คือ แนวอาคารในเมืองเก่าที่เป็นอาคารอิฐสีส้มเหมือนกันหมด เป็นเมืองที่คุมโทนสีได้ดีมากๆ อาคารที่เก่าที่สุดของเมืองสร้างขึ้นในปี 1756 ส่วนอาคารหลังอื่นๆ ก็สร้างในปีไล่เลี่ยต่อกันมา เมืองนี้เริ่มก่อรูปก่อร่างตั้งแต่ก่อนจอร์จ วอชิงตัน จะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาในปี 1789 เสียอีก
ความน่ารักของเมืองนี้คือ แนวอาคารในเมืองเก่าที่เป็นอาคารอิฐสีส้มเหมือนกันหมด เป็นเมืองที่คุมโทนสีได้ดีมากๆ
เราสามารถเที่ยวเมืองเฟรเดอริกได้ทันทีที่ลงจากรถบัสหรือรถไฟ เพราะสถานีของทั้งสองแห่ง (อยู่ที่เดียวกัน) ตั้งอยู่สุดขอบสวนสาธารณะ Caroll Creek Promenade สวนสาธารณะเลียบคลอง Caroll Creek ที่วางตัวขนานกับถนน Patrick Street ถนนสายหลักของย่านเมืองเก่า ทันทีที่ข้ามถนนจากท่ารถมายังสวนฯ เราก็จะเห็นแนวอาคารเก่าแก่ที่ทำจากอิฐสีแดงเรียงตัวต่อกันโดยมีหลังคาโบสถ์สูงชะลูดสามแห่งมาช่วยเกลี่ยทัศนียภาพ น่ารักมากๆ
แม้ย่านดาวน์ทาวน์ของที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องการอนุรักษ์ แต่ตัวเมืองก็หาได้ถูกแช่แข็งราวกับเป็นพิพิธภัณฑ์ เพราะขณะที่ร้านรวงต่างๆ ได้รับการห่อหุ้มด้วยแพคเกจที่มาจากศตวรรษที่ 18-19 ร้านเหล่านี้ก็กลับจำหน่ายสินค้าที่รองรับไลฟ์สไตล์ร่วมสมัย ตั้งแต่ของแต่งบ้าน ร้านเสื้อผ้าสมัยใหม่ สินค้าออร์แกนิก โรงละคร ร้านเหล้า ไวน์บาร์ ซูชิบาร์ ไปจนถึงบารากุบาร์
ความน่ารักกุ๊กกิ๊กของเมืองยังอยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังที่วาดขึ้นโดยศิลปินท้องถิ่นที่ประดับประดาอยู่ตามพื้นที่สาธารณะหลายจุด โดยมีศูนย์กลางของงานจิตรกรรมอยู่ที่สะพาน Community Bridge สะพานข้ามคลอง Caroll Creek ที่พื้นผิวของสะพานถูกระบายเป็นรูปก้อนหินที่แฝงรายละเอียดและสัญลักษณ์ของเมืองไว้
การจัดการและการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยว เมืองของคนท้องถิ่น และเมืองราชการ (ที่นี่เป็น county seat ของรัฐแมรี่แลนด์) เป็นอีกจุดเด่นที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าระหว่างการเดินเล่นในเมืองเมืองนี้ ข้อแรกคือด้วยความที่ย่านดาวน์ทาวน์นอกจากจะเป็นศูนย์กลางช้อปปิ้งและกินดื่มของนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการด้วย ทางเทศบาลจึงมีอาคารจอดรถขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางเมืองด้านหลังแนวตึกเก่าถึงสามอาคาร อำนวยความสะดวกทั้งผู้มาติดต่อราชการและผู้ที่จะมาช้อปปิ้ง การมีที่จอดรถที่เพียงพอก็ทำให้ใครที่ขับรถเข้ามาในเมืองไม่จำเป็นต้องมาชะลอมองหาที่จอดรถริมถนนให้เกิดปัญหาจราจร อาคารจอดรถยังเชื่อมไปถึงห้องสมุดประชาชนที่ตั้งอยู่ริมคลอง เป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ที่ถือเป็นอีก meeting point อันคึกคักของเมืองอีกด้วย (น่าอิจฉามากๆ)
ข้อสองคือ ผังเมืองที่มีสวนสาธารณะวางตัวอยู่รอบดาวน์ทาวน์ เพราะเลียบลำคลองกลางเมืองก็มีสวนสาธารณะต่อกันถึงสองสวน สุดดาวน์ทาวน์ฝั่งตะวันตกของเมืองก็ยังมี Baker Park สวนสาธารณะขนาดใหญ่ตั้งอยู่ กลับมาทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือก็มี E Third Street Park โดยฝั่งตะวันออก ถ้าไม่ใช่เพราะมีสำนักงานไปรษณีย์ที่อยู่ในอาคารโรงเก็บรถไฟเก่าซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ ฉันก็คิดว่าทางเทศบาลก็คงทำสวนเพิ่มอีกแห่งให้ครบทุกมุมเมืองเป็นแน่แท้
อีกข้อคือ ตามถนนสายหลักของเมือง ยังมีการปลูกต้นไม้ไว้อย่างเป็นระเบียบ แถมยังมีไฟปิงปองพันรอบต้นไม้อีกที พอตกกลางคืนเมืองทั้งเมืองก็อบอุ่นไปด้วยแสงไฟสีส้มจากหลอดไฟบนต้นไม้เหล่านั้น โดยไม่ต้องพึ่งเสาไฟนีออนเซื่องๆ แบบที่บ้านเราคุ้นเคย
ย่านเมืองเก่าเฟรเดอริก สามารถเดินชมให้หมดรวดเดียวภายในหนึ่งวันเต็ม เว้นก็แต่ถ้าคุณเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ อาจจะแวะชมพิพิธภัณฑ์และแลนด์มาร์คทางประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่หลายจุดทั่วเมือง และหากคุณเป็นนักช้อปปิ้งของแต่งบ้านและของวินเทจแล้ว การใช้เวลาอยู่เมืองนี้เพียงสองวันหนึ่งคืนอาจไม่พอ…
เฮ้อ กว่าจะเข้าเรื่องได้!
อย่างที่เกริ่น เฟรเดอริกนี่เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยร้านขายของเก่าอย่างที่มีคนแนะนำฉันมาจริงๆ ค่ะ และก็เพิ่งทราบจากเจ้าของร้านที่อยู่ที่นี่ด้วยว่า พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของวินเทจตามตลาดนัด (Flea Market) แถวแมรี่แลนด์และเวสต์เวอร์จิเนีย ส่วนหนึ่งก็มาเลือกของที่นี่เพื่อเอาไปขายต่อเหมือนกัน เฟรเดอริกเป็นเมืองที่ไม่มีตลาดนัดทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เหมือนเมืองท่องเที่ยวเมืองอื่นๆ เลย เพราะความเป็นตลาดนัดถูกแปรรูปให้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของเมืองไปแล้ว
เริ่มตั้งแต่ Thrive Store ที่ตั้งอยู่กลางย่านเมืองเก่าบนถนน East Patrick เป็นร้านขายของมือสองที่ได้จากการบริจาค หรือไม่ก็มีคนเอามาขาย ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ หนังสือ ถ้วยจาน ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่ของวินเทจอะไร แต่เด็ดดวงที่ความหลากหลาย มีหลายชิ้นหายาก และราคาก็ถูกเหลือเชื่อ โดยเฉพาะเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่ไม่คิดว่าจะมาเจอในนี้ อย่างที่ได้มาคือกางเกงยีนส์ Versace สภาพเหมือนใหม่ในราคาแค่ 15 เหรียญ หนังสือวรรณกรรมปกแข็งหรือ table book สภาพดีๆ ขายเล่มละ 1 เหรียญ ถูกเหมือนให้ฟรีเลยค่ะ
Emporium Antiques (http://emporiumantiques.com/) อยู่เกือบสุดถนน East Patrick ไปทางตะวันออก ฝั่งเดียวกับ Thrive Store ร้านนี้ตั้งอยู่ในอาคารที่เคยเป็นโรงรถเก่าที่สร้างขึ้นในปี 1912 เปิดประตูเข้าไปโดยไม่คิดอะไร เพื่อจะพบว่า นี่มันห้างสรรพสินค้าแอนทีคที่มโหฬารไม่น่าเชื่อ เพราะหลังประตูคือโถงที่ลึกเกือบ 100 เมตร อัดแน่นไปด้วยแผงขายสินค้าแอนทีคกว่า 300 แผง แต่ละแผงก็มาจากผู้ค้าที่ต่างกัน เอามาฝากขายที่นี่ล็อคใครล็อคมัน เดินเพลินมากค่ะ เพราะสินค้าหลากหลายตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ (เรือรบที่เป็นโมเดลแต่งบ้านน่ะ)
ของส่วนมากเป็นเฟอร์นิเจอร์แอนทีค มีตั้งแต่ยุควิคตอเรีย อาร์ทนูโว ไปจนถึงยุค 50s-70s รวมไปถึงของตบแต่งชิ้นเล็กๆ ของทั้งยุโรปและอเมริกัน ร้านนี้แบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก มีโซนเฟอร์นิเจอร์กับของแต่งบ้าน โซนที่เป็นผ้า (ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ไปจนถึงเสื้อผ้า) และโซนสุดท้ายเป็นโซนกระดาษ (หนังสือ โปสเตอร์ แผ่นเสียง และแผนที่เก่า) ของที่ขายแต่ละชิ้นเหมือนพ่อค้าแม่ค้าคัดสรรมาอย่างดีแล้ว เลยไม่ค่อยเจออะไรชำรุดหรือโทรมจนไม่อาจมีจินตนาการต่อได้เลยว่าจะซื้อไปทำไม แต่นั่นล่ะค่ะ พอเขาคัดมาก่อนแล้ว ราคาก็จะแพงขึ้นมา แต่ไม่ถึงกับโหดนัก
เดินออกจาก Emporium Antiques ไปทางตะวันออกสุดหัวมุมถนน East Patrick แล้วเลี้ยวขวา ข้ามสะพาน Community Bridge มองตรงไปข้างหน้า จะเห็นอาคารที่เหมือนโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่สองฟากถนน บริเวณชั้นบนมีสะพานคนเดินเชื่อมอาคารสองฝั่งนี้ไว้ด้วยกัน ก่อนถึงอาคารนั้นเล็กน้อยคือร้าน Vintage Mid-Century (https://vintage-mc.com/) เป็นร้านที่คัดแต่เฟอร์นิเจอร์จากยุค mid century มาขาย ไม่แพงถ้าเทียบกับที่ขายในเมืองไทย เช่น เก้าอี้ทิวลิปแชร์ที่ออกแบบโดย Eero Saarinen ที่นี่ขายตัวละ 90 เหรียญ (ประมาณ 3,000 บาทไทย) หรืออย่างบาร์เซโลนาแชร์ของ Mies Van Der Rhoe ก็ถูกกว่าบ้านเราครึ่งหนึ่ง เห็นอย่างนี้แล้วก็อยากชวนเพื่อนมาแชร์ค่า shipping ตู้คอนเทนเนอร์ส่งของกลับบ้านเลย
ในอาคารเดียวกับ Vintage Mid-Century บริเวณที่สะพานข้ามตึกพาดพอดีคือ Canon Hill Place (http://www.frederick.com/cannon_hill_place-sp-801/) อีกหนึ่งวันเดอร์แลนด์ของคนรักของเก่า ที่นี่ก็เป็นอีกห้างสรรพสินค้าแอนทีคเหมือนกัน มีความดิบกว่า Emporium Antiques คือพอเข้าไปในตึกที่เหมือนโกดังรวมร่างกับถ้ำ เป็นโถงมืดๆ ที่มีของวางกองให้เลือกเต็มไปหมด ไม่มีพนักงานเดินขวักไขว่เหมือนร้านแรก แค่หยิบตะกร้า อยากหยิบอะไรหยิบเลย ของถูกกว่าร้านแรกพอสมควร อาจเพราะทำเลที่ไม่ได้อยู่บนถนนสายหลัก
ไฮไลท์ของที่นี่คือคอลเลกชั่นหนังสือเก่าที่คัดมาได้ชวนกรี๊ดมากๆ พวกวรรณกรรมคลาสสิคและร่วมสมัย แบ่งตามชื่อนักเขียนเรียบร้อย (แถมมีเกือบครบทุกเล่ม) มีตั้งแต่แมสๆ อย่างฮารูกิ มูราคามิ, คาสึโอะ อิชิงูโระ, มิลาน คุนเดอรา, แจ็ค เคอรูแอค, ฮวน รุลโฟ, บทกวีของพาโบล เนรูด้า ไปจนถึงหนังสือปรัชญาของนิตเช่ และอื่นๆ ในแบบที่ให้คุณนึกชื่อนักเขียนดังๆ ที่ตายแล้วมาสักท่าน ที่นี่มีหมดและก็ไม่ได้มีเฉพาะเล่มที่ดังๆ อย่างเดียวด้วยนะ (ก็ได้แต่อุทานว่ามาแอบอะไรอยู่ในนี้) หลายเล่มเป็นอิดิชั่นที่ปกหนังสือสวยมาก หุ้มแจ็คเกตปกอย่างดี แต่ราคาก็แพงเหมือนกัน อย่าง Naked Lunch ของวิลเลี่ยม เบอร์โรห์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกๆ ขายเล่มละ 50 ดอลลาร์ (แต่ก็มีแบบอิดิชั่น paperback เอาใจนักอ่านที่ไม่ใช่นักสะสม ขายเฉลี่ยเล่มละ 6 เหรียญด้วย)
ทราบมาจากลุงที่เคาน์เตอร์จ่ายเงินของ Canon Hill Place ว่าสาเหตุที่เมืองเมืองนี้มีของเก่าขายเยอะเหลือเกินเป็นเพราะว่าความที่รัฐแมรี่แลนด์และในละแวก (เช่น เวอร์จิเนีย และเวสต์เวอร์จิเนีย) เป็นรัฐเก่าแก่ มีผู้คนมาตั้งรกรากแต่เนิ่นๆ มีบ้านหลายหลังที่อยู่ต่อกันมาหลายชั่วอายุ พอมาถึงยุคหนึ่งที่ลูกหลานตัดสินใจไม่อยู่ต่อแล้วจึงประกาศขายบ้าน ก็จะมีพ่อค้าหรือดีลเลอร์ขายของเก่านี่แหละไปขอซื้อของที่อยู่ในบ้านทั้งหมดในราคาเหมา ซึ่งถ้าพ่อค้าคนไหนโชคดี ไปเหมาบ้านที่คุณทวดเจ้าของมีชุดโซฟารับแขกยุคศตวรรษที่ 19 ที่สภาพยังดีอยู่ ก็อาจทำกำไรจากโซฟาชุดนั้นครอบคลุมเงินที่เหมาไปได้ทั้งหมดก็มี กิจการขายของเก่าในย่านนี้จึงเฟื่องฟูมากๆ ถึงขนาดมีแมกกาซีนรายเดือนและหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับแอนทีคในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ
ยังมีร้านขายของแอนทีคที่เล็กลงมาอีก 3-4 ร้านในเฟรเดอริก ยังไม่นับร้านที่ขายเฉพาะแผนที่โบราณโดยเฉพาะ แถมยังมีร้านที่ขายแผ่นเสียงมือสองอย่างเดียวอีก 3 ร้าน เป็นเมืองที่ผู้คนไม่รู้จะ nostalgic ไปถึงไหน แต่ก็นะ การมาเยือนที่นี่ นอกจากจะได้เสพบรรยากาศแบบอเมริกันวินเทจแล้ว ก็ทำให้สุดท้ายฉันตัดสินใจใช้บริการส่งของลงเรือกลับเมืองไทย (เผื่อเป็นข้อมูล กล่องขนาด 29×18 นิ้ว ความสูงประมาณหัวเข่า ส่งกลับไทยใช้เวลาหนึ่งเดือน มีบริษัทขนส่งหลายที่ให้บริการอยู่ ค่าส่งโดยประมาณ 100 เหรียญ)
ก็นั่นล่ะค่ะ ของบางอย่างก็แสนจะฟุ่มเฟือย… แต่มันต้องมี!
หมายเหตุ: รูป bird eye view ของเมืองเอามาจาก https://cdn.passporthealthusa.com/wp-content/uploads/2017/05/passport-health-frederick-travel-clinic.jpg?x61082
Fact Box
- เวลาที่ดีที่สุดในการมาเยือนเฟเดอริคคือช่วงหน้าร้อน เพราะท้องฟ้าแจ่มใสและอากาศก็อบอุ่นกำลังดี เดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมีงาน Maryland Craft Beer Festival ส่วนเดือนมิถุนายนมี Festival of Arts ที่เป็นงานขึ้นชื่อ สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.visitfrederick.org/
- แม้ในตัวเมืองเก่าเฟเดอริคจะไม่มีร้านอาหารที่เสิร์ฟเมนูปูนึ่งที่เป็น a must ของรัฐแมรี่แลนด์ หากย่านใจกลางเมืองก็ถือเป็นหมุดหมายยอดนิยมของนักชิมซึ่งเปี่ยมไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Firestone’s Culinary Tavern เสิร์ฟแซนด์วิชและหอยนางรมสดๆ Wine Kitchen ร้านอาหารสไตล์ไฟน์ไดน์นิ่งที่เสิร์ฟพร้อมไวน์ชั้นเลิศ หรือ Lazy Fish ซูชิบาร์ยอดนิยมของคนที่นี่ รวมทั้งร้านอาหารไทยรสเด็ดที่ทำให้คลายความคิดถึงบ้านอย่าง Sumittra Thai Cuisine
- สามารถเดินทางมาเยือนเฟเดอริคได้จากทั้ง วอชิงตัน ดี.ซี. และบัลติมอร์ในแมรี่แลนด์ เข้าไปดูตารางเดินรถได้ที่ https://www.wanderu.com