“ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งองค์กรขึ้นมาเราก็มีพันธกิจในการทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นอยู่แล้ว แค่บังเอิญว่าวิธีที่เราเลือกใช้มันคือการผลิตรถยนต์ การทำศูนย์การเรียนรู้ก็แค่เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เราจะสามารถทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้เท่านั้นเอง”

นี่คือสิ่งที่คุณจิม เวลลา ประธานกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ฟอร์ด ฟันด์) ให้คำตอบกับเรา หลังจากที่เราเอ่ยถามด้วยความสงสัยว่า เพราะอะไรบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากอเมริกาอย่างฟอร์ดจึงต้องลงทุนถึง 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงลงแรงและเวลาอย่างต่ำ 5 ปี เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนขึ้นที่ประเทศไทยทั้งที่มันดูแทบไม่เกี่ยวอะไรเลยกับสิ่งที่ฟอร์ดกำลังทำ และคำตอบนี้ก็ทำให้เราพบแง่มุมความเป็นมนุษย์ในองค์กรที่ดูแข็งกร้าวและมักจะมาพร้อมเครื่องจักรขนาดใหญ่อย่างฟอร์ดโดยไม่ทันได้คาดคิด

FREC Bangkok คือศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อตั้งโดยฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เป็นแห่งที่ 5 ของโลก ถัดจากศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบทั้ง 2 แห่งในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน เมืองบ้านเกิดของฟอร์ด และอีก 2 แห่งในประเทศแอฟริกาใต้และโรมาเนีย โดย FREC สาขาประเทศไทยนี้ ตั้งอยู่กลางเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร ณ บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (โรงเรียนสตรีจุลนาค) คฤหาสน์หลังงามและตึกโรงเรียนเก่าสุดคลาสสิก เคียงข้างชุมชนเก่าแก่อย่างนางเลิ้ง ซึ่งเป็นชุมชนที่ทาง FREC ทำงานด้วยอย่างเข้มข้นตลอด 9 เดือนก่อนเปิดศูนย์การเรียนรู้ เพื่อค้นหาปัญหา ความต้องการ เอกลักษณ์ และเรื่องราวของชุมชน เพื่อนำไปออกแบบกระบวนการพัฒนาชุมชนที่เหมาะกับความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง

จิม เวลลา ประธานกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี

“เราตั้งคำถามว่าเราจะสามารถมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างไรเพื่อให้เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษมากไปกว่าการที่เราแค่อยากจะขายรถให้คุณ และการทำศูนย์การเรียนรู้นี้ก็คือคำตอบนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่แค่ว่าเราอยากจะให้อะไรกับชุมชน แต่คือการรู้ว่าชุมชนอยากได้อะไรจากเราและเราสามารถตอบสนองได้มากแค่ไหนมากกว่า” จิม เวลลากล่าว

คุณสก็อต ชาง ผู้จัดการกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เล่าว่าสาเหตุที่ทาง FREC เลือกเปิดศูนย์การเรียนรู้ที่ชุมชนนางเลิ้งนั้นเป็นเพราะชุมชนนางเลิ้งมีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับเมืองดีทรอยต์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ FREC แห่งแรกมาก เพราะเป็นชุมชนเก่าแก่ที่รุ่มรวยไปด้วยศิลปะวัฒนธรรมอันเป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ การพิมพ์ ดนตรีไทย ละครชาตรี โรงภาพยนตร์ อาหาร ฯลฯ นอกจากนี้บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรียังมีประวัติที่น่าสนใจและสอดคล้องกับความตั้งใจของ FREC ของอย่างพอดิบพอดีอีกด้วย

“นางเลิ้งเต็มไปด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่ที่น่าอนุรักษ์ เราอยากมาอยู่ที่นี่เพื่อทำให้ชุมชนสามารถปรับตัวและนำเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้กลับมาทำให้ร่วมสมัยเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปทุกวันได้อย่างยั่งยืน และการที่เราได้มาอยู่ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่พิเศษมาก เพราะเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นคนหัวก้าวหน้าและสนใจการพัฒนาชุมชนและสังคมอยู่แล้ว ท่านเป็นคนวางรากฐานการศึกษาไทยสร้างโรงเรียน สร้างมหาวิทยาลัยแห่งแรก ซึ่งการส่งเสริมแนวคิดใหม่และการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคมก็เป็นสิ่งที่ตรงกับความตั้งใจของเราพอดี” สก็อต ชางกล่าว

ภายในศูนย์การเรียนรู้ FREC Bangkok ประกอบไปด้วยพันธมิตรองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) 8 ราย ที่ทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ในประเด็นที่แตกต่างกันไปแต่สามารถส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดี ภายใต้แนวคิดของการนำคนที่ในชีวิตประจำวันของเรา อาจไม่มีโอกาสได้มาเจอกันเลย ให้ได้มาพบและทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นและอาจทำไม่ได้หากทำด้วยตัวคนเดียวหรือองค์กรเดียว

ได้แก่ ‘มูลนิธิ Scolars of Sustenance หรือ SOS’ ซึ่งทำงานกับอาหารเหลือทิ้งด้วยการใช้พื้นที่ FREC Bangkok เป็นศูนย์กลางการดำเนินการส่งต่ออาหารส่วนเกินที่ยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการจากร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ ซึ่งมีปริมาณมากถึงวันละ 2 ตัน มาผ่านการตรวจสอบความสะอาดและปลอดภัยและนำไปส่งต่อให้กับสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและสถานสงเคราะห์กว่า 30 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ

‘Nature Inc.’ โคเวิร์กกิ้งสเปซแห่งแรกที่ออกแบบมาสำหรับ NGO ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กร รวมไปถึงการแชร์พื้นที่ทำงาน ห้องประชุม และสิ่งอำนวยสะดวกหรือเครื่องใช้สำนักงานร่วมกันเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยและมูลนิธิรักสัตว์ป่า

‘Urban Studies Lab’ ศูนย์การศึกษาชุมชนเมืองซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชาวนางเลิ้งอย่างจริงจัง มีภารกิจหลักเป็นการเสริมสร้างชุมชนเมืองให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว แข็งแกร่ง และหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากการวิจัยและการวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาชุมชนระยะยาวแล้ว ยังเปิด ‘ชั้นเรียนชุมชนเมือง’ ชวนนักศึกษาเข้ามาลงมือทำโครงการจริงในชุมชน นอกจากนี้พวกเขายังจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ในชุมชนได้เข้ามาเรียนภาษาอังกฤษผ่านการวาดแผนที่ชุมชนเป็นประจำทุกสัปดาห์ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนอีกด้วย

“Urban Studies Lab เขาจะสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ แต่จะสอนผ่านกิจกรรมการวาดแผนที่เพื่อทำความเข้าใจจุดเด่นและความพิเศษของชุมชนที่เราอยู่อาศัย แต่จะทำกิจกรรมทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษแล้วก็แทรกด้วยการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษไปด้วย พอจบคอร์สเด็กๆ ก็จะเป็นไกด์พาคุณครูที่สอนภาษาอังกฤษไปทัวร์ในจุดต่างๆ ของชุมชนตามแผนที่ที่ทำเสร็จ เด็กๆ ก็ได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษ ส่วนผู้ใหญ่ก็ได้รู้จักกับชุมชนมากขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนกัน” สก็อต ชางอธิบาย

‘Precious Plastic Bangkok’ โครงการรีไซเคิลพลาสติกที่เปลี่ยนขยะพลาสติกบ้านๆ อย่างฝาขวดน้ำ, ขวดน้ำ, กล่องพลาสติก ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างจาน ชาม ถ้วย แก้ว จานรองแก้ว แจกัน ฯลฯ สีสันสดใส ด้วยเครื่องย่อยพลาสติกและเครื่องเจาะพลาสติกที่ตั้งอยู่ในภายในศูนย์ FREC โดยนอกจากการผลักดันให้คนในชุมชนสามารถรีไซเคิลพลาสติกได้ด้วยตัวเองแล้ว เป้าหมายในระยะยาวของ Precious Plastic ก็คือเปลี่ยนทัศนคติของชุมชนเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติกและทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าของพลาสติกว่าไม่จำเป็นต้องพยายามกำจัดเสมอไปแต่ยังสามารถแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าได้เสมอ

‘FabCafe’ พื้นที่พัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่เชื่อในแนวคิด ‘Fab’ หรือการปฏิวัติการประดิษฐ์ให้ไม่ถูกควบคุมโดยการผลิตเชิงอุตสาหกรรมหรือทฤษฎีการตลาด ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ โดย FabCafe สื่อสารแนวคิดแบบ Fab ออกมาอย่างสนุกสนานและเข้าใจง่ายด้วยการออกแบบพื้นที่เพื่อนักอยากประดิษฐ์ ให้สามารถเข้ามาใช้อุปกรณ์การออกแบบระบบดิจิทัลต่างๆ ไปจนถึงเครื่องพิมพ์สามมิติ และใช้พื้นที่ส่วนกลางนี้ในการแลกเปลี่ยนความรู้และไอเดียใหม่ๆ

นอกจากทั้ง 6 องค์กรที่ตั้งอยู่ในอาคาร FREC Bangkok แล้ว FREC ยังเป็นพันธมิตรกับอีก 2 องค์กรจากโครงการพี่น้องที่ตั้งอยู่ในบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง ‘Bangkok 1899’ ศูนย์รวมชุมชนที่เน้นการบูรณาการระหว่างศิลปะ การออกแบบ และนวัตกรรมทางสังคม ที่ประกอบด้วยองค์กร ‘Creative Migration’ ที่นำศิลปะมาใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้ด้านวัฒนธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ผ่านการเปิดให้ศิลปินเข้ามาพักอาศัยในพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่ถ่ายทอดเรื่องราวเฉพาะตัวของชุมชนนั้นๆ และ ‘Na cafe’ คาเฟ่ที่มีจุดมุ่งหมายเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนโดยใช้โครงการฝึกอาชีพทางด้านอาหารและการบริการมาเป็นตัวช่วย นอกจากนี้ Na cafe ยังสนับสนุนวัฒนธรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มแบบไร้ขยะอีกด้วย

โดยกว่าจะได้มาเป็น NGO พันธมิตรทั้ง 8 ทีมนี้ คุณสก็อตเล่าให้ฟังว่าทุกอย่างผ่านการคิดและคัดเลือกมาเป็นอย่างดีเพื่อให้แต่ละองค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ไม่มีการแย่งทรัพยากรซึ่งกันและกัน และมีเนื้อหาหรือขอบข่ายของงานที่สามารถแลกเปลี่ยนและสนับสนุนกันได้

“precious plastic กับ Fabcafe ส่งเสริมกันในด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ, SOS กับ Na Cafe ส่งเสริมกันเรื่องการจัดการทรัพยากรอาหาร, มูลนิธิรักษ์สัตว์ป่ากับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติ ส่งเสริมกันเรื่องสิ่งแวดล้อม และข้อมูลที่ได้จากการวิจัยของ Urban Studies Lab ก็ส่งเสริมการทำงานกับชุมชนของทุกทีม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ SOS ไม่สามารถส่งต่ออาหารส่วนเกินที่ได้รับมาจำนวนมากได้ทัน เขาก็จะเอาอาหารเหล่านั้นไปให้ Na Cafe ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นน้ำผลไม้สกัดหรือเครื่องดื่มต่างๆ ได้ และในขั้นตอนสุดท้ายหากมีขยะอาหารหลงเหลืออยู่อีกก็ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยได้ด้วย” สก็อต ชาง

ไม่ใช่เพียงแค่องค์กรพันธมิตรทั้ง 8 และศูนย์การเรียนรู้เท่านั้นที่มีปฏิสัมพันธ์และมีการทำงานร่วมกับชุมชน เพราะพนักงานของฟอร์ดเองก็เคยเข้ามาเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าซึ่งเด็กๆ ใช้วิ่งเล่นเตะบอลกันทุกเย็นให้กลายเป็น ‘สนามเด็กเล่น’ ที่เป็นสัดเป็นส่วนมาแล้วเช่นกัน โดยคุณวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ดประเทศไทย เล่าว่าในครั้งนั้น FREC ทำงานร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ภาคอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (INDA) ด้วยโจทย์การพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าร่วมกันให้เกิดเป็นพื้นที่ใช้สอยที่มีประโยชน์ ก่อนจะลงมาทำวิจัยและระดมความคิดร่วมกันกับชุมชนตลอด 1 เทอมเต็มๆ จนได้ออกมาว่าสิ่งที่ชาวนางเลิ้งอยากเห็นในพื้นที่ว่างนั้นก็คือสนามเด็กเล่นนั่นเอง

“พอได้ไอเดียสนามเด็กเล่นออกมาแล้วก็ต้องคิดต่อว่าจะไปเอาวัสดุมาจากไหน เราก็นึกถึงโรงงานรถยนต์ของเราขึ้นมา ว่าเรามีอะไรที่เป็นของเหลือใช้ที่สามารถนำมาใช้ได้บ้าง พอทีม INDA ออกแบบมาเสร็จ ทั้งเราและทีม INDA ก็เลยเดินทางไปที่โรงงานเพื่อดูวัสดุต่างๆ ร่วมกับวิศวกรว่าจะเอาอันไหนมาใช้บ้าง แต่ไปๆ มาๆ ที่โรงงานก็มีอุปกรณ์ช่างทุกอย่างครบแถมยังมีช่างเทคนิคอยู่ครบ เราก็เลยช่วยประกอบที่โรงงานนั้นและช่วยเอามาติดตั้งให้เลย” วิชิต ว่องวัฒนาการ

คุณจิมเล่าเสริมว่า จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหนก็สามารถเอาเงินมาสร้างสนามเด็กเล่นได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ FREC อยากให้ความสำคัญก็คือการที่ทำให้ชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจว่าเขาอยากได้อะไรจริงๆ และรู้สึกเป็นเจ้าของจริงๆ รวมไปถึงการรู้สึกว่า FREC เองก็เป็นส่วนหนึ่งในชุมชนของเขาเช่นกัน

วิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ดประเทศไทย

ก่อนจะจากกัน เราถามถึงความคาดหวังต่อชุมชนที่ทาง FREC ร่วมงานด้วยในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า อันเป็นขอบข่ายเวลาเฟสแรก ที่ทาง FREC ได้วางแผนการทำงานเอาไว้แล้ว ว่าพวกเขามองเห็นภาพของชุมชนเติบโตหรือเปลี่ยนแปลงไปจากวันนี้อย่างไรบ้าง โดยคุณวิชิตได้ให้คำตอบกับเราว่า

“เราไม่ได้คาดหวังว่าภายใน 5 ปีมันจะเกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เป็นรูปธรรมอะไรนะ เพราะ ณ ตอนนี้เราก็สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ในทุกๆ วันอยู่แล้ว เช่น การที่มีคนเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรา 1 คน แล้วมันทำให้เขามีงานทำ มีชีวิตที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เท่านี้เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แม้ว่ามันจะเป็นแค่จุดเล็กๆ หรือคนแค่คนเดียวก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับเรามาก เพราะคน 1 คนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าหน่วยเล็กๆ ค่อยๆ ดีขึ้น นั่นก็หมายถึงสังคมที่จะค่อยๆ ดีขึ้นตามไปด้วย”

Fact Box

  • FREC Bangkok เปิดตัวอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย โดยในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน มีกิจกรรมต่างๆ จากเครือข่ายองค์กรไม่แสวงหากำไรเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมมากมาย อาทิ เช่น กิจกรรมค็อกเทลแบบไม่สร้างขยะ โดย Na Cafe, งานเสวนา ทำไม (ร่างกาย) เราต้องการดาว โดย BCST, เวิร์คช็อปเรื่องวาฬบรูด้าและระบบนิเวศทางทะเล โดยโครงการชมวาฬ (มูลนิธิรักษ์สัตว์ป่า), กิจกรรมเล่าเรื่องเพื่อระดมทุนในการจัด ‘ห้องเรียนเมือง’ โดย Urban Studies Lab, กิจกรรมแข่งขันดูนกเมืองไทย โดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, นิทรรศการศิลปะจากศิลปินในพำนัก Scott Killdall โดย Creative Migration เป็นต้น
  • สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/frecbkk/
Tags: , ,