27 สิงหาคม 2562 จะครบกำหนดเส้นตายที่ชาวชุมชนบ่อแก้ว 31 ครัวเรือน ต้องออกจากพื้นที่พิพาทระหว่างชาวชุมชนบ่อแก้วกับสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และต้องรื้อถอนบ้านเรือน ต้นไม้ และทำให้พื้นที่กลับคืนสู่สภาพเดิม เป็นผลมาจากคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ชุมชนบ่อแก้วเกิดก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนและเข้าทำกินในพื้นที่สวนป่าคอนสารหลังจากที่พยายามต่อสู้มาอย่างยาวนานเพื่อสิทธิในที่ดินที่ทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หลังจากนั้นราวหนึ่งเดือน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เจ้าของสิทธิ์สวนป่าคอนสารยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดภูเขียวข้อหาบุกรุกและละเมิด ขับไล่ชุมชนบ่อแก้ว 31 ครัวเรือนออกจากพื้นที่

ผลจากการยื่นฟ้องศาลทำให้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553  ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาให้ประชาชน 31 คน ออกจากสวนป่าคอนสาร ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ที่ได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาท และปรับสภาพพื้นที่สวนป่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และห้ามเข้าเกี่ยวข้องในพื้นที่สวนป่าคอนสารทั้งหมดอีก และให้ใช้ค่าทนายความแทน 10,000 บาท

ต่อมาชาวชุมชนบ่อแก้วยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 

กระทั่งรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารออกประกาศคำสั่งมากมายเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย หนึ่งในนั้นคือประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายชุมชน รวมถึงชุมชนบ่อแก้ว โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารและป่าไม้ได้เข้าพื้นที่มาปิดประกาศคำสั่ง คสช.ดังกล่าว ให้ชาวชุมชนบ่อแก้วรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ทำให้พวกเขาต้องเดินทางเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่าในพื้นที่พิพาทอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกันมาหลายรัฐบาลและเรียกร้องให้ยุติคำสั่งไล่รื้อ

การต่อสู้ทางคดีความสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ศาลฎีกาพิพากษามีคำสั่งให้ชาวชุมชนบ่อแก้ว ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน นับจากมีคำสั่งศาลฎีกา

(ที่มาภาพ https://www.facebook.com/117863168369376/photos/p.1386317431523937/1386317431523937/?type=1)

และล่าสุด ช่วงเที่ยงวันของวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายจำนวนกว่า 50 คน ร่วมกันเข้าไปปิดหมายบังคับคดีในพื้นที่ชุมชนบ่อแก้วให้ประชาชนย้ายออกพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ และทำให้พื้นที่กลับสู่สภาพเดิมใน 30 วัน

หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เพื่อหาต้นตอของปัญหา คงต้องย้อนไปถึงปี 2496 ที่กลุ่มคนในคอนสารเริ่มเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินผืนนี้ โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่นับตั้งแต่ปีดังกล่าว ก่อนที่รัฐจะประกาศให้เป็นเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามเมื่อปี 2516 ซึ่งต่อมาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ขอเข้าปลูกสวนป่าเพื่อทำประโยชน์ เนื้อที่ 4,401 ไร่ จนเกิดการผลักดันขับไล่ประชาชน 12 ครัวเรือน ต้องออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

กระทั่งปลายปี 2547 ประชาชนชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร จนนำมาสู่การตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีหัวหน้าสวนป่าคอนสาร เป็นประธาน ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร กำนันผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนประชาชนผู้เดือดร้อน เป็นคณะทำงาน  ต่อมา หลังจากตรวจสอบ คณะทำงานมีมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2548 ว่า “สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง ให้ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน ทั้งสิ้น 277 ราย”

นอกจากนี้ ก็มีมติในเรื่องนี้อีกหลายครั้งหลังมติของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกัน เช่น มติประชาคมตำบลทุ่งพระ วันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 21 กันยายน 2550 “ให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสาร ตามมติคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2548 ภายใน 60 วัน และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ร้อง โดยสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ จัดทำแผนการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดเป็นป่าชุมชน ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ยกเลิกสวนป่าคอนสาร”   

แม้มติต่างๆ ได้ข้อสรุปตรงกันว่า พื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนอยู่มาก่อน สวนป่าคอนสารสร้างทับที่ทำกินของประชาชน และให้ยกเลิกสวนป่า แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ  เกิดขึ้นเพื่อทำตามมติดังกล่าว จนชุมชนบ่อแก้วใช้วิธีการบุกยึดพื้นที่คืน เข้าไปในตั้งบ้านเรือนและทำการเกษตรในพื้นที่พิพาทเมื่อ 17 กรกฎาคม 2552 นำไปสู่การฟ้องคดีขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่ยืดเยื้อยาวนานนับสิบปี 

แม้เรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนชุมชนเล็กๆ อย่างบ่อแก้วจะถูกดูดกลืนหายไปในกระแสข่าวอื่นๆ อีกมากมายที่ดึงดูดความสนใจมากกว่า แต่ก็นับเป็นหนึ่งหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินทำกินมาอย่างยาวนาน จึงต้องจับตาดูว่าเมื่อวันพรุ่งนี้มาถึงจะเกิดอะไรขึ้น และชะตากรรมของเกษตรกรที่กำลังจะไร้ที่อยู่และที่ทำกินจะเป็นอย่างไร เมื่อต้องเป็นผู้พ่ายแพ้ในบ้านและที่ดินของตนเอง

 

ข้อมูลจาก

  • เฟซบุ๊กเพจ ขบวนการอีสานใหม่ New Isan Movement 
  • เฟซบุ๊กเพจ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินอีสาน
  • “ยกเลิกสวนป่าคอนสาร” ความฝันของชุมชนบ่อแก้วหลังแพ้ในชั้นศาล https://ilaw.or.th/node/5348?fbclid=IwAR2SyxKU7fzoyw-e35WccVuIhQ9LcD9FhMqA9f_PH-x-oXOdeXtBp8JNi98

ภาพบางส่วนจาก https://www.facebook.com/Khonsanpa/

Tags: , , , ,