เมื่อวันที่ 30 มกราคม รัฐสภาฝรั่งเศสลงมติผ่านกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและต่อต้านขยะ ซึ่งบังคับให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายทุกประเภทสินค้า รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องแต่งกาย และเครื่องสำอาง และรวมบริษัทออนไลน์ด้วย เช่น แอมะซอน บริจาคสินค้าที่ไม่ใช่อาหารที่ขายไม่ได้ ยกเว้นของที่เสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัย
รัฐบาลฝรั่งเศสอ้างว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายนี้ บรูเน พัวสัน รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การออกกฎหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับของเสีย หลังจากที่ปีที่แล้วสารคดีโทรทัศน์ฉายภาพตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุของที่ขายไม่ออกหลายตู้ในโกดังของแอมะซอน เตรียมถูกส่งไปทำลายทิ้ง ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ทุกปี ฝรั่งเศสมีสินค้าใหม่มูลค่ามากกว่า 650 ล้านยูโรที่ถูกนำไปทำลาย
ด้วยหลัก ‘ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย’ บริษัทต่างๆ ต้องจ่ายเงินค่าทำลายขยะที่ตนเองสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2021 หมายความว่า โรงงานยาสูบต้องจ่ายค่ากำจัดก้นกรองบุหรี่ด้วย
นอกจากนี้ยังลดการใช้กระดาษ ตั้งแต่ใบเสร็จไปจนถึงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สนับสนุนให้ร้านขายยาจ่ายยาในปริมาณที่แต่ละคนต้องการเท่านั้น ภายในปี 2025 พลาสติกทั้งหมดในประเทศจะต้องถูกรีไซเคิล และลดการใช้ขวดน้ำพลาสติกครั้งเดียวทิ้งลง 50% ภายในปี 2030 ส่วนร้านอาหารต้องหยุดใช้กล่องพลาสติกใส่อาหารภายในปี 2023 เป้าหมายสุดท้ายคือภายในปี 2040 ฝรั่งเศสจะไม่มีพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ขณะที่ต้องออกมาตรฐานและแนวปฏิบัติสำหรับการรีไซเคิลภายในปี 2022
กฎหมายนี้ยังบังคับให้ผู้ผลิตที่ใช้พลาสติกในสินค้าของตัวเอง ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อที่อยู่ในสินค้าด้วย
ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแฟชั่นขึ้นชื่อเรื่องการทำลายสินค้าที่ขายไม่ออก โดยทำลายสินค้าประมาณปีละ 100 ล้านตัวทั่วโลก เพราะแบรนด์ต่างๆ ต้องการรักษาความพิเศษของตัวเอง มีเพียง 1% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล
อาราช เดแรมบาร์ช นักการเมืองผู้อยู่เบื้องหลังการออกกฎหมายที่บังคับใช้ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องบริจาคอาหารที่หมดอายุแล้ว แทนการเอาไปทิ้งเมื่อปี 2016 กล่าวว่า กฎหมายนี้มีเจตนาดี แต่ก็ยังไม่จริงจังมากพอ โดยเปรียบเทียบกับกฎหมายที่ห้ามทิ้งอาหารซึ่งมีบทลงโทษปรับ 10,000 ยูโร แต่กฎหมายใหม่นี้ไม่มีบทลงโทษ “ในวัฒนธรรมของชาวยุโรป ถ้าไม่มีการปรับ มันก็ไม่ได้ผล”
ที่มา:
https://www.france24.com/en/20191231-france-begins-phasing-out-single-use-plastics
ภาพ: REUTERS/Christian Hartmann
Tags: ฝรั่งเศส, ขยะ, ขยะพลาสติก