เขียนถึงไมโครบีดส์ไปแล้วเมื่อสองสามเดือนก่อน บัดนี้ได้เวลาแนะนำให้รู้จักกับไมโครพลาสติกอีกกลุ่มซึ่งกำลังสร้างความปั่นป่วนให้ท้องทะเลและห่วงโซ่อาหารไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน พวกมันคือไมโครไฟเบอร์

ชื่อบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นเส้นใยต้นทางของมลพิษพลาสติกชนิดนี้จึงเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากบรรดาเสื้อผ้าและสิ่งทอที่พวกเราใช้งานนั่นแหละ และก็มีบางส่วนที่มาจากอุปกรณ์ประมงอย่างเชือก แห อวน ฯลฯ ด้วยเช่นกัน แต่บทความนี้จะขอโฟกัสเฉพาะเสื้อผ้าเพราะมันใกล้ชิดแบบแนบติดอยู่กับร่างกายของทุกคน

ย้อนกลับไปสมัยก่อนโน้น บรรพบุรุษของพวกเราใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น เส้นใยพืช เส้นใยไหม ขนสัตว์ หนังสัตว์ ฯลฯ เท่านั้น ในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม จนเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วในช่วงจังหวะที่ความรู้และเทคโนโลยีก้าวหน้า จึงเกิดการพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์ขึ้นมาทดแทน พวกมันไม่เพียงทนทานกว่า สวมใส่ได้ยาวนานกว่า แต่ยังมาพร้อมคุณสมบัติหลากหลายซึ่งตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่าด้วย อาทิ น้ำหนักเบา ให้ความอบอุ่นได้ดี คงรูป ไม่ยับง่าย ยืดหยุ่น กระชับ ระบายอากาศดี แห้งไว ไม่อับชื้น ฯลฯ สรรพคุณโดดเด่นเหล่านี้ทำให้เส้นใยสังเคราะห์ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปรากฏข้อมูลว่า มากกว่าร้อยละ 60 ของเสื้อผ้าที่มีอยู่บนโลกตอนนี้ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์หรือมีส่วนผสมของเส้นใยสังเคราะห์

บรรดาเสื้อผ้าที่อัดแน่นอยู่ในตู้ของเราก็เช่นกัน อาจไม่ถึงร้อยละ 60 ตามสถิติที่หยิบมาอ้าง แต่ไม่มีทางปลอดเส้นใยสังเคราะห์แน่นอน ถ้าคุณไม่เคยสังเกต ก็ลองพลิกอ่านป้ายที่ซ่อนอยู่ในเสื้อกีฬา กางเกงโยคะ เสื้อกันหนาว เสื้อยืดแห้งง่าย เสื้อยืดซูเปอร์แห้งง่าย กางเกงรัดรูป หรือแม้แต่ชุดชั้นในดูสิ ต้องเจอคำว่า โพลีเอสเตอร์ อะคริลิก ไนลอน สแปนเด็กซ์ หรืออีลาสเทนบ้างล่ะ 

สารภาพตามตรง เราชอบเสื้อผ้าที่มีส่วนผสมของเส้นใยสังเคราะห์อยู่ไม่น้อย เพราะมันทำหน้าที่ได้อย่างโดดเด่นตามที่ผู้ผลิตออกแบบมา ไม่ว่าจะเป็นชุดออกกำลังที่ไม่อมเหงื่อและระบายอากาศดี ใส่สบายตัวกว่าเสื้อยืดผ้าฝ้ายเยอะ เสื้อกันหนาวที่ไม่หนาและไม่หนัก ช่วยประหยัดพื้นที่และน้ำหนักของกระเป๋าเดินทาง หรือเสื้อยืดที่แห้งเร็วและไร้รอยยับ ก็ยังลดภาระการรีดผ้าและลดใช้พลังงานไฟฟ้าไปได้อีก

แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับความจริงว่า เครื่องนุ่งห่มกลุ่มนี้เป็นต้นเหตุของปัญหาบิ๊กเบิ้ม เพราะทุกครั้งที่ซักทำความสะอาดจะมีเส้นใยพลาสติกจิ๋ว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10 ไมครอนถึง 2-3 มิลลิเมตร เรียกรวมๆ ว่าไมโครไฟเบอร์หลุดหล่นออกจากเนื้อผ้า ปะปนอยู่ในน้ำซักผ้า เล็ดลอดผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย สู่แม่น้ำและล่องลอยออกสู่ทะเลเสมอ แพตเทิร์นการเดินทางเดียวกับไมโครบีดส์เป๊ะ และในปริมาณไม่น้อยเสียด้วยสิ

ผลการศึกษาเกี่ยวกับการปล่อยไมโครพลาสติกกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์จากเครื่องซักบ้านตามบ้านเรือน โดยศูนย์วิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยพลีมัธ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในช่วงปลายปี 2559 ระบุว่า การซักเสื้อผ้าเส้นใยอะคริลิกด้วยเครื่องซักผ้า อาจปล่อยไมโครไฟเบอร์ออกไปเพ่นพ่านมากกว่า 7 แสนชิ้นต่อการซักเพียงครั้งเดียวด้วยโหลดน้ำหนักผ้าเฉลี่ย 6 กิโลกรัม

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้จำนวนแน่ชัดของไมโครไฟเบอร์ในน้ำทิ้งจากเครื่องซักผ้า มันมีปัจจัยมากมายที่เป็นตัวแปรการหลุดร่วงของไมโครไฟเบอร์ ได้แก่ โครงสร้างของสิ่งทอ อุณหภูมิน้ำ ชนิดของผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่ม ไปจนถึงประเภทของเครื่องซักผ้างานวิจัยชิ้นหนึ่งค้นพบว่า เครื่องซักผ้าฝาบนทำให้ไมโครไฟเบอร์หลุดจากเสื้อผ้ามากกว่าเครื่องซักผ้าฝาหน้าถึง 7 เท่า

ขณะที่รายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับไมโครพลาสติก คาดประมาณว่า ร้อยละ 35 ของ primary microplastic ที่พบในท้องทะเลคือไมโครไฟเบอร์จากการซักสิ่งทอเส้นใยสังเคราะห์ ถือเป็นต้นทางไมโครพลาสติกแหล่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่ธรรมดาแล้วเนี่ย เล่นเอาปริมาณของไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปเลย เพราะมันคิดเป็นสัดส่วนแค่ร้อยละ 2 เท่านั้น

มีคำ ‘primary microplastic’ โผล่ขึ้นมา เลยต้องขอขยายความสักนิด มันคือไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในขนาดเล็กจิ๋วตั้งแต่แรก เช่น ไมโครบีดส์ ไมโครไฟเบอร์ และละอองยางสังเคราะห์ที่ปลิวออกจากยางรถยนต์ในขณะขับขี่ แน่นอนว่ามันต้องมี ‘secondary microplastic’ ตามมาด้วย ซึ่งหมายถึงพลาสติกชิ้นใหญ่ที่ค่อยๆ แตกกร่อนเพราะสัมผัสคลื่นลมและแสงแดดจนกลายเป็นไมโครพลาสติกรูปร่างหลากหลายไร้รูปแบบ เช่น ไมโครพลาสติกจากถุงพลาสติก จากเชือกหรืออวนที่เป็นอุปกรณ์ประมง

แล้วยังไงต่อล่ะเจ้าไมโครไฟเบอร์ที่กระจายทั่วท้องทะเลก็เข้าสู่ลำดับขั้นการกินในห่วงโซ่อาหารน่ะสิ เราพบมันในท้องปลาและหมึก เราก็ย่อมพบมันในท้องของเราด้วย แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีผลการศึกษายืนยันว่า ชิ้นส่วนไมโครพลาสติกทั้งหลายส่งผลกระทบทางสุขภาพของมนุษย์อย่างไรแน่ แต่ระหว่างลอยล่องในแหล่งน้ำ มันมักดูดซับสารเคมีเป็นพิษชนิดต่างๆ เข้ามาไว้กับตัว เมื่อมันเข้าสู่ร่างกาย พิษจากส่วนนี้แหละที่จะเล่นงานเราก่อน

เรามีทางเลือกอะไรบ้างที่จะช่วยลดจำนวนไมโครไฟเบอร์ซึ่งออกมาเพ่นพ่านในสิ่งแวดล้อม

หนึ่ง ซื้อและใส่เสื้อผ้าเส้นใยธรรมชาติให้มากขึ้น และในทางกลับกันก็เลือกซื้อเสื้อผ้าเส้นใยสังเคราะห์ให้น้อยลงหรือเท่าที่จำเป็น โดยเลือกสินค้าที่ผลิตได้มาตรฐาน และทนทานต่อการใช้งาน เพราะปรากฏผลการวิจัยออกมาแล้ว ผ้าฟลีซเกรดต่ำจะปล่อยไมโครไฟเบอร์ระหว่างการซักในปริมาณมากกว่าผ้าฟลีซคุณภาพดีแต่เราจะรู้คุณภาพของมันก่อนตัดสินใจซื้อได้อย่างไร ยากเนอะ

สอง ไม่ซักเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ในทุกครั้งหลังจากหยิบมาสวมใส่ ในที่นี้หมายถึงพวกเสื้อกันหนาวน่ะ ใส่แล้วยังไม่เปื้อนเปรอะ ไม่ต้องรีบซัก ถ้าเปื้อนนิดหน่อยก็ซักทำความสะอาดเฉพาะจุดก็พอ และซักมันด้วยน้ำเย็น เพราะยิ่งซักด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิสูง ไมโครไฟเบอร์ยิ่งหลุดออกมามากขึ้น

สาม ใช้อุปกรณ์ดักจับไมโครไฟเบอร์ในเครื่องซักผ้า เช่น Cora Ball บอลพลาสติกที่มีกิ่งก้านยื่นออกจากแกนกลาง มันเป็นนวัตกรรมที่เข็นออกมาเมื่อประมาณสามปีที่แล้วโดย Rozolia Project องค์กรด้านพิทักษ์มหาสมุทร ใช้งานง่าย เพียงโยนเข้าเครื่องพร้อมเสื้อผ้าที่จะซัก และเปิดเครื่องซักผ้าตามปกติ มันจะหมุนกลิ้งไปมาและดักจับเส้นใยจิ๋วได้ประมาณร้อยละ 26

ถ้าอยากดักจับได้มากกว่านั้น ต้องขยับไปใช้ถุงซักผ้า Guppyfriend ซึ่งผลิตจากวัสดุพิเศษที่สามารถกรองไมโครไฟเบอร์โดยปล่อยน้ำซึมผ่านได้อย่างสบาย แค่ใส่เสื้อผ้าเส้นใยสังเคราะห์ลงในถุงแล้วจับยัดทั้งถุงเข้าเครื่องซักผ้า ซักเสร็จก็เปิดถุงหยิบผ้าออกมาตาก 

แค่แกะเส้นใยสังเคราะห์ที่เกาะอยู่กับ Cora Ball หรือที่หมุนรวมกันเป็นกระจุกในถุง Guppyfriend ออกไปใส่ขวด PET ทำ Eco Brick ก็ช่วยรับผิดชอบไมโครไฟเบอร์ในส่วนของตัวเองได้แล้วนะมันง่ายสุดสำหรับเรา และน่าจะสำหรับคนทั่วไปด้วย แม้จะคิดเป็นสัดส่วนน้อยนิดเทียบกับที่มันกำลังเพ่นพ่านอยู่ทั่วโลกก็ตาม

สี่ วิธีการที่จริงจังขึ้นไปอีกคือติดตั้งเครื่องกรองไมโครไฟเบอร์ออกจากน้ำทิ้งเครื่องซักผ้า เราไม่เคยรู้จักอุปกรณ์นี้มาก่อน เพิ่งจะเห็นขายในเว็บไซต์ต่างประเทศ สนนราคาอยู่ที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่รวมค่าจัดส่ง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าในประเทศไทยมีเจ้านี่ขายหรือเปล่า ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าราคาและคุณภาพเป็นอย่างไร ใครสนใจคงต้องทำการบ้านเพิ่มเติม

แต่เพราะนี่เป็นปัญหาใหญ่และซีเรียส การกระทำจากทางฝั่งของผู้สวมใส่เสื้อผ้าใยสังเคราะห์ไม่น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทันสถานการณ์ การแก้ไขควรเกิดขึ้นที่ผู้ผลิตต้นทางด้วย เช่น โรงงานทอผ้าเส้นใยสังเคราะห์ต้องหาวิธีที่ทำให้ไมโครไฟเบอร์หลุดร่วงจากเนื้อผ้าน้อยที่สุด ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าควรออกแบบเครื่องซักผ้าที่มีฟิลเตอร์กรองไมโครไฟเบอร์ออกจากน้ำทิ้ง เป็นต้นซึ่งก็ไม่รู้เลยว่าเขาจะขยับเมื่อไหร่

อ้อแล้วการนำขวด PET มาผลิตเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ แม้จะมีข้อดีในแง่ลดใช้เม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งหมายถึงลดใช้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติตามไป แถมคุณภาพเนื้อผ้าก็ทัดเทียมโพลีเอสเตอร์มือหนึ่ง แต่เมื่อนำมาซัก มันปล่อยไมโครไฟเบอร์ออกมาเหมือนกัน นักสิ่งแวดล้อมจึงไม่เห็นด้วยที่ผู้ผลิตจะแห่โปรโมตประเด็นนี้เป็นจุดขายของสินค้า โดยเลี่ยงเล่าถึงผลลบเรื่องไมโครไฟเบอร์ เพราะมันแก้ปัญหาเดิมด้วยการเพิ่มเติมปัญหาใหม่ และยังไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืนจริงๆ นั่นเอง

 

Tags: , , , ,