บริษัทสถาปัตยกรรม XML ของเนเธอร์แลนด์ ได้ทำสำรวจรูปแบบรัฐสภาจากทั่วโลก เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ด้านพื้นที่ การตัดสินใจ และประชาธิปไตย ที่สะท้อนให้เห็นว่าการออกแบบรัฐสภาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมือง และแนวคิดการปกครองของประเทศนั้นๆ อย่างไรบ้าง 

ซึ่งเต็มไปด้วยความน่าสนใจทั้งในแง่ประวัติศาสตร์อันสอดคล้องกับรูปแบบการเมือง การปกครองของประเทศนั้นๆ หรือแม้กระทั่งรูปแบบสถาปัตยกรรมของรัฐสภาที่สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการเมืองการปกครองได้อย่างชัดเจน ดังเช่นรัสเซีย เกาหลีเหนือ หรือจีน หรือขนาดที่แปรผกผันกับความเป็นประชาธิปไตย

ในขณะที่อีกไม่นานประเทศไทยก็จะได้ใช้รัฐสภาแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน” โดยแผนการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย(1) ในปี 2536 จนกระทั่งนายชวน หลีกภัยลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผ่านไป 26 ปี ชวนเปลี่ยนจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ขึ้นมานั่งในตำแหน่งประธานสภา อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์เสียที

แต่ถึงแม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ก็มีการเปิดใช้แล้วในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในแง่การก่อสร้างและสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในประเด็นการออกแบบภายใต้แนวคิดไตรภูมิและเขาพระสุเมรุ แต่ภาพที่ออกมานั้นคือผนังปูนเปลือย ที่ได้รับคำตอบกลับมาว่า “งบประมาณไม่เพียงพอ” 

ในฐานะที่รัฐสภาเป็นสถานที่ที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย น่าสนใจว่ารูปแบบสถาปัยกรรมและแนวคิดในการก่อสร้างของรัฐสภาใหม่ของไทย “สัปปายะสภาสถาน” นั้น สะท้อนให้เราเห็นถึงอะไรบ้างทั้งในแง่การเมืองการปกครองและความเป็นประชาธิปไตย 

“สัปปายะสภาสถาน” สัญลักษณ์ประชาธิปไตยหรือศาสนสถาน ? 

สัปปายะสภาสถาน-ภาพจาก WAY Magazine

รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร WAY ว่า รัฐสภาสมัยใหม่ควรออกแบบโดยยึดหลักการ 3 ข้อ ได้แก่ อัตลักษณ์ ประชาชนและสิ่งแวดล้อม

แต่เมื่อมองในแง่ของอัตลักษณ์ จะพบว่าคณะสงบ 1051  ผู้ออกแบบตีความความเป็นไทยออกมาภายใต้แนวคิดไตรภูมิและเขาพระสุเมรุ มีเจดีย์ทองประดับอยู่บนยอดอาคาร แกนกลางของอาคารคือมณฑปประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช และโถงพระราชพิธี ปลูกต้นไม้ล้อมรอบรวมถึงบนยอดอาคารเป็นตัวแทนของป่าหิมพานย์ และห้องประชุมอันสะท้อนถึงดวงอาทิตย์(ห้องประชุมสุริยัน) และดวงจันทร์(ห้องประชุมจันทรา) ที่โคจรรอบเขาพระสุเมรุ

แนวคิดดังกล่าวอุดมไปด้วยความยึดโยงกับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งตกตะกอนมาจากผลพวงของการเมืองไทยในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาที่ยังคงวนเวียนอยู่กับประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน นักการเมืองฉ้อฉล และการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย รัฐสภาใหม่จึงเป็นภาพสะท้อนของการเรียกร้องให้ผู้แทนดำรงจริยธรรมอย่างเคร่งครัด เหมือนดังที่ ธีรพล นิยม หนึ่งในคณะออกแบบ กล่าวไว้ในรายงานของโพสต์ทูเดย์ว่า 

เราเห็นว่าวิกฤตวันนี้คือวิกฤตทางจิตวิญญาณ วิกฤตทางศีลธรรม เช่น ที่พูดกันว่าโกงไม่เป็นไร ขอให้ทำงานได้ ซึ่งอันตรายมาก สำหรับสังคมที่จะอยู่กันอย่างมีสติปัญญาและร่มเย็น ที่เราเอาเรื่องไตรภูมิมาใช้ในสภาใหม่เพื่อปักธงว่าสังคมไทยจะไปกันอย่างไร”

ในอีกด้านหนึ่ง รศ.ดร.ชาตรีมองว่าแนวคิดของรัฐสภาใหม่คล้ายผลักให้รัฐไทยเดินหน้าเข้าสู่รัฐศาสนา การอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชองค์จำลองไปประดิษฐานไว้ส่วนยอดสุดของอาคารรัฐสภา สถาปัตยกรรมตลอดจนการตกแต่งยิ่งเพิ่มมนต์ขลังศักดิ์สิทธิ์ ชวนให้กราบไหว้บูชา คล้ายอาคารทางศาสนามากกว่าอาคารรัฐสภาที่เป็นอาคารราชการ และควรเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย

“รัฐสภาหลังนี้มันเป็นอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยมันควรจะเป็นพื้นที่ที่เป็นอุดมคติของการแสดงให้เห็นว่าประชาชนนั้นมีอำนาจมากที่สุด แต่รัฐสภากลับเลือกใช้รูปแบบในเชิงศาสนา มันยิ่งทำให้เราถอยห่างจากหลักการความเป็นประชาธิปไตย”

รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ

ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดของรัฐสภาของประเทศอื่นที่ออกแบบโดยคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและความยึดโยงกับประชาชน เช่น อาคารรัฐสภาของบังกลาเทศที่ห้องประชุมสภาตั้งอยู่กึ่งกลางของตัวอาคารสะท้อนภาพว่าตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาคือหัวใจของการปกครอง แสงแดดที่สาดส่องลงมาจากหลังคาสื่อถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงช่องเปิดด้านบนของอาคารรัฐสภาที่ประชาชนสามารถมองเห็นการประชุมของสภาได้จากรอบด้าน 

หรือสภาของประเทศออสเตรเลียที่มีโครงสร้างของห้องประชุมคล้ายกับรัฐสภาแห่งใหม่ของไทยคือ ออกแบบให้ห้องประชุมของสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. ขนาบข้างห้องประชุมใหญ่ของรัฐสภา อย่างไรก็ตาม รัฐสภาของออสเตรเลียยึดแนวคิดที่ต้องการให้สภาเป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ห้องประชุมใหญ่ของอาคารดังกล่าวจึงเป็นมากกว่าที่ประชุมรัฐสภา หากเปิดให้ประชาชนสามารถเช่าเพื่อทำกิจกรรมต่างได้ อาทิ พิธีแต่งงาน พิธีจบการศึกษา 

แต่ถึงแม้ว่าคณะสงบ 501 หวังให้ภายในตัวอาคารรัฐสภามีทั้งพิพิธภัณฑ์ ห้องสัมมนาสำหรับให้ความรู้ประชาชน โรงยิม ตลาดติดแม่น้ำ ตลอดจนลิฟต์ต่อตรงขึ้นไปสู่ยอดอาคารเพื่อชมทิวทัศน์ แต่นั้นเป็นเพียงภาพที่ร่างเอาไว้ในพิมพ์เขียว 

แต่ รศ.ดร.ชาตรีมองว่าองค์ประกอบในการออกแบบทุกอย่างย้อนแย้งกับหลักการที่กล่าวมาข้างต้น ความโอ่อ่าและขรึมขลังตามแบบศาสนาไม่เอื้อต่อชีวิตทางโลกวิสัยของคนทั่วไป อีกทั้งอาคารรัฐสภายังหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องคำนึงถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่ต้องรอบคอบรัดกุมมากกว่าอาคารราชการแห่งอื่น และอยู่นอกเหนือการตัดสินใจของคณะผู้ออกแบบ

ในด้านสิ่งแวดล้อม นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ เคยประเมินว่าอาคารรัฐสภาหลังใหม่อาจมีการแอบแก้ไขแบบก่อสร้าง และทำให้ค่าไฟฟ้าเลยเถิดเทียบเท่ากับการใช้ไฟของสองอำเภอ รวมถึงการขอจัดซื้อเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติม ซึ่งขัดกับหลักการอาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน 

ถึงแม้ ผู้ออกแบบวาดให้มีการปลูกต้นไม้ทั้งบริเวณรอบอาคารและด้านบนของอาคาร แต่การเลือกใช้ไม้สัก 5,000 ต้นมาเป็นวัสดุในการก่อสร้างโดยอ้างว่าไม้สักเป็นอัตลักษณ์ของไทย ก็ยังชวนให้รู้สึกย้อนแย้งอยู่ดี 

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยังฟังไม่เข้าท่านัก เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐสภาของประเทศเยอรมนี ซึ่งติดตั้งแผงโซลาเซลล์ไว้บนฝ้า และมีการออกแบบให้โดมแก้วบนหลังคาให้มีฟังก์ชันการทำงานเหมือนฮีทเตอร์ ลดค่าใช้จ่ายของอาคารรัฐสภาเพื่อนำภาษีประชาชนไปใช้ในโครงการอื่น และที่น่าชื่นใจที่สุดอีกประการหนึ่งคือ รัฐสภาของเยอรมนีสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 1998 ห่างจากปัจจุบันมากกว่า 20 ปี 

ห้องประชุมสุริยัน

ไม่เพียงเท่านั้น ระยะเวลาในแผนก่อสร้างที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2554 เปลี่ยนคณะเลขาธิการสภาถึง 4 ชุด ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องการขนย้ายดิน รวมถึงปัญหาเรื่องชุมชนที่อาศัยอยู่รอบทำให้แปลนในการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงจากพิมพ์เขียวไปมากๆ อีกทั้ง งบประมาณที่ถูกตัดจาก 19,000 ล้านบาท เหลือ 12,000 ล้านบาท เนื่องจากการคลังไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ ก็ยิ่งทำให้ภาพจริงห่างออกจากภาพฝันของสถาปนิกไปอีกไกลโข 

ครั้นถอนตอปัญหาข้างต้นแล้วเสร็จ ปัญหาด้านอุปกรณ์ไอทีก็โผล่พ้นน้ำขึ้นมาอีก ซึ่งการดำเนินการด้านอุปกรณ์ไอทีต้องดำเนินควบคู่ไปกับการตกแต่งภายในที่อยู่ในขอบเขตรับผิดชอบของบริษัทชิโน ไทย แต่ปัญหาเหล่านั้นก็พัวพันไปกับงบประมาณที่ถูกลดทอนลง สุดท้าย ความโอ่อ่าอลังการที่เคยอยู่ในแบบแปลนจึงหลงเหลือเพียงการตกแต่งด้วยปูนเปลือยอย่างที่เราเห็นตามภาพข่าว

ทั้งนี้ จากแต่เดิมที่ผู้รับเหมาตกลงสัญญาเอาไว้ว่าจะก่อสร้างรัฐสภาหลังใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 900 วัน(17 ตุลาคม 2558) แต่ปัญหาที่รุมเร้าทำให้ต้องขอขยายระยะเวลาส่งมอบผลงานถึง 3 ครั้ง รวมกันเป็น 1,482 วัน ซึ่งถ้านำมารวมกัน รัฐสภาหลังใหม่จะใช้เวลาก่อสร้างถึง 2,382 วัน หรือประมาณ 6 ปี 5 เดือน ซึ่ง Voice Tv เคยประมาณค่าปรับล่วงเวลา 12 ล้านตามที่ระบุไว้ในสัญญา ไว้ที่ 17,784 ล้าบาท หรือเท่ากับงบก่อสร้างรัฐสภาใหม่อีกแห่งเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม สัปปายะสภาสถานยังได้รับการยอมรับว่าเป็นอาคารราชการที่ใหญ่ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารถึง 424,000 ตารางเมตร เป็นรองเพียงเพนตากอน หรืออาคารกระทรวงกลาโหมของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นที่ 600,000 ตารางเมตร แต่ฟังก์ชันการทำงานของสองอาคารนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง เพนตากอนปวรณาตนเป็นค้อนและตราชั่งของโลก(อย่างน้อยก็ที่พวกเขาเชื่อ) ขณะที่รัฐสภาไทยจะให้สมาชิกมาประชุมครบพร้อมหน้ายังต้องจุดธูป 3 ดอกอ้อนวอนขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือ

**ดูรูปเพิ่มเติม https://www.arsomsilp.ac.th/sapayasapasathan/

บทเรียนศึกษาจากบริษัทสถาปัตยกรรม XML

บริษัทสถาปัตยกรรม XML ของเนเธอร์แลนด์ ได้ทำสำรวจรูปแบบรัฐสภาจากทั่วโลก เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ด้านพื้นที่ การตัดสินใจ และประชาธิปไตย ที่สะท้อนให้เห็นว่าการออกแบบรัฐสภาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมือง และแนวคิดการปกครองของประเทศนั้นๆ อย่างไรบ้าง โดยปรากฏว่าสถาปัตยกรรมรัฐสภาในโลกนี้มีให้เห็นเพียง 5 รูปแบบเท่านั้น ซึ่งในแต่ละรูปแบบต่างมีนัยยะสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ แนวคิด และค่านิยมทางการเมืองของประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน 

ครึ่งวงกลม

รูปแบบ ‘ครึ่งวงกลม’ (Semicircle) เป็นรูปแบบที่หลายประเทศในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส สวีเดน รวมถึงที่ประชุมสหภาพยุโรป ในเมืองสตาร์สบูร์ก (Strasbourg) เลือกใช้ รูปแบบนี้มีรากฐานมาจากความคิดทางศิลปะแบบนีโอคลาสสิค ซึ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงกับการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ทำให้สถาปนิกหยิบยกโรงละครสมัยกรีกและโรมัน ซึ่งมีลักษณะครึ่งวงกลมมาเป็นแบบ ตกแต่งให้มีอารมณ์เคร่งขรึม สะท้อนเรื่องราวอันเก่าแก่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศ

ห้องประชุมรัฐสภาแห่งประเทศฝรั่งเศส

 ทั้งนี้รัฐสภารูปแบบครึ่งวงกลมให้ความรู้สึกถึงความเป็นเอกภาพและเป็นหนึ่งเดียวกัน มากกว่าอยู่คนละขั้วฝั่ง

‘ห้องประชุมจันทรา’ ของสัปปายะสภาสถานก็มีรูปร่างคล้ายกับรูปแบบครึ่งวงกลม เช่นเดียวกับรัฐสภาแห่งที่สองของไทยที่ผ่านร้อนหนาวทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2517 

ห้องประชุมจันทรา

ย้อนกลับไปสมัยประชาธิปไตยไทยพึ่งตั้งไข่ รัฐสภาแห่งแรกของไทยคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะราษฎรใช้เป็นที่ประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนยน 2475 ซึ่งพระที่นั่งอนันตสมาคมก็ได้รับการออกแบบจากฝีมือสถาปนิกชาวอิตาลี มาริโอ ตามานโย ตามสไตล์สถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการแห่งอิตาลี (Italian Renaissance) 

ต่อมาเมื่อคณะผู้แทนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามจำนวนของประชากร จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น จึงได้กราบทูล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ขอพื้นที่บริเวณด้านหลังถนนอู่ทอง มาก่อสร้างเป็นอาคารรัฐสภาที่ใช้ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2517-2562 หรืออาคารรัฐสภาที่เราคุ้นชินกันนั้นเอง ซึ่งออกแบบโดยนายพล จุลเสวก นายช่างสถาปนิกเอกของกรมโยธาธิการ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาคารรัฐสภาบราซิล

และสำหรับที่ตั้งของสัปปายะสภาสถาน สมัยรัฐบาลชวน(1) เคยคิดจะใช้พื้นที่บริเวณสนามม้านางเลิ้ง แต่เมื่อถึงรัฐบาลสมัยชวน(2) ก็อยากเปลี่ยนมาใช้บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อในปัจจุบัน แต่ท้ายที่สุดกลับลงเอยในที่ของที่ดินราชพัสดุ แถวแยกเกียกกาย 

ดังนั้น แง่หนึ่งเราอาจสรุปได้ว่า ระบบประชาธิปไตยของไทยมีความยึดโยงกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ต้น ในแง่ของพื้นที่ใช้สอยและอาคารสถานที่ 

รัฐสภาเก่า(2517-2562)

นั่งเผชิญหน้า

รูปแบบ ‘เผชิญหน้า’ (Opposing Benches) การจัดวางเก้าอี้รัฐสภาในรูปแบบนี้ให้ความรู้สึกตรงกันข้ามกับแบบครึ่งวงกลมอย่างสิ้นเชิง เพราะการแบ่งที่นั่งระหว่างสองฝ่ายอย่างชัดเจนทำให้เกิดการเผชิญหน้า สายตาปะทะกันตลอดเวลา ซึ่งประเทศที่มีรัฐสภารูปแบบนี้คือ อังกฤษ รวมถึงประเทศที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร เช่น ซิมบับเว บาฮามาส และสิงคโปร์ 

อันที่จริงแล้ว การนั่งเผชิญหน้าแบบนี้มีรากฐานมาจากความคิดที่ไม่ประชาธิปไตยเอาเสียเลย ย้อนกลับไปก่อนที่อังกฤษจะมีสิทธิบัตรแมกนาคาร์ตา (Magna Carta) ในปี 1215  สภาของไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน มีหน้าที่หลักคือเป็นที่ปรึกษาให้แก่พระมหากษัตริย์ ซึ่งคนที่มีสิทธิเข้าไปให้คำปรึกษาก็มีเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นคือ นักบวชและขุนนาง รัฐสภาอังกฤษในตอนนั้นจึงไม่ได้มีขึ้นเพื่อโต้วาทีและปะทะคารมเสียเท่าไร หากเป็นการสมานผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายชนชั้นสูงกับศาสนา โดยมีกษัตริย์เป็นหัวใจมากกว่า

ห้องประชุมรัฐสภาแห่งประเทศอังกฤษ

 เกือกม้า 

รูปแบบ ‘เกือกม้า’ (Horseshoe) เป็นรูปแบบที่นำรูปแบบจากสองข้อแรกมาประยุกต์รวมกัน โดยที่นั่งจะโค้งมนขึ้นไปถึงปลายด้านซ้ายและขวาของที่นั่งประธานสภา ลดทอนการเผชิญหน้า หากก็ยังสามารถสบตากันได้อยู่ ประเทศที่ใช้รัฐสภารูปแบบนี้ เช่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย แอฟริกาใต้ รวมถึงหนึ่งในรัฐสภาที่ถือว่ามีความงดงามที่สุดในโลกอย่าง ‘Jatiyo Sangshad’ ของบังกลาเทศ ที่ออกแบบโดยสถาปนิกหลุยส์ คาร์น (Louis Kahn)

ห้องประชุมรัฐสภาแห่งประเทศออสเตรเลีย

วงกลม

รูปแบบ ‘วงกลม’ (Circle)’ ต้นแบบของรูปแบบนี้ ย้อนกลับไปไกลถึงศตวรรษที่ 8 ในสภาของชาวไวกิ้ง ในไอซ์แลนด์ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Icelandic Althing’ ชาวไอซ์แลนด์หลายพันคนจากหลากสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ช่างฝีมือ พ่อค้า ชาวนา จะมารวมตัวกันในทุกเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อถกเถียง แบ่งปันข่าวสาร รวมถึงสานและหักสัมพันธ์ ตลอดจนเจรจาธุรกิจ

การประชุมดังกล่าวจะดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยหัวข้อหลักคือการพูดถึงกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน ผู้ดำเนินการพูดคุยเรียกว่า ‘ลอว์สปีคเกอร์’ (Lawspeaker) ซึ่งจะถูกคัดเลือกมาจากหนึ่งในสมาชิกของ ‘สภากฎหมาย (lögrétta, law councuil)’ มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี ลอว์สปีคเกอร์มีหน้าที่ในการประกาศกฎหมายที่ผ่านจากสภาให้ให้ชาวไอซ์แลนด์รู้โดยทั่วกัน

รูปแบบสภาแบบวงกลมถูกหยิบนำมาใช้อีกครั้งโดยสถาปนิกนามกุนเธอร์ เบห์นิสช์ (Günther Behnisch) ผู้ออกแบบรัฐสภาของเยอรมนีตะวันตกในเมืองบอนน์ ให้เป็นรูปวงกลมสะท้อนถึงความเท่าเทียมของทุกคนที่นั่งอยู่ในสภา แต่ในเวลาต่อมารูปแบบนี้ก็ได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแค่ 9 แห่งเท่านั้นที่ยังใช้อยู่ อาทิ เมืองดุสเซดอร์ฟ ทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี

ห้องประชุมรัฐสภาเมืองบอน ประเทศเยอรมนี

ห้องเรียน

รูปแบบสุดท้าย ‘ห้องเรียน’ (Classroom) ให้ลองจินตนาการถึงห้องเรียนที่เด็กทุกคนหันหน้าไปหากระดานดำโดยมีอาจารย์ยืนบรรยายอยู่ตรงกึ่งกลางห้อง ซึ่งรัฐสภารูปแบบห้องเรียนก็คล้ายเช่นนั้น ที่นั่งจะถูกออกแบบให้เป็นแถวตอนลึก จุดโฟกัสสายตาจะอยู่ที่ผู้พูดคนเดียวในห้องเท่านั้น จึงไม่แปลกนักที่ประเทศที่ใช้รัฐสภารูปแบบนี้มักจะเป็นประเทศที่มีดัชนี้ชี้วัดประชาธิปไตยต่ำ อาทิ รัสเซีย เกาหลีเหนือ รวมถึงจีน

ห้องประชุมรัฐสภาแห่งประเทศรัสเซีย

หรือรัฐสภาจะไม่ใช่สัญลักษณ์ของการปกครอบระบอบประชาธิปไตย ?

แม้ว่าอาคารรัฐสภาส่วนใหญ่จะทำการก่อสร้างตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19-20 หากเมื่อโลกภายนอกหมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์บางประการของประเทศนั้นๆ คำถามที่น่าสนใจอาจจะเป็น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำไมรูปทรงของห้องประชุมรัฐสภาถึงมีแค่ 5 รูปแบบ จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ หากโครงสร้างของรัฐสภาส่งผลต่อการประชุม โต้เถียงและตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภา

ข้อสรุปที่น่าสนใจอีกหนึ่งข้อจากผลสำรวจข้างต้นคือ ขนาดของห้องประชุมรัฐสภากลับมีผลในทางตรงกันข้ามกับดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยของประเทศนั้น โดยยึดตามผลประเมินจาก The Economist Democracy Index ในปี 2015  อาทิ ประเทศจีนที่มีจำนวนสมาชิกสภามากที่สุดในโลกถึง 2,980 คน กลับได้คะแนนเพียง 3.14 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 136 จาก 167 ประเทศ ขณะที่ประเทศอังกฤษที่มีขนาดรัฐสภาเล็กเสียจนสมาชิกแทบจะต้องยืนฟังการอภิปรายกลับได้คะแนนถึง 8.31 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 16 

ย้อนมามองดูประเทศไทยและอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่กำลังเร่งก่อสร้างบนพื้นที่ 119.6 ไร่ และมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดถึง 424,000 ตารางเมตร มีห้องประชุมแยก ส.ส. และ ส.ว. และห้องประชุมรวม รวมถึงเป็นอาคารราชการที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ในปี 2015 ไทยกลับได้คะแนนจาก The Economist Democracy Index เพียง 5.09 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 98 ตามหลังทั้ง ฟิลิปปินส์(54) อินโดนีเซีย(69)  มาเลเซีย(68) และสิงคโปร์(74)

ในขณะที่ผลสำรวจของปี 2018 ไทยถอยร่นไปอยู่ลำดับที่ 106 ถูกหักคะแนนเหลือ 4.63 คะแนน สวนทางกับประเทศในอาเซียนที่ล้วนมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย(52) ฟิลิปปินส์(53) อินโดนีเซีย(65)สิงคโปร์(66) 

จากบทวิเคราะห์ของบริษัท XML ที่สรุปว่าขนาดของรัฐสภาแปรผกผันย้อนแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆ แสดงให้เป็นผ่านรูปแบบการปกครอง ค่าดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยและรัฐสภาของประเทศจีน เช่นเดียวกันประเทศไทย ราวกับว่าความยิ่งใหญ่โออ่าของอาคารรัฐสภา มีไว้เพื่อซุกซ่อนภาพของประชาชนที่ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ

และแม้จะพิจารณาอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของไทยในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของระบอบการปกครองในแบบประชาธิปไตย ก็จะเห็นว่าสัปปายะสภาสถานถูกออกแบบให้มีความยึดโยงกับแนวคิดทางศาสนามากกว่าแนวคิดเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย อันเป็นฟังก์ชั่นการใช้งานของตัวสถานที่เอง ซึ่งภายใต้แนวคิดดังกล่าวต้องการเรียกร้องให้นักการเมืองยึดมั่นในจริยธรรมและความดีงาม มากกว่าพัฒนาระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเมืองในสังคมไทยได้เป็นอย่างดีว่า เราต้องการนักการเมืองหรือตัวแทนของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยหรือเป็น “คนดี”

 

ภาพ: AFP/ Alexander Astafyev / SPUTNIK / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL 

REUTERS/ Arnd Wiegmann / Lukas Coch/Pool / Benoit Tessier

 

อ้างอิง:

https://www.hansardsociety.org.uk/blog/parliaments-around-the-world-what-can-architecture-teach-us-about-democracy

https://www.ancient-origins.net/ancient-places-europe/ancient-parliamentary-plains-iceland-001926

https://waymagazine.org/interview-chatri-prakitnonthakan-sappayasaphasathan/

https://www.posttoday.com/politic/report/45530

https://www.voicetv.co.th/read/136136

https://prachatai.com/journal/2009/12/26979

https://library2.parliament.go.th/giventake/content_royrueng/2561/rr2561-jan7.pdf?fbclid=IwAR1CUA2ykH4lM9Dt3MFDRqTuOe7yJxK11FZ0oaaE4qji8Y4V2S1rZPFGbT4

Tags: , , , , ,