ไม่น่าเชื่อว่า การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 และ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจและติดตามชมอย่างมาก นอกจากจะมีการอภิปรายจาก ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านแล้ว นี่ยังถือเป็นการเข้าสภาครั้งแรกหลังเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เนื้อหาสาระของการอภิปรายในสภาเชื่อมโยงถึงผลงานในอดีตของ คสช. เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐมนตรีจำนวนหนึ่งเป็น ‘คนหน้าเดิม’ ในขณะเดียวกัน จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลบางส่วน เป็นการสานต่อเมกะโปรเจกต์ของยุค คสช. อีกทั้งนโยบายบางอย่างยังสวนทางกับการดำเนินนโยบายในอดีตของ คสช. ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อว่า รัฐบาลชุดใหม่จะทำตามนโยบายได้สำเร็จหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ จึงอยากหยิบยก ‘5 ประเด็นอย่างน้อย’ ที่น่าติดตามต่อหลังการแถลงนโยบายมาขยาย ดังนี้

1) จับตาปัญหาคุณสมบัติรัฐมนตรีของ ‘พล.อ.ประยุทธ์-อุตตม’ 

ประเด็นแรกที่ถูกพูดถึงหลังเปิดให้สภาอภิปราย คือ เรื่องการขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจจะส่งผลร้ายแรงต่อการคงอยู่ของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ทั้งชุด

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ มีประเด็นเรื่องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และ 98 (15) เนื่องจากเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐในวันที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีการอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” ที่ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ซึ่งระบุว่า คำสั่ง คสช. เป็นคำสั่งของ ‘เจ้าพนักงาน’ ที่อาจตีความได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562

ด้านอุตตมอาจจะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากอุตตมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอนุมัติปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นองค์กรของรัฐแก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย แม้ว่าต่อมาอุตตมจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ก็เป็นหนึ่งในผู้อนุมัติเงินกู้ดังกล่าวโดยไม่มีหลักฐานการคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรในที่ประชุม

อย่างไรก็ดี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและกุนซือฝ่ายกฎหมาย ได้ชี้แจงประเด็นคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่มีที่ใด บรรทัดใด ในจำนวนทั้งหมดของคำพิพากษาศาลฎีกา 34 หน้า ไล่มาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ที่บอกว่าหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้าน อุตตม ชี้แจงต่อสภาว่า ตลอดกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ปี 2547 ตนไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใดและคดีดังกล่าวก็ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

2) จับตาแก้รัฐธรรมนูญ จุดร่วมฝ่ายค้าน-พรรคร่วมรัฐบาล

ประเด็นที่สองที่น่าติดตามจากการแถลงนโยบายของรัฐบาล คือ ‘การแก้รัฐธรรมนูญ’ เนื่องจากในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลมีการบรรจุเรื่อง “การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้านพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การอภิปรายในประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ตั้งข้อสังเกตว่า การเขียนนโยบายของรัฐบาลมีลักษณะ “เลื่อนลอย โลเล และหลอกลวง” หรือขาดรูปธรรมที่ชัดเจนและตกหล่นซึ่งนโยบายสำคัญที่เคยได้หาเสียงไว้ ซึ่งเป็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดกติกาการเลือกตั้งที่ตั้งให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้พรรคการเมืองถูกบิดเบือนการตัดสินใจ พรรคการเมืองต้องจำใจ หรือลดหย่อนนโยบายที่ตนต้องการเพื่อให้ได้ร่วมรัฐบาล

ในสภายังมีการอภิปรายเสริมด้วยว่า หัวใจการแก้ปัญหาของประเทศวันนี้คือการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเอื้อกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม แต่การแก้ไขตามนโยบายรัฐบาล เจาะจงไปที่หลักเกณฑ์และวิธีการ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านเสนอแก้ไข 2 ประเด็นคือ ที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. และระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ คสช.

3) จับตา ‘เมกะโปรเจกต์รัฐบาล’ ลดหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นที่สามที่น่าติดตามจากการแถลงนโยบายของรัฐบาล คือ ‘เมกะโปรเจกต์’ ของรัฐบาล ที่สานต่อนโยบายเดิมในยุค คสช. ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟรางคู่ หรือ ท่าเรือ รวมไปถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือเขตเศรษฐกิจตามพื้นที่ชายแดน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้ชี้แจงนโยบายดังกล่าว โดยอ้างว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไร้เสถียรภาพทางการเมืองทำให้นโยบายที่ออกมาเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่รากฐานเศรษฐกิจยังมีปัญหา เนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออก เมื่อเจอวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้ไทยได้รับความเสียหาย ดังนั้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ จึงจำเป็นจะต้องยกระดับการผลิตของไทย ด้วยการทำโครงการเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดูดนักลงทุนและวิธีการผลิตแบบใหม่ เพื่อให้สังคมไทยได้เรียนรู้และพัฒนาการผลิตของตนเอง มิใช่แค่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบและส่งออกแบบที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ฝ่ายค้านอภิปรายกลับว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในยุค คสช. ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี โตขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวเลขที่สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม เช่น ค่าจ้างหรือเงินเดือนแรงงานโตขึ้นแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี รายได้เกษตรกรลดลง 3 เปอร์เซ็นต์ มีหลายพื้นที่รายได้ครัวเรือนลดลง และมีหนี้ครัวเรือนที่โตขึ้น 28 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวกัน ถ้าไปดูตัวเลขเมื่อ ปี 2018 ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน (wealth inequality) ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก อีกทั้งพบว่าค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2558 ถึง 2560 กลับสูงขึ้น ซึ่งแปลว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้แย่ลง แต่ทว่า ในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล โดยเฉพาะอีอีซี พยายามให้สิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและการถือครองที่ดินกับกลุ่มทุน โดยไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนถึงความสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมไทย

นอกจากนี้ ประเด็นที่แทบไม่มีการกล่าวถึงเลยเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจคือ ‘การปฏิรูปภาษี’ ในยุค คสช. มีการออกกฎหมายยกระดับการจัดเก็บภาษีอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกฎหมายภาษีมรดก แต่ในความเป็นจริงภาษีทั้งสองตัวเก็บได้ต่ำมาก ยกตัวอย่างเช่น ภาษีมรดกที่กรมสรรพากรรายงานว่าสามปีแรกของภาษีตัวนี้คือ 2559-2561 เก็บภาษีมรดกได้เพียง 285 ล้านบาทเท่านั้น  ซึ่งเป็นผลมาจากการออกกฎหมายที่มีข้อยกเว้นและการลดหย่อนภาษีต่างๆ

4) จับตาปัญหาที่ดิน-ราคาพืชผล-การใช้สารเคมี โจทย์ใหญ่เกษตรกร

ประเด็นที่สี่ที่น่าติดตามจากการแถลงนโยบายของรัฐบาล คือ  ปัญหาที่ดิน ราคาสินค้าเกษตร และการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาเก่าหลายสิบปี แต่ก็ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ยังแก้ไม่ได้ โดยประเด็นดังกล่าวกลายเป็นที่ฮือฮา เมื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายและได้รับการชื่นชมจากสภาและรัฐบาลว่าเป็นการอภิปรายอย่าง ‘สร้างสรรค์’

‘พิธา’ พยายามอภิปรายว่า ปัญหาเกษตรกรเป็นปัญหา ‘งูกินหาง’ จากการติดกระดุมผิดซ้อนกันถึง 5 เม็ด ไล่ตั้งแต่ปัญหาการถือครองที่ดิน เมื่อเกษตรกรไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองก็ไม่สามารถเข้าสู่แหล่งทุนได้ ขอการรับรองสินค้าไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ และเร่งการผลิตด้วยการพึ่งพาสารเคมี ทำให้สุดท้ายต้นทุนสูง รายได้ต่ำ และไม่มีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมการแปรรูป หรือการทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาเกษตรกรจึงจำเป็นจะต้องติดกระดุมให้ถูกเม็ดเสียก่อน

ทั้งนี้ ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลมีการพูดถึงการดูแลเกษตรกรให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน การแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในทั้งนโยบายสี่ปี และนโยบายเร่งด่วน กลับไม่มีการระบุถึงวิธีการในการทำตามนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน เครืองมือที่จะช่วยอย่างกฎหมายภาษีที่ดินและภาษีมรดกก็ไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ จากผลงานการยกเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย หรือ การแก้ปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนพื้นที่ป่า ก็ถูกพิสูจน์มาแล้วในยุค คสช. ว่าไม่ประสบผลสำเร็จและมีท่าทีที่ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้น เพราะรัฐบาลปฏิเสธการยกเลิกใช้สารเคมีอันตราย และซ้ำเติมคนไม่มีพื้นที่ทำกินด้วยการกล่าวหาประชาชนบุกรุกพื้นที่ป่าตามนโยบายทวงคืนผืนป่า

5) ไม่มีนโยบายฟื้นฟูหรือสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพ

ประเด็นสุดท้ายที่น่าติดตามจากการแถลงนโยบายของรัฐบาล คือ  นโยบายด้านการสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งไม่ปรากฏในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ประเด็นดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์โดย ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HUMAN RIGHTS WATCH) องค์กรที่ทำหน้าที่จับตาประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ว่า นโยบายของรัฐบาล คสช. ชุดที่ 2  ยังไม่ใช่แนวทางเพื่อฟื้นฟูการเคารพสิทธิมนุษยชนหลังการปกครองของทหารในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

โดย ฮิวแมนไรท์วอทช์ ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายของ คสช. ชุดที่ 2 ไม่มีการพูดถึงการจัดการกับคดีความที่ คสช.ได้ดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหว ผู้สื่อข่าว นักการเมือง และผู้เห็นต่างที่แสดงความเห็นอย่างสงบหลายร้อยคน โดยใช้ข้อหาอาญาร้ายแรง ทั้งการยุยงปลุกปั่น ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงการไม่ยกเลิกอำนาจในการเรียกตัวบุคคลมาซักถามโดยไม่มีทนายอยู่ร่วมด้วย

อีกทั้ง ในนโยบายของรัฐบาลยังไม่มีการกล่าวถึงการคุ้มครองประชาชนจากการบังคับให้สูญหาย การทรมาน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หรือการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมไปถึงการยกเลิกการยกเว้นความผิดให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในทางกลับกัน ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลและท่าทีของพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กลับมีเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งคือ การตั้งศูนย์สกัดข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ (Fake News Center) ซึ่งทำให้เกิดความน่ากังวลใจว่า การนิยามข่าวปลอมดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประชาชน หรือ คุ้มครองรัฐบาลจากการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ทั้งนี้ แม้โจทย์เรื่อง ‘ข่าวปลอม’ จะเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของโลก แต่วิธีการแก้ปัญหามีได้หลายรูปแบบ เช่น การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในการรู้เท่าทันสื่อ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้โดยง่าย รวมไปถึงการสนับสนุนบทบาทของสื่อ และ Fact Checker (ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง) อย่างกรณีไต้หวันที่มีหน่วยงานที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการและภาคประชาชนร่วมกันจัดทำ เป็นต้น

จะเห็นว่าวิธีการแก้ปัญหาข่าวปลอมมีหลากหลาย แต่แนวนโยบายของรัฐไทยกำลังเลือกใช้แนวทางที่น่ากังวลที่สุด คือ การให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดความจริง

Tags: , , , , , , , , ,