ทุกวันนี้ นักฟุตบอลไม่ได้ถูกพบเห็นเพียงแค่ในสนามหญ้า ทว่าพวกเขายังเป็นผู้เล่นคนสำคัญในสื่อบันเทิงและโซเชียลมีเดีย ปรากฏการณ์นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการปรากฏตัวของ ‘นักฟุตบอลไทยเซเลบ’ ซึ่งเป็นสถานะทางสังคมแบบใหม่ของแรงงานนักกีฬา อันไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย
ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจก็คือในช่วงปี 2557-2559 นักฟุตบอลที่เล่นอยู่ในไทยลีกตบเท้าเรียงคิวกันถ่ายภาพลงปกนิตยสารที่ไม่เกี่ยวกับกีฬาโดยตรงถึง 28 ครั้ง หรือเมื่อไปสำรวจโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะกึ่งส่วนตัว บัญชีอินสตาแกรม @jaychanathip ของชนาธิป สรงกระสินธ์ ณ วันที่ 7 สิงหาคม มีผู้ติดตามมากถึง 1.9 ล้านคน และชนาธิปก็ผ่านการเป็นพรีเซนเตอร์ทั้งร้านอาหารฟาสต์ฟูด กาแฟสำเร็จรูป รวมถึงการพากย์เสียงให้กับภาพยนตร์แอนิเมชัน กระทั่งเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ทั้งรถยนต์ เครื่องดื่มซุปไก่สกัด และผลิตภัณฑ์ยา คาดว่างานทั้งหมดนี้น่าจะทำรายได้ให้กับอดีตกุนซือทีมชาติไทยไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากวงการฟุตบอลไทยจะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในอีกด้านหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวงการฟุตบอลไทยก็ส่งผลต่อนักฟุตบอลในหลายด้าน ตั้งแต่โอกาสในหน้าที่การงาน การเลื่อนสถานะทางสังคม ไปจนถึงการเดินทางย้ายถิ่นของนักฟุตบอลต่างชาติ
กีฬาเป็นกิจกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นแรงงาน
ที่สามารถใช้ทุนทางกายภาพนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือทุนในรูปแบบอื่นๆ ได้
ตลาดแรงงานในสนามกีฬา
ในด้านหนึ่ง กีฬามักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพหรือเป็นกิจกรรมบันเทิงสำหรับผู้ชม แต่ในอีกด้าน การแข่งขันกีฬาอาชีพคืออุตสาหกรรมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งย่อมประกอบด้วยแรงงานจำนวนมาก และแรงงานที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ก็คือ ‘นักกีฬา’
ในที่นี้ เราไม่ได้พูดถึงกีฬาสมัครเล่น ซึ่งเป็นกิจกรรมทางกายที่มีเป้าหมายและคุณค่าในตัวมันเอง แต่มองว่ากีฬาเป็นกิจกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นแรงงานที่สามารถใช้ทุนทางกายภาพนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือทุนในรูปแบบอื่นๆ ได้
นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2550 ฟุตบอลไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยแจกบัตรเพื่อให้คนเข้าชม ทุกวันนี้กลับกลายเป็นต้องแย่งกันซื้อบัตรในบางแมตช์การแข่งขัน ขณะที่สถิติจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันในสนามเฉพาะระดับไทยลีกตลอดปี 2558 ก็มีมากถึงประมาณ 2 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณ 50,000 คนต่อสัปดาห์ และหากพิจารณามูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขัน สัญญาในช่วงปี 2560-2563 ก็มีมูลค่าสูงถึง 4,200 ล้านบาท (จาก 40 ล้านบาทในช่วงปี 2552-2553)
การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมฟุตบอลไทย ทำให้ฟุตบอลลีกอาชีพของไทยเป็นตลาดแรงงานที่น่าดึงดูดสำหรับนักฟุตบอลจำนวนมาก โดยเฉพาะนักฟุตบอลจากอเมริกาใต้และแอฟริกา
ความรุ่งเรืองบนเส้นทางอาชีพกับสถานะใหม่ในสังคม
ที่ผ่านมา ผลตอบแทนของนักฟุตบอลมักสะท้อนผ่านความสำเร็จของการแข่งขัน แต่ในวันนี้ ค่าเหนื่อยของพวกเขาอาจไม่ได้มาจากผลการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงชื่อเสียงและความนิยมที่มีต่อพวกเขาด้วย
อันที่จริง การมีชื่อเสียงของนักกีฬานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความแตกต่างระหว่างนักกีฬาที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีตกับนักกีฬาเซเลบในยุคปัจจุบัน ก็คือชื่อเสียงของนักกีฬาในอดีตนั้นอยู่บนฐานของ ‘การเล่นกีฬา’ ปรากฏตัวเฉพาะในสื่อกีฬา และไม่ถูกสื่อจับจ้องชีวิตประจำวันมากนัก แต่นักกีฬาเซเลบในปัจจุบันมักเป็นที่รู้จักผ่านมิติอื่นๆ ในชีวิต ปรากฏตัวในสื่อหลายรูปแบบ และมีสื่อคอยจับจ้องชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา
ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลงทุนและการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น นักฟุตบอลในฐานะ ‘วัตถุดิบ’ สำหรับผลิตเกมการแข่งขัน จึงเป็นทรัพยากรที่ตลาดต้องการ ดังนั้น ค่าแรงของนักฟุตบอลจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจประมาณได้คร่าวๆ ว่าค่าจ้างของนักฟุตบอลชาวไทยระดับไทยลีกโดยทั่วไปอยู่ในระดับหลายหมื่นจนถึง 200,000 บาทต่อเดือน ถ้าติดทีมชาติก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 250,000-400,000 บาทต่อเดือน ส่วนนักฟุตบอลชาวต่างชาติมีรายได้ในระดับหลายแสนไปจนถึงหลักล้าน
นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งก็คือชื่อเสียงที่เพิ่มมากขึ้น จากในอดีตที่ชีวิตนอกสนามของนักฟุตบอลไม่ต่างจากคนทั่วไปมากนัก แต่ในปัจจุบัน นักฟุตบอลจำนวนมากได้รับความสนใจจากสาธารณชนทั้งในและนอกสนาม
ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเฟื่องฟูของฟุตบอลไทยคือการที่แฟนบอลจำนวนมากไปรอที่สนามก่อนเริ่มการแข่งขันและอยู่ต่อหลังจบเกมเป็นเวลานาน เพื่อจะได้ขอลายเซ็น ถ่ายรูป หรือเซลฟีคู่กับนักฟุตบอล
ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกไม่มั่นคง กีฬาซึ่งดูเสมือนเป็นกิจกรรมที่ปลอดการเมือง จึงเข้ามามีบทบาทเป็นที่ยึดเหนี่ยวอย่างหนึ่งของผู้คน
การโหยหาวีรบุรุษของสังคมไทย
ปรากฏการณ์นักฟุตบอลไทยเซเลบเป็นการบริโภคกีฬาในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือการบริโภคตัวนักกีฬาจากภาพลักษณ์วีรบุรุษที่ถูกผลิตซ้ำโดยสื่อ พร้อมกันนั้น ปรากฏการณ์นี้ยังอาจสะท้อนอุปสงค์ของผู้คนในสังคมไทยที่กำลังโหยหาวีรบุรษ
เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) เสนอแนวคิดว่าชาตินั้นเป็นชุมชนจินตกรรมอันเกิดมาจากสำนึกร่วมของคนในชาติ กีฬาหลายชนิด โดยเฉพาะฟุตบอล มีระบบสัญลักษณ์แบบเดียวกับการล่า สงคราม และกิจกรรมทางศาสนา การแข่งขันกีฬาระหว่างชาติจึงเป็นรูปธรรมของจินตนาการนั้นได้เป็นอย่างดี
ความน่าหลงใหลของนักกีฬาวีรบุรุษอาจใกล้เคียงกับสิ่งที่มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เรียกว่า ‘บารมี’ ซึ่งเขาอธิบายว่ามันมาจาก “ของขวัญแห่งกายและจิตที่ถูกเชื่อว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ มีลักษณะเฉพาะ ไม่ใช่ว่าใครก็มีได้” ในแง่นี้ ศักยภาพทางกายและทักษะที่เหนือกว่ามนุษย์ทั่วไปของนักกีฬาชั้นยอด ก็อาจทำให้พวกเขากลายเป็นรูปจำลองของผู้เปี่ยมบารมีได้
หากวางปรากฏการณ์นักฟุตบอลไทยเซเลบลงไปในบริบทของสังคมไทยในทศวรรษ 2550 อาจกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นมาของนักฟุตบอลไทยเซเลบจำนวนมากนั้นสัมพันธ์กับบริบทของสังคมไทยที่อยู่ในห้วงของความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายปี หรือกล่าวให้ชัดขึ้นก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกไม่มั่นคง กีฬาซึ่งดูเสมือนเป็นกิจกรรมที่ปลอดการเมือง จึงเข้ามามีบทบาทเป็นที่ยึดเหนี่ยวอย่างหนึ่งของผู้คน โดยเฉพาะนักกีฬาเซเลบที่มีสถานะเป็นวีรบุรุษของชาติ ในยามที่สังคมไทยกำลังโหยหาวีรบุรุษ
ดังที่ในช่วงสิ้นปี 2557 สื่อกีฬาตั้งฉายา (ตามธรรมเนียมที่ทำกันทุกสิ้นปี) ให้กับเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ขณะเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทยว่า
‘คสช. (คืนความสุขให้ประชาชน) ตัวจริง’
เรียบเรียงจากบทความ “นักฟุตบอลไทยเซเล็บ: สถานะทางสังคมแบบใหม่ของแรงงานกีฬากับความโหยหาวีรบุรุษของสังคมไทย” โดย อาจินต์ ทองอยู่คง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ใน มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ปริทัศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2560) เรียบเรียงโดย ณัฐกานต์ อมาตยกุล และกิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์
Tags: มักซ์ เวเบอร์, อาจินต์ ทองอยู่คง, นักฟุตบอลไทยเซเลบ, ชนาธิป สรงกระสินธ์, ฟุตบอลไทย, นักฟุตบอลไทย, นักกีฬา, เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน