ในโลกแบนๆ ของ Flatland หากคุณเป็นผู้หญิง คุณจะเป็นเพียงเส้นตรง ต่างกันแค่ความสั้นยาว ส่วนผู้ชายจะมีด้านและมุมต่างๆ ตามแต่ชนชั้นของพวกเขา หากอยู่ในชนชั้นล่าง พวกเขาจะเป็นเพียงสามเหลี่ยม ลำดับชั้นที่เพิ่มขึ้นสะท้อนออกมาจากจำนวนเหลี่ยมมุมที่เพิ่มขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าด้านต่างๆ จะต้องเท่ากัน ไม่พิกลพิการผิดส่วน

ชนชั้นสูงสุดคือนักบวช ทายสักหน่อยว่าพวกเขาเป็นรูปอะไร

คำตอบคือรูปวงกลม แต่ไม่ได้กลมเนียนกริ๊บ มันเกิดจากเหลี่ยมมุมมหาศาลเล็กละเอียดที่ทำให้มองเผินๆ ดูเป็นวงกลม

ใช่แล้ว นี่คือโลกสมมติ ที่อ่านแล้วพูดได้ยากว่าจะเป็นดิสโทเปียหรือยูโทเปีย Flatland คือวรรณกรรมแปลอีกหนึ่งเล่มที่ต่อแถววรรณกรรมโลกสมมติอื่นๆ ของสำนักพิมพ์สมมติออกมา อย่าง 1984 และ We

หนักข้อขึ้นหน่อย มันไม่ใช่สังคมของคน แต่เป็นสังคมเรขาคณิต ที่ไม่ผิดหากจะบอกว่า “จงตัดสินกันด้วยรูปลักษณ์”

เอ็ดวิน แอ็บบอตต์ แอ็บบ็อตต์ เล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของ ‘สี่เหลี่ยม’ ชนชั้นที่อยู่สูงกว่าชั้นล่างขึ้นมาหน่อย แต่ก็เจียมตนว่ายังต่ำต้อยกว่าบรรดาชนชั้นสูงอย่างห้าเหลี่ยม วงกลม ฯลฯ

คณิตศาสตร์คือกฎและระบบระเบียบทางความคิด ไม่แปลกที่โลก Flatland ดำรงอยู่ด้วยอนุรักษนิยมเต็มขั้น พวกเขามองความผิดแผก ขบถ ดื้อรั้นด้วยความขนพองสยองเกล้า หากแม้สิ่งนั้นคือความผิดปกติแต่กำเนิด อย่างการเกิดมาด้วยรูปลักษณ์ประหลาดจากขนบ ก็อาจถูกกำจัดตั้งแต่วันแรกๆ

เมื่อนายสี่เหลี่ยมเล่าเรื่องระเบียบสังคม ดูเหมือนเขาจะเล่าด้วยความชื่นชมแบบแผนของสังคมที่แข็งแรงในโลกแบน ชอบสภาวะที่มีชนชั้น รังเกียจเหตุการณ์กระด้างกระเดื่องจากชนชั้นแรงงานและทหารสี่เหลี่ยมหน้าจั่ว ยกย่องความสูงส่งของชนชั้นนักบวช ราวกับเรื่องเหล่านี้เป็นคุณค่าปกติที่ไม่เห็นจะต้องตั้งคำถาม แม้ว่าจะนำไปสู่การตายก่อนวันอันควรของสมาชิกใหม่ แต่ก็ดีกว่ายอมแลกให้ระบบระเบียบและค่านิยมโลกแบนโดนสั่นคลอน ตนซึ่งสังกัดในชนชั้นที่เรียกว่าปลอดภัยจากการถูกขูดรีดกดขี่ใช้แรงงาน คงไม่อยากสูญเสียสถานะอันพออยู่พอกินอันนี้ไป

เนื้อหาส่วนแรกๆ ของหนังสือเป็นการปูพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับโลกแบนหรือโลกสองมิติให้กับผู้อ่านอย่างเราซึ่งใช้ชีวิตคุ้นเคยกับโลกสามมิติ จนอาจไม่เข้าใจว่า เรขาคณิตพวกนี้คิดหรือเห็นโลกเป็นอย่างไร

พวกเขาเห็นเพื่อนรอบข้างเป็นเพียงจุดหรือเส้น หากอยากรับรู้ชนชั้นของกันและกัน ก็ใช้วิธีสัมผัสพื้นผิวกันและกันโดยรอบ แต่นั่นเป็นวิธีของชนชั้นล่าง หากเป็นชนชั้นสูงขึ้นมา จะต้องฝึกฝนสายตาให้มองผ่าน ‘หมอก’ จนแยกความเข้ม-จางของเส้น เห็นเป็นองศาที่ขยับไปของแต่ละมุม จนอนุมานได้ว่าผู้นั้นเป็นสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือหลายเหลี่ยม

ความสามารถนี้ เรียกว่าเป็นของสูง ชนชั้นสูงตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อฝึกฝนลูกหลานตน สงวนไว้เป็นเคล็ดวิชาที่ไม่ให้สมาชิกชนชั้นล่างได้รับรู้

ไม่ใช่แค่เรื่องชนชั้น สตรีคือประเภทบุคคลที่อันตราย ไม่ว่าจะเป็น ‘เมีย’ ของชนชั้นใดก็มีอารมณ์ไม่มั่นคงและความจำสั้น รูปของพวกเธอที่เป็นเส้นตรงสามารถพรางตัวและลอบทำร้าย กฎหมายจึงสั่งให้เธอเดินส่ายตูดและส่งเสียงร้องขอสันติเสมอเมื่อเคลื่อนที่ กฎหมายที่ออกโดยชนชั้นนำเพศชาย จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเครื่องมือรักษาสวัสดิภาพของตนเอง

น่าแปลกที่ชนชั้นอื่นเลือกคู่ครองอย่างเคร่งครัด เพื่อหวังได้ไต้เต้าชนชั้น แต่กลุ่มนักบวชกลับผ่อนปรนกับเรื่องนี้ เพราะหากเหลี่ยมมุมจะหายหรือเพี้ยนไปสักนิดก็ไม่มีใครสังเกตเห็น นี่คือเอกสิทธิ์ของการเป็นชนชั้นนำ

หากไม่ได้อ่านประวัติผู้เขียนมาก่อน การบรรยายสังคมผ่านมุมมองของนายสี่เหลี่ยมอาจทำให้เราคิดว่าแอบบอตต์ ผู้เขียน เป็นพวกเหยียดเพศเหยียดผู้พิการ แต่สำนักพิมพ์สมมติได้ป้องกันความเข้าใจผิดนี้ ด้วยการเล่าประวัติของแอ็บบอตต์ ที่ในชีวิตจริงได้มีคุณูปการต่อวงการการศึกษาของผู้หญิง

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ว่าเขาเลือกจะใช้นามปากกา ‘สี่เหลี่ยม’ ในการพิมพ์ครั้งแรก เพราะผู้เล่าเรื่องหรือความคิดนั้นเจตนาให้หมายถึงนายสี่เหลี่ยมผู้มีความคิดติดกรอบโลกแบนๆ ของตัวเอง

Flatland ในครึ่งแรกมีสไตล์การเล่าเรื่องในรูปแบบตำรา เหมือนว่าเรากำลังอ่านเรื่องของประเทศห่างไกล ที่มีระเบียบสังคมเพี้ยนไปบ้างแต่ก็แทบไม่ต่างจากโลกมนุษย์เรา การวางท่าเป็นผู้รู้จริงในโลกสองมิติของนายสี่เหลี่ยม คล้ายคลึงกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์บางรายในหน้าฟีดเฟซบุ๊กที่แจกแจง (สิ่งที่พวกเขาพูดด้วยความมั่นใจว่าคือ) ‘ข้อเท็จจริง’ โดยปราศจากการวิพากษ์แนวคิดหรือที่มากฎเกณฑ์ แต่เหยียดหยามคนที่ด้อยกว่าในสังคมอย่างชัดเจนจนถอนคำพูดกันไม่ทันในภายหลัง

หากไม่โดนดึงดูดด้วยคอนเซ็ปต์แหวกแนวของนิยายคณิตศาสตร์ หรือพรึงเพริดกับความไม่พีซีทั้งหลาย ผู้อ่านบางคนอาจถอดใจเลิกอ่านไปก่อน

แต่ยังไม่ทันจะเบื่อ สังคมโลกแบนก็เจอเหตุการณ์ท้าทาย เมื่อโครมาติสเตส นำแนวคิดการทาสีที่ตัวเผยแพร่ออกไปในสังคม คนเริ่มพรางตัวด้วยสีสัน เพิ่มแถบของตัวเองด้วยสีที่แตกต่าง นักบวชกับสตรีดูแล้วใกล้เคียงกัน เพราะเห็นเพียงสองสีที่แสดง ด้านหน้ากับด้านหลัง สังคมชนชั้นสลับสับสนวุ่นวาย และเป็นอีกครั้งที่กฎหมายต้องออกมาแบนอิสระการใช้สี คงเหมือนกับที่รัฐบาลบางประเทศแบนการใช้ศิลปะถ่ายทอดความคิดที่ไม่จำกัดกรอบชนชั้น

เมื่อผ่านไปได้ครึ่งเล่ม เหตุการณ์หนึ่งได้เข้ามาสั่นคลอนความคิดของนายสี่เหลี่ยม ความปกติของเขา กลับเป็นความไม่ปกติในโลกเส้นหนึ่งมิติ เมื่อตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางสมาชิกโลกเส้น ซ้าย-ขวาสามัญไม่มีจริงสำหรับพระราชาในโลกนั้น แถมเขายังโดนราชาหยามเหยียดว่าเป็นเพียงผู้หญิง (ด้วยค่านิยมชายเป็นใหญ่ของนายสี่เหลี่ยมเอง) ในโลกที่ใช้เสียงกำหนดเพศสภาพ

นายสี่เหลี่ยมพยายามอธิบายว่าเพศไม่ได้กำหนดด้วยโทนเสียงแต่เป็นรูปทรง แต่ก็เหมือนเหนื่อยเปล่า เพราะพระราชาไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องรูปทรงใดๆ เพราะเขาเองก็เป็นเพียงเส้น และเชื่อว่าตัวเองยาวใหญ่จากคำบอกเล่าของคนรอบข้าง

“แทนที่จะบรรยายโลกใหม่ของเอ็งให้กระจ่าง เอ็งบอกแค่เรื่องจำนวนและขนาดของผู้ติดตามข้าราวสี่สิบคน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เด็กอมมือคนไหนในเมืองหลวงนี้ก็รู้ จะมีอะไรไร้เหตุผลและอวดดียิ่งกว่านี้ เอ็งจงยอมรับความโง่เง่าเสีย หรือไม่ก็ไสหัวไปจากอาณาจักรของข้า” พระราชากล่าว (น. 116)

เมื่อพยายามอธิบายให้ความรู้มามากมาย แต่กลับโดนด่ากลับและขับไสออกไป นายสี่เหลี่ยมก็ก้าวร้าวกลับ

“คนโฉดเขลา! เจ้าคิดว่าตัวเองคือการดำรงอยู่อันสมบูรณ์แบบ ทั้งที่จริงแล้ว เจ้าไม่สมประกอบและโง่เขลาที่สุด เจ้าอ้างว่าเห็น ทั้งที่ไม่เห็นอะไรเลยนอกจากจุด! แต่ข้าสิมองเห็นเส้นตรง…ขนาดข้าสูงส่งกว่าเจ้าไม่รู้จักจบสิ้น แต่ข้าก็ไม่สลักสำคัญอะไรในหมู่ขุนนางยิ่งใหญ่ในโลกแบน”

ไม่ผิดคาด พระราชาโต้ตอบถ้อยคำก้าวร้าวดูหมิ่นเดชานุภาพนั้นด้วยกำลังของตน ใช้เส้นแหลมเข้าทิ่มแทงสี่เหลี่ยมให้ตื่นจากความฝัน

Flatland ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1884 ในวันที่ความคิดเรื่องมิติที่ 4 ยังล้ำสมัยอยู่มาก มนุษย์เราถูกจำกัดประสาทสัมผัสให้รับรู้ได้แค่กว้าง ยาว สูง และมองเวลาเป็นเพียงสิ่งที่ไหลผ่านไป การที่แอบบอตต์ สมมติตนเองให้มองผ่านสายตาของสี่เหลี่ยม จนรู้ว่าหากถูกจำกัดมุมมองจะเห็นโลกรอบข้างเป็นอย่างไร ก็เหมือนการตั้งคำถามอีกด้านว่า ตัวเราเองที่สังกัดอยู่ในสามมิติ ก็คงมีอะไรๆ ที่ถูกจำกัดไม่ให้มองเห็นหรือเข้าใจบางสิ่งเช่นกัน

เมื่อหนังสือเลือกตั้งคำถามทำนองนี้ผ่านการสร้างสังคมชุมชนสมมติ มีประวัติศาสตร์ จารีต และกฎหมายของตน เรื่องนี้จึงไม่ได้จำกัดแค่ความรู้ความเข้าใจทางคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ตั้งคำถามถึงความรู้ความเข้าใจของเราที่มีต่อสังคม ความสูงต่ำที่เราคิดว่าธรรมชาติสร้างสรรค์ เช่น ชายเหนือกว่าหญิง รูปหลายเหลี่ยมเหนือกว่าสามเหลี่ยม สามเหลี่ยมโง่ วงกลมฉลาด จึงเป็นเรื่องที่สี่เหลี่ยมต้องกลับมาตั้งคำถามอย่างหนัก ว่าระเบียบสังคมที่ตนศรัทธาและสบายใจที่จะอยู่ มันคือความจริงสำหรับทุกคนหรือไม่

เพราะแม้กระทั่งผู้ปราดเปรื่องอย่างราชาในโลกเส้น ยังมีเรื่องโง่เขลาที่ด่วนสรุปเต็มไปหมด

บางทีเราเองอาจเป็นเหมือนพระเจ้าในโลกเส้น ที่โต้ตอบความไม่เข้าใจของตนด้วยความก้าวร้าว ปกป้องตัวเองจากความรู้ที่ตนไม่อาจ ‘รับรู้’ ได้ในมโนทัศน์อันจำกัดของตัวเอง ด้วยการบอกคู่สนทนาว่ามันเป็น “เรื่องไร้สาระ” ขับไล่ให้เขาออกไปจากอาณาเขตของตน (ทั้งที่จริงแล้วก็เป็นโลกที่ไม่ได้น่าอยู่สักเท่าไร)

สุดท้าย นายสี่เหลี่ยมอาจได้ค้นพบในที่สุดว่า เหนือโลกสองมิติของเขายังมีโลกสามมิติของเรา และมีเรื่องที่เขาไม่สามารถทำความเข้าใจอีกมาก

และก็เช่นเดียวกันกับเรา หากแม้เราไม่ค้นพบ ไม่อาจเข้าใจโลกสี่มิติ หรือระเบียบความคิดแบบอื่นๆ เราก็ไม่น่ามีสิทธิ์ไปไล่ใคร ที่เพียงแต่มองโลกไม่เหมือนกับเรา

Tags: