แม้ปัจจุบันหลายประเทศจะฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่ จนสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้เกือบปกติ แต่การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำงานต่อไปในระยะยาวว่าสุดท้ายแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปวัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากขนาดไหน 

ระหว่างสหรัฐฯ กำลังตัดสินใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 ให้ประชาชนทุกคน การศึกษาล่าสุดของนักวิจัยไฟเซอร์ และ Kaiser Permanente องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet เมื่อวานวันที่ 4 ตุลาคม 2021 พบว่า 6 เดือนถัดมาหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงเหลือ 47% จาก 88% แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตยังคงสูงถึง 90% โดยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 3.4 ล้านคน ในสหรัฐฯ ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม ระหว่างเดือนธันวาคมปี 2020 – สิงหาคม 2021 

เมื่อเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์ต่างๆ พบว่าหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มได้ 4 เดือน ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าลดลงจาก 93% เป็น 53% ขณะสายพันธุ์อื่นๆ ลดลงจาก 91% เป็น 67% 

ดร. หลุยส์ โจดาร์ ( Luis Jodar) รองประธานอาวุโสและหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของวัคซีนไฟเซอร์ ย้ำว่า การติดเชื้อภายหลังได้รับวัคซีน (Breakthrough Infections) มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้มากที่สุด จากประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลง และทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับสายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีคุณสมบัติหลบหนีการป้องกันของวัคซีน เพราะการวิเคราะห์ตามสายพันธุ์แสดงให้เห็นว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพต่อสู้กับสายพันธฺ์ที่น่ากังวลทั้งหมดในปัจจุบัน

“สำหรับพวกเรา นั่นชี้ให้เห็นว่าเดลตาไม่ใช่สายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงการป้องกันของวัคซีนโดยสิ้นเชิง ถ้าเป็นอย่างนั้น เราคงไม่ได้เห็นการป้องกันที่สูงนักหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว เพราะวัคซีนจะไม่ทำงานในกรณีนี้ มันจะเริ่มต่ำและต่ำอยู่อย่างนั้น” ซารา ทาร์ตอฟ (Sara Tartof) หัวหน้าการศึกษาจากแผนกวิจัยและประเมินของ Kaiser Permanente กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่อาจเป็นไปได้ของการศึกษาชิ้นนี้ คือ ขาดข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแนวทางสวมหน้ากากอนามัย และอาชีพของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา ซึ่งอาจส่งผลต่อความถี่ของการทดสอบ ตลอดจนโอกาสในการสัมผัสเชื้อไวรัส อีกทั้ง ผู้วิจัยยังเตือนด้วยว่า การทดสอบหาสายพันธุ์มีแนวโน้มจะล้มเหลวในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว และอาจนำไปสู่การประเมินประสิทธิภาพเฉพาะเจาะจงตามสายพันธุ์สูงเกินไป 

การศึกษาทั้งหมด เป็นข้อมูลสำคัญต่อสหรัฐฯ และหลายประเทศที่กำลังประเมินความจำเป็นสำหรับฉีดบูสเตอร์โดส เดิมทีฝ่ายบริหารของ โจ ไบเดน ต้องการให้ฉีดบูสเตอร์โดสแก่ชาวอเมริกันทุกคน แต่แผนนี้ชะงักไปเมื่อที่ปรึกษาสำคัญอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ ตั้งคำถามถึงความจำเป็น โดยพิจารณาข้อมูลตามปัจจุบันว่าวัคซีนยังคงป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้เกือบทั้งหมด ทว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้สามารถฉีดวัคซีนของไฟเซอร์เป็นบูสเตอร์โดสแก่ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจากการติดเชื้อไปก่อนหน้านี้แล้ว

ที่มา: 

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/pfizerbiontech-covid-19-vaccine-effectiveness-drops-after-6-months-study-2021-10-04/

https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)02183-8/fulltext

https://www.forbes.com/sites/jemimamcevoy/2021/10/04/pfizer-covid-vaccine-still-90-effective-at-preventing-hospitalizations-after-six-months-study-finds/?sh=fc127d14933c

Tags: , , , ,