คุณเคยสงสัยไหมว่า มีอะไรทำให้เราชอบพอใครบางคนขึ้นมาได้ ทั้งที่บางคนคนนั้นอาจไม่ได้หล่อสวยอะไรเท่าไรเลย แต่กลับมี ‘บางอย่าง’ ในตัวเขาหรือเธอที่ทำให้เราหลงใหลได้ปลื้ม
กลับกัน บางคนก็หล่อเหลือเกินสวยเหลือเกิน ใครๆ ก็ชอบรูปลักษณ์ของเขาหรือเธออย่างยิ่ง แต่ทำไมก็ไม่รู้ เรากลับไม่ค่อยจะสนอกสนใจคนคนนั้นเอาเสียเลย หรือที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ กับบางคน – เราถึงขั้นเกิดอาการ ‘ไม่ถูกชะตา’ ด้วยซ้ำ
เรื่องนี้เป็นคำถามที่ถามกันมาวนเวียนไม่รู้จักกี่ศตวรรษแล้วนะครับ เพราะมันเป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาดมาก และบางครั้งก็อาจถึงขั้นทุกข์ทรมานใจด้วย โดยเฉพาะถ้าเราไปรักใคร่ชอบพอคนที่เขาไม่ได้ชอบอะไรเราตอบกลับ
เราลองมาหาคำอธิบายเรื่องนี้กันในเชิงประสาทวิทยา จิตวิทยา และวิทยาศาสตร์กันดูหน่อยไหมครับ
เรื่องของเรื่องก็คือ ดร.เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) เธอได้ลองไปศึกษาเรื่องนี้ด้วยการสแกนสมองของผู้คนที่อยู่ในความรักขั้นตอนต่างๆ เพื่อจะหาเบาะแสทางประสาทวิทยาเกี่ยวกับความรัก
ฟิชเชอร์เป็นคนเขียนหนังสือดังเมื่อหลายปีก่อน ชื่อ Anatomy of Love เธอถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง ‘ชีววิทยาความรัก’ (Biology of Love and Attraction) แถวหน้าๆ ของโลก ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่สถาบันคินซีย์ มหาวิทยาลัยอินเดียนา แล้วก็เคยขึ้นพูดบนเวทีเท็ดทอล์ค และทำให้หัวข้อ The Science of Seduction หรือ ‘วิทยาศาสตร์แห่งการยั่วยวน’ กลายเป็นหนึ่งในตอนที่มีคนฟังมากที่สุดในโลกมาแล้ว
สิ่งที่เธอทำก็คือ เธอพัฒนาแบบทดสอบบุคลิกภาพขึ้นมาชุดหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่แบบทดสอบบุคลิกภาพในเชิงจิตวิทยามากเท่ากับเป็นการทดสอบในแง่ของวิทยาศาสตร์ทางสมอง (Brain Science) นะครับ เรียกว่า Fisher Temperament Inventory เพื่อเอาไว้วัดอารมณ์ของคน แต่ temperament นั้นไม่ใช่อารมณ์วูบวาบแบบ emotions นะครับ มันเป็นอารมณ์ประจำตัว ถือเป็นบุคลิกประจำตัวเราอย่างหนึ่งเลย โดยเจ้าอารมณ์ที่ว่านี้ จะมาจากทั้งพันธุกรรม ฮอร์โมน และสารสื่อประสาทต่างๆ ในสมองของเรา ซึ่งถ้าเรารู้ว่า ตัวเรามีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีการหลั่งสารสื่อประสาทแบบไหนออกมา ก็จะทำให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ว่าเรามีอุปนิสัยประจำตัวอย่างไร ซึ่งนั่นก็นำไปสู่การตอบคำถามด้วยว่า คนแบบไหนดึงดูดกับคนแบบไหน และไม่ดึงดูดกับคนแบบไหนบ้าง
ถ้าเรารู้ว่า ตัวเรามีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีการหลั่งสารสื่อประสาทแบบไหนออกมา ก็จะทำให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ว่าเรามีอุปนิสัยประจำตัวอย่างไร
เรื่องนี้ไม่ได้ใช้ได้แค่กับคนรักในแง่ชู้สาวเท่านั้นนะครับ แต่ยังใช้กับกับเพื่อนร่วมงานด้วย เพราะแม้เราอาจไม่ได้หลงรักเพื่อนร่วมงานตัวเอง แต่ก็จะมีเพื่อนร่วมงานที่เราชอบกับที่เราไม่ชอบ ที่เราทำงานด้วยแล้วถูกคอ เข้าขากัน กับเพื่อนร่วมงานแบบที่ทำอย่างไรก็ทำงานด้วยกันไม่ได้ ดังนั้น การทดสอบของฟิชเชอร์นี้จึงนำไปประยุกต์ใช้ได้มากกว่าแค่เรื่องความรักและเพศเท่านั้น
ฟิชเชอร์ใช้เวลาหลายปีในการหาว่า คนเรามี ‘บุคลิก’ แบบไหนที่เชื่อมโยงเข้ากับระบบทางชีววิทยาของร่างกายบ้าง แล้วที่สุด เธอก็แยกแยะออกมาเป็นสี่ระบบ โดยบอกว่าคนเราจะมีลักษณะนิสัยแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งไม่ได้แปลว่าแต่ละคนต้องเป็นหนึ่งในสี่กลุ่มนี้เท่านั้น แต่คนเรามีทั้งสี่ระบบนี้อยู่ในตัว แล้วแต่ว่าจะมีระบบไหนมากน้อยกว่ากันอย่างไร ดังนั้น เมื่อนำมาทำเป็น ‘สเกล’ เพื่อวัด จึงไม่ได้แปลว่าต้องเป็น 0 หรือ 1 แต่ว่าเราอาจมีระบบใดระบบหนึ่งมากกว่าระบบอื่น หรือที่พบมากที่สุดก็คือมีสองระบบทำงานคู่กันอยู่ในสมองของเรา
ระบบทั้งสี่ที่ว่า ได้แก่ ระบบโดปามีน ระบบเซโรโทนิน ระบบเทสโทสเทอโรน และระบบเอสโตรเจน โดยโดปามีนและเซโรโทนินนั้นเป็นสารสื่อประสาทที่คอยดูว่า เราจะรู้สึกสบายใจแค่ไหนกับการออกไปเสี่ยงนอก comfort zone หรือเราอยากจะอยู่สบายๆ มากกว่า ในขณะที่เทสโทสเทอโรนกับเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนเพศที่คอยกำหนดการแสดงออกถึงลักษณะที่โน้มเอียงไปทางชายหรือหญิงในสมองของเรา
ทั้งสี่ระบบนี้ ไม่ได้มีแค่ในมนุษย์นะครับ แต่ฟิชเชอร์บอกว่า ในลิง กิ้งก่า หรือนก ก็มีเหมือนกัน มันจึงเป็นการทำงานที่ฝังลึกอยู่ในวิวัฒนาการของเรา และเป็นตัวกำหนดว่าเราจะมีระดับของกิจกรรมต่างๆ อย่างไรในแต่ละระบบ
เมื่อแยกแยะออกมาเป็นสี่ระบบแล้ว ฟิชเชอร์ไม่ได้ฟันธงทันทีนะครับ แต่เธอหาวิธีที่จะทดสอบในคนกลุ่มใหญ่ เธอก็เลยสร้างเป็นแบบสำรวจที่มีคำถาม 56 ข้อ แล้วร่วมมือกับเว็บไซต์หาคู่ คือ chemistry.com แล้วลองทำการสำรวจ ซึ่งในที่สุด ก็ได้ผลการสำรวจออกมาก้อนใหญ่มาก เพราะมีคนเข้าร่วมตอบคำถามมากถึง 14 ล้านคน ซึ่งในจำนวนทั้งหมดนี้ ฟิชเชอร์เลือกวิเคราะห์ข้อมูลคนในหกประเทศก่อน มีจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนคน เธอพบว่า ถ้าแยกเป็นชาย-หญิงตามที่เราคุ้นเคยกัน ผู้ชายมักจะมีระบบเทสโทสเทอโรนมากกว่า ส่วนผู้หญิงมักมีระบบเอสโตรเจนมากกว่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย แต่โดปามีนกับเซโรโทนินนั้น เรื่องเพศที่แตกต่างกันไม่ได้มีความต่างอย่างมีนัยสำคัญอะไร คือพบได้ในทั้งสองเพศ
อย่างไรก็ตาม การบอกว่าคนเรามีสี่ระบบอยู่ในตัวนี่ เป็นเรื่องที่ต้องระวังหน่อยนะครับ เพราะเรามีแนวโน้มจะพูดกันแบบง่ายๆ (Simplified) ว่า ดร.ฟิชเชอร์วิเคราะห์แล้วบอกว่ามีคนอยู่สี่กลุ่ม แต่จริงๆ ต้องบอกว่า หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มคนที่ว่านี้แล้ว (รวมไปถึงการสแกนสมองคนอีกจำนวนหนึ่งด้วย แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน) จึงรวบรวม ‘พฤติกรรม’ ของคนที่อยู่ในกลุ่มทดลองออกมาได้สี่แบบใหญ่ๆ แล้วแต่ละแบบก็จะไปสัมพันธ์กับระบบประสาทสี่ระบบ คือไม่ได้แปลว่า ฟิชเชอร์จะไป ‘ฟันธง’ ว่าคนเรามีอยู่แค่สี่กลุ่มนี้เท่านั้นนะครับ
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจอยากรู้แล้วว่า แล้วแต่ละระบบนี่ คนมีลักษณะอย่างไรบ้างหรือ ซึ่งต่อไปนี้เป็นการพูดแบบ ‘สรุป’ แบบ ‘หยาบ’ มากๆ นะครับ พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นการเล่าให้ฟังอีกต่อหนึ่งแบบไม่ค่อยรัดกุมเท่าไหร่ เพราะจริงๆ แล้วมีรายละเอียดเยอะมาก รวมทั้งมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ด้วย
ถ้าเป็นคนที่ ‘ได้คะแนน’ โดปามีนสูง มักจะเป็นคนที่ช่างสงสัย สร้างสรรค์ มีพลัง ไม่หยุดนิ่ง แล้วก็ยืดหยุ่น มักจะชอบความเสี่ยงต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นนักผจญภัย แล้วทนคนที่น่าเบื่อไม่ค่อยจะได้ คนกลุ่มนี้จะ ‘ดึงดูด’ คนแบบเดียวกันเป็นหลัก
ส่วนคนที่ได้คะแนนจากระบบเซโรโทนินสูง จะเป็นคนที่ชอบพบปะคนอื่น แล้วก็มีลักษณะที่อยากผูกพันกับผู้คน มักจะเป็นกลุ่มคนที่อนุรักษ์นิยมหน่อยๆ ไม่ค่อยชอบออกไปสำรวจหรือเสี่ยงอะไรเท่าไหร่ เป็นประเภทนักสร้างหรือผู้พิทักษ์ปกป้อง จะเป็นคนที่สงบ ชอบให้อะไรๆ อยู่ในการควบคุม ชอบวางแผน คิดอะไรที่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง เป็นคนที่ซื่อสัตย์ คนกลุ่มนี้จะชอบคนที่มีความซื่อสัตย์มากกว่าคนที่น่าสนใจหรือน่าตื่นเต้น ก็เลยเป็นกลุ่มคนที่มักจะดึงดูดคนแบบเดียวกัน
ความที่คนเรามีระบบทั้งสี่มากน้อยแตกต่างกันไป จึงไม่ใช่การจับใครไป ‘ยัด’ ไว้ในกล่องสี่กล่อง แต่เป็นเหมือนสเปคตรัมสี่สเปคตรัมที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปมา
สำหรับคนที่ได้คะแนนจากระบบเทสโทสเทอโรนสูง จะเป็นคนที่มีลักษณะแบบผู้ชายๆ (ในความหมายทั่วไป) มากหน่อย เช่น ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ ชอบการทดลอง ชอบวิเคราะห์ ตรงไปตรงมา ชอบตัดสิน ช่างสงสัย ชอบการแข่งขัน คนแบบนี้มักจะดึงดูดกับคนที่ไม่เหมือนตัวเอง
ส่วนคนที่ได้คะแนนจากระบบเอสโตรเจนสูง ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ ผู้หญิง (ในความหมายทั่วไป) เช่น มีความแคร์คนอื่น มองในองค์รวม มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนอื่น มักจะมีทักษะในการพูดและการเข้าสังคมที่ดี เป็นนักต่อรอง มองภาพใหญ่ อดทนต่อความไม่ชัดเจนได้ดี ฯลฯ คนในกลุ่มนี้จะดึงดูดคนที่ไม่เหมือนกันตัวเองอีกเช่นกัน
ทีนี้ด้วยความที่คนเรามีระบบทั้งสี่มากน้อยแตกต่างกันไป จึงไม่ใช่การจับใครไป ‘ยัด’ ไว้ในกล่องสี่กล่องนะครับ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนสเปคตรัมสี่สเปคตรัมที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปมา ดังนั้นเอาเข้าจริงแล้ว ถ้าจะให้ชี้ชัดไปเลยว่าทำไมเราถึงรักคนนั้นคนนี้ จึงอาจเป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้แบบกระจ่างชัดเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยที่สุด งานวิจัยของ เฮเลน ฟิชเชอร์ ก็ทำให้เราพอเห็นได้ว่า คนแบบไหนมีแนวโน้มจะชอบหรือไม่ชอบคนแบบไหน ซึ่งก็อาจทำให้เราได้ย้อนกลับมาพิจารณาความชอบของตัวเองดูได้เหมือนกัน และไม่ใช่แค่เพื่อให้รู้ว่าทำไมเราถึงรักใครเท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพื่อให้เราเข้าใจตัวเอง และหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น (โดยเฉพาะคนในสังคมที่ขยายวงกว้างออกไปมากกว่าแค่คนรัก) ในโลกที่หลากหลายและเต็มไปด้วยผู้คนที่แตกต่างกันไปในสเปคตรัมของสี่ระบบนี้ให้ได้
ทำไมเราถึงรักใครบางคน ทำไมถึงไม่รักใครอีกบางคน
บางทีนี่อาจเป็นคำถามที่ต้องถามกันไปจนชั่วฟ้าดินสลายก็ได้
Tags: ชีววิทยาความรัก, ความรัก, จิตวิทยา, ประสาทวิทยา, แรงดึงดูดทางเพศ, Fisher Temperament Inventory