เขามีงานประจำเป็นเภสัชกร กับอีกหนึ่งงานประจำเป็นซีเนไฟล์ (Cinephile) ในกลุ่มฟิล์มไวรัส (FILMVIRUS) ที่คอยสนับสนุนและหาที่ทางให้คนทำหนังนอกกระแสมากว่าสิบปี เขายังเขียนบทความเกี่ยวกับหนังในนาม Filmsick อยู่ไม่ว่างเว้น บนช่องทางต่างๆ (รวมถึง The Momentum) และในเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกหลายต่อหลายเรื่อง
ใครที่เคยอ่านบทความเรื่องหนังของเขาน่าจะนึกภาพออก ที่มากไปกว่าความคิดเห็นหรือรีวิวเกี่ยวกับหนัง วิวัฒน์มักมีประเด็นอื่นๆ ซึ่งเชื่อมโยงต่อไปจากหนังเรื่องนั้นๆ เราจึงอยากพูดคุยกับเขาในฐานะของคนที่ดูหนังเป็นชีวิตจิตใจและมีบทสนทนากับมันอย่างลึกซึ้ง กับทั้งในฐานะคนที่คอยจัดหาพื้นที่ให้คนทำหนังได้ฉายหนัง และให้คนดูหนังได้ดูหนังอีกหลายเรื่อง ที่ถ้าไม่ได้ดูที่นี่ ก็อาจจะไม่ได้ดูไปอีกทั้งชีวิต
ล่าสุดนี้ เรามักเห็นเขามีส่วนร่วมในงานฉายหนังที่ Doc Club Theater ร่วมกับ Documentary Club คัดเลือกหนังที่น่าสนใจมาฉายในเมืองไทย เช่น หนังของชองยุนซอก ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้สายวิพากษ์และมีชั้นเชิงร้ายกาจ และยังเชิญตัวผู้กำกับมาร่วม Q&A กับแบบเดือดๆ ยาวๆ หรือเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมากับนิทรรศการ ‘พี่เลิกสนใจการเมืองนานแล้ว’ (ชื่อขีดคร่อมแบบนี้จริงๆ) ที่รวมหนังของผู้กำกับญี่ปุ่นที่มีท่าทีต่อความเพิกเฉยต่อการเมืองของคนญี่ปุ่น ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนสิงหาคม เขาก็มีส่วนร่วมในเทศกาลหนังไต้หวัน และ Histoire du (Thai) Cinema ซึ่งเป็นโปรแกรมฉายหนังสั้นการเมืองของไทยตั้งแต่ปี 2008 ถึงปัจจุบัน ที่ DAM’N CINECLUB
จากย่อหน้าบน คล้ายว่าเขาจะสนใจในหนังที่ว่าด้วยประเด็นทางการเมืองเป็นพิเศษ แต่อันที่จริงหนังที่วิวัฒน์เสพนั้นกว้างไกลกว่านั้นมาก มันอาจจะเป็นหนังผี หนังตลกชนโรง หนังฟอร์มยักษ์ หรือหนังที่เลือกแตะชีวิตชาวบ้านสามัญอย่าง ศักรินทร์ไบค์แมน ฮักแพง ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ จนถึงฉากและชีวิต
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล เขามองว่าทุกเรื่องคือหนังเรื่องหนึ่งเท่ากัน และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ก็ไม่มีหนังเรื่องไหนที่พ้นไปจากเรื่องการเมืองเลย
ทั้งที่งานประจำก็หนักมากแล้ว อะไรที่ทำให้คุณยังทำงานเกี่ยวกับหนังอยู่เรื่อยๆ
เราคิดง่ายๆ แค่ว่าเราอยากเห็นสิ่งนี้ อยากดู อยากให้เกิดขึ้น เราก็ทำ เอาจริงๆ ก็มีคนทำเยอะมากนะ แต่เนื่องจากโลกศิลปะมันกว้างใหญ่ไพศาล ถึงคุณทำแค่ไหน คุณก็ไม่ได้เห็นทั้งหมดที่คุณปรารถนา ดังนั้นมันยังมีพื้นที่ที่เราอยากเห็นแล้วยังไม่มีใครทำ ยังมีคนทำงานอีกมากที่ยังไม่ถูกค้นพบหรือยังไม่ถูกพูดถึง เราก็ค้นไปเรื่อยๆ หาเจอเรื่อยๆ แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ มันก็ไหลต่อเนื่องกันมาจนถึงตอนนี้
ซึ่งอย่างที่บอกว่ามีคนทำเยอะมาก เพียงแต่ก็ยังมีช่องที่ยังไม่มีคนทำ เราเลยจะไม่พูดว่า เรากำลังทำสิ่งที่สำคัญอยู่ เราแค่อยากสนุกกับเพื่อนมากกว่า
คุณมีวิธีตามหาคนที่ยังไม่ถูกค้นพบอย่างไรบ้าง
คือเพื่อนเราทั้งหมดทุกคนมันไม่ได้ทำงานประจำด้านภาพยนตร์เลย ยกเว้นแค่ไม่กี่คนที่เป็นอาจารย์หรือเป็นนักวิจารณ์จริงๆ แต่ทุกคนเป็นซีเนไฟล์ (Cinephile – คนบ้าหนัง)
สำหรับพวกเรา ความสุขคือการเข้าไปดูหนังอะ เพราะฉะนั้นก็จะดูไปเรื่อย มีอะไรฉายมาก็จะไปดูหมด แล้วเราก็จะเจอว่า โห มันมีอะไรบางอย่างที่ อ้าว ทำไมไม่ถูกพูดถึงวะ ทำไมไม่ดัง ทำไมไม่มีใครดู นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเพื่อนเรามันทำลิสต์หนังต่างๆ กันเยอะมาก เพราะว่าลิสต์ตรงนี้มันทำให้คนเหล่านี้ไม่ถูกลืม พอถึงเวลา เราเอาลิสต์มากางรวมกัน เราก็จะได้หนังที่ยังไม่ถูกฉายเลย ก็ เอ้า ลองติดต่อดูไหม เพราะฉะนั้นมันจะไม่เหมือนกับงานประจำ ที่เราต้องไปค้นหาศิลปินหน้าใหม่ แต่ชีวิตมันคือต้องดูอยู่แล้วไง พอดูก็จะเจอไปเอง
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา หนังนอกกระแสหรือหนังอิสระในไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นะ ตอนที่เราเข้าไปดูเทศกาลหนังสั้นใหม่ๆ มันยังเป็นยุควิดีโออยู่เลย ยังไม่มีกล้องดิจิทัล มาถึงตอนนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยน สกิลเด็กก็เปลี่ยน เหมือนกับเด็กทำหนังได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ละเอียดขึ้น โปรดักชั่นมันดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน เรื่องเนื้อหา เวลาใครพูดว่าเนื้อหามันสู้สมัยก่อนไม่ได้ เราไม่เชื่อนะ มันคนละยุคกัน เพราะฉะนั้นความสนใจมันก็จะต่างกัน
อย่างตอนเราทำโปรเจ็กต์ ‘History du Cinema’ มันก็ต้องไล่ตั้งแต่ปี 2008 ขึ้นมา ก็จะเห็นเลยว่าอย่างน้อยสำหรับคนทำหนังสั้นที่พูดถึงเรื่องการเมือง ซึ่งโดยมาก ไม่ใช่คนที่เป็นศิลปิน แต่เป็นคนธรรมดา เป็นนักศึกษา เขาก็มีความอัดอั้นประจำยุคสมัยของเขาอยู่ ไปดูหนังยุคก่อนรัฐประหาร กับหลังรัฐประหารมันก็ไม่เหมือนกัน หรือว่าหนังยุคก่อนเสื้อเหลืองเสื้อแดงกับหลังเสื้อเหลืองเสื้อแดง มันก็ไม่เหมือนกัน อันนี้เราว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ซึ่งสิ่งที่ดีก็คือว่าสุดท้ายเมื่อลองนำมาฉายต่อกัน มันก็คือประวัติศาสตร์ของสังคมในอีกทางหนึ่งที่เป็นในเชิงภาพยนตร์ หรือใครที่เป็นตัวแทนของยุคสมัย เราก็จะเห็นในหนังใช่ไหม เช่น สมัยก่อนก็จะเป็นเป็นเอก เป็นอภิชาติพงศ์ เป็นนวพล อะไรอย่างนี้
แล้วก็จะมีตัวละครที่หลุดออกมา ซึ่งมันง่ายมากเลยที่คนจะมองข้ามไป คือเหมือนกับที่คนจะมองว่า “เธอทำหนังเลียนแบบพี่เจ้ย” แต่เราก็ต้องมาดูว่า เวลาเราบอกว่าหนังใครเลียนแบบพี่เจ้ย คุณต้องไปดูหนังเรื่องนั้นจริงๆ มันอาจจะเป็นแบบอื่นก็ได้ แต่คุณมองมันแค่ผิวรึเปล่า เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเวลาคนพูดว่าคนนั้นทำหนังตามคนนี้อะไรอย่างนี้ เพราะว่าศิลปะหรืออะไรพวกนี้มันเป็น copy-paste อยู่แล้วไง แล้วก็ค่อยๆ กลายพันธุ์ทีละนิด เพราะฉะนั้นสำหรับเรามันต้องค่อยๆ เข้าไปเผชิญหน้ากับมันอย่างเปลือยๆ เหมือนกับไม่รู้มาก่อนว่าสิ่งนี้เป็นอะไร อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจจากสามนาทีแรกที่เห็นภาพ แล้วก็มาดูว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้น ซึ่งโดยมาก เราคิดว่าหนังที่โดนเหมารวมอย่างนี้มีเรื่องที่น่าสนใจเยอะแยะมากมาย
คุณคิดเห็นอย่างไรกับหนังที่ปราศจากการเมืองไปเลย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
เราไม่เชื่อว่าคนเราจะสามารถทำหนังที่ apolitic ได้ แล้วไปๆ มาๆ หนังที่ apolitic เนี่ยโคตรจะ politic เลย เพราะว่าไอ้ความจงใจหรือความไม่จงใจที่จะไม่พูดถึงการเมือง มันก็มีความเป็นการเมืองไง เพราะฉะนั้นคุณไม่มีทางที่จะหลีกหนีไปจากมัน หรือถ้าจะพูดแบบสเตอริโอไทป์มากๆ พูดแบบตอแหลมากๆ ก็ต้องบอกว่า หนังทุกเรื่องเป็นหนังการเมือง เพียงแต่เราจะมองมันในระดับไหน
สมมติเรามีหนัง apolitic ในปีนั้นเยอะมาก เช่น สัดส่วนคือ 10-20% เป็นหนังที่ไม่พูดเรื่องการเมืองเลย แต่คุณฉายในบริบทของปีนี้ มันชี้วัดบางอย่างแล้วว่า คุณพูดไม่ได้ หรือคุณเลือกที่จะไม่พูดเพราะว่ามันไม่มีอะไร ไม่มีความหวังแล้วหรือเปล่า
หนังที่ apolitic เนี่ยโคตรจะ politic เลย เพราะว่าไอ้ความจงใจหรือความไม่จงใจที่จะไม่พูดถึงการเมือง มันก็มีความเป็นการเมืองไง
คือทุกอย่าง พอมาประกอบกันกับบริบทกับสิ่งอื่นๆ มันสามารถอธิบายได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่หนังจะปราศจากการเมือง คุณทำหนังที่ไม่การเมืองได้ไหม ได้ แต่ไม่มีทางที่หนังของคุณจะปราศจากการเมือง มันจะถูกทำให้เป็นการเมืองในแบบหนึ่งอยู่ดี
การลิสต์รายชื่อหนังเหล่านั้นมาอยู่ด้วยกัน ช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นไหม
ใช่ มันไม่ได้เป็นแค่นั้นด้วย จริงๆ เวลาจัดโปรแกรมไวลด์ไทป์ (Filmvirus Wild Type) ที่เป็นรายงานประจำปี มันคือการสร้างบทสนทนาระหว่างหนังแต่ละเรื่อง เช่น เราดูหนังเรื่องนี้ที่หนึ่ง ดูหนังเรื่องนี้อีกที่หนึ่ง มันอาจจะไม่มีความหมายเลย แต่พอเราเอาหนังเรื่องนี้มาชนกับหนังเรื่องนี้ปุ๊บ มันสามารถสร้างบทสนทนาถึงกันได้ อันนั้นล่ะที่น่าสนใจ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ เราก็เลยอยากจัดโปรแกรมนอก ที่นอกจากไวลด์ไทป์ด้วย
คุณวางแผนสำหรับโปรแกรมอื่นๆ นอกจากไวลด์ไทป์อย่างไรบ้าง
ตอนนี้ หลังจากฉายหนังมาสิบปี เราพบว่าปัญหาที่เรารู้สึกผิดบาปในใจมาก คือเราไม่สามารถให้เงินคนทำได้ เพราะการจัดฉายหนังของ FILMVIRUS มันฟรี เราไม่มีค่าเข้าชม แต่พวกเราไม่ได้มีปัญหา คนขายก็จัดการตัวเองได้ แต่เราไม่สามารถหาเงินให้คนทำหนังได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราติดใจมาตั้งแต่ปีแรกๆ ที่ทำจนถึงทุกวันนี้
เพราะฉะนั้น แผนตอนนี้ที่เรามีทาง Doc Club มาช่วยเป็นกำลังให้ มันก็จะมีบางโปรแกรมที่ฉายแบบเก็บเงิน แล้วรายได้ทั้งหมดจะหารกันในผู้กำกับในโปรแกรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น คนทำหนังก็จะได้ตังค์ อาจจะสักสองสามพันก็เถอะ
คุณและ Filmvirus มาร่วมงานกับ Doc Club ได้อย่างไร
เริ่มจากที่เราอยากหาเงินให้คนทำหนังนี่แหละ ก็เลยลองคุยหลังไมค์กับพี่ดา (ธิดา ผลิตผลการพิมพ์) แล้วก็เสนอไอเดียว่า เราจะขายได้ไหม พี่ดาก็บอกว่า “เอ้ย เอามาสิ” ก็ง่ายๆ เลย แล้วก็ไหลไป พอทำอย่างหนึ่ง แล้วพี่ดาก็ชวนไปทำอย่างอื่น ก็กลายเป็นปีนี้จัดร่วมกันทั้งปีเลย แล้วก็น่าจะมีโปรเจกต์ให้ทำด้วยกันอีกยาวไกล ก็เหมือนได้ที่หลบภัยแห่งใหม่ เพิ่มมาเป็นหลังที่สอง นอกจาก The Reading Room (ห้องสมุดศิลปะบนถนนสีลม ซ.19 ) ซึ่งถือว่าเป็นยานแม่
เห็นว่าคุณมักไปร่วมงานฉายหนังที่ต่างจังหวัดด้วย
เราชอบมากเวลามีใครชวนไปต่างจังหวัด ถ้าไปได้เราจะไป ปกติเวลามีใครจัดอะไรเราจะอยากไปมาก แต่ว่า หนึ่งคือ เราต้องมีเวลา สองคือ เวลานั้นเราต้องมีเงินประมาณหนึ่ง คือถ้าเขาให้เงินมันก็ดีนะ แต่จากประสบการณ์ เราคิดว่าคนจัดงานเองเนี่ย แค่จัดได้ก็โคตรเก่งแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าใครอยากชวน ถ้าเราไปได้ ก็จะไป ถ้าเราไปไม่ได้ มันมีทางเลือกหนึ่งก็คือ เราทำหนังไปให้ เขียนสเตตเมนต์ไปให้ แล้วคุณไปฉายเอง กับอีกทางหนึ่งคือเราอาจจะขอให้คนอื่นไปแทน
อย่างงานหนึ่งที่ประทับใจมาก ไปมหาสารคาม เป็นงานที่เด็กในมหาวิทยาลัยทำกันเอง แล้วก็ไม่มีเงินเลย น้องบอกว่าเดี๋ยวจะหาที่นอนให้ แต่ไม่มีเงินให้ ก็เออ ก็ไป แล้วก็พบว่าน่าสนใจมาก คือเขาฉายกันในทุ่งนา บรรยากาศก็ดี แล้วเด็กที่มาดูก็ดี คือกว่าจะฉายจบโปรแกรมก็ตีหนึ่ง แล้ว Q&A ถึงตีสอง โดยที่คนก็อยู่กันแบบอย่างบ้าคลั่ง สนุกสนานมาก เราอยากให้เกิดแบบนั้นอีก คือเราเพิ่งโพสต์สเตตัสไปที่ว่า กรุงเทพฯ มีอีเวนต์เยอะไปแล้วนะ เราอยากให้มีในต่างจังหวัดบ้าง
งานฉายหนังที่ต่างจังหวัด บรรยากาศเหมือนหรือต่างกับในกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง
คนน้อยกว่าจริงๆ แล้วก็บางเรื่องใหม่กับเขา แต่คุณภาพหรือบรรยากาศไม่ต่างกันเลย คือเราคิดว่ามันมีคนที่แสวงหาสิ่งนี้อยู่ เพียงแต่เขาไม่มีพื้นที่ แล้วก็ไม่เคยเจอสิ่งเหล่านี้มาก่อน เพราะฉะนั้นมันจึงสำคัญมากที่เวลาคุณไปแล้วคุณควรจะมีคุยกันหลังหนังจบ แล้วเขาจะอยู่กันสนุกมาก กระตือรือร้นมาก คือเขาจะ อ้าวเฮ้ยมันมีอย่างนี้ด้วยเว้ย อะไรแบบนี้ จริงๆ เราว่ากรุงเทพเนี่ย ถ้าฉายแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ตั้งใจ เผลอๆ คนดูมีความกระตือรือร้นน้อยกว่าต่างจังหวัดอีกนะ
สังเกตจากงานเขียนหลายชิ้น หนังที่ว่าด้วยชีวิตต่างจังหวัดจะค่อนข้าง touch คุณใช่ไหม
สิ่งที่มัน touch เราคือความขาดแคลน พอเราโตมาในยุคก่อนมีอินเทอร์เน็ต เราจะเข้าใจถึงความรู้สึกของความเข้าไม่ถึงอะ เข้าไม่ถึงศิลปะ เข้าไม่ถึงพื้นที่บางอย้าง เข้าไม่ถึงอะไรสักอย่าง คือคุณมีแค่นั้น คุณก็ต้องอยู่แค่นั้น ดิ้นรนกันไป เพราะฉะนั้น เราจะอินกับหนังที่พูดถึงเรื่องนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันดีกว่าเรื่องอื่นๆ
ทีนี้ สำหรับคนทำหนัง ถ้าจะแยกก็คงต้องแยกว่าเป็นคนที่ต้องดิ้นรนกับคนที่ไม่ต้องดิ้นรน แล้วก็อาจจะใส่ใจเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาก็คือ คุณอย่าทำตัวเหมือนคนที่ดิ้นรนจะมี privilege มากกว่าคนที่ไม่ต้องดิ้นรน เพราะเราคิดว่าแม้แต่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่อยู่สบายๆ เขาก็มีปัญหาของเขา ถึงบางครั้งวิธีการพูดถึงปัญหาของเขามันก็จะปากสระอินิดนึง เช่นว่าอันนี้มันไม่ใช่ปัญหาของกู ปัญหาของกูมันหนักกว่านั้นมาก
คุณอย่าทำตัวเหมือนว่าคนที่ดิ้นรน จะมี privilege มากกว่าคนที่ไม่ต้องดิ้นรน เพราะเราคิดว่าแม้แต่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่อยู่สบายๆ เขาก็มีปัญหาของเขา
แต่ว่า แล้วทำไมเขาถึงจะไม่มีสิทธิพูดถึงปัญหาของเขาล่ะ แค่ว่าเพราะเขารวยงี้เหรอ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาพูดถึงมันอย่างจริงใจแค่ไหน เข้าใจแค่ไหนอะไรอย่างนี้มากกว่า ซึ่งบ่อยครั้งมันก็ออกมาโคตรดี โอเค เราอาจจะมีฉันทาคติส่วนตัว กับการที่มาพูดถึงคนชั้นล่าง คนสามัญ คนยากจน แต่ถ้าปล่อยให้ฉันทาคตินี้มันบังความเป็นจริงว่า ทุกคนก็มีปัญหาของตัวเอง มันก็จะทำให้กลายเป็นว่า เราไม่ได้มองหนังอย่างที่มันเป็นจริงๆ เราแค่มองจากสิ่งที่อยู่ข้างนอกที่ห่อหุ้มมันอีกที
ขณะที่ดูหนังเยอะมาก มันมีส่วนในงานเขียนส่วนตัวของคุณไหม
งานเขียนของเรามีที่มาจากภาพยนตร์มากกว่าหนังสือ คือแกนในงานเขียนของเรามันไม่ได้มาจาก “เราอยากเล่าเรื่องนี้” แต่เป็น “เราอยากเล่าซีนนี้” เล่าซีนที่มันเป็นภาพยนตร์มากๆ ให้ออกมาเป็นตัวหนังสือ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่มาจากหนังสือจริงๆ สำหรับเราก็คือ สิ่งที่ภาพยนตร์ทำไม่ได้ นั่นคือการอธิบายความละเอียดของอารมณ์มนุษย์ ซึ่งอันนั้นเราก็รู้สึกว่า สมมติถ้าจะเขียนก็อยากจะเขียนเรื่องนี้ ถ้าเป็นภาพยนตร์ มันจะต้องใช้นักแสดงที่เก่งมาก ถึงจะอธิบายซีนนี้ออกมาได้
งานประจำเป็นเภสัชกร-งานเขียน-ดูหนัง-ฉายหนัง ฯลฯ คุณยัดทั้งหมดลงในตารางเวลาอย่างไร
เอาจริงๆ มันหนักมาก เหมือนเราทำงานควบสองกะตลอดเวลา คือสำหรับงานประจำนอกจาก office hour คือแปดโมงถึงสี่โมง มันก็ยังมีงานบริหารที่ต้องจัดการ มีเข้าเวร แล้วงานอื่นๆ เราก็อยากจะทำ แต่เราก็เลือกแล้วอะ คือตอนยังเด็ก เราก็เรียนสายวิทย์มาตลอด แล้ววิธีการของเราคือ ที่บ้านบอกให้เรียนอันนี้ใช่ไหม ได้ เรียนก็ได้ แต่ว่า เมื่อทำตามที่บอกแล้ว อย่ามายุ่งอะไรอย่างอื่นกับฉันแล้วนะ
ตอนเรียนเราก็เรียนเต็มที่ ทีนี้ นอกเวลาฉันจะไปดูหนังนะ ใครจะทำไม ใครจะทำอะไรฉันได้ เพราะว่ามันนอกเวลาฉันแล้วไง พอเราโตมาด้วยสภาวะอย่างนี้ มันก็ไหลมาตลอด พอถึงช็อตนี้ ทำงานผ่านมาหลายสิบปีมาก มันก็ยังเหมือนเดิมอยู่ โอเค ต้องการอะไรจากผมในงานประจำ ผมจะทำให้ได้ เพื่อที่ถึงเวลาแล้ว ผมจะได้ไปทำอย่างอื่น แต่ถามว่าหนักไหม ก็อยากนอนมาก อยากนอนไปเลย นอนแบบตื่นชาติหน้าเลย แต่ว่าก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการนอนนะ ก็ถือว่าโชคดี
หนังเล็ก หนังใหญ่ หนังต่างชาติ หนังใน-นอกกระแส จริงๆ แล้วมันมีความต่างกันไหม ในแง่ประโยชน์ที่คนจะได้รับจากมัน
เรามองเท่ากันหมดเลย เราคิดว่าเพื่อนเราเป็นเหมือนกันหมด ก็คือทุกคนคิดว่ามันเป็นหนังเรื่องหนึ่งเท่ากัน เพียงแต่ว่าพอเจอหนังใหม่ๆ ที่พูดถึงเรื่องใหม่ๆ มันก็น่าตื่นเต้นกว่าหนังฮอลลีวูดที่พูดเรื่องเดิมๆ ถูกไหม แต่จริงๆ มันก็คือหนังเรื่องหนึ่งทั้งนั้นแหละ คือที่เราเป็นแบบนี้ นอกจากครอบครัวที่พ่อชอบดูหนังแม่ชอบอ่านหนังสือแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็คือการอ่านนิตยสารหนังในยุค ’90 อะ
คือบ้านเราเคยมีวัฒนธรรมของนิตยสารภาพยนตร์ที่แข็งแกร่งมากๆ เช่นเรามี นิตยสารหนังและวิดีโอ ซึ่งต่อมากลายเป็นฟิล์มวิว (FILMVIEW) แล้วก็มีสตาร์พิกส์ (STARPICS) ซึ่งมีบทวิจารณ์เยอะมาก เยอะแบบ เล่มละ 5-6 ชิ้นอะ แล้วเขียนกันยาวๆ ด้วย ในขณะที่หนังและวิดีโอ แทบจะเป็นตำราภาพยนตร์อยู่แล้วอะ เรารู้จักฟิล์มไวรัสครั้งแรกก็จากการอ่านหนังและวิดีโอ เพราะพี่สน (สนธยา ทรัพย์เย็น) แกเขียนคอลัมน์ แล้วพี่ดา ก็เคยเขียนให้หนังและวิดีโอและฟิล์มวิว
มันจะมีฉบับหนึ่งที่เราปลาบปลื้มมากคือ ตอนที่ Farewell My Concubine มาฉาย แล้วฟิล์มวิวให้ มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ ที่เป็นนักวิจารณ์หนัง มาเจอกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับ จิระนันท์ พิตรปรีชา คือมีนักวิจารณ์หนังสองคน แล้วก็นักประวัติศาสตร์อีกสองคน มาเล่าว่า คอมมิวนิสต์จีนตอนนั้นเป็นยังไง เอามาเปรียบเทียบกับหนังเรื่องนี้
โห สำหรับเรามันเปิดโลกมาก คืออยู่ดีๆ คุณสามารถมองหนังเรื่องนี้ให้พ้นไปจากความเป็นหนังได้ แล้วบทสัมภาษณ์มันยาวประมาณ 10 หน้าเลย
คุณเริ่มเรียกตัวเองว่าเป็นซีเนไฟล์ตั้งแต่ตอนไหน
จริงๆ มารู้จักคำนี้ทีหลังแล้ว หลังจากท่านมุ้ยใช้ในบันทึกของเขา สมัยที่เราดูหนังกันมา ก็ไม่มีศัพท์เรียกคนพวกนี้ คือคุณไม่ใช่นักวิจารณ์ไง คุณจะเรียกตัวเองว่าเป็น film critic ก็ไม่ได้ ไม่ได้เป็นนักวิชาการด้วย เราแค่เป็นพวกชอบดูหนัง เป็น เนิร์ดบ้าหนัง แล้วพอมาเจอคำนี้ก็คิดว่า มันอธิบายพวกเราดีนะ มันไม่มีความหมายอะไรเลย นอกจากคำว่าชอบดูหนัง
อยากให้เล่าถึงโปรเจกต์หนังสือ ‘Tropical Malady the Book’ (สัตว์ประหลาด) สักหน่อย
สัตว์ประหลาดนี่เป็นโปรเจ็กต์ที่ยากลำบากมาก เริ่มจากที่พี่สนอยากตีพิมพ์บทภาพยนตร์สัตว์ประหลาด ของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เหมือนที่ต่างประเทศเขาทำกันเป็นเรื่องปกติเพื่อให้คนศึกษา แต่ก็เนื่องจากพี่สนกับพี่เจ้ยเขารู้จักกัน ก็เลยนัดคุยกันว่าจะขอบทมาพิมพ์ พี่เจ้ยก็บอกว่าพิมพ์สิ พิมพ์ได้ แต่ว่าช่วย ไม่พิมพ์เฉยๆ ได้ไหม ถ้าพิมพ์ต้องทำให้มันดี หมายถึงว่าคุณต้องคิด มากกว่าแค่หากินด้วยการเอาหนังสือมาตีพิมพ์
ก็เลยต้องไปคิดว่าเราจะทำยังไงกับบทภาพยนตร์นี้เพื่อให้มันเป็นมากกว่าที่มันเป็น วิธีหนึ่งที่เราทำก็เริ่มจากไอเดียพี่เจ้ยคือว่า อะ ถ้าสัตว์ประหลาดเป็นหนังพูดถึงคนสามัญ จะใช้คำว่าคนยากจนมันก็ไม่ถูก ชนชั้นล่างก็ไม่ถูก คนสามัญคือคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้อะ เดินโลตัส เต้นแอโรบิก กินลูกชิ้นปิ้ง ฯลฯ
มันสามารถเอาบรรยากาศนี้มานำเสนอ โดยที่ไม่ต้องฟูมฟาย ไม่ต้อง represent อะไร เป็นแค่ความรื่นรมย์ของการมีชีวิตธรรมดาอย่างนี้ เราก็อยากจะเฉลิมฉลองไอ้ความรื่นรมย์แบบนี้ ซึ่งพี่เจ้ยเฉลิมฉลองไปแล้วในเชิงภาพยนตร์ เราก็จะเฉลิมฉลองในงานวรรณกรรม โดยเฉลิมฉลองในแง่ที่ว่า เราก็เข้าไปดูว่าสิ่งพิมพ์ที่คนในสมัยนั้น อ่าน สนใจ ชอบ คืออะไร แล้วเราก็เอาสิ่งนั้นอะมาใช้ เช่น หนังสือแปลก หนังสือบางกอก เราก็คิดจากอันนั้นมา แล้วมันก็ขยายออกมาเป็นงานที่เห็น
น่าเสียดายไหม หากอภิชาติพงศ์จะไม่ทำหนังในเมืองไทยแล้ว
จะว่าน่าเสียดายก็น่าเสียดาย แต่เราก็เข้าใจว่ามันมีเหตุผลอยู่ เหมือนกับคุณอยากจะพูดสิ่งนี้แต่มันพูดไม่ได้ แล้วคุณพูดไปแล้วไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ ต่อให้คุณพูดในทางศิลปะมันยังยากเลย คือถ้ามันตรงไปตรงมาว่าอันนี้เซนเซอร์ อันนี้ไม่เซนเซอร์ มันก็อาจจะมีลิมิตที่ง่ายใช่ไหม แต่ว่าพอมันเป็นการพูดออกไปโดยที่คุณก็ไม่รู้ว่าเขาจะเซนเซอร์อะไรคุณ คือรู้สึกเสียดาย แต่ไม่รู้สึกว่าการที่เขาทำอย่างนั้น การที่เขาออกไปข้างนอก เป็นเรื่องผิดเลย ถ้าเราอยู่ในเลเวลเดียวกับเขาเราก็อาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่นี่เราไปไหนไม่ได้ไง มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
สุดท้ายแล้ว หนังเรื่องหนึ่งมัน serve สิ่งที่อยากเล่าของผู้กำกับ มากกว่าต้องสร้าง movement อย่างเป็นจริงเป็นจังหรือเปล่า ใช่ เราคิดว่าอันนี้เป็นปัญหาอันหนึ่งของศิลปะกับสังคม คือเราเข้าใจเวลาคนบอกว่า ศิลปะต้องเปลี่ยนแปลงสังคม เราเข้าใจ art for life แต่การที่คนทำศิลปะจะไม่เปลี่ยนแปลงสังคมมันก็ไม่ใช่ปัญหาของเขาไง คือเราเพิ่งรู้สึกกับตัวเองได้ว่ามันอาจต้องเป็นอย่างนั้น คือเพื่อนเราบางคนเริ่มสนใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างอื่น เช่น ไปลงพื้นที่หรือไปคุยกับคน แต่เราทำไม่ได้ไง สำหรับเรา เรารู้สึกว่าคุณต้องเลือก คือมันมาจากตัวเราเองอะ เราต้องเลือกก่อนว่าอันนี้คือสิ่งที่เราสนใจ เราจะให้ความสำคัญของอันนี้เป็นสิ่งแรก
หน้าที่คุณก็คือทำ priority นี้ให้ดีที่สุด ซื่อสัตย์กับมันที่สุด แล้วอย่างอื่นมันจะตามมาเอง คือถ้าตั้งต้นว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านศิลปะ มันก็ไม่ใช่จุดยืนที่ผิด คุณทำได้ แต่คุณจะบอกว่างานที่คุณทำเหนือกว่าคนที่ไม่เปลี่ยนแปลงสังคม อย่างนั้นอาจจะบอกไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนจะต้องทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสังคมผ่านศิลปะ ศิลปะที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย มันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในระดับหนึ่ง
คุณคิดว่าเพลงของเติ้งลี่จวินเกิดขึ้นเพื่อเป็นศิลปะเพื่อมวลชนไหมอะ แล้วทำไมเพลงเติ้งลี่จวินถึงสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมและมีความหมายทางการเมืองได้ขนาดนั้น ดังนั้น สำหรับเราง่ายๆ เลย คือซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่คุณทำ มีวินัยกับมัน แล้วถ้ามันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าคุณคิดแบบเหยียบเรือสองแคม โดยที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนหรือไปเหยียดคนอื่น อย่างนี้อันตราย
คือเรารู้สึกว่า อย่างเราทำอะไรได้ล่ะ เขียนหนังสือได้ ฉายหนังได้ เราก็ทำของเรา โดยมี priority นี้มาก่อน เพราะฉะนั้นเราจะไม่วาง agenda คือคนที่วางก็ไม่ผิดไง มันไม่มีใครผิดเลย แต่ถ้าเราเลือก สมมติเราจะเลือกฉายหนังการเมืองเนี่ย ประเด็นคือเราฉายหนัง ฉะนั้นเราไม่จำเป็นจะต้องไปประกาศตัวเองว่าเราเป็นคนทำหนังการเมือง เราฉายหนังเพื่อฉายหนัง ไม่ได้ฉายหนังเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วง แต่ถ้าคุณทำอย่างนั้นไม่ผิด ใช่ไหม มันก็มีคนทำเยอะแยะไป Third Cinema (หนังที่มุ่งพูดเรื่องการเมือง โดย First Cinema หมายรวมถึงหนังกระแสหลักอย่างฮอลลีวูด ส่วน Second Cinema คือหนัง autear ที่ผู้กำกับทำขึ้นเพื่อสนองอัตตาตัวเอง) มันก็ตั้งต้นมาจากการทำหนังในทีมในผู้ชุมนุม
เราฉายหนังเพื่อฉายหนัง ไม่ได้ฉายหนังเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วง แต่ถ้าคุณทำอย่างนั้นไม่ผิด
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณบอกว่าสิ่งที่คุณทำมันเหนือกว่าคนที่ทำงานเฉยๆ อะ อย่างนั้นเราอาจจะตั้งคำถามนิดหนึ่งว่า อ้าว ก็ลำดับความสำคัญในชีวิตคนมันไม่เหมือนกัน จะไปบังคับให้เขาคิดเหมือนที่คุณคิด อันนั้นมันก็เป็นเผด็จการไปนะ
สำหรับเรา ก็ทำเท่าที่เราทำได้ เหมือนถ้านักโทษการเมืองติดคุก คุณอาจจะต้องการนายประกัน ถ้าคุณกล้าหาญก็มาเป็นนายประกัน ถ้าคุณกล้าหาญกว่าคุณก็เป็นนักโทษการเมืองใช่ไหม แต่นายประกันก็ต้องหาเงินไปประกันเหมือนกัน ซึ่งเราเป็นได้แค่คนที่บริจาคเงินไปประกันอะ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็เคลมไม่ได้ไง สิ่งสำคัญคือคนชอบเคลมว่าการบริจาคเงินเป็นการกระทำที่เป็น activism ซึ่งไม่ใช่ มึงแค่ save as ตัวเองว่าเป็นแอคทิวิสต์ แต่ว่ามันต้องมีคนทำอย่างนี้อยู่นะ เราก็ทำ เพียงแต่เราคงไม่สามารถเคลมว่าพวกเราเป็นคนสำคัญอะไรหรอก
Fact Box
- วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา จบการศึกษาจากเภสัชศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัจจุบัน รับราชการเป็นเภสัชกรที่จังหวัดภูเก็ต
- Wild Type คืองานฉายหนังสั้นประจำปี จัดขึ้นโดยกลุ่ม FILMVIRUS ซึ่งจะรวบรวมผลงานหนังสั้นโดยเฉพาะของนักศึกษาที่น่าสนใจในรอบปี จัดฉายแบบมาราธอนที่ห้องสมุด The Reading Room
- วิวัฒน์เคยทำหนังความยาว 8 นาที ซึ่งจะได้ฉายในเทศกาลหนังที่ประเทศฮ่องกงในปีนี้
- นอกจากหนังแล้ว วิวัฒน์ยังมีความสนใจในหนังสือ เขามีงานเขียนเป็นของตัวเองได้แก่ อีกวันแสนสุขในปี 2527, ยูโทเปียชำรุด, สิ้นสุรีย์, จักรวาลของการมอดไหม้, ไม่ใช่บทกวี เพียงการปลอมแปลงที่พอจะมีฝีมืออยู่บ้าง, คิโยชิ คุโรซาวะ หนังผีไซ-ไฟ และเมืองใหญ่ชื่อโตเกียว ทั้งยังร่วมเขียนใน ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมา, สนุกนึก วรรณกรรมแตกกิ่ง และ 8 The Master 8 ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับครู นอกจากนั้น เขายังเป็นบรรณาธิการหนังสือ ทำลาย, เธอกล่าว และเป็นผู้แปล สุดชีวิต โดย อลิซ มันโร ร่วมแปลใน เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน โดยฮารุกิ มูราคามิ