กลุ่มจัดฉายภาพยนตร์เล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ชื่อ ‘Film Kawan’ (ฟิล์มกาวัน) ก่อตั้งโดยกลุ่มนักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นำเอาภาพยนตร์จากเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์เข้ามาจัดกิจกรรมฉาย อย่างเช่น The Missing Picture ที่พูดถึงความทรงจำยุคเขมรแดง, Michael’s สารคดีไทยที่พูดถึงชาวโรฮิงญา, Ho Chi Minh in Siam ที่พูดถึงสายสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและสยามยุคสงครามเย็น และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้มาจากพวกเขาเชื่อว่าภาพยนตร์สามารถสร้างความเข้าใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ 

‘แป้ง-ชนม์ธิดา อุ้ยกูล’ ตัวแทนสมาชิกรุ่นบุกเบิกของกลุ่มฟิล์มกาวัน ปัจจุบันเธอทำงานเป็นอาจารย์ที่โครงการวิเทศคดีศึกษาอาเซียน-จีน คณะศิลปศาสตร์ จากรั้วแม่โดม ศิษย์เก่าโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มีความสนใจและเชี่ยวชาญเรื่องอินโดนีเซีย ประสบการณ์การจัดงานฉายภาพยนตร์มามากมายของเธอนั้นทำให้เราอยากคุยกับเธอถึงแนวคิดของการฉายภาพยนตร์อุษาคเนย์ และทำไมการรับชมภาพยนตร์ถึงเป็นหนึ่งใน ‘จิ๊กซอว์’ ชิ้นสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะ ‘เพื่อน’ มากขึ้น 

จุดเริ่มต้นจาก 10 ปีก่อน

“ครบสิบปี (พร้อมเสียงหัวเราะ) ใช่ นานมาก” แป้งเอ่ยขึ้นเมื่อผมถามถึงอายุของกลุ่ม ปีนี้ครบรอบ 10 ปีของกลุ่มฟิล์มกาวันพอดิบพอดี 

แป้งเล่าว่าจุดเริ่มต้นของฟิล์มกาวัน มีแรงบันดาลใจหลักๆ มาจากวิชาหนึ่งชื่อ ภาพยนตร์อุษาคเนย์ หรือว่าภาพยนตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอนโดย อาจารย์กำจร หลุยยะพงษ์ ทำให้แป้งตระหนักว่าภาพยนตร์เองก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยในการศึกษาสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของภูมิภาค นอกจากนี้ มันยังช่วยให้คนดูนั้นเห็นภาพและสร้างจินตนาการได้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ประเทศเหล่านั้น ช่วยเปิดประเด็น แนวคิด และมุมมองใหม่ๆ ได้

ในกลุ่มจะเป็นการรวมตัวคนที่สนใจเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วก็จัดกิจกรรมโดยใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวต่างๆ แต่กลุ่มเป้าหมายจะไม่เน้นแค่คนที่มีความรู้เรื่องอุษาคเนย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ต้องรวมถึงคนทั่วๆ ไปอีกด้วย 

แป้งสำทับฟังว่าบริบทตอนนั้นเองก็ประจวบเหมาะกับไทยกำลังเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หนังภาพยนตร์จากภูมิภาคนี้มันหาดูยากมาก (กอไก่ล้านตัว) ไม่ใช่นึกอยากจะดูก็จะได้ดู ฟิล์มกาวันก็เล็งเห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่คนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับเพื่อนบ้าน ควรจะได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำความเข้าใจเพื่อนบ้านผ่านภาพยนตร์ด้วยนั่นเอง  

งานครบรอบ 10 ปี SEA ธรรมศาสตร์ เมื่อ 10 ปีก่อน เป็นงานแรกของฟิล์มกาวัน โดยมีการคัดเลือกหนัง 10 เรี่องมาจัดฉาย แล้วก็เชิญนักวิชาการเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าชม แต่นอกจากฟิล์มกาวันจะเป็นโต้โผงานเองแล้ว ก็มีการจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และ SEA-Junction ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) นอกจากนี้ ทีมของฟิล์มกาวันยังเคยเขียนคอลัมน์ที่ชื่อว่า ‘คุยหนังอาเซียน’ ในนิตยสารเพื่อคอภาพยนตร์ Bioscope (แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้เขียนแล้ว) รวมถึงยังเคยมีรายการเล็กๆ ในสำนักข่าวออนไลน์ ประชาไท ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ความรู้เรื่องเพื่อนบ้านผ่านภาพยนตร์ในอุษาคเนย์ทั้งสิ้น 

การเรียนรู้ผ่านสื่อภาพยนตร์อุษาคเนย์ 

ความเป็นเด็กสายสังคมศาสตร์ ทำให้มุมมองการดูหนังของแป้งมุ่งไปที่ประเด็นวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ถูกซุกซ่อนในภาพและตัวบทของหนัง เธอเชื่อว่าภาพยนตร์หรืองานศิลปะหลายครั้งสามารถนำเสนอเรื่องประเด็นอ่อนไหวในสังคมหรือการเมืองได้ดีมาก พูดในสิ่งคนในสังคมไม่พูดกัน สามารถย่อยเรื่องเหล่านี้ออกมา แล้วทำให้คนเห็นภาพ เข้าใจได้ง่าย

หนังที่แป้งชอบส่วนใหญ่แล้วเป็นหนังอินโดนีเซีย อย่างเรื่อง Cin(T)a (2009) ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนจีน-อินโดกับคนอินโดผ่านเรื่องความรัก นอกจากนั้น หนังยังต้องการทำลายมายาคติและความเข้าใจผิดต่อคนจีน-อินโด ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากยุคซูฮาร์โต 

หรือ Lima (2018) ที่เคยจัดฉายร่วมกับ Sea-Junction ที่ BACC เมื่อปี 2018 กำกับโดยผู้กำกับรุ่นใหม่ ก็พาเราไปสำรวจปรากฏการณ์ทางสังคมอินโดนีเซียผ่านเรื่องสั้น 5 เรื่อง เพื่อทำความเข้าใจอุดมการณ์รัฐอินโดนีเซีย ‘ปัญจศีล’ ซึ่งพูดถึงความหลากหลายของชาติอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ได้แค่หลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ แต่ยังรวมถึงเรื่องของเพศสภาพด้วย หนึ่งในห้าเรื่องสั้นแฝงประเด็นเรื่องเกย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดลำบากในสังคมอินโดฯ 

“เราคิดว่าภาพยนตร์มันทำให้คนเปิดใจง่ายกว่าการที่ที่เราบอกออกไปตรงๆ เช่น คุณต้องลดอคติต่อเพื่อนบ้านนะ เช่น เราพูดถึงเรื่องผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย เราพูดว่าผู้คนเหล่านี้ผ่านอะไรมามากมาย ทั้งเรื่องปัญหาความรุนแรง เรื่องของปัญหาการเมืองการปกครอง คนที่ฟังเฉยๆ เขาก็อาจจะไม่เข้าใจขนาดนั้น แต่ถ้าเราบอกว่า เรามีหนังเรื่องหนึ่งที่พยายามสะท้อนเสียงของโรฮิงญาในค่ายผู้อพยพ…คุณได้เห็นว่าเขาต้องเจออะไรมาบ้าง อะไรสร้างความไม่เท่าเทียมกัน อะไรที่ผลักดันให้พวกเขาต้องเดินทางข้ามทะเลมา…เขาอาจจะจมหายไปในทะเลเมื่อไหร่ก็ได้ ความรู้สึกอะไรที่คุณจะเห็นจากการรับชม ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึกกังวลถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคของเราเอง” 

ฟิล์ม ‘กาวัน’ ชวนมอง ‘เพื่อน’ ผ่านภาพยนตร์ในอาเซียน

สิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยคือ ภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหลายภาษา ทำไมถึงเป็นคำว่า ‘กาวัน’ ที่แปลว่าเพื่อน ในภาษาอินโดนีเซีย

แป้งอธิบายว่า คำว่า ‘กาวัน’ เป็นคำในบาฮาซามลายูและบาฮาซาอินโดนีเซีย แปลว่า ‘เพื่อน’ ซึ่งเป็นภาษาที่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรในอดีตใช้กัน มันเป็น Lingua Franca ในการใช้ค้าขาย ขยายไปถึงทางใต้ของเวียดนาม ชุมชนชาวจามก็ใช้บาฮาซามลายูเช่นกัน 

“เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่าบาฮาซามลายู หรือบาฮาซาอินโดนีเซีย เป็นภาษาที่เชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน ที่คนส่วนใหญ่พูดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกอย่างหนึ่งก็เพราะความหมายของมันคือ ‘เพื่อน’ มันจึงหมายถึงการที่เรารู้จักเพื่อนของเรา เพื่อนบ้านของเรา ฉายหนังของเพื่อนของเรา เพื่อทำความเข้าใจเพื่อนของเรา แล้วก็ขณะเดียวกัน ก็เข้าใจตัวเองด้วยในการมองดูคนอื่น” 

เมื่อคำว่า ‘ฟิล์ม’ ที่แปลว่าภาพยนตร์มารวมกับ ‘กาวัน’ ที่แปลว่า ‘เพื่อน’ ทำให้เรารู้สึกถึงตัวตนของกลุ่ม ที่ไม่ได้แค่ต้องการให้ภาพยนตร์เป็น ‘สื่อกลาง’ ของการเรียนรู้เรื่องอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเป็น ‘สื่อกลาง’ ของการระลึกถึงความเชื่อมโยงของคนอุษาคเนย์ยุคก่อนเกิดรัฐชาติ ก่อนที่แต่ละประเทศถูกแบ่งด้วยเส้นเขตแดน และตอนนี้เราก็ยังเชื่อมโยงกันผ่านการอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียน ในฐานะพลเมืองอาเซียน และกว้างกว่านั้น คือ ‘พลเมืองโลก’   

ปัจจุบันคนในภูมิภาคอาจลืมว่าเราใกล้ชิดกันมาก ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันสังคมมันมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตลอดเวลา แต่สังคมไทยบางครั้งก็มองว่าคนไทยกับเพื่อนบ้านแยกจากกันโดยสิ้นเชิง มองเป็นคนแปลกหน้ามากกว่าเพื่อนร่วมภูมิภาคที่แบ่งปันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน มองว่าเราไม่ได้อยู่ใน ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’ 

แป้งเสริมอีกว่า

“เราอาจจะไม่ได้ดูหนังแล้วเปรียบเทียบกับประเทศไทยอย่างเดียว แต่เปรียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันได้ อย่างเช่น ความเชื่อพื้นฐานที่เรามีอยู่ร่วมกัน เรื่องของความทรงจำ บาดแผล เพราะว่าประสบการณ์ที่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคล้ายๆ กันก็คือเรื่องของการถูกกดทับของอาณานิคม การต่อสู้เรียกร้องเอกราช เรื่องเหล่านี้เพื่อนบ้านเรามีความเข้าใจร่วมกัน …เรื่องของการพัฒนาทางการเมืองสังคม การเรียกร้องประชาธิปไตย ความทรงจำเหล่านี้เราก็ยังมีร่วมกัน มีความเชื่อมโยง” 

“ก่อนหน้านี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันไม่ได้มีพรมแดนชัดเจนนะ ผู้คนเดินทางกันอย่างอิสระเสรี พรมแดนมันถูกขีดเมื่ออาณานิคมเข้ามา วัฒนธรรมการกินเป็นอย่างหนึ่งที่บอกได้ และหนังก็สามารถเล่ามันออกมา อย่างมันจะมีหนังเรื่องหนึ่งชื่อเรื่องว่า Saya Disayang (2013) เขาพูดถึง Sambal Goreng พริกแกงของคาบสมุทรมาเลย์ แต่ว่าเป็นหนังของสิงคโปร์ แล้วก็พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนอินโดนีเซียที่อาศัยกับชาวสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์ สองคนนี้สามารถเชื่อมสายสัมพันธ์กันได้ผ่านผัดพริกแกง (Sambal Goreng) ที่มันทำให้คนรู้สึกว่าเนี่ยมันเป็นความชิดใกล้ชิดของเรา แล้วเราอาจจะลืมมันไปแค่เพราะว่าเรามีพรมแดนเกิดขึ้น” 

“เพราะฉะนั้น ในตัวเนื้อหามันมีเรื่องของพื้นฐานบางอย่างที่จะทำให้เราเข้าใจร่วมกันได้อยู่แล้ว ทีนี้หนังบางเรื่องพูดเนื้อหาปัจจุบันมากขึ้น เป็นหนังป๊อปมากยิ่งขึ้น มันก็ขึ้นอยู่ที่ว่าประเด็นมุมมองไหนที่หนังจะนำเสนอออกมาได้บ้าง เช่น เรื่องราวความรักวัยรุ่น มันก็มีและคล้ายคลึงกันอยู่แล้วในแต่ละประเทศ แต่อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อใส่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนาเข้ามา เป็นต้น เรื่องเหล่านี้มันก็คือพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น …เมื่อคนมาดูแล้วเขาสามารถเชื่อมประเด็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ‘เปิดใจ’ ได้”

จากการจัดฉายภาพยนตร์สู่การสร้างพื้นที่สาธารณะในการแลกเปลี่ยน

กิจกรรมของฟิล์มกาวันจะฉายภาพยนตร์ควบคู่กับกิจกรรม Film Talk ในช่วงท้าย โดยผู้ที่มาร่วมพูดคุยก็มีทั้งนักวิชาการ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ซึ่งกิจกรรมนี้เสมือนเป็นพื้นที่ ‘สื่อกลาง’ เป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้คนได้เรียนรู้ ค้นหาคำตอบผ่านการซักถามจากผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งได้เข้าใจประสบการณ์จากปากคนเบื้องหลัง ได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันภายในงาน 

แป้งเชื่อว่า การสร้างพื้นที่การชมภาพยนตร์ที่ไม่ได้มอบแค่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่สามารถวิจารณ์เพื่อเรียนรู้ วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนประเด็นสังคม มันเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถลดทอนอคติ และส่งเสริมความเป็น ‘มนุษย์’ และในทัศนะของฟิล์มกาวัน พื้นที่รูปแบบนี้อาจจะเป็นสิ่งที่สังคมไทยยังขาดอยู่ 

“เรายังรู้สึกว่า แม้ว่าปัจจุบันนี้สื่อในการรับชมภาพยนตร์มันมีอยู่ทั่วไป มันมีเยอะมาก อย่างที่เราบอกว่าเมื่อก่อนมันหาดูหนังอาเซียนได้น้อยมาก ปัจจุบันมันมีเยอะขึ้นมากก็จริง แต่เรายังต้องการ Platform ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น”

“ถ้าสมมติว่ายิ่งเราสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้มากขึ้น ยิ่งคนสามารถได้รับชมและได้พูดคุยกันมากขึ้น ไอเดียของเราที่จะสร้างองค์ความรู้ที่มันเข้มแข็ง ไอเดียของเราที่จะลดอคติของชาตินิยม ไอเดียของเราที่จะสร้างความรู้สึกร่วม ความเป็นพลเมืองอาเซียนในการเป็นประชาคมร่วมกันมันจะเกิดขึ้นได้… คุณจะเห็นได้ว่าเวลาที่เราจัดฉายภาพยนตร์ เราก็เชิญผู้กำกับมาจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่คุณได้พูดคุยกับคนจากประเทศเพื่อนบ้านจริงๆ คุณได้เห็นแนวคิดคอมมิวนิสต์จากคนเวียดนามจริงๆ …เขาต้องการสื่ออะไร เขาคิดอะไรอยู่ เราเห็นได้จากตรงนั้น ดูหนังอย่างเดียวมันอาจจะบอกไม่ได้ อย่างที่บอกหนังมันเติมจินตนาการเข้าไป ถ้าเราได้พูดคุยกับผู้กำกับ เราได้พูดคุยกับคนจากเพื่อนบ้าน …เราได้เห็นว่า เขาถกเถียงอะไรกัน เขามีคำถามอะไรกัน มันเป็นการเปิดมุมมองของเรา” 

ความนิยมภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไทย

“สำหรับคนไทยด้วยกันเนอะ เราคิดว่ายังน้อยนะ มีภาพยนตร์ไทยที่ไปดังที่เวียดนาม ที่อินโดนีเซีย  แต่ว่าภาพยนตร์จากประเทศอาเซียนที่มาดังอยู่ในประเทศไทยมีน้อยนะ ไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่อย่างน้อยใน Netflix ตอนนี้มีหนังอินโดณ หนังเพื่อนบ้านให้ดูบ้าง ซึ่งยังไงมันก็ยังเป็นภาพยนตร์กระแสรอง จริงๆ แล้วหนังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รางวัลระดับนานาชาติในปัจจุบันมีเยอะมากจากหลากหลายประเทศเลย เทศกาลอาเซียนก็มีจัดทุกปี โอกาสที่ทุกคนได้ดูหนังดีๆ มีเยอะขึ้น แล้วคนก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น คนชอบดูหนังเยอะแยะที่แบบต้องการที่จะลองดูหนังจากที่อื่นๆ อะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็เปิดกว้างเยอะขึ้น แต่มันก็ยังไม่ใช่หนังที่เราเรียกได้ว่าเป็นหนังกระแสหลัก หรือว่าเป็นหนังที่คนตลาดดูกันทั่วไปอยู่ดี เราก็เลยอยากทำต่อไปให้มันเข้าถึงกลุ่มคนดูมากขึ้น”

“แล้วสมมติถ้าภาพยนตร์ในอุษาคเนย์ได้รับความนิยมและได้รับการเผยแพร่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นกระแสหลัก คิดว่ามันจะช่วยลดความเป็นชาตินิยม ความระแวงคนต่างชาติ รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ดีต่อเพื่อนบ้านในหมู่คนไทยได้ไหม” —ผู้เขียนชวนคุยเพิ่ม

“อื้ม ก็เป็นตัวหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เราคิดว่าไม่ใช่ทั้งหมดนะคะ คือ สื่อมันสำคัญอยู่แล้ว สื่อภาพยนตร์เองก็สำคัญ มันเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีการสำรวจสังคมอื่นๆ แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันอาจจะไม่ได้โดยฉับพลันว่าดูหนังเรื่องนี้แล้วเปลี่ยนแปลงความคิดเลย ดูหนังเรื่องนี้แล้วแบบลดความเป็นชาตินิยมของเราลงเลย แต่เราคิดว่ามันค่อยๆ เกิด” 

ปัจจุบันและอนาคตของฟิล์มกาวัน 

“เมื่อก่อนเรามีกันค่อนข้างเยอะเนอะ เพราะว่าตอนนั้นก็แต่ละคนเป็นนักศึกษากันอยู่ แต่ตอนนี้ทุกคนก็จบ ทำงานแล้ว ก็จะห่างๆ กันนิดหนึ่งค่ะ ตอนนี้ก็มี 3-4 คนที่เจอกันบ่อยๆ เช่น มีน้องแอร์ นภิสา ตอนนี้ทำอยู่ที่มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ น้องอาร์ม เป็นนักศึกษา ป.โท ที่เอเชียนแปซิฟิกศึกษา ที่ธรรมศาสตร์ ทุกคนเป็นศิษย์เก่าโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือพื้นที่ที่เรารู้จักกันครั้งแรก อนาคตเราก็ยังอยากที่จะให้รุ่นน้อง ศิษย์ปัจจุบันที่เป็นนักศึกษาเข้ามาร่วมช่วยทำ ช่วยฉายหนังอยู่เหมือนกัน  แต่ตอนนี้ทุกคนที่เป็นตัวหลักๆ ทำงานกันหมด”  แป้งเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่ม

ส่วนแผนการในอนาคต แป้งบอกว่าฟิล์มกาวันตั้งใจจะทำหนังสือรวบรวมบทความของฟิล์มกาวันเอง ส่วนเรื่องของการจัดฉายหนังก็พยายามที่จะทำให้เกิดขึ้นทุกปี ยังมีความที่อยากจะต้องการให้หนังเป็นพื้นที่สื่อในการพูดคุยในเรื่องของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งกับนักศึกษาที่เรียนอยู่และก็คนภายนอกด้วย ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เพราะเชื่อว่าหนังก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เข้าใจประเด็นต่างๆ ในภูมิภาคง่ายขึ้น สุดท้ายปีนี้ (2019) จะมีงานจัดฉายภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทีมของฟิล์มกาวัน โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/filmkawan/ 

Tags: , , ,