Field Recording (FR หรือการบันทึกเสียงสนาม) คือศิลปะเสียงแขนงหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในโลกตะวันตก ในความหมายที่กว้างที่สุดนั้น FR ก็คือกระบวนการในการดักจับเสียงของสรรพสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายนอกการควบคุมของระบบในสตูดิโอ ดังนั้นแล้ว FR จึงมีรูปแบบที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่มีทิศทางชัดเจน เป็นผลมาจากการที่ผู้บันทึกไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ทั้งหมด

ต้นกำเนิดของ FR นั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างมารวมเข้าด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ Musique concrète (ดนตรีทดลองแขนงหนึ่งที่มีต้นกำเนิดในฝรั่งเศส) Electroacoustic (การนำเสียงอคูสติกมาสังเคราะห์เพิ่มเติมในแบบอิเล็กทรอนิกส์) ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่อยมาจนถึง Soundscape (เสียงแวดล้อม) ในฐานะดนตรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนประกอบของ FR มีความหลากหลายอยู่พอตัว นิยามที่แท้จริงของมันจึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ที่ชัดเจนก็คือ FR เกิดขึ้นมาเพราะเหล่าศิลปินเชื่อว่า มันมีวิธีการมากมายที่เราจะฟังเสียงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา และเสียงเหล่านั้นก็ล้วนเชื่อมโยงกับความรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ของมนุษย์ เกี่ยวเนื่องกับสุนทรียศาสตร์ สังคม พื้นที่และเวลา

นักบันทึกเสียงสนามเริ่มต้นด้วยการออกไปข้างนอกพร้อมกับอุปกรณ์บันทึกเสียง พวกเขาหาสถานที่หรือสิ่งใดก็ได้ที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า ก้อนหิน พื้นดิน ทะเลสาบ ภูเขา สัตว์ แมลง หรือแม้แต่เสียงในเมืองใหญ่ เสียงของผู้คน การจราจร จากนั้นก็ตั้งไมโครโฟนและอุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้ เพื่อเริ่มการบันทึกเสียงที่กำลังจะประเดประดังเข้ามาอย่างไร้การควบคุม คุณไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ราคาแพงเพื่อที่จะสร้างงานเหล่านี้ แต่คุณภาพของอุปกรณ์มีส่วนต่อคุณภาพเสียงที่บันทึก ส่งผลให้การนำเสียงเหล่านั้นไปใช้ต่อยอดมีความหลากหลายมากขึ้นด้วย

ศิลปินบางคนเริ่มหันมาทำ FR กันอย่างจริงจัง เพราะมีความรู้สึกว่าดนตรีแบบเดิมๆ นั้นไม่น่าสนใจอีกต่อไป พวกเขามองว่า FR เปิดโลกแห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น เสียงที่ได้จาก FR นั้นจะเอาไปทำอะไรต่อก็ได้ตามต้องการ เช่นใส่เสียงเครื่องดนตรีลงไป หรือทำเป็นแซมเปิ้ลก็ได้ แต่ FR ที่เป็นรูปแบบบริสุทธิ์ก็เป็นที่นิยม นั่นคือการไม่แต่งเติมอะไรเข้าไปเลย ผู้ฟังจะได้ฟังในสิ่งที่ถูกบันทึกมาจากสนามจริงๆ

คริส วัตสัน (Chris Watson) คือหนึ่งในศิลปินผู้จริงจังกับการทำ FR เขาใช้ประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้สร้างสารคดีมาใช้กับงานด้านเสียง วัตสันบอกว่าถ้าดูเผินๆ FR นั้นไม่มีระบบระเบียบอะไร แต่สำหรับเขาแล้วมันมีลักษณะของการประพันธ์อยู่อย่างชัดเจน เช่นคุณจะวางไมโครโฟนอย่างไร จะเริ่มบันทึกและหยุดเมื่อไหร่ ดังนั้นมันจึงมีเทคนิคมากมายให้ปรับเปลี่ยน และเลือกใช้ตามสถานการณ์ FR จึงไม่ใช่การทำอะไรมั่วซั่ว เพราะศิลปินก็ต้องคิดว่าจะให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเช่นไร โดยตัวเขาเองมักจะเน้นไปที่การบันทึกเสียงของธรรมชาติ โดยเฉพาะเสียงที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้ยิน เช่น เสียงภูเขาน้ำแข็งกำลังละลาย เสียงในมหาสมุทร เสียงที่ลึกลงไปในผืนทราย หรือเสียงของเสือชีตาร์

ข้อแนะนำของวัตสันในการทำ FR ที่สำคัญมากๆ ก็คือ คุณต้องเตรียมพร้อมให้ดีเวลาทำงาน จงรู้จักสภาพแวดล้อมที่คุณจะไป อย่าปล่อยให้ตัวเองรู้สึกไม่สบายตัว และจงอยู่ห่างจากไมโครโฟน ปล่อยให้มันทำหน้าที่ของมันอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

Field Recording ในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ผมเกริ่นไปในช่วงแรกว่า FR มักจะได้รับความนิยมในโลกตะวันตกมากกว่า แต่ใช่ว่าศิลปินในทวีปเอเชียจะไม่มีเลย ในจีนหรือญี่ปุ่นเองก็มีผู้ที่ทำงานลักษณะนี้อยู่พอสมควร ส่วนประเทศไทยนั้น FR กลับเป็นที่รู้จักและนิยมกันในวงแคบๆ

F- (เอฟ) คือหนึ่งในศิลปินเหล่านั้น โดยทั่วไปแล้วผลงานของเขามักจะเป็นดนตรีทดลอง (Experimental Music) เน้นไปที่การทำ Noise และ Electroacoustic แต่บางครั้ง F- ก็หันมาทำ FR ด้วยเช่นกัน ซึ่งเขามองว่ามันเป็นศิลปะที่นำมาต่อยอดได้หลากหลาย เปิดเส้นทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือถ้าในฐานะคนฟัง F- ก็มองว่าเสน่ห์ของ FR ก็คือ มันมีเสียงอีกมากมายที่เราไม่เคยได้ยิน บางทีมันอาจจะมาจากสถานที่ที่เราไม่เคยไป หรือไม่สามารถไปได้ เสียงเหล่านี้นำมาซึ่งความสงบผ่อนคลาย โดยเฉพาะเสียงของธรรมชาติ

“Field Recordings เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในตัว เหมือนกับการปล่อยให้สถานที่ใดสถานที่หนึ่งคอยบรรเลงดนตรีเป็นพื้นหลัง โดยเราจะได้สรรพเสียงที่แตกต่างออกไปตามแต่พื้นที่และเวลา”

F- บอกกับผมว่า คุณไม่จำเป็นต้องมีความรู้อะไรมากมายถ้าอยากจะทำ FR แต่การศึกษาสถานที่ก็เป็นสิ่งที่ดี คุณควรจะรู้สภาพแวดล้อมที่จะไป รู้จักอคูสติกในบริเวณนั้นๆ เพราะถ้าเรามีข้อมูลตรงนี้มากเท่าไหร่ก็สามารถพลิกแพลงได้หลากหลายขึ้น ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้อาจจะไม่ต้องมีราคาแพง เพียงแค่ไมโครโฟนจากโทรศัพท์มือถือก็เพียงพอในการเริ่มต้น แต่อุปกรณ์ดีๆ ก็ย่อมส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่ได้อย่างชัดเจน การนำเสียงที่บันทึกไปใช้ต่อก็ง่ายขึ้นด้วย

FrRc (หรือ GAMNAD737) เป็นศิลปินชาวไทยอีกคนหนึ่งที่มีผลงานดนตรีทดลองหลากหลายประเภท อีกทั้งเขายังมีความสนใจ FR และศึกษามันอย่างลึกซึ้ง เขาบอกว่า FR เป็นเหมือนการจำลองเสียงในอีกสถานที่หนึ่ง มาเล่นซ้ำในอีกที่หนึ่ง การเสพงานเหล่านี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าทึ่งและแปลกใหม่ ลองนึกภาพว่าคุณนั่งอยู่ในห้องของตัวเอง แล้วสามารถได้ยินเสียงที่อยู่ในสถานที่ที่ไกลออกไป แบบที่คุณอาจจะไม่สามารถไปยังที่เหล่านั้นได้ เช่นเสียงในป่าลึก หรือเสียงลมหายใจของกระทิง แค่คิดก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นแล้ว ดังนั้น FR จึงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนอาจจะชื่นชอบมันโดยไม่รู้ตัว

ส่วนมุมมองในฐานะผู้ผลิตผลงาน การบันทึกเสียงเหล่านั้นเอาไว้ก็เป็นเหมือนกับการสร้างคลังเสียงของตัวเอง เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคต สิ่งที่บันทึกเอาไว้มันไม่ใช่แค่เสียง แต่เป็นประสบการณ์ ภาพความทรงจำตอนที่คุณทำงาน หรือกระบวนการต่างๆ ในการบันทึกเสียง เขาเปรียบสิ่งเหล่านี้ว่าเหมือนกับคุณเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่อยากกลับไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อทำสิ่งเหล่านั้นซ้ำไปมา

สำหรับ FrRc แล้ว การทำ FR นั้นจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องศาสตร์ของเสียงอยู่บ้าง เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบอย่างที่ต้องการ มีความน่าหลงไหลและมีคุณค่าเชิงสุนทรีย์ อีกทั้ง FR ก็ยังมีกระบวนการที่คล้ายคลึงกับการทำดนตรีอยู่ด้วย นั่นก็คือการนำเสียงที่ได้มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม (mix and mastering) ดังนั้นถ้าคุณพอมีความรู้เรื่องเหล่านี้ ก็จะสามารถเข้าใจและพลิกแพลงได้มากขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นทำ FR ก็อย่ากังวลไปว่าจะต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง เพราะสิ่งที่สำคัญคือการรู้จักศักยภาพและข้อจำกัดของอุปกรณ์ที่ใช้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์จากการลงมือทำ เพื่อที่จะเข้าใจว่าอุปกรณ์แบบไหนเหมาะกับตัวคุณ หรือสถานการณ์ในแต่ะครั้งมากที่สุด นั่นเป็นเพราะว่ามันคือการทดลองที่ไม่มีอะไรตายตัว

FrRc ทิ้งท้ายว่า FR ก็เป็นเหมือนรสนิยมแบบหนึ่งของกลุ่มคนที่สนใจศิลปะแบบนี้ ไม่ว่าจะในฐานะผู้ฟังที่ต้องการความแปลกใหม่ หรือในฐานะผู้สร้างงานเพื่อนำไปต่อยอดในงานศิลปะอื่นๆ ของตน

“ผู้นิยมการถ่ายภาพ เวลาท่องเที่ยวไปตามสถานที่ใดนั้นพวกเขาก็มักจะติดกล้องไปเพื่อเอาไว้ถ่ายภาพ และจะหมกมุ่นอยู่กับการตั้งใจถ่ายภาพ มีมุมมองในการนำเสนอภาพพวกนั้น ผู้ที่มีรสนิยม FR เองก็ทำในลักษณะเดียวกัน แต่ผลลัพธ์พวกนั้นออกมาเป็นเสียง คือมันฝังอยู่ในจริตเราอยู่แล้ว”

Field Recording ล้วนอยู่รอบตัวเรา

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจจะเริ่มเอะใจแล้วว่า Field Recording นั้นวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวมาตลอด เพราะหน้าที่หนึ่งของมันก็คือการเข้าไปผสมอยู่กับดนตรีหรือสื่ออื่นๆ ทำหน้าที่เติมเต็ม หรือสร้างความสมบูรณ์ให้กับงานเหล่านั้น บางคนอาจจะชอบเปิดเสียงน้ำไหล เสียงนกในป่า เสียงร้านกาแฟ เป็นฉากหลังเพื่อให้ตนเองรู้สึกผ่อนคลาย หรือเหมือนกับกำลังอยู่ในสถานที่นั้นๆ

เพียงแต่ว่า FR ก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีการต่อยอด ดัดแปลง ผลิตซ้ำไปมาอย่างไม่รู้จบ จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีการบันทึกเสียงแปลกๆ มาให้เราฟังกันอยู่เสมอ เช่นเสียงของแมลง เสียงใต้มหาสมุทร เสียงในโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปการนำเสียงที่ได้จากการบันทึกไปดัดแปลงโดยที่ไม่เหลือเค้าเดิมอยู่เลย เปิดโอกาสให้ผู้ฟังใช้จินตนาการของพวกเขาเอง

สิ่งสำคัญก็คือ การทำ FR นั้นเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เริ่มต้นทำได้ เพียงแค่มีอุปกรณ์บันทึกเสียงเท่านั้น คุณไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานมาก่อน เพราะประสบการณ์จะทำให้คุณเรียนรู้ในขั้นต่อๆ ไปว่าควรทำอย่างไร แต่อย่าลืมนะครับว่า ในโลกของดนตรีทดลองนั้น ไม่มีอะไรที่ตายตัว ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเป็นไปได้เสมอ ดังนั้นอย่ากลัวว่าสิ่งที่คุณทำจะถูกหรือจะผิด เพราะสุดท้ายคนที่จะตัดสินก็คือคนที่เสพผลงานของคุณนั่นเอง

 

ศิลปินแนะนำ

Chris Watson (UK)
Jacob Kirkegaard (Denmark)
Jana Winderen (Norway)
Francisco Lopez (Spain) Vanessa Rossetto (US)
Jeph Jerman (US)
Toshiya Tsunoda (Japan)
F- (Thailand)
FrRc หรือ GAMNAD737 (Thailand)

อ้างอิง

https://www.ableton.com/en/blog/art-of-field-recording/
https://citiesandmemory.com/2017/10/best-field-recording-records/

ขอบคุณ F- และ FrRc สำหรับข้อมูลและมุมมองในบทความชิ้นนี้

Tags: