ก่อนหน้านี้มีกระแสรณรงค์ลดการบริโภคเนื้อสัตว์และการทำฟาร์มปศุสัตว์ เพื่อลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่นๆ เช่น มีเทนและไนตรัสออกไซด์ ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก

แต่ตอนนี้มีข่าวดีสำหรับคนรักเนื้อ คือ นักวิจัยเพิ่งค้นพบสิ่งที่ทำให้สัตว์เหล่านั้นลดการปล่อยก๊าซที่สร้างปรากฏการณืเรือนกระจกลงได้ หนึ่งในนั้นก็คือ “สาหร่ายสีแดง”

สาหร่ายสีแดงนี้มีชื่อว่า Asparagopsis taxiformis เป็นสาหร่ายสีชมพูเข้มจนคล้ายสีแดงเลือดนก เติบโตในแหล่งน้ำอุ่น ขณะนี้ ทีมนักวิจัยจากออสเตรเลียกำลังหาวิธีขยายพันธุ์ หลังจากที่ศึกษามา 5 ปีเต็มแล้วพบว่ามันช่วยให้วัวไม่ปล่อยก๊าซมีเทนได้เกือบจะ 100 เปอร์เซนต์

“เมื่อเราเพิ่มสาหร่ายสีแดงนี้เข้าไปในอาหารวัวที่เป็นของแห้ง ในอัตราส่วนไม่ถึงสองเปอร์เซ็นต์ สาหร่ายชนิดนี้จะทำให้วัวหยุดผลิตก๊าซมีเทน เพราะมันมีสารเคมีที่ไปลดจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารของวัว ที่ทำให้พวกมันเรอเมื่อกินหญ้า” นิค พอล นักชีววิทยา หนึ่งในทีมวิจัยนี้จากมหาวิทยาลัย University of the Sunshine Coast กล่าว

ในปี 2014 ทีมวิจัยวิเคราะห์สาหร่ายทะเลเขตร้อน 20 ชนิดเพื่อดูว่ามีสาหร่ายชนิดใดบ้างที่สามารถลดการผลิตก๊าซมีเทนที่เกิดจากวัวได้ จากการทดสอบพบว่า สาหร่าย Asparagopsis taxiformis  มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถยับยั้งการผลิตก๊าซมีเทนจากสัตว์ได้ถึงร้อยละ 98.9

มีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มีขนาดเล็กกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก๊าซมีเทนกลับมีศักยภาพในการดักจับความร้อน ทำให้เกิดอันตรายมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ก๊าซมีเทนในบรรยากาศมีประสิทธิภาพกักความร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า และในกรอบเวลา 20 ปี คาดว่าก๊าซมีเทนสร้างผลกระทบที่เลวร้ายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 100 เท่าเลยทีเดียว

การทำปศุสัตว์คิดเป็น 14.5 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยร้อยละ 65 มาจากการเลี้ยงวัว และหากเป็นที่ชัดเจนว่า สาหร่าย Asparagopsis taxiformis สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนในวัวได้ มันก็จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการลดภาวะโลกร้อนได้ในอนาคต โดยที่เรายังสามารถทำปศุสัตว์ได้อยู่

ความท้าทายคือการหาวิธีการผลิตและการเติบโตของสาหร่าย – สร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีสารเคมีหรือสารที่เป็นอันตราย หากนำไปใช้เลี้ยงวัวทั่วโลกในระยะยาว 

“เรากำลังศึกษาเพื่อให้แน่ใจว่า วัวจะมีสุขภาพดี เนื้อวัวและนมก็มีคุณภาพที่ดีจากการกินสาหร่ายตัวนี้ และที่สำคัญ เราต้องมั่นใจว่า เราสามารถผลิตสาหร่ายได้อย่างยั่งยืนด้วย” พอลกล่าว

ขณะนี้ ทางทีมวิจัยกำลังมองหาวิธีในการหาสภาวะการเติบโตที่เหมาะสมสำหรับสาหร่าย โดยศึกษาการเติบโตของพวกมันในถังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกลางแจ้งขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน ก็ศึกษาวิธีที่จะเพิ่มความเข้มข้นของสารประกอบทางเคมีของสาหร่ายไปด้วย

ความยากลำบากคือการหาทางเพาะเลี้ยงสาหร่ายในรูปแบบคล้ายกับพืชไร่ ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในสภาพแวดล้อมอื่นๆ แม้ว่าสาหร่ายตัวนี้จะเติบโตได้อย่างอุดมสมบูรณ์ตามแนวชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ก็ตาม แต่การจะทำให้มันกลายมาเป็นพืชที่ปลูก ขยายพันธุ์ และเก็บเกี่ยว ดังเช่นพืชผักเศรษฐกิจทั่วไปยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย 

Asparagopsis taxiformis ไม่ได้เป็นสายพันธุ์พบได้มากนัก และเราไม่สามารถเก็บมันมาจากทะเลได้ แม้ว่าเราจะค้นพบคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมของมัน แต่เราก็ต้องพยายามหาวิธีการทำฟาร์มเพื่อนำมาใช้ในระบบการเลี้ยงสัตว์แบบฟาร์มปศุสัตว์ได้อย่างเพียงพอ” 

 

อ้างอิง:

 

ภาพ : University of the Sunshine Coast

Tags: , , , ,