‘ต้ม ต้อง เมี้ยน’ คำเรียกที่อาจไม่คุ้นหูใครหลายคน แต่สำหรับชาวเย้า (ชาวเมี่ยนหรืออิ้วเมี่ยน) ชื่อนี้มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง เพราะหมายถึงภาพวาดเทพเจ้าที่พวกเขาให้ความเคารพนับถืออย่างสูงที่สุด โดยถือว่าเป็นภาพทางศาสนา และมิได้มีไว้เพื่อการประดับตกแต่ง
ภาพเขียนเทพเจ้าของชาวอิ้วเมี่ยน (ที่ผ่านการทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้าออกจากภาพวาดแล้ว) ชุดนี้ นิสิตเก่าจุฬาฯ เป็นผู้มอบให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเก็บรักษามรดกล้ำค่านี้ไว้ งานสำคัญดังกล่าวจึงถูกส่งต่อมายังฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการอนุรักษ์ร่วมกับ ขวัญจิต เลิศศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานศิลปะ ก่อนลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อเริ่มต้นปฐมบทการเดินย้อนเวลาตามรอยแห่งศรัทธาของชาวอิ้วเมี่ยนในเมืองไทย
ข้ามเขตภูเขาสู่สยามประเทศ
ภูลังกา อำเภอปง จังหวัดพะเยา นอกจากมีอากาศสดชื่นและสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันงดงามแล้ว ยังเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวอิ้วเมี่ยน ดังที่ อาจารย์แคะเว่น ศรีสมบัติ ประธานอิ้วเมี่ยนแห่งประเทศไทย และปราชญ์ของชาวเย้าแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า
“ก่อนหน้านี้ชาวอิ้วเมี่ยนอาศัยอยู่บริเวณดอยวาวและดอยภูแวนานถึง 44 ปี ก่อนโยกย้ายลูกหลานมาอยู่ที่ดอยภูลังกาและพร้อมใจกันตั้งให้เป็นชื่อเรียกของหมู่ที่ 1 จนถึงปัจจุบัน”
การได้พูดคุยกับอาจารย์แคะเว่นในวันนั้น ยังทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของชาวอิ้วเมี่ยนที่มีมานานกว่า 2,700 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยจักรพรรดิโจวผิงหวาง กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์โจวตะวันออก เป็นผู้พระราชทานหนังสือเดินทาง หรือเกีย เซ็น ป๊อง ให้กับชาวอิ้วเมี่ยนใช้เป็นใบเบิกทางสำหรับป้องกันตัวยามเดินทางข้ามเขตภูเขา
อาจารย์แคะเว่นขยายความให้ฟังว่า “เมื่อบรรพบุรุษของอิ้วเมี่ยนช่วยจักรพรรดิโจวผิงหวางปราบกบฏสำเร็จ พระองค์จึงพระราชทานธิดาองค์ที่ 3 ให้เป็นภรรยา และออกหนังสือเดินทางข้ามเขตภูเขาเพื่อไปสร้างเมืองที่มณฑลหูหนาน โดยมี พ่านอ๋อง บรรพบุรุษของชาวอิ้วเมี่ยน ปกครองดูแลชาวอิ้วเมี่ยน 12 แซ่ ซึ่งหมายถึงบุตรของตนกับพระธิดาองค์ที่ 3 โดยจักรพรรดิโจวผิงหวางพระราชทานชื่อให้กับทุกคน จาก 12 ชื่อได้กลายเป็น 12 แซ่ ประกอบด้วย แซ่ผัน, แซ่เสิ่น, แซ่หวาง, แซ่หลี่, แซ่เติ้ง, แซ่โจว, แซ่เจ้า, แซ่หู, แซ่ถัง, แซ่เผิง, แซ่เหลย และแซ่เจียง ใน 12 แซ่นี้กระจายกันลงมาทางใต้ โดยเข้ามาในประเทศไทย 8 แซ่ ส่วนแซ่อื่นๆ ไปตั้งรกรากยังมณฑลกวางตุ้งและกวางซี”
ชาวอิ้วเมี่ยนอพยพเข้ามาในประเทศไทย จากเมืองหูหนานไปยังกวางตุ้ง เข้าสู่กวางซี ผ่านเวียดนามเหนือ และมายังประเทศลาว
ในยุคสมัยที่ไทยปกครองในรูปแบบอาณาจักร บางส่วนของ สปป.ลาวอยู่ในความดูแลของเจ้าเมืองน่าน ขณะนั้น พญาอินทรคีรีศรีสมบัตินำกลุ่มชาวอิ้วเมี่ยนเดินทางมาถึงหลวงน้ำทา เจ้านครน่านจึงมอบหมายให้ดูแลพื้นที่บริเวณนั้น ดังที่อาจารย์แคะเว่นเล่าให้ฟังว่า “เจ้านครน่านให้พ่อพระยาดูแลและเก็บส่วยพื้นที่บริเวณนั้น เป็นระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี เมื่อเห็นว่ารับผิดชอบหน้าที่การงานเป็นอย่างดี จึงให้เข้ามาอยู่อาศัยบริเวณดอยวาวหรือสวนยาหลวง”
ปัจจุบันชาวชาวอิ้วเมี่ยนกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะแถบภาคเหนือ เช่น จังหวัดพะเยา น่าน เชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง
ต้ม ต้อง เมี้ยน: ความศรัทธาต่อเทพเจ้าของชาวเมี่ยน
สายธารความผูกพันที่หลอมรวมความชิดใกล้ของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนกับชนชาวจีนอย่างเข้มข้น ส่งผลต่อความศรัทธาและความเชื่อ ผ่านการเรียนรู้และปลูกฝังวิธีคิดของนักปราชญ์ในลัทธิเต๋า จนเกิดการส่งต่อเป็นภาพวาดเทพเจ้า ดังที่อาจารย์แคะเว่นเล่าให้ฟังว่า “ขณะที่ชาวอิ้วเมี่ยนยังอยู่ที่มณฑลหูหนาน มักจะเข้าวัดเพื่อกราบไหว้บูชารูปปั้นเทพเจ้า ต่อมาเมื่อต้องอพยพโยกย้ายอยู่บ่อยครั้ง จึงวาดรูปเทพเจ้าลงบนกระดาษและม้วน พร้อมนำติดตัวไปด้วยทุกแห่งหน”
ภาพวาดเทพเจ้า หรือต้ม ต้อง เมี่ยน จึงมีความสำคัญต่อจิตใจของชาวอิ้วเมี่ยนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และตัวแทนบรรพชนที่ลูกหลานให้ความเคารพนับถือสืบต่อรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น ผู้คนจะได้ชมภาพวาดเทพเจ้านี้ก็ต่อเมื่อมีงานสำคัญเท่านั้น เช่น พิธีบวงสรวงประจำปีของตระกูล การทำบุญให้กับบรรพชนผู้ล่วงลับ พิธีสวดส่งวิญญาณ และงานสมโภชรูปภาพหรือการเบิกเนตรภาพเทพเจ้าใหม่ อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อยกเว้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อเจ้าของภาพวาดเปิดให้ลูกหลานในตระกูลได้ชื่นชมและกราบไหว้
เมื่อเปิดต้ม ต้อง เมี่ยนขึ้นมาแล้วจะต้องทำพิธีอัญเชิญวิญญาณของเทพเจ้ามาสู่ภาพ โดยกล่าวสรรเสริญบูชาความดีของเหล่าเทพ เพื่อให้เทพมาสถิต ณ แท่นบูชาที่มีต้ม ต้อง เมี่ยนแขวนไว้ตามลำดับ โดยผู้ประกอบพิธีต้องอ่านเขียนตัวหนังสือเมี่ยนได้และที่สำคัญต้องเป็นศิษย์มีครู
ทั้งนี้ อาจารย์แคะเว่นกำชับว่า “ก่อนการอัญเชิญจะต้องตั้งโต๊ะกราบไหว้บูชาและเผากระดาษเงินกระดาษทอง และเมื่อใช้เสร็จพิธีจะต้องนำภาพวาดเทพเจ้าไปเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี”
การเก็บรักษาภาพวาดเทพเจ้าที่เขียนบนกระดาษปอสาต้องห่อด้วยผ้าดิบหรือผ้าฝ้าย เพื่อดูดซับความชื้น โดยนำภาพวาดของเทพเจ้าสำคัญที่สุด 3 องค์ไว้ตรงกลาง เก็บรวบซ้ายและขวามาประกอบไว้ จัดให้ตรง ค่อยๆ ม้วน นำผ้าดิบหรือผ้าฝ้ายมาพันรอบๆ อีก 2 ชั้น แล้วจึงมัดให้เรียบร้อย เก็บไว้ในเครื่องจักสานที่ทำจากไม้ไผ่แก่ (หรือไม้บง) เรียกว่า เมี้ยนคับ จากนั้นนำไปเก็บไว้ในที่แห้ง เช่น ข้างเตาไฟหรือข้างแท่นบูชาในบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความชื้นและรักษาคุณภาพของภาพให้อายุยืนยาวนับพันปี โดยแต่ละครอบครัวจะเก็บไว้ไม่ให้ใครรู้
ความศักดิ์สิทธิ์แห่งภาพวาด
ชนชาวอิ้วเมี่ยนไม่เพียงให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาต้ม ต้อง เมี่ยนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญต่อกระบวนการวาดภาพและจิตรกรผู้รังสรรค์ฝีมืออีกด้วย
ดังที่ อาจารย์แคะเว่นเท้าความให้ฟังว่า เทพเซียนของชาวอิ้วเมี่ยนมีอยู่ 3 องค์ ประกอบด้วย 1. เล่งสี่ หรือเยนสี่ (Yen si) 2. เล่งปู้ (Leng Pu) และ 3. โต้ต๊ะ (To Ta) โดยเทพทั้ง 3 องค์นี้ต่างเป็นเทพเจ้าที่บำเพ็ญพรตมาอย่างยาวนาน และชาวอิ้วเมี่ยนเชื่อว่า โต้ต๊ะคือเทพองค์สุดท้ายก่อนจะมาเกิดเป็นเล่าจื๊อนั่นเอง โดยการวาดภาพเซียนทั้ง 3 องค์จะต้องวาดภาพผู้รับใช้แวดล้อมเข้าไปด้วย จึงเกิดเป็นภาพชุดที่มีจำนวน 17 ภาพ, 22 ภาพ หรือ 24 ภาพ
ตามธรรมเนียมของชาวอิ้วเมี่ยน บุตรชายคนโตของครอบครัวจะได้รับภาพวาดเทพจากบิดามารดา ส่วนบุตรชายคนอื่นจะต้องว่าจ้างให้วาดภาพชุดใหม่ โดยสันนิษฐานว่า ผู้วาดภาพเป็นจิตรกรชาวจีน ดังข้อสนับสนุนของอาจารย์แคะเว่นที่ว่า “ในอดีตชาวเมี่ยนเป็นกลุ่มชนที่มีหน้ามีตาในสังคมจีน จึงมีความสามารถในการว่าจ้างช่างจากราชสำนัก เพราะลายเส้นนั้นละเอียด และวิจิตรบรรจงมาก”
ความศักดิ์สิทธิ์ของการวาดภาพต้ม ต้อง เมี่ยน ตามที่อาจารย์แคะเว่นเล่าให้ฟังคือ เริ่มต้นตั้งแต่จิตรกรที่ต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือรอบรู้เรื่องเทพเจ้า เป็นศิษย์ที่มีครู และมีความรู้ด้านการใช้ภาษาจีน
เมื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว จิตรกรจะต้องไปหากระดาษปอสาที่ทำจากเส้นใยของไม้ไผ่ เพราะมีคุณสมบัติพิเศษ คือเหนียวและแข็งแรงมาก ซึ่งจะช่วยให้ภาพวาดมีอายุนานนับพันปีโดยไม่ย่อยสลาย จากนั้นจะนำมาตัดให้มีขนาดตามมาตรฐานของภาพเทพเจ้า
เพื่อให้เกิดสมาธิและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยแรงศรัทธา ก่อนการวาดภาพจะเริ่มขึ้น เจ้าของภาพจะต้องเตรียมพื้นที่หรือห้องสำหรับใช้สร้างสรรค์ไว้เป็นพิเศษ โดยผนังของห้องจะถูกปิดด้วยกระดาษสีขาวและคลุมด้วยผ้าสีขาวผืนใหม่
ตลอดระยะเวลาการวาดภาพ ทั้งเจ้าของภาพและจิตรกรต้องอยู่ในศีลธรรมและถือพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด อาจารย์แคะเว่นเสริมว่า “จิตรกรจะต้องถือศีลกินเจ มือและใจต้องสะอาด ทุกอย่างจะต้องอยู่ในลักษณะของผู้บำเพ็ญพรตจึงจะบริสุทธิ์เทียบกับเซียนได้”
ก่อนจรดปลายพู่กัน จิตรกรจะต้องกราบไหว้ปรมาจารย์ขงจี๊อเพื่อขอสิทธิการใช้ตัวอักษรจีน จากนั้นจึงเริ่มเขียนโครงกระดูก ร่างให้เป็นส่วนของตา หู ปาก จมูก ใบหน้า แขนขา และมีองค์เทพเล็กๆ ขนาบอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา
เมื่อได้รูปร่างของคนแล้วจึงลงสีไปตามโครงร่างของภาพ เริ่มต้นจากการเติมเนื้อ เติมเอ็น โดยใช้ สีเนื้อ (สีผิว) จนกระทั่งแล้วเสร็จจึงสวมใส่เสื้อผ้า โดยสังเกตว่าแต่ละจุดจะใช้สีใด แล้วจึงเติมสีนั้นเข้าไป เช่น สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดง (สำหรับความเชื่อของชาวจีนและชาวอิ้วเมี่ยน สีแดงคือสีแห่งชีวิต) จากนั้นค่อยๆ เก็บรายละเอียดอย่างประณีต
ชาวอิ้วเมี่ยนให้ความสำคัญกับภาพวาดของเทพเจ้ามาก จะต้องวาด ตา หู จมูกให้ดี เพราะเหมือนที่คนเราเกิดมาต้องสมบูรณ์ ดังนั้น หน้าตาของเทพเจ้าจึงต้องอิ่มเอิบและสวยงาม ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบว่า ในดวงตาของเทพเจ้านั้นเหมือนกำลังมีชีวิตอยู่
เมื่อวาดภาพเสร็จสมบูรณ์ครบชุดแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการ ‘เบิกเนตร’ เทพเจ้าแต่ละองค์ โดยผู้ประกอบพิธีจะต้องทำพิธีกรรมปีละครั้งเป็นเวลา 3 ปี เพื่ออัญเชิญเทพเจ้ามาสถิตในภาพวาด หลังจากทำพิธีกรรมครบ 3 ครั้ง จึงจะสามารถนำภาพวาดไปใช้ประกอบพิธีกรรมได้ ในขณะเดียวกัน หากภาพวาดเก่าหรือชำรุดเกินกว่าจะนำไปใช้ได้อีกจะต้องทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้าออกจากภาพวาด ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดความศักดิ์สิทธิ์ลง
ทำไมจึงเป็น ต้ม ต้อง เมี้ยน
ก่อนการสนทนาจะจบลง อาจารย์แคะเว่นไม่ทิ้งให้ความสงสัยได้ยึดครองพื้นที่ทางความคิดให้อยู่นานจนเกินไป จึงอธิบายก่อนแยกย้ายให้ฟังว่า “จะมีบางกลุ่มถามมาว่า ภาพผีใหญ่ ควรใช้ ต้ม ต้อง ฝัง มากกว่า ต้อม ต้อง เมี้ยน หรือไม่ เพราะ ฝัง แปลว่า รูปภาพ แต่เมี้ยน แปลว่า วิญญาณของเทพ ซึ่งผมบอกเขาไปว่า ต้ม ต้อง เมี้ยน นั้นสื่อความหมายมากกว่า เพราะ ต้ม ต้อง ฝัง คือภาพผีใหญ่ หรือภาพเทพใหญ่ ไม่สื่อถึงวิญญาณ แต่มีบางส่วนให้ใช้ว่า ต้ม ต้อง ฝัง คือภาพวาด สำหรับผมแล้ว ต้ม ต้อง เมี้ยน นอกจากจะหมายถึงภาพผีใหญ่แล้วยังแฝงฝังถึงจิตวิญญาณแห่งเทพเจ้าของชนชาวอิ้วเมี่ยนเอาไว้อีกด้วย”
Tags: ต้มต้องเมี่ยน, ชาวอิ้วเมี่ยน, ชาวเย้า, ชาวติพันธุ์, เทพเจ้า, ความเชื่อ, วัฒนธรรม, Feature