ยาเสพติดเป็นสิ่งที่เลิกยากและเกี่ยวพันกันหลายภาคส่วน การหาทางออกจึงมิใช่เพียงโยนผู้เสพเข้าสู่เรือนจำ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาคนล้นเรือนจำ และปัญหาทางสังคมที่ถูกทิ้งคาราคาซัง จนผู้เสพถูกผลักเข้าสู่วังวนอีกครั้งและวนเวียนไม่รู้จบ
ท่ามกลางยาเสพติดนานาชนิด หนึ่งในยาเสพติดที่รุนแรงที่สุดคือ ‘เฮโรอีน’ เนื่องจากมีฤทธิ์กดประสาทรุนแรง หากขาดยาในช่วงแรกอาจส่งผลต่อความรู้สึกทางกายมหาศาล เช่น ความรู้สึกคันยุบยิบ แสบตามตัว และอาการปวดร้าวรุนแรง แม้เส้นผมตัวเองสัมผัสตามใบหน้าก็รู้สึกแสบคันเหมือนถูกของแข็งขูดตามร่างกาย ทำให้การเลิกยาในขั้นตอนแรกก็เป็นไปได้ยาก
สุพรรณ (นามสมมติ) วัยประมาณ 60 ปี เป็นผู้ป่วยยาเสพติดเรื้อรังมานานกว่า 30 ปี เดินเข้า-ออกศูนย์บำบัดนับ 10 หน ด้วยเหตุผลว่า เมื่ออยู่ในศูนย์บำบัดเขาไม่ใช้ยาได้ แต่เมื่อออกมา จิตใจก็นำพาไปหายาเสพติดอีกครั้งหนึ่ง
“ตอนเริ่มก็คืออยู่กับก๊วน ดูดกัญชากัน แล้วมีคนเอาสิ่งนี้เข้าไป มันก็เริ่มจากตอนนั้น ใช้ๆ เลิกๆ วนไป หยุดๆ ใช้ๆ ช่วงที่หยุดก็คือไปรักษาตัว แต่ออกมาก็เหมือนเดิม
“ไปบำบัดมาหลายที่มาก บางปีไปบำบัดสามรอบ บางปีก็สองรอบ บางที่บำบัดอยู่ปีกว่า เลิกได้ แต่พอออกมาก็กลับมาใช้ยาเหมือนเดิม คือหยุดได้ไหมก็ได้แหละ แต่ออกมาก็เจอพื้นที่เดิมๆ บางครั้งตอนบำบัดคิดอย่างเดียวเลย ตรงนี้ไม่มี ออกมาต้องไปไหน ไปหายาอย่างไร ก็ยังวนเวียนคิดถึงอยู่” สุพรรณกล่าวด้วยสีหน้าเรียบเฉย
การใช้ยาเสพติดวนไปมา ผ่านการเข้า-ออกศูนย์บำบัด แต่ยังคงต้องกลับไปใช้ยาเสพติดอยู่นั้น สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ ผู้จัดการกลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (Associate To Promote Access To Health And Social Support: APASS) องค์กรภาคประชาสังคมซึ่งดำเนินงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและจิตใจของผู้ป่วยยาเสพติด อธิบายว่า เป็นอาการสมองติดยา คืออาการทางสมอง ต้องให้แพทย์รักษา ไม่ใช่เรื่องของการออกกำลังกาย การคุมขัง ซึ่งอาจจะช่วยให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาในระหว่างการคุมขัง แต่เมื่อกลับออกมาอยู่สภาพสังคมเดิม ก็จะวนเวียนกลับไปเสพยา
สำหรับสุพจน์แล้ว การจะเลิกยาเสพติดได้สำเร็จเป็นสิ่งที่มากไปกว่าคำว่า ‘อยู่ที่ใจ’ แต่ต้องการการปรับทัศนคติให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตัวเอง และปรับภูมิต้านทานทางจิตใจที่จะนำไปสู่การเลิกยาเสพติด
“สิ่งที่แย่ที่สุด คือคนที่เลิกยา ถ้าเลิกหลายๆ ครั้ง แล้วเลิกไม่ได้ มันจะเกิดความเชื่อว่าตัวเองทำไม่ได้ แล้วเมื่อวันนั้นถึงแม้เขาจะได้อยู่ในระบบที่ดี เขาก็จะทำไม่ได้ เพราะเขาถูกปลูกฝังความเชื่อในตัวไปแล้วว่าทำไม่ได้”
ในความเห็นของสุพจน์มองว่า วิธีที่ช่วยเยียวยาผู้ป่วยยาเสพติดที่เหมาะสมคือ การทำให้เขาสามารถกลับเข้าสังคมได้ ผ่านการช่วยสนับสนุนด้านจิตใจ และปรับผู้ป่วยให้มีพลังใจเพียงพอที่จะเดินออกมาจากวังวนของยาเสพติด แต่ในระหว่างนั้นหากผู้ป่วยยาเสพติดยังไม่สามารถผลักดันตนเองให้เลิกขาดจากยาเสพติดได้ สิ่งที่ APASS ทำ คือการให้ความรู้การใช้ยาเสพติดที่อันตรายน้อยลง ไปจนถึงจัดหาอุปกรณ์ที่ลดอันตรายให้ เช่น เข็มฉีดยาที่สะอาด การให้ความรู้เรื่องการไม่แชร์เข็มฉีดยา การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยา การลดการใช้ยา ไปจนถึงการรับสารทดแทน เช่น เมทาโดน (Methadone)
กระบวนการที่สุพจน์นำเสนอเรียกว่า ‘Harm Reduction’ ซึ่งถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น แคนาดาและออสเตรเลีย บนหลักการที่ว่า ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องการการรักษา มิใช่ส่งเข้าไปในเรือนจำเพื่อทำลายอนาคตของคนเหล่านี้ และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ นับตั้งแต่ความแออัดของเรือนจำ ไปจนถึงการถูกตีตราจากสังคมหลังพ้นโทษ และตัดโอกาสการกลับเข้าสู่สังคม ซึ่งอาจผลักดันคนเหล่านี้กลับไปสู่สิ่งที่เขาคุ้นเคย เป็นวังวนของยาเสพติด และอาจกลายเป็นฟันเฟืองในขบวนการค้ายาเสพติด หากวิถีทางบนสังคมปกตินั้นตีบตัน
อย่างไรก็ตาม Harm Reduction ก็ต้องทำควบคู่ไปกับกระบวนการอื่นๆ เช่นการมุ่งปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดในระดับขบวนการอย่างจริงจังและหนักแน่น ไปจนถึงการค่อยๆ ใส่ความคิดที่จะหลุดพ้นจากยาเสพติดผ่านการเห็นคุณค่าในตนเองของผู้ป่วยยาเสพติด
เพราะการที่ผู้ป่วยยาเสพติดไม่เห็นคุณค่าในชีวิตตนเอง ไม่เห็นทางออก เขาเหล่านั้นก็จะจมอยู่กับยาเสพติดไปตลอดกาล
‘เฮโรอีน’ หรือ ‘แป๊ะ’ อาจนับได้ว่าเป็นยาเสพติดที่มีความรุนแรงอันดับต้นๆ
สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ ผู้จัดการกลุ่ม APASS องค์กรภาคประชาสังคมซึ่งดำเนินงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและจิตใจของผู้ป่วยยาเสพติด อธิบายว่า ยาเสพติดอื่นๆ ในชั่วขณะของอาการเสี้ยนยาหรืออยากยา จะเป็นอาการทางจิตใจเป็นหลัก ทว่ากับเฮโรอีน อาการจะรุนแรงไปจนถึงระบบประสาทของร่างกาย เช่น ความรู้สึกคันยุบยิบ แสบตามตัว และอาการปวดร้าวรุนแรง แม้เส้นผมตัวเองสัมผัสตามใบหน้าก็รู้สึกแสบคันเหมือนถูกของแข็งขูดตามร่างกาย
ประตูห้องเช่าของสุพรรณย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ถูกปิดทึบ ของระเกะระกะไม่กี่ชิ้น คือทรัพย์สมบัติของเขาในเวลานี้
สุพรรณใช้ยาเสพติดมาราว 30 ปี ปัจจุบันแม้จะยังเลิกขาดจากยาเสพติดไม่ได้ แต่เขายังไม่หมดหวังในความพยายามที่จะควบคุมการใช้ยาเสพติดของตนเอง
เข็มฉีดยาขนาดเล็กในมือของสุพรรณ เป็นเข็มฉีดยาที่ได้รับจากกลุ่ม APASS ผ่านแนวคิด Harm Reduction หรือการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาเสพติดให้อันตรายน้อยที่สุด ซึ่งการได้รับเข็มฉีดยาที่สะอาด มีแนวโน้มจะทำให้ผู้เสพยาไม่เกิดพฤติกรรมการแชร์เข็ม ที่อาจนำไปสู่โรค HIV
หากให้ผู้ป่วยยาเสพติดเรื้อรังตีความถึงความรู้สึกของการขาดและการเสพเฮโรอีน
จำนวนหนึ่งอธิบายว่า การขาดเปรียบได้กับโลกสีดำหมองหม่น ทึมทึบ ในขณะที่เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ถ้าไม่ใช่สีขาว ก็เป็นสีโทนเย็น ให้ความสงบนิ่ง สบายตัว
สุพรรณ ผู้ป่วยยาเสพติดเรื้อรังวัย 60 ปี จุดยาเส้นขึ้นสูบภายในห้องพักย่านชานเมืองกรุงเทพฯ
นิโคตินเป็นอีกหนึ่งสารเสพติดที่ถูกนำเข้าร่างกายของเขา
เข็มใส่น้ำพร้อมเติมเฮโรอีน เป็นอุปกรณ์สำคัญของผู้เสพเฮโรอีน ปัจจุบัน สุพรรณใช้ยาเสพติดน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก โดยในหนึ่งวันสุพรรณใช้เฮโรอีน 2 ครั้ง ตอน 9 โมงเช้า และช่วงเวลาบ่าย 2 โมง เขาให้เหตุผลว่า “เพราะกลางคืนไม่ได้ไปไหน นอนดูหนัง กลางวันยังต้องไปทำนู่นทำนี่ เลยใช้ให้ยังพอใช้ชีวิตได้”
สุพรรณในห้องพักย่านชานเมืองกรุงเทพฯ เขาใช้ยาเสพติดมาราว 30 ปี ปัจจุบันแม้จะยังเลิกขาดจากยาเสพติดไม่ได้ แต่เขายังไม่หมดหวังในความพยายามที่จะควบคุมการใช้ยาเสพติดของตนเอง
ทางเดินบีบแคบในชุมชนแออัด คือพื้นที่รายรอบของห้องเช่าที่สุพรรณพักอาศัย
Tags: เฮโรอีน, ผู้ป่วยยาเสพติด, APASS, Feature, ยาเสพติด