ควันสีขาวลอยออกมาจากปล่องไฟโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) นับเป็นสัญญาณว่า โลกได้พระสันตะปาปาองค์ที่ 267 เรียบร้อย นั่นก็คือ โรเบิร์ต ฟรานซิส เพรโวสต์ (Robert Francis Prevost) หรือ ‘โป๊ปเลโอที่ 14’ (Pope Leo XIV) ประมุขแห่งนครรัฐวาติกันคนแรกที่มาจากสหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับการขนานนามว่า มีตัวตนผสมผสานระหว่างโป๊ปฟรานซิส (Pope Francis) กับโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 (Pope Benedict XVI)

นอกจากบทบาทในการผดุงความยุติธรรม รักษาสันติภาพ และเป็นกระบอกเสียงในฐานะ ‘ผู้นำทางศีลธรรม’ ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของสาธารณชน ดังที่โป๊ปฟรานซิสทรงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายไร้มนุษยธรรมของประเทศมหาอำนาจ สงครามความขัดแย้งทั่วโลก หรือแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ถูกกระทำในช่วงที่ผ่านมา 

กล่าวได้ว่า ความท้าทายของโป๊ปองค์ใหม่ที่หลายคนมองข้ามคือ การสร้างความเท่าเทียมทางเพศภายในศาสนจักร โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิงเริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น ตามสถานการณ์ในทางโลกปัจจุบัน ซ้ำยังดูเหมือนว่า ข้อถกเถียงเหล่านี้จะไม่ได้หยุดแค่หัวข้อเล็กๆ อย่างการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ยังลุกลามไปถึงข้อห้ามเด็ดขาดทางศาสนา อย่างบทบาทเข้าร่วมในการประชุมลับเพื่อคัดเลือกประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน (Conclave) เหมือนกับผู้ชายคนอื่นๆ ตลอดจนคำถามสุดเด็ดที่ว่า เมื่อไรสตรีเพศจะมีโอกาสขึ้นเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่เสียที

“ศาสนจักรได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และต้องเดินตามให้ทันกับความเป็นจริง” คือคำตอกย้ำของ ซาบีนา ปาโวเน (Sabina Pavone) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาจาก University of Naples L’Orientale และสมาชิกกลุ่ม Italian Society of Historians ที่เชื่อว่า คริสตจักรไม่ควรเพิกเฉยกับบทบาทของผู้หญิงอีกต่อไป 

โป๊ปโจน: ตำนานโป๊ปหญิงคนแรกของศาสนจักร ที่เป็นทั้ง ‘ไอคอน’ และ ‘เครื่องมือโจมตีทางการเมือง’

ตามธรรมเนียมแล้วผู้หญิงไม่สามารถดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาได้ โดยกฎหมายศาสนจักรเขียนอนุญาตเฉพาะผู้ชายที่เข้ารับพิธีบัพติศมาเท่านั้น เชื่อกันว่าเป็นการตีความจากสาวกของพระเยซูที่ล้วนแต่เป็นผู้ชายทั้งหมด แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความเชื่อในหมู่ชาวคาทอลิกว่า ครั้งหนึ่งโลกเคยมีพระสันตะปาปาผู้หญิง อย่างตำนาน ‘โป๊ปโจน’ (Pope Joan) ในยุคกลาง

ความเชื่อดังกล่าวปรากฏขึ้นในยุคกลางหรือช่วงปี 1250 จากบันทึกของ ฌอง เดอ ไมลี (Jean de Mailly) นักประวัติศาสตร์ชาวโดมินิกัน ว่ากันว่าโจนมีชีวิตในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เธอเป็นหญิงที่ปลอมตัวเป็นชายเพื่อเข้าไปในศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่มีความฉลาดเฉลียว จนเข้าสู่แวดวงศาสนา และได้รับเลือกให้เป็นประมุขแห่งคริสตจักรอย่างเอกฉันท์ โดยใช้ชื่อว่าพระสันตะปาปาจอห์นที่ 8 (John VIII) แต่ในภายหลังมีคนจับได้ในระหว่างทำพิธีแห่ขบวนทางศาสนาว่า เธอไม่ใช่ผู้ชาย และผิดคำสาบานในการครองตัวเป็นพรหมจรรย์ 

แม้ปัจจุบันไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า เรื่องของโป๊ปโจนมีจริงหรือไม่ ขณะที่ชาวคาทอลิกหลายคนยังเชื่อเรื่องนี้ แต่ก็พบหลักฐานน่าสนใจว่า เรื่องของโป๊ปโจนถูกใช้เป็นกุศโลบายการต่อสู้ชิงตำแหน่งพระสันตะปาปาในช่วงยุคกลาง ด้วยเหตุที่ว่า ไม่ควรมีประมุขทางศาสนาที่ครองอำนาจเพียงคนเดียว แต่ควรปกครองเป็นระบบคณะ อีกทั้งชาวคริสต์นิกายโปรแตสแตนด์ยังนำเรื่องของเธอมาโจมตีกลุ่มคาทอลิกในช่วงปฏิรูปศาสนาอีกด้วย

แคเทอรีน ลิวอิส (Katherine Lewis) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุคกลางจาก University of Huddersfield ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า ตำนานโป๊ปโจนถือมีความสำคัญอย่างมาก เพราะภาพแทนของเธอแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและหลากหลายในคริสตจักร เปรียบเสมือนปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมเทียบเท่าตัวละครในตำนานอย่าง โรบินฮูด (Robin Hood) หรือกษัตริย์อาเธอร์ (King Arthur) ซึ่งปัจจุบันเรื่องของโป๊ปผู้หญิงยังปรากฏในหน้าวรรณกรรม ภาพยนตร์ร่วมสมัย และถูกพูดถึงหลายครั้งเมื่อโป๊ปฟรานซิสทรงดำเนินนโยบายปฏิรูปศาสนา ให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในฐานะคนสำคัญของคริสตจักรมากขึ้น 

แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มองได้ว่า ตำนานโป๊ปโจนหญิงแท้ ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือโจมตีของกลุ่มอนุรักษนิยมและฝ่ายตรงข้ามในทุกยุคทุกสมัย ราวกับจะตอกย้ำว่า ผู้หญิงเป็นผู้นำในศาสนจักรไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

เมื่อหนทางปฏิรูปศาสนา (ที่มีผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่ง) ยังไม่ถึงฝั่งฝัน

จากตำนานของโป๊ปโจนผู้ฝ่าฝืนลิขิตฟ้าและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า สู่ความเป็นจริงของผู้หญิงในคริสตจักร น่าสนใจไม่น้อยว่า หากย้อนไปในยุคแรกของศาสนาคริสต์ สตรีเพศเคยมีบทบาทหลากหลายกว่าปัจจุบัน ทั้งการเป็นผู้นำ ศาสดาพยากรณ์​ และผู้อุปถัมภ์ศาสนา กระทั่งศาสนาถูกทำให้กลายเป็นสถาบันหนึ่งทางสังคม (Institutionalized) โดยมีผู้ชายเป็นศูนย์กลางอำนาจ บทบาทของผู้หญิงจึงค่อยๆ เลือนหายไป จนอยู่ในรูปแบบ ‘ผู้ศรัทธา’ มากกว่าจะเป็นช้างเท้าหน้า

กล่าวได้ว่า สถานการณ์ชัดเจนที่สุดในช่วงปฏิรูปศาสนา โดยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-20 พบว่า ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมด้านการศึกษาหรือการเป็นมิชชันนารี แต่ถูกกีดกันอย่างเป็นระบบไม่ให้มีบทบาทผู้นำ หรือวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาได้ตามใจชอบ ซ้ำในการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ช่วงปี 1962-1965 ผู้หญิงก็ยังไม่มีบทบาทอะไรเพิ่มขึ้น ถึงกระแสสังคมจะเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงตามบริบทโลก หลังกระแสสตรีนิยมมีอิทธิพลขณะนั้น

กว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นต้องใช้เวลายาวนานหลายศตวรรษ เมื่อโป๊ปฟรานซิสผู้ล่วงลับดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาในปี 2013 พระองค์ปฏิรูปศาสนจักรครั้งใหญ่ตามกระแสสังคม โดยหนึ่งในนั้นคือ นโยบายส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในการปกครอง และเป็นผู้นำในพิธีสำคัญทางศาสนา เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งสังฆานุกรหรือดีกัน (Deacon) ในปี 2016 และ 2020 หรือการเปลี่ยนแปลงกฎหมายศาสนจักรให้ผู้หญิงสามารถนำอ่านคำเทศน์ทางศาสนาและเป็นผู้ช่วยนักบวช ไปจนถึงการฝ่าฝืนข้อห้ามโบราณอย่างการล้างเท้านักโทษหญิง 12 คน 

ขณะที่เรื่องใหญ่ฮือฮาแวดวงศาสนจักรคือ การแต่งตั้งให้ ซิสเตอร์ ราฟาเอลลา เปรตินี (Sister Raffaella Petrini) หญิงชาวอิตาเลียน เป็นเลขาธิการนครรัฐวาติกัน และประธานสมณกรรมาธิการนครรัฐวาติกัน (Pontifical Commission for the Vatican City State) ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของผู้หญิงในคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก รวมถึงการให้ ซิสเตอร์ นาทาลี เบกวาร์ต (Sister Nathalie Becquart) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการประชุมซีนอด (Synod) และแต่งตั้งให้ผู้หญิงหลายคนดำรงตำแหน่งหัวหน้าสมณกระทรวงเพื่อบิชอป (Dicastery for Bishops) 

แม้การปฏิรูปครั้งนี้สั่นสะเทือนโครงสร้างอนุรักษนิยมของศาสนาจักรครั้งใหญ่ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า โป๊ปฟรานซิสยังทำภารกิจดังกล่าวไม่สำเร็จ หลังพบว่า ผู้หญิงมีบทบาทในคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกเพิ่มขึ้นเพียง 23.4% จาก 19% เพราะประมุขวาติกันผู้ล่วงลับยังไม่สามารถจัดการปัญหาใหญ่ๆ อย่างบทบาทของผู้หญิงในฐานะบาทหลวงได้สำเร็จ ซึ่งเป็นประตูบานสำคัญที่ถูกล็อกไว้โดยคำสั่งแบนอย่างเป็นทางการจาก โป๊ปจอห์น ปอลที่ 2 (Pope John Paul II) ในปี 1994 

ขณะที่ความหวังการรื้อฟื้นบทบาทผู้หญิงในฐานะสังฆานุกรยังไร้วี่แวว หลังมีรายงานที่ไม่เปิดเผยต่อหน้าสื่อว่า คณะกรรมาธิการไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องนี้ ขณะที่ในปี 2024 โป๊ปฟรานซิสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CBS ว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แม้ในหลายเดือนถัดมาจะลงนามในเอกสารสรุปการประชุมซีนอดว่า เรื่องนี้ยัง ‘เปิดกว้าง’ อยู่

 

อนาคตของสตรีเพศและ LGBTQIA+ ในคริสตจักรยุคโป๊ปเลโอที่ 14

‘คลับชายแท้’

อาจบอกได้ว่า นี่คือสถานการณ์ล่าสุดในคริสตจักร ที่สะท้อนจากการจากไปของโป๊ปฟรานซิส เมื่อเหล่าผู้ชายยังคงมีบทบาทนำและกำหนดความเป็นไปสำคัญ อย่างการประชุมลับคอนเคลฟ จนถึงการขึ้นเป็นประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน โดยที่สังคมต่างตั้งคำถามว่า แล้วผู้หญิงมีบทบาทอยู่ตรงไหนกันแน่

แม้มีประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ที่หยิบยกขึ้นมาในการพิจารณาแคนดิเดตพระสันตะปาปา เช่น กรณีการจัดการกับประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศของ หลุยส์ อันโตนิโอ ทักเล (Luis Antonio Tagle) แคนดิเดตพระคาร์ดินัลตัวเต็งจากแดนพันเกาะ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมว่า ไม่แยแสต่อการล่วงละเมิดทางเพศในศาสนจักร และทำให้วงการศาสนาในฟิลิปปินส์ตกอยู่ใน ‘ยุคมืด’ หรือแม้แต่โป๊ปเลโอที่ 14 ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งก็ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนปกปิดคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กของบาทหลวง ในโรงมัธยมที่เมืองนิวเลน็อกซ์ สหรัฐฯ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการอภิปรายโดยตรงถึงโครงสร้างศาสนา ขณะที่ภายในคริสตจักร กลุ่มอนุรักษนิยมยังวิพากษ์วิจารณ์ว่า​ การปฏิรูปของโป๊ปฟรานซิสที่นำชายและหญิงเข้ามายุ่งในสำนักวาติกัน ได้สร้างความวุ่นวายครั้งใหญ่

ในความเป็นจริงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีกลุ่มผู้หญิงในศาสนจักรที่ยังพอใจในบทบาทปัจจุบัน โดยแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตนให้สัมภาษณ์กับ Al Jazeera ว่า การที่ผู้หญิงมีตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวงหรือสังฆานุกร ล้วนแต่จะทำให้ศาสนาแปดเปื้อนและผู้คนเสื่อมศรัทธา 

แต่ถึงอย่างนั้นผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงเชื่อว่า บทบาทของผู้หญิงในคริสตจักรต้องเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคมโลก เพราะพวกเธอค่อยๆ ขยายบทบาทในการเผยแพร่คำสอน ขณะที่จำนวนบาทหลวงผู้ชายเริ่มลดน้อยถอยลง 

“มีการรับรู้ประเด็นดังกล่าวที่ต้องมีการแก้ไข เพราะต่อไป ประเด็นผู้หญิงจะกลายเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนของศาสนจักร หากแต่ไม่มีใครรู้ว่าแก้ไขอย่างไร” ปาโวเน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนา แสดงความเห็น

ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอว่า โป๊ปเลโอที่ 14 จะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไป ซึ่งก็ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะความท้าทายของคริสตจักรหลังจากนี้ไม่ได้หยุดแค่เฉพาะบทบาทของผู้หญิง แต่ยังรวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQIA+ ในห้วงเวลาที่ธงสีรุ้งโบกสะบัด หลังพระองค์เคยแสดงทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรต่อกลุ่มเกย์ในปี 2012 ว่า ค่านิยมของโลกตะวันตกดังกล่าวขัดต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า  

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2025/may/05/luis-antonio-tagle-cardinal-philippines-catholic-karaoke-priest-pope

https://www.historyextra.com/period/medieval/pope-joan/

https://theconversation.com/pope-francis-promoted-women-to-unprecedented-heights-of-power-in-the-church-251808

https://www.bbc.com/reel/video/p0l8lcnr/pope-joan-the-woman-who-fooled-the-church

https://www.historyextra.com/period/medieval/pope-joan/

https://edition.cnn.com/2025/04/26/europe/women-catholic-church-pope-francis-intl-cmd/index.html

https://www.aljazeera.com/news/2025/5/6/women-in-the-catholic-church-which-way-will-the-next-pope-go

https://www.bbc.com/reel/video/p0l8lcnr/pope-joan-the-woman-who-fooled-the-church

https://www.ncronline.org/opinion/guest-voices/if-women-cannot-be-deacons-we-should-stop-ordaining-men-deacons

https://time.com/7283867/pope-leo-challenges-diversity-globalization/

Tags: , , , , , , , , , , , , ,