แม้ในวันนี้ประเทศไทยและหลากหลายประเทศ ต่างกำลังขับเคลื่อนวาระการสมรสเท่าเทียมกันทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย รวมถึงความตระหนักรู้ของสังคมต่อการจดทะเบียนแต่งงานกันระหว่างมนุษย์ทุกเพศทุกวัย หาใช่เพียงแต่เพศชายหรือเพศหญิงดังที่เคยเป็นก่อนหน้า
ทว่าคำว่าเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เรื่องเพศสภาพของมนุษย์แต่ละคน เพราะในการแต่งงานยังมีอีกหลายเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะธรรมเนียมปฏิบัติในแต่ละภูมิภาค ที่ถึงแม้จะทำตามกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทั้งตัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะยินยอมและเต็มใจในวิธีการเช่นนั้น
ช่วงเวลาที่การสมรสเท่าเทียมกำลังเข้าสู่วาระสำคัญของสังคม The Momentum ชวนสำรวจ ธรรมเนียมในการสมรสจากประเทศต่างๆ ที่ควรตั้งคำถามว่า ‘วิธีการแต่งงานแบบนี้ เท่าเทียมหรือยัง’
เคนย่า: ถุยน้ำลายใส่เจ้าสาวเพื่อสิริมงคล
สำหรับประเพณีของชนเผ่ามาไซ (Massai) ที่อาศัยอยู่ในในประเทศเคนย่าและแทนซาเนีย คนส่วนใหญ่มักรู้จักพวกเขาผ่านประเพณีการเต้นรำ Adamu หรือ Jumping Dance แต่อีกประเพณีหนึ่งที่ธรรมเนียมปฏิบัติเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากท้องที่อื่น คือพิธีการแต่งงาน ที่ก่อนเจ้าสาวออกจากเรือนหอ จะต้องถูกถุยน้ำลายใส่เพื่อความสิริมงคล
สำหรับขั้นตอนการแต่งงานของชนเผ่ามาไซ หลังจากประชุมและตกลงเรื่องสินสอดที่เจ้าบ่าวจะนำไปแลกเจ้าสาว ซึ่งคือจำนวนของวัวที่แสดงถึงความมั่งคั่งของตัวเจ้าบ่าว ในวันแต่งงาน เจ้าสาวจะสวมสร้อยคอสีสดใส ประดับด้วยลูกปัดและเปลือกหอยต่างๆ และตัวเจ้าสาวเองต้องโกนผมและทาไขมันแกะลงบนศีรษะ
ซึ่งก่อนจะเดินทางออกจากบ้านเจ้าสาวเพื่อไปหาเจ้าบ่าว ครอบครัวของเจ้าสาวจะถ่มน้ำลายรดลงบนหัวและหน้าอกของเธอ ซึ่งเป็นการอวยพรให้พบเจอแต่ความโชคดี ก่อนจะแยกย้ายออกไปอยู่กับสามีและมีครอบครัว
อินเดีย: ขโมยรองเท้าของเจ้าบ่าว
วัฒนธรรมการแต่งงานของชาวอินเดียมีกิจกรรมให้ญาติของแต่ละฝ่ายเล่นกัน คือประเพณี ‘ซ่อนหารองเท้า’ ในภาษาอินเดียเรียกประเพณีนี้ว่า Joota Chupai หรือ Joota Churi โดยหากเจาะไปที่ความหมาย Joota ในภาษาฮินดีมีความหมายว่า รองเท้า ขณะที่ Chupai มีความหมายว่า Hide and Seek หรือซ่อนหานั่นเอง
โดยเกมดังกล่าว ญาติฝ่ายหญิงจะขโมย ‘รองเท้าปักเลื่อม’ ของเจ้าบ่าวไปซ่อน ในช่วงเวลาที่เจ้าบ่าวถอดรองเท้าออก ก่อนจะขึ้นไปยังเก้าอี้สำหรับพิธีหรือ Mandap เพื่อทำพิธีแต่งงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียก ‘รับเงิน’ เล็กๆ น้อยๆ จากเจ้าบ่าว
ขณะที่ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวก็ต้องพยายามไม่ให้แผนการของฝ่ายหญิงสำเร็จ โดยระหว่างที่พิธีการแต่งงานดำเนินไปก็ต้องคอยมองหาว่า รองเท้าถูกซ่อนไว้ที่บริเวณใดของงานแต่งงาน และไปบอกกับฝ่ายชาย
เมื่อเจ้าบ่าวเจอรองเท้าของตนแล้ว ญาติฝ่ายหญิงจะเข้ามาเจรจาค่าแลกเปลี่ยนรองเท้ากับเงินจำนวนหนึ่ง เมื่อได้ข้อยุติที่พึงพอใจ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะได้รองเท้าคืน และญาติฝ่ายหญิงก็จะได้เงินเป็นค่าตอบแทน
ทั้งนี้ประเพณีดังกล่าวมีมาอย่างยาวนานแล้วในภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian) โดยเป็นไปเพื่อแสดงออกถึงความรักและการยอมรับของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงแบ่งปันความสนุก เสียงหัวเราะ และความสุข ตลอดทั้งชีวิตคู่ของพวกเขา
อินโดนีเซีย: ห้ามเข้าห้องน้ำ 3 วันในการแต่งงาน
ธรรมเนียมที่ไม่เอื้อต่อสุขลักษณะเช่นนี้ เป็นพิธีแต่งงานของชนเผ่าทิดง (Tidong) ที่อาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียว (Borneo) ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีความเชื่อกันว่า ห้ามคู่บ่าวสาวใช้ห้องน้ำเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ไม่ว่าจะอาบน้ำ ทำธุระส่วนตัวแบบเบาหรือหนักก็ตาม ทั้งต้องอยู่อาศัยในบ้านที่ผ่านการละเลงข้าว แป้ง และเถ้าถ่าน จากเพื่อนและครอบครัวของ 2 ฝ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้เปรียบดังพิธีกรรมที่เปลี่ยนผ่านสถานะ ‘โสด’ สู่ ‘การมีครอบครัว’
ตามความเชื่อดั้งเดิม การห้ามใช้ห้องน้ำเป็นเวลา 3 วัน ถือเป็นบททดสอบความอดทนต่อความยากลำบาก และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีของคู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน โดยหากคู่ไหนไม่ทำตามธรรมเนียมของชนเผ่า จะทำให้เกิดโชคร้ายมากมาย เช่น การหย่าร้าง การนอกใจ หรือการเสียชีวิตของคู่รักอีกฝ่าย หรือแม้แต่การเสียลูกตั้งแต่แบเบาะ
แต่ไม่ต้องเป็นห่วงว่าคู่แต่งงานจะใช้ชีวิตอย่างลำบาก เพราะมีหมายเหตุว่า พ่อแม่ญาติพี่น้องของบ่าวสาวจะคอยดูแลทั้ง 2 คนตลอดการทำพิธี รวมถึงจำกัดอาหารและน้ำ เพื่อให้สะดวกในการใช้ชีวิตมากขึ้น และเมื่อพิธีเสร็จสิ้น ทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ห้องน้ำและดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติ
ไทย: ขอขมา ‘ผี’ เพราะ ‘ได้เสีย’ กันก่อนแต่งงาน
แม้การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นเรื่องปกติของทุกวันนี้ ทว่าความเชื่อแบบไทยๆ อย่างหนึ่งคือการมีเพศสัมพันธ์ควรเกิดขึ้นหลังพิธีแต่งงานเท่านั้น เพื่อเป็นการรักษาพรหมจรรย์จนกว่าญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะรับรู้ด้วยกันว่า ทั้งสองเข้าพิธีอย่างถูกต้องแล้ว
แต่สำหรับภาคเหนือ ไม่ได้มีเพียง ‘ความเชื่อ’ อย่างเดียว หากแต่การมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน ถือว่าเป็นเรื่อง ‘ผิดผี’ ไม่ถูกต้องตามประเพณี ไม่เคารพผีบรรพบุรุษ ไม่เคารพปู่ย่าตายาย จึงต้องทำพิธีขอขมาและ ‘เสียผี’ ตามประเพณี
ทั้งนี้ ในบางบ้าน เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือมีญาติผู้ใหญ่เจ็บป่วย อาจมีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีลูกหลานที่อยู่กับแฟนแบบผิดผี กล่าวคือมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน และอาจถูกญาติผู้ใหญ่และผู้อาวุโสแนะนำให้ไปขอขมาผีก่อนจะเข้าพิธี
สำหรับพิธีขอขมาผี ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นผู้แจ้งให้ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวทราบ เพื่อเตรียมเครื่องไหว้และเครื่องขอขมา ประกอบไปด้วย
1. ดอกไม้ธูปเทียนตามกำหนดของการบูชาผีแต่ละตระกูล
2. เงินค่าใส่ผี
3. อาหารสำหรับเลี้ยงผี ได้แก่ เหล้าไห ไก่คู่ จิ้นลาบ (ลาบหมูหรือเนื้อ) แกงอ่อม ผลไม้ ขนมหวาน หมาก พลู และบางตระกูลอาจเลี้ยงหมูทั้งตัว
จากนั้น ผู้หญิงที่อาวุโสที่สุดในบรรดาญาติพี่น้องจะนำเครื่องสักการะไปบูชาผีปู่ย่า พร้อมกับบอกว่า
“บัดนี้ นาย… นางสาว… ได้ผิดจารีตประเพณี ขอผีปู่ผีย่าจงอภัยหื้อแก่เขา อย่าได้มีโทษต่อไป และขอให้นาย… มาเป็นลูกหลานในครัวเรือน ขอปู่ย่า ตายาย คุ้มครองปกป้องเขาสืบไป”
ระหว่างนั้น เมื่อธูปเทียนสักการะหมดดอก ก็จะนำเอาเครื่องเซ่นสังเวยมากินกันในเครือญาติ โดยระหว่างลาของเซ่นไหว้ก็จะนำข้าวสารขึ้นมา หากนับได้เลขคี่แสดงว่า ผีปู่ย่ายังคงกินเครื่องสังเวย ต้องหยิบข้าวสารได้เลขคู่แสดงว่า ผีปู่ย่าอิ่มแล้ว
หากแต่งงานแบบผิดผีเสร็จสิ้น ทำพิธีไหว้ผีเสร็จ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเดินทางเข้ามาอยู่บ้านเจ้าสาว โดยจะนำถุงผ้าที่ใส่เสื้อผ้า เงินทอง และของมีค่า เดินสะพายดาบเข้ามาบ้านผู้หญิง จากนั้นนำถุงผ้าและดาบแขวนไว้ที่หัวนอน จึงจะแยกออกไปอยู่บ้านใหม่ได้
Tags: เคนยา, สมรสเท่าเทียม, LGBTQIA+, Love Right(s) Here, พิธีสมรสแปลก, Feature, อินเดีย, ไทย, อินโดนีเซีย