“เมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้”
เสียงของชายรายหนึ่งดังขึ้น ขณะที่รถแล่นผ่านสะพานแห่งหนึ่งในอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ใต้สะพานมีลำน้ำสายหนึ่งไหลเอื่อย
สีหน้าสะท้อนถึงความ ‘ไม่เคยชิน’ จากเจ้าของเสียงกับภาพที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งอาจแทนความรู้สึกเดียวกันนี้กับชาวพัทลุงหลายคน ที่ผ่านมาบนถนนเส้นเดียวกันพร้อมกับการต้อนรับจาก ‘คลองลายพัน’
คลองลายพัน หรือคลองใหญ่ลายพันตามการเรียกขานของคนท้องถิ่น เดิมมีลักษณะเป็นธารน้ำธรรมชาติ ต้นน้ำไหลจากเทือกเขาบรรทัดไล่มาตั้งแต่คลองทรายขาวจนถึงคลองลายพัน พาดผ่านพื้นที่อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง
ด้วยแนวคลองมีสภาพคดเคี้ยว จึงเกิดการทับถมของตะกอน ทราย และแร่ธาตุจากเทือกเขาสูง ยังผลให้ริมคลองอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ เห็นได้จากต้นไม้ใหญ่อายุหลายร้อยปีที่แตกกิ่งก้านอยู่ริมฝั่ง ทั้งหยั่งรากลึกใต้ผิวน้ำ เป็นทั้งที่วางไข่ และแหล่งอนุบาลปลาหลายสายพันธุ์
ความอุดมสมบูรณ์นี้ทำให้คลองธรรมชาติลายพัน กลายเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน ทั้งจับสัตว์น้ำ เก็บพืชผักมาต่อยอดรายได้เลี้ยงชีพตนและครอบครัว ทั้งยังเป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่กันทางน้ำในอดีตของคนท้องถิ่น
ทว่าคลองลายพันในวันนี้กลับเงียบเชียบ ไร้ฝูงปลา ไร้เสียงจอแจนับแต่การเข้ามาของโครงการขุดลอกคลองโดยกรมชลประทาน จังหวัดพัทลุง เพื่อการแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่โดยรอบ และเมื่อโครงการรุกคืบเข้ามาใกล้คลองลายพัน ธารน้ำธรรมชาติแห่งนี้ก็เสมือนเป็น ‘พื้นที่ต้องห้าม’ สำหรับวิถีเดิมของชาวบ้านริมคลอง
ร่มธรรม ขำนุรักษ์ ส.ส.จังหวัดพัทลุง ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยจากการไหลหลากของน้ำป่าบนเทือกเขาบรรทัด เพื่อเป็นช่องทางระบายน้ำไม่ให้ไหลบ่าท่วมหมู่บ้าน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
โครงการดังกล่าวประกอบด้วยการขุดลอกเพื่อเพิ่มความลึกของท้องคลอง ดาดปูนเสริมความแข็งแรงบริเวณผนังลาดชันริมตลิ่ง รวมทั้งตัดถนนความยาวกว่า 3 กิโลเมตร ทอดยาวขนานกันสองฝั่งคลองลายพัน
จุดที่น่าสนใจคือ กรมชลประทานดำเนินโครงการครั้งแรกเมื่อช่วงต้นในปี 2566 โดยแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567 แปลได้ว่า หากเดินทางไปยังคลองลายพัน ณ เวลานี้ เราจะสามารถมองเห็นความ ‘ใหม่เอี่ยม’ ของโครงการที่เพิ่งเสร็จสิ้น
แต่จากการลงพื้นที่สำรวจสภาพโดยทั่วไปของคลองลายพัน สิ่งที่พบกลับสวนทาง
หากเอาตามโครงการ บริเวณตลิ่งต้องมีการดาดปูนเพื่อให้ทนทานต่อกระแสน้ำ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ดาดปูนแล้วเสร็จ บ้างก็เป็นตลิ่งปูนสลับตลิ่งดิน ทั้งในจุดที่ดาดปูนเสร็จสิ้นแล้วยังมีสภาพชำรุดแตกหัก บ้างทรุดลงไปยังก้นตลิ่งไม่แตกต่างกับจุดที่เป็นตลิ่งดินธรรมดาซึ่งเริ่มทรุดตัวจากการชะล้างของน้ำฝนแล้วเช่นกัน
บริเวณริมฝั่งคลองที่ชลประทานวาดหวังให้เป็นเส้นทางสัญจรริมคลองลายพันทั้งสองฝั่ง บัดนี้กลายเป็นถนนดินแดงผิวขรุขระ มองผ่านๆ อาจเข้าใจได้ว่าถนนเส้นนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ทั้งยังมีขนาดเล็กแคบจนเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของรถตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ และหากถามถึงมาตรฐานความทนทานพร้อมใช้งาน อาจสังเกตได้จากหลักกิโลเมตรซึ่งปักลงดินเรียงรายอยู่ริมถนนคลองลายพันที่ไม่แข็งแรง
เป็นหลักฐานสำทับความ ‘ไม่สมบูรณ์’ ของโครงการที่มาจากความ ‘หวังดี’ ของหน่วยงานรัฐที่ต้องการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ทั้งยังสะท้อนถึงความใส่ใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการเพื่อประชาชน เห็นได้จากคุณภาพงานผ่านน้ำที่เหือดแห้ง และถนนที่ยังไม่แม้แต่จะลาดยาง
อาจเป็นเรื่องที่น่าเศร้าหากเราไม่พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นจากการถอนต้นไม้ริมคลองอายุหลายร้อยปีเพื่อเปิดหน้าดินทำถนนขนานคลอง และการขุดคลองที่ลึกกว่าเก่าส่งผลต่อชาวบ้านหลายครัวเรือนเผชิญกับปัญหาการใช้น้ำคลองสำหรับเกษตรกรรม เนื่องจากพื้นคลองอยู่ต่ำกว่าจุดซึมน้ำเข้าบ่อบาดาล
เมื่อไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านถวิลหาแต่แรกเริ่ม ก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามถึง ‘ความจำเป็น’ ในการดำเนินโครงการของกรมชลฯ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA (Environmental Impact Assessment) และการสอบถามความเห็นชอบของราษฎรผู้ใช้ชีวิตร่วมคลองว่า ‘เห็นด้วยหรือไม่’ หากกรมชลประทานจะแปรสภาพธารน้ำธรรมชาติ ที่พวกเขาเคยอยู่กินและเป็นเจ้าของร่วมกันมาอย่างยาวนาน
“อยู่ๆ ก็เข้ามาทำ”
เจ้าของเพจ ‘ว่าพรือ ทอนตรน’ เพจเฟซบุ๊กท้องถิ่นของหมู่บ้านทอนตรน อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง บอกกับเราถึงการเข้ามาของโครงการชลประทานระหว่างปี 2566-2567
“รัฐบาลไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่สำรวจผลกระทบต่อชาวบ้าน ไม่ทำอะไรเลย”
แม้จะมีข่าวการก่อสร้างคลองลายพันแว่วมาในช่วงระหว่างปี 2562-2563 แต่ในฐานะชาวบ้านที่อยู่กับพื้นที่ กลับไร้ความชัดเจนว่า ถึงที่สุดแล้วจะมีการขุดลอกคลองเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ทว่าเจ้าของเพจชาวพัทลุงรายนี้มองว่า ผู้ที่รับรู้และเห็นความชัดเจนของโครงการอาจเป็นเพียง ‘ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่’ เท่านั้น ขณะที่ชาวบ้านต่างรับรู้พร้อมกันจากการป่าวประกาศให้ไปรับไม้ที่ตัดจากโครงการ
“เขาตัดไม้ เเล้วมาบอกชาวบ้านทีหลัง ว่าให้ไปเอาไม้นะ” เจ้าของเพจว่าพรือ ทอนตรน ระบุ
น่าแปลกที่ยิ่งย้อนเวลากลับไปมากเท่าไรคลองลายพันก็ยิ่งดูสดสวย มีชีวิตชีวา เห็นได้จากภาพเก่าที่ชาวบ้านในพื้นที่เก็บเอาไว้ ภาพคลองที่ไร้ถนน ไร้การรบกวนจากผู้คน ธารน้ำที่กลมกลืนไปกับผืนป่าและหุบเขา ทว่าในวันนี้ภาพความสวยงามที่ปรากฏในภาพถ่ายคงเป็นได้เพียงตัวแทนความทรงจำยุค ‘รุ่งเรือง’ ของธารน้ำธรรมชาติแห่งนี้เท่านั้น
สิ่งที่ต้องตามต่อ คือโครงการเล็กใหญ่จากกรมชลประทานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จากการพูดคุยกับคนในพื้นที่ทราบว่า ยังมีโครงการอีกนับสิบโดยกรมชลประทานที่กำลังจะเกิด หรือเกิดขึ้นแล้วในจังหวัดพัทลุงเพียงจังหวัดเดียว ทั้งการสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำ ตามแนวเทือกเขาบรรทัดมากถึง 17 จุด
และห่างออกไปเพียง 24 กิโลเมตรจากคลองลายพัน ยังมีโครงการ ‘ขุดลอกคลอง’ ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นบริเวณ ‘คลองส้านแดง’ คลองธรรมชาติอีกแห่ง ที่สวยงามจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ‘อันซีน’ ของจังหวัดพัทลุง
หากประเมินด้วยสายตา โครงการจัดการน้ำชลประทานก็นับว่ามีปัญหา แม้การขุดลอก ถางป่าจะถูกระบุว่าทำไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่จากปากคำชาวบ้านยังคงยืนกรานชัด ว่า โครงการของรัฐกับการจัดการน้ำนั้นสร้างปัญหาตามมามากกว่าประโยชน์
อนึ่งคือการให้ชาวบ้าน ‘เสียสละ’ ที่ดินบางส่วนที่ใช้ทำกินให้กับรัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการคลองลายพัน เสียงจากชาวบ้านหลายคนพูดตรงกันว่า โครงการนี้ไร้การไถ่ถามความยินยอมจากชาวบ้านผู้อยู่กินในพื้นที่โครงการ
เป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินต้องกล้ำกลืนคำว่า ‘เสียสละ’ ตัดแบ่งที่ดินบางส่วนที่ใช้ทำกิน ทำที่หลับที่นอนมอบให้กับรัฐโดยไม่ได้รับค่าเวนคืน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเสียสละที่ดินของชาวบ้านให้โครงการของรัฐ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอบถามความยินยอมจากเจ้าของที่ดินก่อนเป็นสำคัญ
“เรามีดิน ที่ตัดผ่านเเถวๆ นั้น”
“สวนที่ตัดผ่านเเถวๆ คลองก็ไม่เวนคืนให้”
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของโครงการ กระทั่งโครงการเริ่มเดินหน้า จึงเป็นเรื่องน่าฉงนถึงการดำเนินการอย่าง ‘ลึกลับ’ ของโครงการ โดยที่ชาวบ้านแทบไม่เคยรู้มาก่อน ซ้ำยังได้รับผลกระทบอย่างหนักตามมาจากการก่อสร้าง
คำถามก็คือ แล้วช่วงเวลาไหนกัน ที่กรมชลประทานลงพื้นที่ขอความเห็นของผู้อยู่ริมคลอง นำมาซึ่งโครงการที่รุดหน้ามาจนถึงวันนี้
*หมายเหตุ: The Momentum พยายามติดต่อกับสำนักงานก่อสร้างขนาดกลางที่ 16 กรมชลประทาน เพื่อสอบถามถึงการได้มาซึ่งที่ดินของชาวบ้านบริเวณคลองลายพัน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้
Tags: น้ำ, พัทลุง, กรมชลประทาน, คลองลายพัน, คลองส้านแดง, คลองโหล๊ะจันกระ, รัฐบาล, Feature, Environment