“การบำบัดสารเสพติด วิธีที่ดีที่สุดต้องเริ่มจาก ‘หัวใจ’ และรับผิดชอบด้วย ‘การกระทำ’ ที่ตั้งมั่นว่าไม่กลับไปพึ่งสิ่งเหล่านี้อีก” 

แม้ปัจจุบัน สถานการณ์ยาเสพติดในบ้านเราอาจดูเงียบหายไปบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าใต้ผืนเสื่อจะไม่มีฝุ่น โดยเฉพาะในห้วงยามที่มีการปลดล็อก ‘กัญชา’ และ ‘พืชกระท่อม’ ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 เป็นที่เรียบร้อย 

ข้อกฎหมายดังกล่าวนี้ จะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันมากถึงขอบเขตของการนำกัญชาและพืชกระท่อมออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเศรษฐกิจหรือสันทนาการก็ตาม อาจเรียกได้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมที่แน่นพอ หลายคนจึงเรียกสภาวะนี้ว่า ‘สุญญากาศ’ 

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ความกังวลว่า หากปลดล็อกได้อย่างเสรี ทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ใช้กัญชาหรือกระท่อมในจำนวนที่เพิ่มขึ้น และจะมีจำนวนผู้ใช้สารเหล่านี้ในช่วงอายุน้อยลงเรื่อยๆ หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ‘สถานที่พักฟื้นบำบัด’ คงเนืองแน่นไปด้วยผู้บำบัด ทั้งผู้บำบัดเก่าที่มาจากสารเสพติดอื่นๆ รวมถึงผู้บำบัดกัญชาและกระท่อม

6 ทศวรรษของการบำบัดยาเสพติด ‘วัดถ้ำกระบอก’

หลายคนอาจรู้จักวัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี จากวรรณกรรมหรือภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ ‘การบำบัดยาเสพติด’ แต่ทราบหรือไม่ว่า วัดถ้ำกระบอกได้เปิดเป็น ‘สถานที่พักฟื้น’ และบำบัดรักษายาเสพติดมายาวนานตั้งแต่ช่วงปี 2500

ย้อนกลับไปในขณะนั้น ที่นี่ยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก โดยมีหลวงพ่อใหญ่ พระอาจารย์จำรูญ โสรัจกัสสปะ (ปานจันทร์) และพระอาจารย์เจริญ ฐิตจิตโต (ปานจันทร์) เป็นผู้ก่อตั้ง

“สมัยนั้นชาวบ้านทั่วไปติดฝิ่นกันงอมแงม เรียกว่าถ้าเดินพ้นแปลงข้าวไป ที่เหลือก็เป็นแปลงฝิ่น หาสูบได้ง่ายชนิดซื้อขายเป็นเรื่องปกติ” พระครูองอาจ ศุภมงคล เล่าให้ฟังในขณะเดินเข้าไปยังสถานพักฟื้นภายในวัดถ้ำกระบอก

จนกระทั่งปี 2502 ในยุคของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการร่างคำสั่งและอำนาจอันเด็ดขาดจากมาตรา 17 ในการใช้กำราบและจัดการปัญหาต่างๆ ได้โดยทันที แน่นอนว่าปัญหายาเสพติดคือหนึ่งในนั้น 

การกวาดล้างยาเสพติดมีขึ้นอย่างเด็ดขาดพร้อมกับการประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากไม่มีใครอยากถูกดำเนินคดี จึงเดินทางหันหน้าพึ่งวัดเพื่อจะใช้ธรรมะในการหักห้ามใจไม่ไปยุ่งกับฝิ่นอีก แต่ช่วงแรกปรากฏว่าธรรมะอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำต้องใช้อย่างอื่นช่วยในการบำบัด ซึ่งเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาคือ ‘ยาตัด’ ซึ่งทำมาจากสมุนไพรมากกว่า 10 ชนิด

“ชาวบ้านเริ่มเล่ากันปากต่อปาก ทำให้ผู้คนในจังหวัดอื่นๆ เริ่มเดินทางเข้ามารับการบำบัดฝิ่น จนในที่สุด จอมพลสฤษดิ์ได้ยิน เขาจึงคิดว่าเป็นการดีที่มีสถานที่บำบัด จึงให้ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้จัดการซื้อที่ดินและสร้างอาคารบำบัดยาเสพติดถวาย”

อย่างไรก็ดี คณะสงฆ์วัดถ้ำกระบอกได้ดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดด้วย ‘สมุนไพร’ และ ‘ธรรมะ’ เรื่อยมาจนปี 2523 จึงได้รับอนุญาตให้เป็นสถานพยาบาลบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้โทษเฉพาะในแบบผู้ป่วยในชื่อว่า ‘สถานพักฟื้นถ้ำกระบอก’ 

หลังฟังเรื่องราวจบ เป็นขณะเดียวกันกับที่เสียงเพลงและดนตรีแว่วมา ประหนึ่งว่าเรากำลังอยู่ในงานกีฬาสีที่มีการร้องรำทำเพลง แต่ภาพตรงหน้ากลับไม่ใช่ เพราะทั้งหมดคือผู้ที่มาเข้ารับการบำบัดในชุดสีแดงและขาวนั่งเรียงรายอยู่หน้ารางระบายน้ำ เพื่อทำการขจัดพิษจากยาเสพติดออกจากร่างกาย

‘อะไรที่มากเกินไปย่อมไม่มีทางดี’ และสถานการณ์ ‘ยาเสพติด’ ในปัจจุบัน

จากรายงานการปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2565 พบว่า ผู้ใช้ยาเสพติดทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 ทั่วโลกมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 275 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรโลก และตัวเลขยังเผยว่า ผู้เสพมีอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วง 20 ปีให้หลัง

“พระอาจารย์เคยรับผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดเข้ามาบำบัดอายุเท่าไร” เราถามไปยังพระอาจารย์ ซึ่งกำลังเปิดประตูรั้วเหล็กสีน้ำเงินที่ข้างบนเขียนว่า ‘สถานที่พักฟื้น’ ห้ามบุคคลภายนอกเข้า 

“น้อยสุดเท่าที่จำได้คืออายุประมาณ 12 ขวบ มาด้วยอาการติดยาเสพติด พ่อแม่พามาส่ง ซึ่งช่วงหลังๆ เด็กอายุประมาณนี้ก็วนเวียนเข้ามาเรื่อยๆ ทางวัดต้องดูเป็นกรณีไปว่าสามารถรับได้หรือไม่ เพราะบางทีผู้ป่วยบำบัดที่ยังเด็ก ใจเขายังไม่เด็ดขาดพอ เมื่อกลับออกไปก็วนเวียนอยู่ในวงจรยาเสพติดเหมือนเดิม จึงเสียเวลาเปล่าๆ หากเข้ามาที่นี่”

ทั้งนี้ รายงานยังบอกอีกว่า ยาเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุดคือกัญชา จำนวน 192 ล้านคน รองลงมาคือกลุ่มโอปิออยด์ จำนวน 58 ล้านคน แอมเฟตามีนและอื่นๆ จำนวน 27 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากระบบการบำบัดรักษายาเสพติด (บสต.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เผยว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดมากกว่า 1.5 แสนราย โดยยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด คือยาบ้า (ร้อยละ 79.2) รองลงมาคือไอซ์ (ร้อยละ 8.3) ถัดมาคือ กัญชา (ร้อยละ 4.4) และเฮโรอีน (ร้อยละ 3.3)

“คนที่เข้ามาที่นี่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ติดยาบ้า รองลงมาคือเฮโรอีน กัญชา น้ำกระท่อม ส่วนสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบันมีมากขึ้น เพราะราคายาเสพติดถูกลงกว่าเมื่อก่อน และหาซื้อได้ง่ายมากขึ้น”

เมื่อลองสอบถามพระอาจารย์ถึงมุมมองต่อการปลดล็อกกัญชา-กระท่อม ท่านแสดงความเห็นว่า มีความกังวล

“การปลดล็อกกัญชา กระท่อม กลายเป็นสิ่งที่สาธารณสุขต้องมารับผิดชอบผู้ที่ใช้เกินขนาด คือทางการแพทย์ สมุนไพรเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง ก็ย่อมต้องสนับสนุน แต่พอพูดว่ากัญชาเสรี บรรดานักการเมืองที่ปล่อยให้เกิดขึ้นอาจจะดีใจที่สามารถทำได้ เพราะคิดว่าเป็นการเรียกคะแนนเสียง แต่อาจไม่รับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งชาวบ้านที่เขาต้องเผชิญปัญหาลูกหลานเสพยาเสพติดอยู่แล้ว อาจต้องรับมือกับกัญชาอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่

“กัญชาเป็นยาเสพติดแน่นอน เพราะเห็นกันอยู่ว่าคนที่ใช้สันทนาการมีผลอย่างไร ในทางวิทยาศาสตร์มีกัญชาสายพันธ์ุต่างๆ ที่ให้ผลมากมาย แยกเป็นทั้ง THC และ CBD แต่ประเด็นคือชาวบ้านที่เขาใช้ เขาไม่ได้มีเงินมากมายไปซื้อสายพันธ์ุเช่นนั้น มีแต่ที่ทำให้เมามายติดกันไปหลายบ้าน ซ้ำร้ายยังผสมในอาหาร ไม่ผ่านการตรวจ ทั้งทำลายสุขภาพและทำลายสมองไปพร้อมกัน

“สิ่งเดียวที่อยากจะขอ คือต้องมีการควบคุมที่ดีและเข้มงวดกว่านี้ ไม่ใช่จะให้ใครก็ได้หรือแม้แต่เด็กๆ เข้าถึงกัญชาได้โดยง่ายอย่างที่เป็น”

พระอาจารย์ยังเล่าอีกว่า ปัญหาในปัจจุบันไม่ใช่เพียงสารเสพติดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปัญหาเรื่องการติด ‘สุรา’

“สุราก็เป็นปัญหาใหญ่เหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งนำไปสู่สารเสพติดอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ การดื่มสุราดูเหมือนจะไม่มีพิษภัย แต่ในความเป็นจริงเป็นพิษที่สะสม คนดื่มรู้ตัวอีกทีก็เป็นหลายโรค การจะเลิกสุราถือเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในบรรดาทั้งหมด”

สุดท้ายพระอาจารย์ยังกล่าวว่า‘อะไรที่มากเกินไปย่อมไม่มีทางดี’ 

 5 วันแรกมีความ ‘ความตั้งใจ’ เป็นที่ตั้ง

หลังจากเข้ามาภายใน ‘สถานพักฟื้น’ ซึ่งเต็มไปด้วยชายหญิงในชุดสีขาวและสีแดง บ้างกำลังร้องเพลง ตีกลอง ให้กำลังใจแก่อีกส่วนที่กำลังเรียงรายหน้ารางน้ำขนาดใหญ่ พร้อมด้วยขันน้ำส่วนตัวและถังใส่น้ำ

พระสมพล ไตรทิพย์บวร เลขาสถานพักฟื้นฯ อธิบายว่าผู้ที่เข้ามาช่วง 5 วันแรกจะใส่ชุดสีขาว ส่วนผู้หญิงจะใส่สีแดงตลอด ส่วนหนึ่งเพื่อการจำแนกว่าใครอยู่ในช่วงการกินยาขับล้างพิษ ซึ่งผู้ที่เข้ามาบำบัดทุกคนต้องกิน

เสียงร้องรำทำเพลงดังไปทั่ววัด หลายบทเพลงที่ร้องมีท่วงทำนองในการสอนใช้ชีวิต หรือการให้เลิกยาเสพติดเป็นต้น เช่น เพลง ‘เลิกให้ได้’

“คราวนี้ต้องเลิกให้ได้ ถ้าเลิกไม่ได้ต้องตายแน่ๆ เลิกเสพติดเสียทีดีแท้ ติดไปจนแก่จะแย่สักวัน…” 

ขณะที่ด้านหนึ่งกำลังร้องรำทำเพลง อีกด้านหนึ่งก็กำลังดื่มยาที่มีพระอาจารย์คอยป้อนให้ เมื่อดื่มไปได้ไม่นานผู้บำบัดจะเริ่มมีอาการร้อนและเริ่ม ‘อาเจียน’ เพื่อขับสารพิษจากยาเสพติดและสิ่งปฏิกูลในร่างกายออกมา ทั้งนี้ จึงต้องมีการร้องเพลงเพื่อส่ง ‘กำลังใจ’ ในขณะเดียวกันก็เป็นการกลบเสียงไม่ให้เพื่อนที่กำลังดื่มยาขับพิษต้องอับอายจากเสียงดังกล่าว

“ที่นี่รับบำบัดผู้ติดยาเสพติดคนละ 15 วัน แต่หากใครอยากอยู่ต่อเพราะรู้ว่ายังไม่สามารถหันออกจากยาเสพติดได้ ก็สามารถอยู่ต่อได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการบำบัด แต่มีค่าใช้จ่ายเดียวคือเรื่องของอาหาร ที่ต้องให้ผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบ”

ปัจจุบัน สถานพักฟื้นรองรับคนไข้ 80 คน โดยในแต่ละวันต่างมีรถเข้าออกมาส่งผู้บำบัดไม่ขาดสายจำนวน 1-3 คนแล้วแต่วัน ถ้านับรวมเดือนหนึ่งอาจอยู่ที่ 200-300 คน ตก 1 ปีเฉลี่ยประมาณ 2-3 พันคน แต่พระอาจารย์เล่าว่า บางปีเคยมีถึงหมื่นคนมาแล้ว

“ปกติผู้ปกครองพามาประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ มี 1 เปอร์เซ็นต์ที่มาเอง ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่พามา ผู้ป่วยที่มาบางคนอาจจะมีอาการทางประสาทหรือได้รับสารเสพติดมากจนเกินไป ทำให้คลุ้มคลั่ง เราเข้าใจในความเป็นมนุษย์ แต่ต้องมีวิธีเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เขาออกมาอาละวาดทำร้ายผู้บำบัดและพระคนอื่นๆ ในวัดได้ แต่หากอาการหนักจริงๆ อาจจะต้องให้ผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่พาไปยังโรงพยาบาล เพื่อช่วยเหลือและรักษาในขั้นต่อไป” พระสมพลอธิบายเสริม

หลังจากพ้น 5 วันแรก ที่เหลือก็เป็นการขัดเกลาจิตใจ โดยการใช้ธรรมะ และมีการอบสมุนไพร เพื่อขับล้างพิษที่เหลือตามสมควร

พระอาจารย์เล่าว่า ช่วงเวลา 15 วันแรกไม่ต่างจากการหักดิบ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการบำบัดต้องใช้พลังกายและพลังใจจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่ต้องคัดเป็นกรณีสำหรับผู้ป่วยที่มีเจตนามาเพื่อ ‘เลิก’ จริงๆ เท่านั้น

“พ่อแม่อยากให้อยู่เป็นปี แต่เรามองว่าไม่ใช่ สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้เขารู้จักใช้ชีวิต หลังจากหันออกจากยาเสพติดได้ เขาต้องทำงานที่ดี มีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ ไม่หลงไปมัวเมากับยาเสพติดอีก ไม่เป็นภาระต่อครอบครัว สังคม และที่สำคัญคือตัวเอง”

‘สัจจะ’ และ  ‘ธรรมะ’ หัวใจห้องสำคัญ

คำว่า ‘สัจจะ’ [สัด สัดจะ] ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า เป็นความจริง หรือความจริงใจ และอีกความหมายคือการรักษาคำมั่น ที่มักจะมาพร้อมกับคำว่า สัจจะวาจา

“การรักษาเริ่มต้นคือการต้องเข้ารับรักษา ‘สัจจะ’ เป็นการภาวนาและรักษาคำมั่นว่าจะไม่สูบ ไม่เสพยาเสพติดทุกชนิดตลอดชีวิต สัจจะต้องอยู่กับตัวตลอด นี่เป็นขั้นตอนแรก”

เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยหันกลับไปใช้ยาเสพติดอีก จะต้องให้รับสัจจะก่อนเข้ารับการบำบัดพักฟื้นในเรือนบำบัด โดยมีพระผู้ให้สัจจะอธิบายเรื่องสัจจะที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษให้ทราบจนเป็นที่เข้าใจ และให้ถวายสัจจะต่อหน้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

‘จะไม่สูบ ไม่เสพฝิ่น เฮโรอีน มอร์ฟีน กัญชา กระท่อม ผงขาว ยาเม็ด และยาเสพติดทุกชนิด ตลอดชีวิต’ สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอื่น จะให้สัจจะกับสิ่งที่เขาเชื่อถือเช่นเดียวกัน

ส่วนการสอนธรรมะก็เป็นการเรียนรู้ควบคู่กันไป คือการสอนให้รู้จักบาปบุญคุณและโทษ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือบอกให้ผู้ป่วยรู้ว่าการที่เข้ามาพัวพันกับยาเสพติด คนที่เสียใจที่สุดจะไม่ใช่ใครอื่นนอกจากตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

“มีบางคนหลังเลิกจากยาเสพติดก็หันหน้าเข้าทางธรรม บวชเป็นพระตลอดชีวิต และยังช่วยเหลือกลับมาดูแลผู้เข้ารับการบำบัดคนอื่นๆ ตอนนี้ก็มีพระกว่า 10 รูป ที่เป็นพระพี่เลี้ยง หลายคนก็มาจากการเป็นผู้เสพยามาก่อน แต่เขากลับตัวและรอดพ้นจากยาเสพติดหมดแล้ว

“ปัญหาเรื่องยาเสพติดที่พบบ่อยมากที่สุดของเรือนจำ คือหลังจากออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เขายังวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เราอาจต้องเข้าใจว่า คนที่ใช้ชีวิตเช่นนี้ เขาเป็นคนที่เหมือนแบกความทุกข์ ความผิดหวัง ความผิดมากมายไว้ในหัวใจ เมื่อเขาออกไปเจอกับสังคมที่ไม่ต้อนรับ แต่กลับไล่เขา สิ่งเดียวที่เขาหันกลับไปพึ่งได้ คือเพื่อนในวงจรเดิมๆ

“หลายที่สอนกันมากมายเรื่องธรรมมะ แต่อาจารย์คิดว่า สิ่งหนึ่งที่คนเราจำเป็นต้องมี ซึ่งอาจจะพอๆ กับธรรมมะ คือความเข้าใจ ‘ความเป็นมนุษย์’ เห็นใจเพื่อนร่วมโลก ถ้าเขาเห็นตรงนี้ ปัญหาการวนเวียนกลับไปของผู้ใช้สารเสพติดจะลดน้อยลง ลองให้โอกาส เปิดหัวใจ ก็จะรับรู้ว่าพวกเขาไม่ต่างจากทุกคนบนโลกใบนี้ที่พร้อมจะกลับตัวกลับใจ ดังนั้น ทั้งธรรมะและสัจจะจึงเป็นสิ่งที่เราให้เขายึดถืออยู่ตลอดเวลา”

‘สมุนไพร’ คือหัวใจห้องต่อมา 

ภาพจำหนึ่งที่อาจคุ้นตาเมื่อนึกถึงสถานที่แห่งนี้ คือการดื่ม ‘ยาตัด’ หรือชื่อเต็มที่พระอาจารย์เรียกว่า ‘ยาตัดกรรม’ เป็นเวลา 5 วัน โดยยาดังกล่าวทำจากสมุนไพรมากกว่า 10 ชนิด ซึ่งเป็นส่วนผสมจากธรรมชาติทั้งสิ้น

หนึ่งในผู้เข้ารับการบำบัดเล่าว่า หลังจากดื่มไปสักพักร่างกายจะร้อนผ่าวและจะมีการอึนๆ เริ่มมวนท้อง ในที่สุดก็จะ ‘อาเจียน’ ออกมา สิ่งสำคัญคือต้องเอาสารพิษในร่างกายออกมาให้หมด ไม่เช่นนั้นจะมีอาการปวดหัวตามมา แต่หากขับจนหมดจะรู้สึกโล่งและสบายทันที

“เมื่อดื่มยาตัด อาการจะร้อนไล่ขึ้นมาเลยจากท้อง คอ จนถึงศีรษะ ร่างกายจะทำงานอัตโนมัติให้ขับสารพิษออกมา ยิ่งดื่มน้ำตามเยอะๆ สารพิษในร่างกายยิ่งออกมาได้ง่าย แรกๆ ผมก็ไม่เชื่อที่เขาบอกว่าจะสบาย แต่พอผมทำจริงๆ ช่วงแรกจะเหนื่อยมาก ไม่สามารถทำอะไรได้ต่อเลย แต่เมื่อขับเสร็จ เหมือนร่างกายจะเบา หลับได้เลย”

พระสมพลกล่าวว่า ช่วง 5 วันแรกเป็นวันที่พระพี่เลี้ยงต้องคอยประกบและติดตามอย่างดี เนื่องจากการดื่มยาตัด เป็นการใช้พลังที่ค่อนข้างมาก จึงต้องเข้มงวดและดูแลเป็นพิเศษ

การช่วยเหลือหลังพ้น 5 วันแรก พระจะให้ผู้ป่วยไปเข้าแถวอบยาสมุนไพรทุกวัน ส่วนยาประจำเตาอบ คือตะไคร้ ละหุ่ง ผักบุ้ง และหญ้าคา ซึ่งการอบตัวจะช่วยลดความตึงเครียดของร่างกายและประสาท พร้อมขับพิษที่เหลืออยู่ออกไปทางผิวหนัง หลังจากนั้นจะให้ผู้บำบัดไปอาบน้ำพักผ่อน ร่างกายก็จะสดชื่นขึ้น และเริ่มมีกำลังฟื้นตัวอีกครั้ง

จึงอาจสรุปได้ว่า ‘สัจจะ – ธรรมะ’ เป็นครึ่งหนึ่งของการบำบัด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือ ‘ยาสมุนไพร’ 

หัวใจห้องสุดท้ายต้องพึ่งทั้ง ‘กำลังใจ’ และ ‘คำสัญญา’ 

“ความรู้สึกของผมในช่วง 5 วันแรก คือคิดถึงครอบครัว ส่วนตอนนี้อยากตั้งใจตัดขาดและเลิกให้ได้จริงๆ เพราะเราอายุเยอะแล้ว” ชายวัยกลางคน ผู้เดินทางมาจากจังหวัดศรีสะเกษเพื่อรับเข้าการรักษาและบำบัดกล่าว

นอกจากนี้ ในเวลาว่าง เขาจะจดความรู้สึกและทุกสิ่งที่เจอในระหว่างที่อยู่ในการบำบัดลงไปในสมุดจดบันทึก เพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนใจตนเอง และเล่าให้ลูกหลานฟังถึงผลข้างเคียงและความอันตรายของยาเสพติด

“ผมมองว่าการตัดให้ขาดจากยาเสพติด นอกจากจะใช้ สัจจะ ธรรมะ และสมุนไพร อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือกำลังใจจากเพื่อนๆ ที่อยู่ร่วมกันในการบำบัด รวมถึงกำลังใจจากคนในครอบครัว แม้เราอาจไม่ได้เจอกัน 15 วันเป็นอย่างน้อย แต่ผมเชื่อว่าเขาก็ส่งกำลังใจให้ผมอยู่ตลอดเวลา

“หลังจากออกไป ผมจะเปลี่ยนบุคลิก เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง และตั้งใจว่าหลังออกไปจะนำสมุดบันทึกให้ภรรยาและแม่ได้อ่านเป็นคนแรก และบอกว่าผมรักพวกเขามาก ครั้งหนึ่งตาผมอาจมืดบอดหลงไปกับความสุขชั่วคราว ทุกวันนี้ผมถามตัวเองเสมอ พอแล้วหรือยังกับการที่คนที่เรารักต้องมาเสียน้ำตา ผมรู้ตัวว่าอาจอยู่ไม่ได้นานเพราะโรคต่างๆ ที่รุมเร้า แต่ผมอยากใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อดูแลคนที่รัก ดีกว่าให้พวกเขาต้องมาเสียใจเพราะผม” 

เขาเล่าพร้อมน้ำตาที่เริ่มเอ่อล้น แม้อาจไม่รู้ว่าในใจของเขาคิดอะไร แต่เราเชื่ออย่างสนิทใจว่าคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าตอนนี้มีกำลังใจและความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยมที่จะหันหลังให้กับยาเสพติดอย่างแท้จริง

ก่อนที่เขาจะกลับไปพื้นที่พักผ่อน เขาบอกกับเราว่า เมื่อออกไปแล้ว เขาสัญญาว่าจะไม่กลับมาอีก ไม่ว่าหนทางเดินข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เขาจะไม่ยุ่งกับสิ่งเสพติดอีกเป็นอันขาด

ท้ายที่สุด พระอาจารย์กล่าวกับเราก่อนที่จะกลับออกจากสถานพักฟื้นว่า “การบำบัดสารเสพติด วิธีที่ดีที่สุดต้องเริ่มจาก ‘หัวใจ’ และรับผิดชอบด้วย ‘การกระทำ’ ที่ตั้งมั่นว่าจะไม่กลับไปพึ่งสิ่งเหล่านี้อีก”  

และแน่นอนว่าสิ่งที่พระอาจารย์กล่าว นั่นคือหน้าที่ของ ‘คำสัญญา’

ข้อมูลอ้างอิง

– แผนปฏิบัติการดานการปองกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2565 สํานักงานคณะกรรมการปองกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม

– การบรรยาย ‘สถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบัน และแผนปฏิบัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะ 20 ปี’ โดย ศิริสุข ยืนหาญ ผู้อำนวยการส่วนคณะกรรมการระดับนโยบาย (สำนักยุทธศาสตร์) สำนักงาน ป.ป.ส.

Tags: , ,