‘รถไต่ถัง’ เกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา พัฒนามาจากการแข่งขันรถบนกระดาน (Board Track Racing) เป็นกีฬามอเตอร์สปอร์ตประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1910-1920 โดยการแข่งขันในประเภทรถจักรยานยนต์เรียกว่ามอเตอร์โดรม ในเวลาต่อมาจึงดัดแปลงและพัฒนาเป็นการแข่งขันในประเภทต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ‘กำแพงแห่งความตาย’ (Wall of Death)
กำแพงแห่งความตายเป็นการแสดงโชว์ผาดโผนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่สวนสนุกเคลื่อนที่ ใช้เวลาไม่นานก็กลายเป็นการแสดงหลักในอุตสาหกรรมความบันเทิงช่วงทศวรรษ 1930
เมื่ออุตสาหกรรมเครื่องเล่นและสวนสนุกเคลื่อนที่เข้ามาในประเทศไทย กำแพงแห่งความตายจึงเริ่มมีบทบาทในฐานะการแสดงโชว์ ด้วยลีลาการขับขี่ที่ตื่นเต้นและน่าหวาดเสียว ท้าทายหัวใจผู้ชม ทำให้การแสดงนี้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างมาก และถูกเรียกในชื่อรถไต่ถัง จากลักษณะของโดมที่คล้ายถังไม้
ปัจจุบันรถไต่ถังได้รับความนิยมลดลง สืบเนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องเล่นและสวนสนุกเคลื่อนที่ซบเซา อาทิ งานเทศกาลประจำปีและงานวัด ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การแสดงรถไต่ถังหาดูยาก และอาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใกล้จะเลือนหาย
The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ ตุ๋ย-วรวุฒิ กัลยาณพันธ์ หรือฉายา ‘วรวุฒิ กระดูกเหล็ก’ เจ้าของกิจการรถไต่ถัง ที่เหลือเพียงไม่กี่คณะในประเทศไทย ถึงจุดเริ่มต้นในการเลือกมาขับรถไต่ถัง และอนาคตของการแสดงโชว์นี้
วรวุฒิกล่าวว่าแต่เดิมครอบครัวของเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องเล่นในงานวัดและงานเทศกาล ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งถึงรุ่นพ่อได้สร้างถังไม้สำหรับรถไต่ถังขึ้นมา ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 15 ปี มองเห็นว่าพ่อของตนต้องคอยจ้างคนอื่นมาขับ ทำให้บางวันต้องเสียรายได้ เขาจึงเริ่มเรียนรู้และฝึกฝนการขับรถไต่ถังเพื่อช่วยกิจการของพ่อ ถ้านับเวลาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ก็เป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว ที่วรวุฒิใช้ชีวิตโลดโผนเสี่ยงตายโดยไม่เคยหยุดพัก
ก่อนหน้านี้การแสดงรถไต่ถังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ในยุคที่สื่อออนไลน์มีบทบาทในการใช้ชีวิตของผู้คน การเข้าถึงการแสดงโชว์ที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ สามารถหาดูได้ตามอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาดูตามงานวัด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ส่งผลให้ผู้ที่ประกอบอาชีพรถไต่ถังมีจำนวนน้อยลง
วรวุฒิยังเผยอีกว่าทุกวันนี้เปิดการแสดงไม่ได้มีกำไร มีแต่เท่าตัวหรือติดลบ เพราะค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขนย้ายและติดตั้งอุปกรณ์ต้องใช้เงินหลักแสนบาท รวมถึงค่าจ้างพนักงานหลายสิบคน ในขณะที่ผู้ชมในแต่ละวันไม่สามารถคาดเดาได้ บางวันคนเยอะ บางวันไม่มีคนเลย แต่ที่ยังคงทำอยู่ เพราะต้องการอนุรักษ์สิ่งที่พ่อของเขาได้สร้างไว้ ทุกครั้งที่วรวุฒิมองไปที่โดมรถไต่ถัง เขาไม่ได้เห็นแผ่นไม้เก่าหรือเหล็กที่ผุพัง แต่เขาเห็นน้ำพักน้ำแรงของพ่อบนไม้ทุกแผ่น บนเหล็กทุกเส้น รวมถึงในรถมอเตอร์ไซค์ทุกคันที่ขับวนอยู่ในนั้น
สิ่งที่วรวุฒิทำอาจกล่าวได้ว่าเป็นความรักสุดแสนอันตราย ก่อนการแสดงโชว์ทุกครั้ง เขาต้องตรวจเช็กอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา เพื่อเป็นความสบายใจระหว่างการแสดง เพราะทุกครั้งที่โชว์ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ โดยการแสดงแต่ละครั้งเขาต้องใช้เวลาหลายนาทีในการทรงตัวขับรถอยู่บนโครงเหล็กที่ปูด้วยแผ่นไม้ แลกกับเงิน 50 บาท ในการชมต่อรอบ ซึ่งในแต่ละวันเปิดทำการแสดงเพียง 15 รอบเท่านั้น
เมื่อพูดถึงความยากในการทำงาน วรวุฒิกล่าวว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการขับรถไต่ถังคือ ‘ความกล้า’ ถ้ากล้าที่จะขับ กล้าที่จะเจ็บ กล้าที่จะเสี่ยง ทุกคนสามารถทำได้ และเขาพร้อมที่จะสอนให้กับผู้คนที่อยากเรียนรู้ศาสตร์นี้
อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการที่รถไต่ถังจะกลับมาโลดแล่นได้อีกครั้งนั้นเป็นเรื่องยาก ซึ่งวรวุฒิเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี
“ผมคิดว่าคงทำรถไต่ถังต่อไปอีกไม่เกิน 4-5 ปี ไม่ใช่แค่เรื่องของความนิยม แต่สุขภาพของผมก็แย่ลงมาก” วรวุฒิกล่าวขณะพูดคุยถึงเรื่องความเป็นไปได้ที่รถไต่ถังจะกลับมาเป็นที่นิยม และชีวิตต่อจากนี้บนเส้นทางนักแสดงโชว์รถไต่ถังของเขา
สถานะของ ‘รถไต่ถัง’ ในตอนนี้ไม่ต่างกับโบราณสถานที่ผุพัง วัฒนธรรมที่เลือนหาย นกสายพันธุ์สุดท้ายที่ใกล้จะสาบสูญ เราทำได้เพียงจำนนต่อยุคสมัย ว่าทุกการเปลี่ยนแปลงมีสิ่งที่หล่นหายเสมอ ในฐานะของผู้ชม เราทำได้เพียงจดจำเท่านั้น ว่าครั้งหนึ่งเคยมีการแสดงโชว์ผาดโผนเร้าใจ ที่ท้าทายทั้งคนแสดงและคนดู แบบ ‘รถไต่ถัง’
Tags: รถไต่ถัง, Wall of Death, กระบะไต่ถัง, วรวุฒิ กระดูกเหล็ก, Feature