ภายในงาน Bangkok International Fashion Week 2024 (BIFW 2024) ที่ผ่านมา มีแบรนด์เสื้อผ้าของไทยหลายแบรนด์ที่โดดเด่นน่าจับตามอง หนึ่งในนั้นคือ Vickteerut แบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงดีไซน์ที่เรียบแต่น่าดึงดูด แม้คนส่วนใหญ่รู้จัก Vickteerut ในฐานะเสื้อผ้าที่มีความเป็นทางการ สำหรับใส่ออกงานและทำงานได้ แต่ในวันนี้ได้ปรับเปลี่ยนหลายคอลเลกชันให้สวมใส่ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อให้ใส่ในชีวิตประจำวันได้ โดยผู้อยู่เบื้องหลังคือ แป้ง-อรประพันธ์ สุทธินรเศรษฐ์ ผู้บริหารและครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Vickteerut
ในวันที่โลกของการแต่งตัวและแฟชั่นยังมีคำถามมากมาย The Momentum พูดคุยกับ Vickteerut ถึงวิธีการออกแบบเสื้อผ้าทำงานอย่างไรให้ใส่ได้หลากหลายโอกาส รวมถึงคำแนะนำสำหรับวัยทำงานว่า แต่งตัวอย่างไรที่ทั้งสุภาพ ถูกกาลเทศะ และยังคงไว้ซึ่งแฟชั่นและรสนิยมได้ในเวลาเดียวกัน
เสื้อผ้าสำหรับ ‘ผู้หญิง’ ของ Vickteerut
หากนึกถึงแบรนด์เสื้อผ้าเก่าแก่ระดับโลก ภาพลุกบุ๊ก (Lookbook) หรือสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของผู้สวมใส่มักปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับ Vickteerut หลายคนอาจเห็นภาพของผู้หญิงทำงานเก่ง ทะมัดทะแมง คล่องแคล่ว ซึ่งอรประพันธ์นิยามภาพลุกบุ๊กของ Vickteerut ว่าเป็น ‘เสื้อผ้าของผู้หญิงเมือง’
“เราเป็นแบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงที่พูดถึงผู้หญิงเมือง เป็นผู้หญิงที่ดูมีความมั่นใจในตัวเอง และรู้ว่าตัวเองชอบอะไร จริงๆ คนแต่ละคนรู้อยู่แล้วว่าตัวเองชอบอะไร แต่ผู้หญิง Vickteerut จะรู้ว่า ถ้าต้องการเสื้อผ้าที่ใส่ได้นานๆ เสื้อผ้าที่ใส่ออกมาแล้วคัตติงเนี้ยบๆ ใส่แล้วรู้สึกโมเดิร์น มีความโฉบเฉี่ยว เขาจะเลือก Vickteerut เพราะเสื้อผ้าของ Vickteerut เสริมให้ผู้หญิงคนนั้นดูภูมิฐานขึ้นและดูฉลาด” อรประพันธ์กล่าว
สำหรับอรประพันธ์เป็นทั้งดีไซเนอร์และผู้บริหารของแบรนด์ ได้สะท้อนภาพของ Working Woman เช่นเดียวกัน เพราะเธอต้องรับผิดชอบทั้งการบริหาร ทิศทางของแบรนด์ การออกแบบ การขาย รวมถึงดูเรื่องการสื่อสารอีกด้วย ซึ่งความยากคือการรักษาสมดุลในทุกหน้าที่
เมื่อถามว่า ทักษะสำคัญของการบริหารโดยเฉพาะแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นคืออะไร อรประพันธ์เล่าว่า สิ่งสำคัญมีด้วยกัน 3 ข้อคือ ปรับเปลี่ยนให้เร็ว ตามโลกให้ทัน และยอมรับในคำวิจารณ์
“เรื่องการปรับตัวของแบรนด์ เราเจอและต้องทำตลอด เนื่องจากเราดูทั้งในส่วนของการขายและการออกแบบ การทำงานใน 2 ตำแหน่งนี้เป็นอะไรที่เราต้องหาสมดุลระหว่างกันอยู่เสมอ ถ้าเป็นในส่วนของการออกแบบ ดีไซเนอร์อยากจะแสดงความคิดเห็น แสดงความเป็นตัวตน ทำอย่างไรก็ได้ให้เสื้อผ้าเราดูเป็นที่เตะตา คนเห็นแล้วบอกว่าปัง แต่ว่าในส่วนของการขายเราก็ต้องคอยสมดุลมันด้วยเช่นกัน
“เพราะถ้าสมมติมันปังมาก เห็นแล้วสวยมาก เปรี้ยวมาก เซ็กซี่มาก แต่กลับไม่สามารถปรับใช้กับคนจริงๆ ธุรกิจมันก็ไปต่อไม่ได้ เราเลยต้องทำให้ทั้ง 2 ขามันไปด้วยกันได้” อรประพันธ์เล่าถึงการทำงานใน 2 บทบาท
นอกจากนี้ในโลกของแฟชั่นที่หมุนอย่างรวดเร็ว การจะทันกระแสหรือนำกระแส เป็นเรื่องที่ท้าทายของแบรนด์ทุกแบรนด์ สำหรับ Vickteerut อรประพันธ์เล่าถึงความโชคดีว่า โจทย์ 70% ของเสื้อผ้า Vickteerut เป็นกฎบังคับว่าต้องใส่ได้นาน ซึ่งขึ้นอยู่กับซิลูเอต (Silhouette) หรือส่วนโครงร่างของเสื้อผ้า ต้องใส่ออกมาแล้วไม่ล้าสมัย เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมากนัก ส่วนที่เหลืออีก 30% คือส่วนที่ต้องปรับให้ทันกระแส
“การปรับตามกระแสก็เป็นสิ่งที่ยากอยู่ เพราะเอาจริงๆ ถ้าเราตามกระแส เราก็ไม่รู้ว่าต้องตามใคร เพราะฉะนั้นในสิ่งเรารู้คือ เป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด แล้วเพิ่มความครีเอทีฟลงไปในเสื้อผ้า มันก็จะออกมานำกระแสแล้ว” อรประพันธ์กล่าว
From Formal to Casual
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่ Vickteerut มีเป้าหมายในการออกแบบเสื้อผ้าที่ต้องใส่ได้นาน ทำให้เบื้องหลังของความยั่งยืนนี้ เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกผ้าที่จะนำมาตัดเย็บ ต้องเป็นผ้าที่ดี ใส่สบาย และดูแลรักษาไม่ยาก
ซึ่งเมื่อได้ผ้าที่ดีแล้ว ขั้นต่อไปคือการสร้างสรรค์ให้กลายเป็นชุดขึ้นมา
“ส่วนใหญ่แรงบันดาลใจของลวดลายต่างๆ มีที่มาจากเรขาคณิต ศิลปะ วิทยาศาสตร์ เสื้อผ้าจะมีโครงเสื้อผ้าชัดเจน ดูเนี้ยบ” อรประพันธ์กล่าว
สำหรับเสื้อผ้าใส่ทำงานอย่างเป็นทางการ หลายคนคงหยิบเสื้อเชิ้ตเป็นชิ้นแรก แต่คำถามคือ เสื้อเชิ้ตในตลาดทั่วไปที่บางคนมองว่ารูปแบบคล้ายคลึงกัน แท้จริงแล้วมีความต่างในรายละเอียดอย่างไร ที่ทำให้ดูเนี้ยบกว่ากัน โดยเฉพาะกับแบรนด์ Vickteerut ในประเด็นนี้ดีไซเนอร์บอกว่า ขึ้นอยู่กับวิธีการตัดเย็บ
“มันต่างที่การตัดเย็บ เราว่าจริงๆ แล้วถ้าเราดูจากรูป เสื้อผ้าในตลาดมันเหมือนกันหมด แต่ถ้าอยากรู้ความแตกต่างต้องลองหยิบจับของจริง ส่วนใหญ่เสื้อผ้า Vickteerut ถ้าแขวนไว้ คนจะรู้สึกว่ามันเหมือนๆ กัน เขาจะรู้ความต่างก็ต่อเมื่อเขาหยิบขึ้นมาลองใส่ แล้วมันจะได้ความรู้สึกที่แตกต่างตั้งแต่เนื้อผ้า เพราะกว่าจะได้ผ้ามามันก็ไม่ได้หากันง่ายๆ กว่าเราจะได้ผ้ามาทดลอง เอามาตัดเย็บแล้วคนใส่รู้สึกว่าใส่แล้วดูดี”
เมื่อถามต่อไปว่า ทำไมต้องเลือกใส่ชุดทำงานของ Vickteerut อรประพันธ์ตอบว่า
“ถ้าเป็นชุดทำงาน ถ้าอยากใส่ออกมาแล้วดูโก้ ต้องคำนึงถึงสรีระผู้สวมใส่เป็นหลัก แล้วเราออกแบบให้เข้ากับสรีระคนเอเชีย ส่วนคำถามว่าทำไมต้องใส่ Vickteerut สำหรับเรา เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องแบรนดิงด้วย คนใส่ Vickteerut แล้ว เขารู้สึกภูมิใจมากกว่าที่ใส่แบรนด์อื่น เราว่ามันเป็นเรื่องการสั่งสมประสบการณ์ของแบรนด์ที่เราสร้างแบรนด์มา จนทำให้ลูกค้ารู้สึกเชื่อมั่น”
นอกจากเสื้อผ้าสำหรับใส่ทำงานและใส่ออกงานแล้ว ในวันนี้ Vickteerut ยังมีเสื้อผ้าที่ใส่ได้ง่ายมากขึ้น เพิ่มความไม่เป็นทางการเข้าไปในการออกแบบ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของแบรนด์เป็นผู้หญิงตั้งแต่วัย 25-50 ปี และคนรุ่นใหม่มักชื่นชอบแต่งตัวตามศิลปินไอดอล ด้วยเหตุนี้ Vickteerut จึงมีการปรับเปลี่ยนให้มีเสื้อผ้าสไตล์แคชชวลมากขึ้นถึงร้อยละ 50
“เรื่องนี้เราคิดได้หลังโรคโควิด-19 ระบาด ที่ทุกวันนี้คนทำงานจากที่บ้าน Work from Home กันเยอะ รวมถึงมีอาชีพต่างๆ หลากหลายที่ไม่ได้อยู่แค่ในออฟฟิศแล้ว การแต่งตัวก็จะสบายขึ้นเยอะ หรือบางคนที่ไปออฟฟิศก็ไม่ใส่เดรส แต่ใส่เสื้อยืด แจ็กเก็ต คือการแต่งตัวมันง่ายขึ้น ดูสบายมากขึ้น” ดีไซเนอร์พูดถึงเทรนด์การแต่งตัวไปทำงานในปัจจุบัน
เมื่อต้องเปลี่ยนจากเสื้อผ้าที่มีความเป็นทางการสูงสู่เสื้อผ้าที่ใส่ง่ายขึ้น ลำลองมากขึ้น อาจดูเป็นเรื่องยาก แต่อรประพันธ์กลับบอกว่า เธอสนุกกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
“จริงๆ เราสนุกขึ้นนะ เรารู้สึกว่าเราได้ทำอะไรใหม่ๆ เราก็เลยรู้สึกดีที่เราไม่ต้องทำอะไรเหมือนเดิมตลอดไป แล้วเราก็ออกแบบให้ตัวเองใส่ได้ด้วยในวันธรรมดา” อรประพันธ์กล่าว
นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า รู้สึกดีที่ได้เห็นคนสวมใส่เสื้อผ้า Vickteerut ไปเดินห้างสรรพสินค้า หรือหยิบมาใส่ในช่วงกลางวันมากขึ้น จากเดิมที่เสื้อผ้า Vickteerut จะถูกหยิบขึ้นมาสวมใส่ก็ต่อเมื่อต้องไปออฟฟิศ หรือออกงานในตอนกลางคืน
นิยาม ‘แต่งตัวดี’ สำหรับ Vickteerut
เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับดีไซเนอร์ผู้คร่ำหวอดในวงการแฟชั่นและการแต่งกาย คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ ‘แต่งตัวดี’ คือลักษณะแบบไหน รวมถึงวิธีการเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับเรามีเทคนิคอย่างไร
“แต่งตัวดีของ Victeerut เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องรสนิยมของการแต่งตัวมากกว่า ใส่อะไรแล้วเหมาะกับคนนั้น เราว่าแบบนี้คือแต่งตัวดี
“ซึ่งในบางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องใส่ของแพง ไม่ต้องใส่ Vickteerut ก็ได้นะ เราว่าคนที่แต่งตัวดี คือคนที่รู้ว่าตัวเองใส่อะไรออกมาสวย เป็นตัวของตัวเอง และเหมาะสมกับกาลเทศะ เราว่าดีที่สุด”
นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำสำหรับ First Jobber ที่เริ่มต้นเข้าสู่โลกของการทำงาน ในการแต่งกายให้ดูเป็นทางการและยังดูแฟชั่นในเวลาเดียวกัน
“ถ้าเป็นคำแนะนำให้ First Jobber เราว่าเสื้อเชิ้ตใส่อย่างไรก็ดูเก่ง เราว่าผู้หญิงทำงานเวลาใส่เสื้อเชิ้ตทำงานมันถูกกาลเทศะ ดูน่าเชื่อถือ เก็บชายเสื้อในกระโปรงหรือกางเกง อีกอย่างคือสัดส่วนของกระโปรง สัดส่วนของกางเกง ถ้าหากว่าเราใส่กางเกงที่คลุมรองเท้ามันดูเรียบร้อยกว่า แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความชอบ และความเหมาะสม“ อรประพันธ์แชร์เทคนิค
ทั้งนี้สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า เสื้อผ้าแบบไหนเหมาะสมกับเรา ในความเห็นของผู้บริหารและดีไซเนอร์ของ Vickteerut คือ ต้องลองจึงจะได้รู้ว่าเหมาะกับอะไร
“ต้องลอง คือการที่เราจะได้รู้ว่าอะไรเหมาะกับเราจริงๆ คือต้องไปลองเท่านั้น มันต้องลองผิดลองถูก ปัจจุบันเราก็ยังลองอยู่ ยกตัวอย่างเราเองชอบเสื้อตัวหนึ่ง แต่พอเราซื้อมาแล้วมันไม่เหมาะเลย ดังนั้นต้องลอง“ อรประพันธ์แนะนำ
ด้วยเหตุนี้หน้าร้านหรือช็อปของ Vickteerut จึงยังมีความสำคัญอยู่มาก เพื่อให้ทุกคนได้เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสรีระและตัวตนของตนเอง ที่สามารถใส่ได้อย่างยาวนานและยั่งยืน
Tags: Feature, Fashion, Vickteerut, อรประพันธ์ สุทธินรเศษฐ์, แป้ง อรประพันธ์, Bangkok International Fashion Week 2024, BIFW 2024