ศึกสมรภูมิระหว่าง ‘กะเทยไทย’ กับ ‘กะเทยฟิลิปปินส์’ ในค่ำคืนวันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมากลายเป็นกระแสร้อนแรงในโลกแอปพลิเคชันเอ็กซ์ (X) ซึ่งแฮชแท็ก #สุขุมวิท11 มียอดทวิตทะลุกว่า 3 ล้านครั้งภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุทะเลาะวิวาทที่บริเวณซอยสุขุมวิท 11 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

ลำดับเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณตี 5 ของวันที่ 3 มีนาคม 2567 กะเทยไทย 2 รายถูกรุมทำร้ายร่างกายโดยกลุ่มกะเทยชาวฟิลิปปินส์ราว 20 คน และยังอัดคลิปวิดีโอโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเพื่อยั่วยุท้าทายจนสร้างความไม่พอใจในหมู่กะเทยชาวไทย ต่อมากะเทยไทยนัดหมายกันในสื่อสังคมออนไลน์ ให้รวมตัวกันที่โรงแรมดังแห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 11 ซึ่งเป็นที่พักของกลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์ จนเกิดการทะเลาะวิวาทดังที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้

กะเทยตาย กะเทยเผา

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกส่งต่อในในโซเชียลมีเดียกันอย่างสนุกสนานราวกับ ‘การเชียร์มวย’ สร้างความบันเทิงอย่างไรอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำมีมตลกขบขัน หรือพูดจาในลักษณะที่ปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมให้เกิดขึ้น

หากแต่ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกระจกสะท้อนชั้นดีถึงความไม่เชื่อใจในกระบวนการยุติธรรมและตำรวจไทย และยังตอกย้ำสถานะการเป็นพลเมืองชั้นสองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมขึ้นไปอีก

ในประเด็นแรกที่ว่าด้วยความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย กรณี ‘ตบกัน’ และเอาคืน จะเห็นว่ามีความเชื่อมั่นในตำรวจน้อยมาก ทั้งในฐานะ ‘ผู้คุมกฎหมาย’ และผู้ที่ควรทำหน้าที่ ‘ตัวกลาง’ ในการยุติความรุนแรง

กรณีดังกล่าวสะท้อนผ่านวันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่คนไทยถูกฟิลิปปินส์ ‘สั่งสอน’ ก็ไม่ได้มีตำรวจเข้ามาจัดการ และเมื่อแจ้งตำรวจก็ไม่พบว่าตำรวจสนใจที่จะดำเนินคดีกับกลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์อย่างที่ควรจะเป็น อาการปล่อย ‘เกียร์ว่าง’ ดังกล่าวทำให้กลุ่มกะเทยไทยเลือกใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ ‘ศาลเตี้ย’ รุมประชาทัณฑ์เอาคืน ท่ามกลางความสะใจของกองเชียร์ เป็นนาฏกรรมใจกลางถนนสุขุมวิท

หากตำรวจสามารถระงับความขัดแย้งได้จริง และการบังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นจริง เรื่องทั้งหมดคงไม่นำมาสู่การรุมประชาทัณฑ์ ท่ามกลางกองเชียร์ในไลฟ์นับหมื่นนับแสนคนขนาดนี้

ประเด็นที่ 2 เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยจะเปิดกว้างให้คนกลุ่มนี้มากเท่าไร แต่ก็ยังมีความรู้สึก ‘เป็นอื่น’ ต่างจากคนทั่วไป 

ฉะนั้น การรวมกลุ่มรวมพวกของบรรดาคนที่รู้สึก ‘เป็นอื่น’ ในวันที่ยังไม่มีกฎหมาย ไม่มีข้อรับรองใดๆ มารับกับสถานภาพทางเพศของพวกเขา ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีแต่พวกเขาเท่านั้นที่ต้องดูแลซึ่งกันและกัน

จึงปรากฏภาพกะเทยไทยมารวมตัวกันอย่างนัดหมายที่ซอยสุขุมวิท 11 และเลือกจัดการปัญหาด้วยตัวเอง เพราะไม่มั่นใจว่าถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน จะมีใครสนใจปัญหาของพวกเขา และพร้อมที่จะแก้ไขความขัดแย้งร่วมไปกับพวกเขาหรือไม่

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา แท้จริงแล้วยังมีปัญหาอีกมากที่ซุกอยู่ใต้พรมรอการแก้ไข

จะแก้ปัญหาได้ต้องเกาให้ถูกที่คัน

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ถูกพูดถึงในรอบนี้ นอกเหนือจากความรุนแรงและการลงประชาทัณฑ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ‘สถานะ’ ของกลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์ ที่เข้ามาตั้งรกราก ทำงานเทาๆ ดำๆ ในรูปแบบของการเป็น Sex Worker ในย่านสุขุมวิท

มีเสียงลือว่า การที่คนกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างยาวนาน ก็ด้วยการหลับตาข้างหนึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหรือตำรวจท้องที่ ท่ามกลางข้อครหาว่าตำรวจจำนวนไม่น้อยรับส่วยรับสินบนจากชาวต่างชาติ ไม่ต่างจากบรรดาคนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจ หรือชาวรัสเซียที่เข้ามาหากินในประเทศไทยจนตั้งตัวและรวยได้

กลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์ดำรงอยู่ท่ามกลางกลุ่ม Sex Worker อีกหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรือรัสเซีย ที่มีคนกล่าวว่า หาก ‘จ่ายครบ’ ก็ไม่มีใครทำอะไร

ถ้ามองให้ลึกกว่าการลงไม้ลงมือกันระหว่างสองกลุ่ม เป็นจริงหรือไม่ที่องค์กรตำรวจเลือกเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพียงเพราะได้ผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติบางกลุ่ม

อีกส่วนที่เป็นปัญหาใหญ่คือ ‘กฎหมาย’ หากลองค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจะพบว่า กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเรื่อง Sex Worker มีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งห้ามการค้าประเวณีอย่างเด็ดขาด ทำให้หลายพื้นที่ตรวจไม่เจอ Sex Worker และประเทศไทยไม่เคยมี ‘โสเภณี’ ทั้งที่รู้กันทั่วโลกว่าดินแดนไทยเป็นสวรรค์ของ ‘เรื่องอย่างว่า’ จนกลายเป็นข้อถกเถียงมากมายว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทำมาหากินในลักษณะธุรกิจสีเทาเกิดขึ้น

และอีกส่วนคือการออกกฎหมายใหม่ พ.ร.บ.คุ้มครองงานบริการทางเพศ เพื่อยอมรับความเป็นจริงเสียทีว่าประเทศไทยมีแรงงานทางเพศ และต้องยกระดับกลุ่มอาชีพนี้ให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ อย่างเท่าเทียมกับประชาชนที่ประกอบอาชีพอื่น

รีบตัดไฟแต่ต้นลม

ความสำคัญของเรื่องนี้ที่หนีไม่พ้นก็คือการรายงานข่าวการตบกันของกะเทย 2 ขั้ว จนกลายเป็น ‘เรื่องสนุก’ มองหาฮีโร่ มองหาคนหล่อคนสวย และกด ‘ฟิลิปปินส์’ ให้ด้อยกว่า จนมองข้ามปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ความรุนแรง และความเป็น ‘ชาตินิยม’ ที่ปั่นกันเกินความพอดี

ต้องไม่ลืมว่าปัญหาชาตินิยมเคยนำมาสู่การเผาสถานเอกอัครราชทูตไทย และทำลายธุรกิจของคนไทยในกัมพูชาเมื่อปี 2546 เพียงเพราะการกระจาย ‘ข่าวปลอม’ เพื่อหวังผลทางการเมืองจากผู้นำกัมพูชา

ว่ากันตามจริงแล้ว ไทยและฟิลิปปินส์มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะหน้าตา ความนิยมชมชอบใน ‘นางงาม’ ขณะที่อาหารก็ไม่ได้มีรสชาติต่างกันมาก

ทว่าไทยไม่เคยมีความขัดแย้งกับฟิลิปปินส์ในระดับชาติ ไม่ได้มีวาระใหญ่ใดๆ ที่จำเป็นต้องขัดแย้งกันจนขยายวงใหญ่โต ฉะนั้น หากเรื่องนี้จัดการกันได้ด้วยการเป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เฉพาะกลุ่ม ก็จะเป็นการดีกว่าการดึงไพ่ชาตินิยมขึ้นมาเล่นกัน

หนึ่งเรื่องมองได้หลากหลายมุมมอง เพราะรากของปัญหาล้วนอยู่ลึกลงไป หลายครั้งเราจำเป็นต้องสลัดความโกรธ ความโมโห และความสะใจออกไป เพราะไม่เช่นนั้น ‘อารมณ์’ จะกลายร่างเป็นดาบสองคมที่ทำลายความเป็นเหตุเป็นผล และความนึกคิดของเราไปโดยปริยาย

เช่นนั้นแล้ว เราจะไม่ต่างอะไรกับคนที่เราไม่ชอบหน้าเลยแม้แต่น้อย

Tags: , , , , , ,