กลายเป็นปรากฏการณ์อันน่ายินดีในสังคมช่วงเวลานี้ เมื่อ Golden Boy ประติมากรรมสำริดรูปบุคคลยืน พร้อมด้วยประติมากรรมสตรีนั่งพนมมือ คืนสู่ประเทศไทย จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (Metropolitan Art Museum: The Met) นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา 

นอกจากเหตุผลการลักลอบขายอย่างผิดกฎหมายเมื่อ 40 ปีก่อน การกลับมาของโบราณวัตถุชิ้นนี้ยังอาศัย ‘ภารกิจการทวงคืน’ จากผู้เชี่ยวชาญ โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการด้านโบราณคดี ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในกระบวนการนี้ ให้สัมภาษณ์ผ่านประชาชาติธุรกิจว่า เขาต้องหาหลักฐานประกอบ ซึ่งย้อนกลับไปที่เอกสารของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas Latchford) นายหน้าผู้เป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด จนพบว่า ประติมากรรมมีแหล่งกำเนิดที่บ้านยางโป่งสะเดา อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ 

ไม่ใช่แค่จบลงด้วยความรู้สึกปลื้มปีติยินดี เพราะการได้มาซึ่งโบราณวัตถุอันล้ำค่าอายุกว่า 1,000 ปี ยังมีความสำคัญเปรียบเสมือน ‘จิ๊กซอว์’ ที่ช่วยประติดประต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในอดีต และนำมาสู่องค์ความรู้ใหม่ทางโบราณคดีของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม หากกลับมาพิจารณาปรากฏการณ์การทวงคืนโบราณวัตถุหรือทรัพย์สินทั่วโลก เห็นได้ชัดเจนว่า แนวโน้มดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเรียกร้องจากอดีตประเทศอาณานิคม และครอบครัวของเหยื่อในสงคราม ทั้งการเจรจาอย่างสันติหรือการประท้วงด้วยใช้วิธีการที่คาดไม่ถึง

ภาพเหล่านี้สะท้อนจากขบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เมื่อในเดือนมิถุนายน 2020 มาซูลู ดิยาบานซา (Mwazulu Diyabanza) นักเคลื่อนไหวชาวคองโก ตัดสินใจหยิบ ‘เสาฝังศพ’ โบราณวัตถุในศตวรรษที่ 19 ของพิพิธภัณฑ์เกบร็องลีย์ (Quai Branly Museum) ออกมาด้วยความโมโห โดยให้เหตุผลว่า นี่คือ ‘ความชอบธรรม’ ของประเทศผู้เป็นเจ้าของเดิมที่ถูกประเทศตะวันตกแย่งชิงไป

“ในพิพิธภัณฑ์ที่มีสิ่งของที่ถูกขโมยมา ไม่มีข้อห้าม หากเจ้าของจะนำมันกลับไปทันทีที่พบเสียหน่อย” ดิยาบานซาให้เหตุผลกับนิวยอร์กไทม์ (New York Times) และคิดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการต่อสู้กับ ‘ลัทธิล่าอาณานิคม’ ในโลกสมัยใหม่อีกรูปแบบหนึ่ง

The Momentum ขอพาย้อนดูประวัติศาสตร์ทวงคืนสิ่งของล้ำค่าทั่วโลก ตั้งแต่โบราณวัตถุเก่าแก่จากอารยธรรมอายุพันปี จนถึงภาพวาดของชาวยิวที่ถูกฉกฉวยไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพ: AFP

1. ‘แผ่นหินโรเซตตา’ จารึกบอกเล่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

แผ่นหินโรเซตตา (Rosetta Stone) เป็นแผ่นหินจารึกโบราณของชาวอียิปต์ ทำจากหินแกรนิตสีเทา ประกอบด้วยตัวอักษร 3 รูปแบบที่แตกต่างกัน คือไฮโรกลีฟิก (Hieroglyphics) เดโมติก (Demotic) และกรีกโบราณ (Greek) 

ความสำคัญของจารึกหลักนี้ นอกจากบอกเล่าอารยธรรมอียิปต์โบราณในช่วงฟาโรห์ปโตเลมีที่ 5 (Ptolyme V) ยังทำให้ ฌอง ฟรองซัว ชองโปลิออง (Jean-Francois Champollion) นักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศส สามารถถ่ายถอดวิธีการอ่านตัวอักษรภาพไฮโรกลีฟิกได้สำเร็จในปี 1822

ปัจจุบัน แผ่นหินนี้จัดแสดงอยู่ที่บริติชมิวเซียม (British Museum) สหราชอาณาจักร และกลายเป็นหนึ่งในคอลเลกชันสำคัญที่ผู้คนทั่วโลกต่างเดินทางมาเยี่ยมชม โดยสาเหตุที่แผ่นหินนี้อยู่ที่สหราชอาณาจักร เกิดขึ้นในช่วงที่ นโปเลียน โบนาบาร์ต (Napoleon Bonaparte) รัฐบุรุษชาวฝรั่งเศส ยึดครองอียิปต์และมีการค้นพบแผ่นหินดังกล่าวในปี 1799 ที่เมืองราชิด (Rashid) 

ภายหลังอังกฤษเอาชนะฝรั่งเศสที่เมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ได้สำเร็จในปี 1801 แผ่นหินโรเซตตาและวัตถุโบราณอีกจำนวนมาก จึงตกเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษตามข้อตกลง 

กระทั่งในปี 2022 ชาวอียิปต์จำนวนหนึ่งเห็นตรงกันว่า แผ่นหินโรเซตตาควรกลับมาที่มาตุภูมิ โดยไม่ใช่แค่เหตุผลในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศเท่านั้น แต่การที่จารึกยังคงตั้งตระหง่านที่บริติชมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ของอดีตเจ้าอาณานิคม ยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ความรุนแรงที่ตะวันตกกระทำกับอียิปต์ในอดีต

นั่นจึงทำให้เกิดกระบวนการทวงคืนแผ่นหินโรเซตตา นำโดย โมนิกา ฮันนา (Monica Hanna) นักโบราณคดีและคณบดีประจำภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยอัสวาน (Aswan University) และผู้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกร่วมพันคน

อย่างไรก็ตาม บริติชมิวเซียมปฏิเสธว่า ไม่มีการร้องขอจากรัฐบาลอียิปต์อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งอ้างว่า แผ่นหินโรเซตตาเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในปี 1801 ที่มีลายเซ็นของสุลต่านแห่งออตโตมัน ซึ่งเป็นผู้แทนของอียิปต์ในช่วงที่นโปเลียนพิชิตดินแดนแห่งนี้ 

ภาพ: New York Times

2. ‘มนุษย์ชวา’ หลักฐานเก่าแก่ของบรรพบุรุษมนุษย์

มนุษย์ชวา (Java Man) คือฟอสซิลที่มีความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ เพราะเป็นหลักฐานเก่าแก่ของสิ่งมีชีวิตประเภทวงศ์ลิงใหญ่ (Hominid) บรรพบุรุษรุ่นแรกของมนุษย์ 

มนุษย์ชวาขุดค้นพบโดย เออแฌน ดูบัวส์ (Eugène Dubois) นักบรรพชีวินวิทยาชาวดัตช์ บริเวณลุ่มแม่น้ำโซโล (Bengawan Solo) เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 1891-1892 ก่อนจะถูกนำกลับไปที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Naturalis Biodiversity Center) เมืองไลเดน (Leiden) 

ทว่าอินโดนีเซียขอคืนโบราณวัตถุและมนุษย์ชวาตั้งแต่ปี 1949 หลังได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ โดยให้เหตุผลว่า การครอบครองมนุษย์ชวาเกิดขึ้นจากการล่าอาณานิคม ซึ่งปราศจากการยินยอมของอินโดนีเซีย และยังทำให้ชนพื้นเมืองเสียชีวิตจากการใช้แรงงานขุดค้นอย่างหนัก 

แต่ผู้บริหารของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติตอบกลับว่า การค้นพบทางวิทยาศาสตร์คือมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง และเป็นเพราะดัตช์ในนามดูบัวส์ มนุษย์ชวาจึงถูกค้นพบ 

ต่อมาในปี 2022 อินโดนีเซียยังไม่ลดละความพยายาม และดำเนินการขอคืนเฉพาะส่วน คือกระดูกขาและกระโหลกของมนุษย์ชวา พร้อมกับโบราณวัตถุอีก 7 ชนิด โดย บอนนี ไตรยานา (Bonnie Triyana) นักประวัติศาสตร์และสมาชิกกลุ่มทวงคืนโบราณวัตถุของอินโดนีเซีย ระบุว่า เหตุผลหลักในการทวงคืนคือเพื่อผลิตองค์ความรู้ 

อย่างไรก็ตาม เนเธอร์แลนด์ปฏิเสธซ้ำอีกรอบ และกล่าวว่า โครงกระดูกมนุษย์เป็นสิ่งของก่อนประวัติศาสตร์ จึงไม่สามารถนับเป็นมรดกแห่งชาติของอินโดนีเซียได้ ขณะที่ จูลส์ ฟาน เดอ เฟน (Jules Van de Ven) โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์ ระบุเป็นนัยว่า คุณค่าทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของบทสนทนาในประเด็นการทวงคืนวัตถุโบราณ โดยรัฐบาลไม่ได้ปฏิเสธ เพียงแต่กระบวนการนี้ต้องใช้เวลานานกว่าวัตถุอื่นๆ

ภาพ: AFP

3. ‘สมบัติแห่งเบฮันซิน’ มรดกล้ำค่าจากแอฟริกา

สมบัติแห่งเบฮันซิน (Treasure of Behanzin) ประกอบด้วยวัตถุโบราณล้ำค่า 26 ชิ้น เช่น พระโธรนของเกลเล (Glele) กษัตริย์องค์ที่ 10 แห่งดาโฮมีย์ (Dahomey) ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศเบนิน (Benin) และดาบของ โอมาร์ ไซดู ทอลล์ (Omar Saidou Tall) บุคคลสำคัญของประเทศเซเนกัลในศตวรรษที่ 19 

ทว่าสมบัติแห่งเบฮันซินถูกกองทัพฝรั่งเศสขโมยกลับประเทศในปี 1892 ก่อนจะนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เกบร็องลีย์ ร่วมกับวัตถุโบราณของแอฟริกาถึง 7 หมื่นชิ้น โดยที่ผู้นำประเทศต่างๆ ในแอฟริกาก็เรียกร้องให้ชาติตะวันตกคืนโบราณวัตถุเหล่านี้มาตลอด 

ครั้งหนึ่งในปี 1973 โมบูตู เซเซ เซโก (Mobutu Sese Seko) อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เคยกล่าวสุนทรพจน์กลางเวทีองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้ชาติตะวันตกคืนมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการคืนสมบัติแห่งเบฮันซินอย่างเป็นทางการ มีจุดเริ่มต้นจากสุนทรพจน์ของ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปี 2017 เมื่อเขาประกาศว่า กำลังพิจารณาคืนโบราณวัตถุและสิ่งของล้ำค่าให้กับประเทศในแอฟริกา ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งของการผ่อนคลายความตึงเครียดจากความสัมพันธ์ในช่วงอาณานิคม

แต่ขั้นตอนไม่ได้ง่ายดาย เพราะมาครงกลับคำพูดในปี 2019 ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่ประเทศบูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) ว่า การคืนโบราณวัตถุให้กับประเทศในทวีปแอฟริกาล่าช้ากว่าที่คิด จากกระบวนการออกกฎหมายในรัฐสภา พร้อมทั้งมีเงื่อนไขว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะจำกัดประเภท จำนวนสิ่งของ และรูปแบบ หรือกล่าวง่ายๆ คือเป็น ‘การให้ยืมชั่วคราว’ สำหรับบางกรณี

ขณะที่นักเคลื่อนไหวชาวแอฟริกันในฝรั่งเศส พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มรดกทางวัฒนธรรมทั้งหมดคืนมาอย่างไม่มีเงื่อนไข ดังกรณีของ มาซูลู ดิยาบานซา นักเคลื่อนไหวชาวคองโก ที่พยายามนำโบราณวัตถุในอารยธรรมแอฟริกัน ออกมาจากพิพิธภัณฑ์ในปารีสและมาร์กเซย (Marseille) พร้อมทั้งไลฟ์ทางเฟซบุ๊กด่าทอลัทธิล่าอาณานิคมในอดีต

ท้ายที่สุด ฝรั่งเศสส่งมอบสมบัติแห่งเบฮันซินกลับสู่เบนินและเซเนกัลในเดือนตุลาคม 2021 นับเป็นการสิ้นสุดการรอคอยถึง 130 ปี หลังรัฐสภามีมติเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในปี 2020 โดย นาตาชา บัตเลอร์ (Natacha Butler) นักข่าวของอัลจาซีรา (Al Jazeera) อธิบายว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวคือการรื้อฟื้นจิตวิญญาณของเบนินอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า โบราณวัตถุจากแอฟริกายังคงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศสถึง 9 หมื่นชิ้น แต่ยังไม่มีความคืบหน้าถึงการส่งกลับแต่อย่างใด 

ภาพ: AFP

4. ‘งานศิลปะของชาวยิว’ สมบัติของเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีเยอรมนี

ในปัจจุบัน การทวงคืนสิ่งของล้ำค่าไม่ได้หยุดแค่หลักฐานทางโบราณคดี หรือจำกัดเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐอีกต่อไป เพราะยังรวมถึง ‘ทรัพย์สินของชาวยิว’ เหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) โดยกองทัพนาซีเยอรมนีอันเหี้ยมโหดในสงครามโลกครั้งที่ 2 

หากย้อนกลับไปในอดีต การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามเป็นต้นมา เมื่อมีการค้นพบว่า สิ่งของล้ำค่าและมรดกของชาวยิว โดยเฉพาะผลงานศิลปะถึง 6 แสนชิ้น ถูกกองทัพนาซีทำลายและขโมยเพื่อครอบครองเป็นการส่วนตัว รวมถึงขายในตลาดต่อเพื่อทำกำไร (ทั้งบังคับและซื้อไปโดยไม่รู้ตัว)

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำมาสู่หลักการวอชิงตัน (Washington Principles) ในปี 1998 ที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันว่า 44 ประเทศทั่วโลกที่มีผลงานศิลปะของเหยื่อชาวยิวภายในครอบครอง ว่าจะต้องคืนหรือชดเชยค่าสินไหมทดแทนอย่างไม่มีข้อบิดพลิ้วแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ มีรายงานจาก สจ๊วต อี. ไอเซนสตัต (Stuart E. Eizenstat) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และผู้ดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับฮอโลคอสต์ในปี 2018 ว่า หลายประเทศในยุโรปไม่ยอมทำตามข้อตกลง ซึ่งประกอบด้วย ฮังการี, โปแลนด์, สเปน, อิตาลี, และรัสเซีย

ไอเซนสตัตยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในโปแลนด์ หนึ่งในประเทศที่มีเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เยอะที่สุด ได้แก่ ชาวโปลิช 6.5 ล้านคน และชาวยิว 3.5 ล้านคน แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะปรากฏหลักฐานว่า ผลงานศิลปะที่ถูกนาซีขโมยไป กลายเป็นธุรกรรมที่ทำมูลค่าทางการเงินมหาศาลให้กับโปแลนด์ โดยมีการซื้อขายระหว่างประเทศกับเนเธอร์แลนด์

ขณะที่รัสเซียหรือสหภาพโซเวียตในอดีต กองทัพแดงเคยขนย้ายผลงานศิลปะของชาวยิวจากเยอรมนีกลับประเทศ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด โดยไอเซนสตัตประณามว่า แม้รัสเซียดูเห็นอกเห็นใจโศกนาฏกรรมของชาวยิว และย้ำว่าจะส่งผลงานคืนให้กับเจ้าของในปี 1998 แต่ก็ไร้ความเคลื่อนไหวจนถึงปัจจุบัน

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด ในเดือนกันยายน 2023 สหรัฐฯ คืนผลงานศิลปะบางส่วนของ เอก็อน ชีเลอ (Egon Schiele) จิตรกรชาวออสเตรีย ที่มีมูลค่าราว 7.8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28 ล้านบาท) ให้กับครอบครัวของ ฟริตซ์ กรุนบาม (Fritz Grünbaum) ศิลปินคาบาเรต์ชื่อดัง ซึ่งเป็นเหยื่อชาวยิว-ออสเตรียของระบอบนาซี

ฟริตซ์เคยครอบครองคอลเลกชันศิลปะของชีเลอถึง 81 ชิ้น ก่อนที่นาซีจะบังคับ เอลิซาเบธ กรุนบาม (Elisabeth Grünbaum) ภรรยาของเขา มอบให้ทั้งหมด โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เคยประณามผลงานของชีเลอว่า เป็น ‘ความเสื่อมทรามทางศิลปะ’ และต่อมาผลงานของเขาถูกนำไปขายเพื่อเป็นเงินทุนของพรรคนาซี

 

อ้างอิง

https://www.silpa-mag.com/history/article_123847

https://www.prachachat.net/spinoff/culture/news-1461726

https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2787027

https://www.nytimes.com/2022/11/09/arts/design/naturalis-museum-java-man-indonesia.html

https://arce.org/resource/rosetta-stone-unlocking-ancient-egyptian-language/

https://www.aljazeera.com/news/2022/11/30/after-220-years-egypt-demands-the-return-of-the-rosetta-stone

https://www.nytimes.com/2020/10/16/learning/should-museums-return-looted-artifacts-to-their-countries-of-origin.html

https://www.nytimes.com/2020/09/21/arts/design/france-museum-quai-branly.html

https://www.france24.com/en/20201007-french-parliament-votes-to-return-stolen-artefacts-to-benin-and-senegal

https://www.rfi.fr/en/africa/20201008-benin-scores-big-victory-as-it-awaits-return-of-looted-treasures-from-france

https://www.bbc.com/news/world-europe-55356374

https://www.aljazeera.com/news/2021/11/9/france-hands-back-26-treasures-looted-from-benin

https://www.nytimes.com/2018/11/26/arts/design/five-countries-slow-to-address-nazi-looted-art-us-expert-says.html

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-66860515

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,