[1]

แม่

‘แม่’ ในนิยามของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า เป็นผู้ให้ชีวิต/ ใช้นำหน้าเพศหญิง ใช้ยกย่อง เช่น แม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ เจ้าแม่/ ใช้เรียกสิ่งของ เช่น แม่กระได แม่แบบ/ ใช้นำหน้าโดยไม่จำกัดเพศ เช่น แม่ทัพ แม่กอง และหมายถึงแม่น้ำ เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง

ฯลฯ

เช่นเดียวกับ Mekong River คนไทยรู้จักในชื่อแม่น้ำโขง คนจีนเรียกแม่น้ำหลานเชียง คนลาวเรียกแม่น้ำของ-แม่น้ำที่ควรเป็นของทุกคน และใช่, มันคือสายธารเดียวกัน 

จากธารน้ำแข็งละลายบนเทือกเขาหิมาลัย ทอดสายเป็นแม่น้ำยาวกว่า 4,900 กิโลเมตร ไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และไหลลงปากแม่น้ำโขงที่เวียดนาม หลายชั่วอายุคนที่แม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 60 ล้านชีวิต บนพื้นที่ลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หล่อเลี้ยงทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม การเกษตร การประมง และระบบนิเวศของสายน้ำ

แม่โขงควรจะทำหน้าที่ของมันไปตามธรรมชาติ จนกระทั่งการเข้ามาของ ‘เขื่อน’ สิ่งปลูกสร้างแสนแปลกปลอม นำโดยแท่งเหล็กและซีเมนต์ เหมือนโซ่ตรวนที่ล่าม และคุกที่คอยกักกั้นลิดรอนอิสรภาพของสายน้ำโขง เขื่อนบางแห่งมีความสูงถึง 292 เมตร เทียบเท่าตึก 100 ชั้น ที่บัดนี้กำลังพรากสายใยแห่งชีวิต สายใยอาชีพ สายใยความหลากหลายทางชีวภาพออกจากผู้คนกว่า 60 ล้านชีวิต เพื่อประโยชน์ของคนเพียงหยิบมือ 

Lancang — Mekong is the same river, We are the same mother.’

Mekong is our Mother.’

ในบรรดาป้ายผ้าน้อยใหญ่ที่ติดบนโฮงเฮียนแม่น้ำของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สองป้ายนี้ดูจะเตะตาและดึงดูดความสนใจฉันมากที่สุด ทั้งในฐานะลูกหลานคนลุ่มแม่น้ำโขง และในฐานะมนุษย์โลกที่ทุกอย่างเชื่อมโยงส่งผลถึงกันและกัน โลกที่ซึ่งสิ่งแวดล้อมไม่ควรมีใครถือสิทธิครอบครองเป็นใหญ่

“แม่น้ำของคือแม่ มันเหมือนเส้นเลือดใหญ่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนจุดใด มันคือสายน้ำเดียวกัน เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำห้วย เป็นเส้นเลือดที่แตกออกมาจากแม่ (น้ำโขง) แต่ถ้าแม่เสียไปแล้วเราจะอยู่อย่างไร” ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้ก่อตั้งและครูใหญ่ของโฮงเฮียนแม่น้ำของ อธิบายอย่างกระชับได้ใจความ

[2]

สาวปากอิง

มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างต่อๆ กันมาว่า เมื่อครั้งที่แม่น้ำโขงยังอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด สาวปากแม่น้ำอิง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ไม่มีใครที่หาปลาไม่เป็น ก็คงจะจริงอย่างเขาว่า

ภาพข้างหน้าคือแม่น้ำอิง ฝั่งตรงข้ามระยะไม่กี่ฝีพายคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เบื้องหลังคือแปลงผักริมโขงของชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่ปลูกพืชผักติดแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเพื่อไว้ใช้กินในครัวเรือน เพราะนอกจากอาชีพประมงที่เคยทำ ตอนนี้แค่หาปลามากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ยังลำบาก 

“เปิ้นได้ก่าหยังเฮากะบ่ฮู้ จาวบ้านก็บ่มีไผฮู้ มีก่าเดือดร้อนน้ำขึ้นน้ำลงบ่เป๋นไปตามธรรมชาติ” พี่ตุ้ย-นาริศรา พูนศิริวิลัย อายุ 51 ปี อาชีพปลูกผักริมแม่น้ำอิงสาขาของแม่น้ำโขงเอ่ยปาก

แปลงผักริมแม่น้ำอิงของเธอประกอบไปด้วยพืชผักสวนครัวทั่วไป เช่น ถั่ว แตงกวา มะเขือ ผักบุ้ง และไร่ข้าวโพด น้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกก็มาจากแม่น้ำอิง กิจวัตรประจำวันไม่มีอะไรพิเศษ ตื่นมาทำกับข้าวโดยใช้ผักจากสวนริมอิง วันไหนที่หาปลาได้ก็จะนำมาประกอบอาหาร หลังทำกับข้าวกับปลาเรียบร้อย เธอจะรดน้ำพรวนดินผักอันเป็นภารกิจช่วงเช้า

เธอเล่าต่อว่า ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่นายทุนเข้ามาทำเขื่อน เมื่อเขื่อนจีนเริ่มกักเก็บน้ำและเมื่อใดที่ปล่อยน้ำออกมา กว่าชาวบ้านจะรู้ก็ต่อเมื่อน้ำมาถึงจนท่วมแปลงผักเสียหาย รวมไปถึงระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดธรรมชาติก็ยากต่อการคาดเดาและเตรียมการรับมือ จนตอนนี้พี่ตุ้ยต้องขยับแปลงผักออกมาปลูกไกลจากแม่น้ำ

ประมาณ 5 โมงเย็น แม่น้ำอิงหลังสวนผักพี่ตุ้ย มีเรือหาปลาอยู่ 2 ลำ ลำแรกมีผู้ชายและผู้หญิง รู้ภายหลังว่าทั้งสองเป็นพี่น้องที่ช่วยพ่อแม่หาปลาตั้งแต่จำความได้ จนถึงตอนนี้ก็ยังคงช่วยกันพายเรือใส่แน่งหาปลาด้วยกันอยู่ วันนี้ได้ปลาพอกินตัวสองตัว-เธอว่า ไม่ถึงครึ่งหากเทียบกับสมัยก่อน 

เรือลำที่ 2 ปรากฏภาพสามคนพ่อแม่ลูก เด็กหญิงมะลินั่งตรงกลางระหว่างทั้งสอง จับได้แต่ปลานิล ส่วนปลาน้ำโขงหรือปลาน้ำอิงนั้นแทบจับไม่ได้แล้ว นานครั้งจะได้ปลาค้าวสักตัว คนบนเรือลำที่ 2 บอกกับฉัน

ปลาน้ำอิงที่เป็นของขวัญจากคนบนเรือนั้น พี่ตุ้ยอาสาทำลาบปลาเมืองให้กิน อาหารมื้อค่ำของฉันผู้ไปเยือนในวันนั้นจึงจบลงด้วยการโอดลาบปลาเพียะกับข้าวเหนียวร้อนๆ จากบ้านสาวปากอิง 

[3]

หายไป

วันที่ 20 ธันวาคม 2559 โครงการเขื่อนปากแบงได้เข้าสู่กระบวนการ ระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ PNPCA (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement) ก่อสร้างในเขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ทางเหนือของ สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยบริเวณแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ประมาณ 97 กิโลเมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ และมีแผนจะขายไฟฟ้าเกือบทั้งหมดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ในเวทีเสวนาดังกล่าว ชาวบ้านได้บอกเล่าถึงความกังวลและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำลุ่มสาขาน้ำงาว และแม่น้ำอิง  อันเป็นผลกระทบสะสมจากเขื่อนจิ่งหงของ ประเทศจีน ที่กักเก็บน้ำไว้ใช้งานและปล่อยน้ำโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า ส่งผลกระทบให้ตลิ่งพัง ส่งผลกระทบต่อการเกษตร พื้นที่เกษตรริมแม่น้ำโขงและที่ราบลุ่มแม่น้ำสาขา

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 รายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิกรณีเขื่อนปากแบง ผลรายงานบางส่วนระบุว่า หากมีการสร้างเขื่อนปากแบง จะมีพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมคือจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่พื้นที่บริเวณสบกก อำเภอเชียงแสน ไปจนถึงแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น รวมระยะทาง 119 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง 27 หมู่บ้านในประเทศไทย 

ผลสำรวจระบุอีกว่าพื้นที่น่ากังวลคือบ้านห้วยลึกและบ้านแจมป๋อง ซึ่งมีระดับใกล้เคียงกับระดับกักเก็บน้ำของเขื่อนที่ สปป.ลาว แจ้งไว้คือ 340 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และหมู่บ้านอันเป็นบ้านเกิดของฉันและบ้านปากอิงก็ติดอยู่ในรายชื่อ 27 หมู่บ้านที่เสี่ยงน้ำท่วม 

แม้จะมีผลการสำรวจมากมาย และผลกระทบเกินคณานับ แต่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Gulf ได้แจ้งต่อตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า Gulf และ China Datang Overseas Investment Co.,Ltd. (CDTO) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อีก 4 วันต่อมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

 “เราไม่เคยคิดถึงคุณค่าที่เราอยู่กินแบบมีมูลค่า คุณสร้างเขื่อนคุณบอกว่าจะได้พลังงานไฟฟ้าเท่าไร แต่คุณรู้ไหมว่าจะเสียอะไรไปบ้าง คิดเป็นเงินทองจำนวนเท่าไร คิดถึงคุณค่า คิดถึงอนาคตของสิ่งแวดล้อม เหล่านี้คือสิ่งที่ไม่เคยถูกหยิบมาคิดคำนวณ 

“ในอดีตเขื่อนเป็นคำตอบเรื่องพลังงาน แต่เขื่อนในอดีตกับเขื่อนปัจจุบันไม่เหมือนกัน ไฟฟ้าสำรองบ้านเราก็เยอะ พลังงานทางเลือก ความมั่นคงทางพลังงานก็มีตั้งแยะ ตอนนี้เขื่อนคือความล้าสมัย เขื่อนไม่ใช่พลังงาน เขื่อนคือเงิน คือ Money มันเป็นการสร้างกำไรที่ดีที่สุด น้ำก็ไม่ต้องซื้อ รับอย่างเดียว ลงทุนครั้งเดียวจบ” 

หลังจากอ่านรายงานความคืบหน้าล่าสุดของเขื่อนปากแบง ประโยคคำพูดของครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ก็วนอยู่ในหัว

“เขื่อนไม่ใช่พลังงาน เขื่อนคือเงิน เขื่อนคือ Money”

[4]

แม่ญิง

‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืด เป็นพืชเศรษฐกิจที่ขึ้นชื่อและเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้คนลุ่มแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูของไก ชาวบ้านสามารถเก็บไกขายได้วันละ 700-800 บาท แต่นับวันไกยิ่งหดหายและใกล้สูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำโขง เพราะระดับน้ำขึ้นลงที่ผันผวนสวนทางกับตามธรรมชาติ ในยามที่ไกกำลังจะถูกเก็บเกี่ยว เขื่อนที่จีนปล่อยน้ำ ไกก็ตาย ยามที่จีนกักเก็บน้ำ ไกถูกแสงแดดส่อง ไกก็ตาย

ผลกระทบของไกไม่ได้ส่งผลแค่ระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มันคือห่วงโซ่อาหารอันเป็นพื้นฐานของระบบนิเวศ ปลาบึก ปลากินพืช ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่กินพืชก็จะหายไปพร้อมๆ กับไก 

“เรากำลังจะไปเก็บไก แต่จู่ๆ น้ำก็ขึ้น ไกมันก็หลุดไปหมด จากได้วันละหลายร้อยบาท บางวันก็ไม่ได้เลย น้ำมันขึ้นลงผิดปกติ บางครั้งแม่ญิงก็มาหาปลา หรือบางทีก็เก็บไกรอสามีที่หาปลา แต่ก่อนก็จะมีรายได้สองทาง เดี๋ยวนี้ไม่ได้อะไรสักอย่าง ปลาก็ไม่มี ไกก็ตาย” 

พี่ตุ้ยเล่าต่อว่าน้ำโขงคือสายน้ำที่สำคัญและส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะผู้หญิง จากในน้ำมีปลาในนามีข้าว ตอนนี้ปลาก็หายาก ไร่นาก็โดนน้ำท่วม ทุกอย่างล้วนต้องใช้เงินซื้อ ในขณะที่ประเทศมีไฟฟ้าสำรองมากจนเกินจำเป็น และชาวบ้านต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น ทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบถึงกันอย่างเห็นได้ชัด

“ผู้หญิงเราปกติทำเกษตร ทำกินหากิน ไม่ได้ขัดสนอะไรมาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว พอขัดสนทุกคนก็ต้องดิ้นรนหาวิธีออกไปข้างนอก จากหมู่บ้านที่มีครอบครัวอบอุ่น ตื่นเช้า 5-6 โมง ก็ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่ได้เห็นหน้าลูกหรือคนในครอบครัว ลูกไม่ได้เลี้ยงก็ส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคมหลายอย่าง เหล่านี้ก็มาจากการหากินในแม่น้ำไม่ได้ อาชีพหาปลามันหาย ปลูกผักขายตามวิถีก็กำลังจะหาย และที่หมู่บ้านนี้จะเหลือเพียงเด็กและคนแก่”

[5]

โขงคือชีวิต

บ้านม่วง ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย นับเป็นการมาเยือนอีสานอย่างจริงจังครั้งแรกของฉันก็ว่าได้ จากเพียงแค่เคยโฉบผ่านไปผ่านมา การมาหนองคายครั้งนี้ด้วยความตั้งใจและเป้าหมายอยากจะเห็นการ ‘ร่อนทอง’ กับตาสักครั้งว่า สายธารที่หล่อเลี้ยงผู้คนมาหลายช่วงอายุ จะมอบแร่ทองคำที่มากับสายน้ำแห่งชีวิตนี้อย่างไร 

  น้ำโขงที่ไหลลัดเลาะผ่านพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ก่อเกิดพรมแดนลาว-เมียนมา และพรมแดนไทย-ลาว ที่สามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย ก่อนไหลเข้าสู่ประเทศลาวทางตอนเหนือ ผ่านเมืองหลวงพระบาง จากนั้นไหลเข้าสู่พรมแดนไทย-ลาวอีกครั้งที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

น้ำโขงที่หนองคายและเชียงของไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สายน้ำดูจะกว้างใหญ่กว่า มีเกาะแก่งให้เห็นมากกว่า และมีต้นไคร้หรือต้นราชินีน้ำขึ้นเป็นหย่อมๆ 

No Dam โขงคือชีวิต’ ป้ายผ้าถูกขึงโบกสะบัดรับลมอยู่ตรงริมหาดแม่น้ำโขง บริเวณบ้านม่วง จังหวัดหนองคาย 

เวลาประมาณ 17.00 น. หมู่บ้านยังเงียบสงบ เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่กลับจากการหาเลี้ยงปากท้องรายวัน บางคนเข้าสวนกรีดยาง ปลูกผัก ตัดใบตอง และหาปลา 

อาชีพขายใบตองเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของที่นี่ ภายหลังปลาในแม่น้ำที่ทอดยาวกว่า 4,900 กิโลเมตร เริ่มเหือดหาย พืชผักริมโขงก็ปลูกไม่ค่อยได้เพราะประสบปัญหาเดียวกันกับชาวเกษตรริมโขงที่อำเภอเชียงของ การปล่อยน้ำจากเขื่อนแบบ-น้ำอยากจะมาก็มา อยากจะไปก็ไป ไม่เคยมีสัญญาณเตือน และไม่เคยมีการชดใช้ความเสียหาย

ค่ำวันนั้น ฉันยังไม่ได้เจอกลุ่มร่อนทอง เพราะหลายคนยังไม่กลับจากสวน จากไร่ จึงใช้เวลาส่วนใหญ่เตร็ดเตร่ในหมู่บ้าน จนไปเจอการทำบายศรีสู่ขวัญจากใบตองฝีมือ พี่ตั๊ก-สุดใจ วิลันดร ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในกลุ่มร่อนทอง ที่หากวันใดว่างเว้นจากงานประจำ เธอก็จะกลับไป ‘เล่นคำ’ เพื่อหารายได้เสริม

เย็นวันนั้นจบลงด้วยงานบายศรีฝีมือพี่ตั๊ก พร้อมกับฝากท้องไว้กับอาหารฝีมือชาวบ้าน ปิดท้ายวันด้วยเหล้าต้มรวงข้าวขาวสุรา 40 ดีกรี 1-2 โบก ที่ชาวบ้านยืนยันว่าของแท้ต้องผลิตที่หนองคายเท่านั้น

[6]

เล่นคำ

วิถีชีวิตของชาวบ้านแม่ญิงในแถบนี้ ปกติทำเกษตร ปลูกพืชผักริมน้ำ เข้าสวนยางพารา พอว่างก็หยิบบ่างคู่ใจเดินลงน้ำโขงมาเล่นคำกัน 

ความหมายของ ‘เล่นคำ’ ในภาษาอีสานก็คือ ‘ร่อนทอง’ ในภาษากลาง

ส่วนบ่างคืออุปกรณ์ร่อนทองทำจากไม้ มีลักษณะคล้ายหมวกเวียดนาม โดยชาวบ้านจะขุดดินในพื้นที่ที่คิดว่ามีแร่ทองอยู่ นำก้อนดินก้อนกรวดเหล่านั้นใส่ตะกร้าล้างในน้ำโขง และเทใส่บ่างทำการร่อนเอาเศษหินดินออกเป็นลำดับต่อไป

แม่สั้น แม่ฟ้า และแม่สิน เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา

การเล่นคำคือการค่อยๆ ร่อนเอาเศษหินดินกรวดออกจากทอง จนสุดท้ายเหลือเพียงแร่ทองเท่านั้น ฉันริลองพยายามเล่นคำอยู่สองสามครั้งเผื่อจะมีทองติดไม้ติดมือกลับบ้านบ้าง แต่มันไม่ง่ายเลย ด้วยจังหวะและน้ำหนักของบ่างและก้อนกรวดซึ่งยากต่อการควบคุมทิศทางในการร่อน

 หากน้ำโขงเข้าบ่างมากเกินไป หินดินที่ขุดมาก็จะลอยไปกับน้ำ หากน้ำน้อยเกิน เศษกรวดก็ไม่หลุด นี่ยังไม่รวมความหนักของบ่างและแสงแดดยามกลางวันที่แผดจ้าบนแม่น้ำโขงอีกด้วย

“เพิ่นเล่นคำกันสมัยปู่สังกะทรายย่าสังกะสีพู้นละ” แม่สิน เล่าถึงวิถีชีวิตของคนบ้านม่วง และการเล่นคำที่มีมาอย่างยาวนานนับแต่อดีต

“ถ้าไม่มีเวียกมีงานก็จะมาเล่นคำ ตั้งแต่ 8 โมงเช้าเลิก 4 โมงเย็น ทำตอนว่างๆ” 

การเล่นคำเป็นอาชีพเสริมของผู้หญิงละแวกนี้ แม่ฟ้า-คนเล่นคำมือดีประจำบ้านม่วงเล่าให้ฟังว่า เมื่อปีที่แล้วเธอเล่นคำโดยใช้เวลาว่างจากสวนเป็นเวลา 23 วัน ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย เมื่อเก็บได้มากพอตามที่หวัง เธอก็จะใช้สารปรอทจับทองให้เป็นก้อน และนำทองไปขายในคราวเดียว ครั้งหนึ่งเธอได้เงินติดตัวกลับมาประมาณ 17,000 บาท 

รายได้จากการเล่นคำนั้นขึ้นอยู่กับว่า ใครขยันแค่ไหน แต่เมื่อใดที่แม่ฟ้าว่างเว้นจากการทำสวน ไร่นา ก็จะหิ้วบ่างเดินลงน้ำโขงทุกครั้งเท่าที่ทำได้

“ตั้งแต่มีเขื่อนอะไรก็ยากมาก” แม่ฟ้าเล่าต่อว่า ตั้งแต่ที่มีการสร้างเขื่อนที่น้ำโขง การเล่นคำก็เริ่มหายไป ปกติแล้วการเล่นคำจะเล่นในช่วงที่น้ำลดเห็นโขดหินและดินตรงแม่น้ำโขง แต่เมื่อมีเขื่อนพื้นที่ในการเล่นคำก็ลดลงเพราะน้ำขึ้น หรือบางครั้งเล่นคำได้ 1-2 วัน พอวันรุ่งขึ้นน้ำกลับท่วมพื้นที่ที่เคยหาทองไปเสียหมด “ก็ขาดรายได้เยอะเหมือนกัน” เธอว่า

ผลกระทบจากระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ส่งผลแค่พื้นที่เล่นคำที่ร่อยหรอลงเท่านั้น แต่ ‘การลวงมอง’ หรือเขตพื้นที่ไหลในการมองหาปลาอันเป็นประมงพื้นบ้านก็จะหายไปด้วย หลายครั้งที่น้ำจากเขื่อนทำเครื่องมือเลี้ยงปากเลี้ยงท้องพัง และปลาเริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนที่ลงเรือเมื่อใดต้องได้ปลาติดมือกลับมาเสมอ

ยายใหม่ ชาวบ้านม่วงอีกคนหนึ่งเล่าว่า “ลวงมองสมัยนี้พอแค่ได้กิน ทำกับข้าวให้ลูกหลาน ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องช่วยกันหาบปลาขึ้น” 

ภายหลังที่ปลูกพืชผักริมโขงไม่ได้ ปลาในแม่น้ำโขงเริ่มเหือดหาย ลูกๆ ของยายใหม่จึงหันหลังให้บ้านม่วงและเดินหน้าเข้าเมืองหลวง หรือทำงานในจังหวัดต่างๆ และยายใหม่ก็กลายเป็นผู้ปกครองของหลาน 2 คนอยู่ที่บ้าน 

“มันบ่มีแนวหากิน หาปูหาปลาก็ไม่ได้แล้ว” 

ยายใหม่เล่าต่อว่า ถ้าน้ำโขงยังอุดมสมบูรณ์ น้ำขึ้นลงตามธรรมชาติและตามฤดูกาล ลูกหลานก็จะยังอยู่บ้านกันพร้อมหน้า ไม่ต้องออกไปหาการหางานทำไกลบ้านแบบนี้ 

“สมัยสาวๆ ยายก็ไปนะเล่นคำ แต่ก่อนก็ขุดดินมาร่อนๆ รายได้มันดี ตอนนี้ไปไม่ได้แล้ว เฒ่าแล้ว ปวดหลัง เดี๋ยวนี้เขาไปเล่นคำกันไม่รู้ยังหาได้อยู่ไหม ตั้งแต่มีเขื่อนอะไรมันก็ยากขึ้น” 

พี่น้องเอ้ย ถึงสิ่งทุกข์ยากแค้นแสนระทมก่าตามซ่าง 

อย่าสุอยู่ว่าง ๆให้เอาบ้างมาฮ่อนทอง 

อย่าสุเศร้าอย่าสุหมอง มาฮ่อนทองกันดีกว่า

ใซ้ซีวิตให้มีข่า ใซ้ปัญญาให้ถูกต้อง พวกพี่น้อง จื่อจำเอาพี่น้องเอ้ย

ฟังกลอนท่านทั้งหลาย ฟังบรรยายกลุ่มร่อนทอง

บ้านม่วงและบ้านหนองมาร่อนทองอยู่คกอ่าง

มาร่อนทองอยู่คกอ่าง การงานบ่ได้ทำ จึ่งพากั๋นมาร่อนทอง

เอาหินน้องยองยอง มาร่อนทองแก่งไปมา มาร่อนทองแก่งไปมา

เจ็บขาก่าต้องทน ถึงสิจนก่าต้องเจียม 

เอาจอบและเอาเสียม มาขุดดินถิ่นน้ำโขง มาขุดดินถิ่นน้ำโขง 

ตอนเย็นตาเวนลง ดีใจลนเมื่อเห็นทอง มื้อนี้สมใจปอง 

ได้เอาทองเมือบ้านเฮา ได้เอาทองทองเมือบ้านเฮา 

(ประพันธ์และขับร้องโดย พี่ตั๊ก-สุดใจ วิลันดร )

ฉันเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในขณะที่วิถีชีวิตของคนทุกคน ทั้งพี่ตุ้ย พี่ตั๊ก แม่ฟ้า แม่สิน และยายใหม่ จากเชียงของถึงหนองคาย… ยังดำเนินต่อไป ยังปลูกผักหาปลา ร่อนทอง ขายใบตองต่อไป… ตามยถากรรม 

แต่วิถีเหล่านี้จะดำเนินไปได้ถึงอีกเมื่อไรกัน… ตราบใดที่แม่น้ำโขงถูกล่ามโซ่ไว้และถูกทำลาย

Tags: , , , , , , , ,