หลังจากโดนพิษไวรัสโควิด-19 เล่นงานจนต้องถูกยกโปรแกรมฉายออกไปเกือบหกเดือนเต็ม ก็ถึงเวลาที่ ‘Mother Gamer’ หรือในชื่อภาษาไทย เกมเมอร์เกมแม่ ได้ลงจอภาพยนต์เสียที ท่ามกลางความคาดหวังจากผู้ชมที่จะได้ชมภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวงการเกมหรือวงการกีฬาอีสปอร์ตอย่างเต็มตัว

โดยนอกจากตัวประเด็นเนื้อหาที่มีความสดใหม่แล้วยังได้ผู้กำกับฝีมือไม่ธรรมดาอย่าง ‘เสือ’ ยืนยง คุรุอังกูร ที่เคยฝากผลงานไว้กับเรื่อง 2538 อัลเทอร์มาจีบ , AppWar แอปชนแอป  มาแล้ว ไปจนถึงตัวนักแสดงดาวรุ่งหลายรายที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ อาทิ  ‘ตน’ ต้นหน ตันติเวชกุล , ‘เติร์ด’ ลภัส งามเชวง และ ‘วี’ วีรยา จาง จากวง BNK48  อีกจุดที่น่าตื่นเต้น คือ การกลับมารับบทบนจอภาพยนตร์อีกครั้งของ ‘อ้อม’ พิยดา จุฑารัตนกุล ในรอบ 15 ปี 

*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง

ตัวหนังหยิบยกประเด็นของปัญหาการเล่นเกมที่ผู้ใหญ่ยังคิดอยู่ว่าไม่น่าจะสร้างอนาคตที่ดีให้แก่เยาวชนได้ ตั้งแต่โรงเรียนไปจนถึงสถาบันครอบครัว ผ่านตัวดำเนินเรื่องหลักคือ เบญจมาศ (อ้อม พิยดา) แม่เลี้ยงเดี่ยวและคุณครูที่ใฝ่ฝันให้ลูกชายมีอนาคตการเรียนที่ดี  โอม (ตน ต้นหน) ลูกชายที่เบื้องหน้าคือนักเรียนดีเด่น แต่แฝงด้วยอีกตัวตน คือ ‘SonicFighter’ นักกีฬาอีสปอร์ตเกม ROV ทีม Higher จนกระทั่งผู้เป็นแม่จับได้ว่าลูกชายแอบเล่นเกมมาตลอด ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างทำตามใจผู้เป็นแม่ ไปสอบชิงทุนเรียน หรือ เลือกเส้นทางการเป็นโปรเพลเยอร์ให้กับทีม Higher ที่กำลังแข่งทัวนาเมนต์เพื่อไปสู่รอบชิงแชมป์โลก ซึ่งน่าจะเดากันได้ไม่ยากว่าโอมจะเลือกเส้นทางการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตตามความต้องการอย่างไม่ต้องสงสัย  จึงเป็นหน้าที่ของ เบญจมาศ ที่จะต้องทำทุกวิถีทางในการดึงลูกชายตัวเองให้กลับมาสู่เส้นทางเล่าเรียนเพื่อไปสอบชิงทุนแบบที่คาดหวัง เธอจึงรวบรวมเหล่าเด็กวัยรุ่นที่คาแรกเตอร์ดูมีปัญหาแต่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ด้านการเล่นเกมมารวมตัวกัน เหมือน นิค ฟิวส์รี่ รวมทีมอเวนเจอร์ก็ไม่ปาน นำทีมโดย กอบศักดิ์ (เติร์ด ลภัส) อดีตนักกีฬาอีสปอร์ตทีม Higher ที่ถูกไล่ออกจากทีมและกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมการเรียน , มะปราง (วีรยา จาง) สาวสวยสุดคิวท์ประจำทีม  ซึ่งเป้าหมายหลักคือส่งทีมลงแข่งทัวนาเมนต์เดียวกับทีมของลูกชายและขัดขวางไม่ให้ผ่านไปสู่รอบระดับโลก

ก่อนอื่นต้องชมการทำงานอย่างหนักของทีมผู้กำกับ เสือ ยืนยง ที่สามารถนำกิมมิคเล็กๆน้อยๆจากเกม ROV (Arena of Valor) เกมมือถือแนว Moba วางแผน มาใช้ได้อย่างคุ้มค่า มีการปูแทรกคำศัพท์ ความเข้าใจในตัวเกมในระหว่างการดำเนินเรื่องได้อย่างไม่เขอะเขิน รวมถึงการหยิบคาแรกเตอร์ตัวละครในเกมมาใช้ประกอบได้อย่างเหมาะสม ซึ่งถ้าเป็นคนเล่นเกมนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วน่าจะชอบในส่วนของจุดนี้ และถึงแม้จะยังไม่เคยเล่นก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก

กลับมาที่เนื้อหาประเด็น ‘เด็กเล่นเกม’ ที่ถูกหยิบยกมาเป็นแกนหลัก เป็นสิ่งที่ทำได้ดีภายในเรื่อง เพราะมีการแบ่งภาคประเด็นนี้ออกเป็นสองฝั่งทั้งตัวเด็กที่เล่นเกมกับผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่มองเกมในแง่ลบ มองว่าเด็กมักจะใช้มือถือเพื่อเล่นเกมเพียงอย่างเดียวแล้วเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ตัวหนังทำให้เห็นสิ่งที่ทั้งสองเจเนอเรชั่นต้องการจะสื่อให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ทำไมลูกฉันถึงคิดแบบนั้นล่ะ? ทำไมพ่อแม่ถึงคิดแบบนั้น? หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นกระบอกเสียงให้ครอบครัวที่มีปัญหาในเรื่องนี้ได้ นอกจากนั้นยังมีการฉายภาพแสดงให้เห็นปัญหาวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่มีความละเอียดอ่อน การเลือกอนาคต, การเรียน, ความกดดันในการใช้ชีวิต น่าจะมีครบเกือบทั้งหมดของสารพัดปัญหาวัยรุ่น

ในส่วนของข้อเสียอาจจะมีในส่วนของไดอะล็อกบทพูดบางฉากที่ฟังดูแล้วไม่เป็นธรรมชาติเท่าไร การให้แอร์ไทม์ในบางฉากเยอะจนเกินและการตัดคัทซีนเชื่อมแต่ละฉากที่ดูแปลกตา อย่างการเฟดจอจากบนและล่างขึ้นพร้อมกัน ที่ดูแล้วน่าจะขัดใจผู้ชมบางท่านได้ แต่ข้อเสียเหล่านี้ถูกทดแทนด้วยตัวนักแสดงที่เห็นถึงความตั้งใจในทุกๆ ซีน

โดยรวมแล้ว Mother Gamer สามารถทำได้ดีเกินคาด แม้แต่เรื่องที่น่ากังวลอย่างความเข้าใจในกีฬาอีสปอร์ตหรือตัวเกม ROV ที่ถ้าคนไม่เคยดูจะเข้าใจได้หรือเปล่าก็ทำออกมาได้เยี่ยมเช่นกัน ทางที่ดีครอบครัวที่มีปัญหาความเข้าใจโดยเฉพาะถ้าบ้านของคุณมีลูกที่เล่นเกมหรือแม้แต่ปัญหาความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ปกครองด้วยแล้วล่ะก็ลองจับมือกันไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ซักรอบน่าจะหาเหตุผลทำความเข้าใจกันจากหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก

เกมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสื่อเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้น หากมองให้ลึกไปกว่านั้นสถาบันครอบครัว ความเข้าใจจะเป็นตัวหล่อหลอมให้แต่ละปัญหาคลี่คลาย

Tags: