คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเขียนถึงหนังเรื่องนี้ของดาร์เรน อาโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) โดยไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง แต่ถ้าให้กล่าวอย่างกว้างๆ ก็ต้องยอมรับว่า mother! เป็นการกลับมาที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย หลังจากที่เขาได้ไปลองชิมลางทำหนังสตูดิโอเรื่อง Noah (2014) แล้วได้ผลตอบรับไม่ค่อยสู้ดีนัก แม้ผลงานระทึกขวัญเรื่องนี้จะถูกคนดูสับเละจนได้รับเกรด F ไปจากเว็บไซต์ CinemaScore แถมยังมีชะตากรรมบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศที่น่าเป็นห่วง แต่กระแสถกเถียงกันอย่างร้อนแรงว่าตกลงหนังเรื่องนี้มันดีหรือเลวอย่างไร ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความบ้าคลั่งที่อาโรนอฟสกียัดลงมาในหนังอย่างไม่ยั้งมือ และความทะเยอทะยานในการพาหนังไปให้สุดทาง

หลายเสียงจึงชี้ว่า mother! เป็นหนังประเภทที่ดูจบแล้วหากไม่ชื่นชมก็คงต้องเกลียดกันไปข้าง เพราะใครจะไปคิดว่าต้นทางของเรื่องราวที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของสองผัวเมีย (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กับฆาเบียร์ บาร์เด็ม) ในบ้านหลังเก่าที่พวกเขาพยายามซ่อมเสริมเติมแต่งจะดำเนินไปสู่ปลายทางชวนเหวอเช่นนั้น รวมทั้งองค์ประกอบทางภาพยนตร์ของมันก็ยังหนักหน่วงเอามากๆ ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบเสียงอันแสนโกลาหล หรืองานภาพฉวัดเฉวียนชวนวิงเวียนที่ตามประชิดตัวละครของลอว์เรนซ์จนน่าอึดอัด แน่นอนว่าการเล่นกับโสตประสาทคนดูอย่างเข้มข้นนั้นไม่สามารถทำงานกับทุกคนได้เหมือนกัน แต่มันย่อมบีบเค้นให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบที่เข้มข้นกลับมาจากคนดู

(ต่อจากนี้มีสปอยเลอร์)

ว่ากันตามตรง แม้ mother! จะเฮี้ยนคลั่งเพียงไร แต่มันก็ยังเทียบกับผลงานเพชรยอดมงกุฎเรื่องอื่นๆ ของอาโรนอฟสกีได้ยากอยู่ดี เพราะตัวหนังแทบจะทิ้งการเล่าเรื่อง ความหนักแน่นทางอารมณ์ และความรุ่มรวยของดรามาแบบที่เคยมีใน Pi (1998), Requiem for a Dream (2000), The Fountain (2006), The Wrestler (2008) หรือ Black Swan (2010) ไปเลย แล้วมุ่งเน้นอยู่กับการอุปมานิทัศน์ (allegory) เทียบกับคัมภีร์ไบเบิลหรือตำนานของคริสตศาสนาเสียมากกว่า การดู mother! จึงเป็นการนั่งไขปริศนาสัญลักษณ์ต่างๆ มากกว่าการดูเพื่อเสพเรื่องราวอันลุ่มลึก ข้อดีอาจเป็นการตีความของผู้ชมที่สามารถเป็นไปได้หลายทิศทางและขยับขยายความเป็นไปได้ของตัวหนังได้อย่างกว้างขวาง กระนั้นก็ดี เมื่อปริศนาได้ถูกแก้บนจอเสร็จเรียบร้อยแล้ว คนดูก็อาจเดินออกมาจากโรงพร้อมความรู้สึก ‘จบแล้วจบกัน’ ได้เช่นกัน

ปริศนาของอาโรนอฟสกีเริ่มที่ภาพของบ้านอันมอดไหม้ ก่อนที่ตัวละครสามีผู้มีสถานะเทียบเคียงได้กับ ‘พระเจ้า’ จะวางก้อนเพชรลงบนแท่น คืนสภาพเศษซากตอตะโกให้กลับมาเป็นบ้าน แล้วหญิงสาวผู้เป็นภรรยาจึงตื่นขึ้นมาทำการซ่อมแซม เป่าชีวิตชีวากลับคืนให้บ้านทั้งหลังหรือ ‘โลก’ ทั้งใบของพวกเขาอีกครั้ง ทั้งสองอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข แต่แล้วอยู่ๆ สามีที่ตามท้องเรื่องเป็นนักเขียนชื่อดัง ก็ได้เชื้อเชิญให้ชายแปลกหน้า (เอ็ด แฮร์ริส) ผู้เป็นแฟนหนังสือเข้ามาค้างแรมในบ้าน ในคืนเดียวกัน เราเห็นชายผู้นั้นเป็นแผลเหวอะบริเวณซี่โครง แล้วในวันถัดมา ภรรยาของชายแปลกหน้า (มิเชลล์ ไฟเฟอร์) ก็ตามมาเคาะประตูหน้าบ้าน

ตรงนี้เองที่การเทียบเคียงไบเบิลของหนังแสดงออกมาให้เราเห็นชัด ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์คนแรกที่เข้ามาในบ้าน/โลก/สวนอีเดน (อาดัม) หรือการถอดซี่โครงซี่หนึ่งของอาดัมมาสร้างเป็นอีฟ แล้วหนังก็ไล่เล่าเรื่องเทียบตามเส้นเวลาของตำนานไบเบิลเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ที่คู่ผัวเมียแปลกหน้าแอบเข้าไปในห้องทำงานส่วนตัวของนักเขียนแล้วทำก้อนเพชรปริศนาแตก (ผลไม้ต้องห้ามที่ทำให้อาดัมกับอีฟถูกขับไล่ออกจากอีเดน) ตามมาด้วยการทะเลาะวิวาทของลูกชายทั้ง 2 ของพวกเขา จนฝ่ายหนึ่งถูกฆ่าตายในบ้าน (เคนและเอเบล ที่ถือเป็นฆาตกรรมครั้งแรกของโลกและต้นธารความชั่วร้ายของมนุษยชาติ) หรือเมื่อนักเขียนเปิดบ้านรับแขกจำนวนมากที่มางานศพจนพวกเขาทำท่อน้ำแตก (อุทกภัยกวาดล้างโลกในช่วงเวลาของ ‘โนอาห์’) ฯลฯ

หนังติดตามเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านสายตาของมารดา หรือภรรยาของพระเจ้า ผู้เป็นเสมือน Mother Nature หรือจิตวิญญาณธรรมชาติที่ครองรักกันอย่างกลมเกลียวกับพระเจ้าผู้สรรสร้าง สำหรับเธอ การอยู่ครองคู่กันเพียงลำพังในบ้านของเขานั้นเพียงพอแล้ว เธอไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านั้น การเข้ามาของฝูงชนในแต่ละระลอกล้วนแต่เป็นการบุกรุกคุกคาม เธอหมดอำนาจในการควบคุมอย่างสิ้นเชิง ทุกห้องหับ ทุกข้าวของเครื่องใช้ ล้วนถูกคนอื่นยึดไปใช้ตามอำเภอใจ

ตลอดทั้งเรื่องเราได้เห็นว่าบ้านหลังนั้นถูกรุกรานและทำลายลงไปเรื่อยๆ จากกลุ่มคนที่เข้ามา ราวกับรอยเลือดจากการฆ่ากันตายครั้งแรกในบ้านได้ฝากคราบของความรุนแรงเอาไว้อย่างถาวรเพื่อเพรียกหาการนองเลือดมาสนองต่อกันไปเรื่อยๆ ยิ่งบ้านถูกกระทำมากเท่าไหร่ เราจะเห็นว่าเรือนร่างของมารดาก็ค่อยๆ ตายลงไปทีละส่วนอย่างช้าๆ จริงอยู่ที่เธออาจสำแดงฤทธิ์เดชเพื่อสนองกลับบ้าง แต่ฝูงชนย่อมหาวิถีทางเอาชนะเธอได้อยู่ร่ำไป

หนังจึงแสดงให้เห็นภาพความโลภโมโทสันของมนุษย์ที่เอารัดเอาเปรียบโลกของธรรมชาติอย่างไม่มีวันพอ ในขณะที่ธรรมชาติเองก็ถูกมองว่าเป็น ‘ผู้ให้’ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นแม่ผู้เสียสละ ผู้ฟูมฟักลูกของพระเจ้า และยินยอมทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า แต่อย่าลืมว่าสถานะดังกล่าวเป็นสถานะที่ถูกให้ความหมายจากผู้อื่นไม่ใช่ตัวเธอเอง ธรรมชาติถูกบังคับให้คงอยู่ในสถานะของผู้ให้มากกว่าจะเป็นผู้ให้โดยธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ก็เป็นการปลอบประโลมว่ามนุษย์ไม่ได้เลวร้ายในการทำลายธรรมชาติอย่างที่คิด และพระเจ้าไม่ได้เอาเปรียบธรรมชาติ แต่เธอยินยอมเพราะความรักต่างหาก แม้กระทั่งในตอนท้ายที่ใกล้สิ้นลมหายใจ ธรรมชาติยังควักหัวใจมอบให้พระเจ้าเอามาสร้างโลกใบใหม่เลย …ดูความรักอันไร้ขีดจำกัดของธรรมชาติสิ!

ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาของ mother! ไม่ได้ห่างไกลจาก Noah มากนักตรงที่มันเป็นเรื่องราวอิงไบเบิลโดยมีหัวใจหลักเป็นสาสน์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (environmentalism) เหมือนกัน

ใน Noah อาโรนอฟสกีนำเรื่องราวจากบทปฐมกาลมาเล่าใหม่ โดยอุทกภัยครั้งใหญ่จากพระเจ้าเป็นการชำระล้างผืนแผ่นดินที่มนุษย์ exploit และ corrupt อย่างร้ายแรง มีมนุษย์ไม่กี่คนเท่านั้นที่เหลือรอด ซึ่งก็คือโนอาห์กับครอบครัวของเขา ที่นอกจากจะเป็นผู้ศรัทธาแล้วยังใส่ใจในการอยู่รอดของโลกธรรมชาติและสรรพสัตว์ (อาโรนอฟสกีเคยบอกด้วยซ้ำว่าเขามองว่าโนอาห์เป็น ‘นักสิ่งแวดล้อมคนแรกของโลก’) หลักๆ แล้วมนุษยชาติจึงถูกมองว่าเป็นเผ่าพันธุ์ชั่วร้ายคดโกงทั้งใน Noah และ mother! เป็นผู้ทำลายล้างทั้งหน้าแผ่นดินที่พระเจ้าสร้างและทำร้ายซึ่งกันและกันเอง ยิ่งเมื่อ mother! เล่าจากมุมมองของ Mother Nature แล้ว มนุษย์จึงถูกเหมารวมว่าชั่วร้ายไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี มนุษยชาติก็ใช่ว่าจะเป็นฝ่ายเดียวที่ถูกวิพากษ์ในหนัง ตัวพระเจ้าเองก็เช่นกัน หนังวางให้พระเจ้าเป็นประพันธกรผู้มีถ้อยคำจูงใจให้คนเลื่อมใสได้มากมาย เป็นศิลปินผู้สรรสร้างได้อย่างน่าอัศจรรย์ พระองค์พึงพอใจเป็นอย่างมากเมื่อได้รับการยกยอปอปั้นจากผู้ติดตาม โปรดปรานเมื่อมี ‘บ่าว’ ภักดี จึงยินดีที่จะเปิดประตูบ้านต้อนรับผู้ศรัทธา แม้นั่นจะหมายถึงความพังพินาศของบ้านก็ตาม พระเจ้าจึงถูกมองว่าเอาแต่ใจและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการจัดการกับสรรพสิ่งที่พระองค์สร้าง เพราะผู้ที่จัดการซ่อมแซมและทำนุบำรุงทุกอย่างในบ้านไม่ใช่พระเจ้าแต่เป็นมารดาเสมอมา เมื่อเกิดเหตุรุนแรงโหดร้ายขึ้นในบ้าน พระเจ้าก็ได้แต่ ‘ให้อภัย’ เพราะไม่รู้จะทำอะไรนอกเหนือไปจากนั้นได้อีก พระเจ้าในความหมายของ mother! แม้จะยังถูกสะกดขึ้นต้นด้วยตัวอักษรตัวใหญ่แต่ก็หาได้ ‘ยิ่งใหญ่’ ในความหมายนอกบริบทตัวหนัง ตรงที่พระองค์ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ในการดลบันดาลหรือกำหนดกฎเกณฑ์ พลังเดียวที่พระองค์มีคือพลังของการสร้าง พระองค์จึงได้แต่สร้างและเฝ้ามองดูโลกดำเนินไปจนถึงวันที่โลกถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ เพียงเพื่อจะได้สร้างใหม่เรื่อยไปเช่นนั้น

นักคณิตศาสตร์ผู้มุ่งมั่นกับการหาค่าพาย หนุ่มสาวติดยาเสพติดชายผู้ใฝ่หาชีวิตนิรันดร์ หรือนักเต้นบัลเลต์สติหลอนผู้ดิ้นรนเพื่อความสมบูรณ์แบบ… ตัวละครในหนังของอาโรนอฟสกีมักมีความหมกมุ่นบางอย่างที่มีพลังทำลายล้างอันน่าพรั่นพรึงเสมอ ดูเหมือนว่าตัวละครตัวนั้นใน mother! จะไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระเจ้านั่นเอง

Tags: , , , , , , ,