หลังจบเปิดงานนิทรรศการ เดินข้ามสะพานกับหนึ่งหนุ่มตุ้ยนุ้ย และอีกสองหนุ่มเดินตามหลังกอดคอแบบแมนๆ ดึกแล้ว จิตยังทำงาน

ใครสักคนเขียนงานจบปริญญาตรีด้วยชื่อ ‘ในนามของสิ่งตกค้าง : เถ้าธุลีแห่งศิลปะ’ 

ผลงาน 2 ชิ้นจากนิทรรศการต่างกัน เหลือตกค้างไว้ตรงหลืบห้วงคิดคำนึง หนึ่งคือ รถถังจมทะเล (ขอเรียกดังนี้ไม่ว่าจะขนานนามไว้ว่าอย่างไร) ของ ธาดา เฮงทรัพย์กูล สองคือ พืชผักถักร้อยห้อยแขวน (แล้วแต่จะตั้งชื่อ) ของ ธามม์ นีลพนากูล ต่างแสดงในกลุ่มงานต่างธีมนิทรรศการ ต่างห้อมล้อมไปด้วยผลงานอื่นๆ ต่างหน้าหลากตา การเก็บตก 2 ผลงานต่างรูปลักษณ์และความคิด ไม่ใช่เพื่อเอามาประจันหรือประชันข้ามขอบเขตการแสดงของพื้นที่เดิม (แต่อะไรคือพื้นที่ดั้งเดิม) เพียงแค่เป็นสิ่งตกค้างเสมือนร่องรอยจากการได้เห็นได้คิดได้รู้สึก มีทั้งระยะและเกาะเกี่ยวไปกับปลารอบรถ ไปกับพืชเฉาเหี่ยวหรือสดสะพรั่งใต้กระจก กับเปียผมไร้หัว ไปกับรถถังขึ้นตะไคร่ ไม่มีการเปรียบเทียบเชิงตรง มันก็ต่างอยู่ของมันอย่างนั้น จะมาพันร้อยเป็นเปียก็เพราะจิตกระหวัดจากผู้ชมที่บังเอิญได้ดู 2 งานไล่เลี่ยกัน 

 

  ไม่ว่าเรื่องเล่าทั้งปวงจะสร้างนาฏกรรมใดขึ้นมาแวดล้อม รถถังจมทะเลพร้อมปลาสีสวยว่ายวนล้อมเหมือนเยาวชนในงานวันเด็ก รถถังหมดฤทธิ์ สิ้นอิทธิฤทธิ์ ถูกสกัดไว้ในตู้ปลามหึมา รอให้ปะการังงอก รอผุรอกร่อนหรือรอผงาดขึ้นมาอีกครั้ง Irony ของรถถังตกน้ำ คือฤทธิ์จากสิ่งตกค้าง จากสภาพการตกค้างที่ทำให้ไม่สิ้นฤทธิ์ เหมือนภาพหลอนจากซากโบราณคดีทั้งๆ ที่หมดอายุใช้งานไปแล้ว ทุกภาพแสนหวานที่ชวนดำดิ่งลงไปแหวกว่ายดูและเล่นรถที่ไม่เป็นรถอีกต่อไป แฝงสภาพความรุนแรง นึกไปถึงคำ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ที่ว่า “ใครบอกน้ำตาลละมุน น้ำตาลสิรุนแรง”

วิดีโอทำให้เห็นอำนาจตกค้าง จม แต่ไม่ตาย ไม่หาย จะเคยใช้งานจริงจนหมดอายุขัย หรือจะซื้อมาประดับอำนาจ รถถังในวิดีโอไม่ใช่รถถังจริง แต่ครั้นจะปลดแอกจากเนื้อตัวความเป็นจริง คงต้องสร้างคำเรียกเสียใหม่และมองวัตถุดังกล่าวที่อ้วนป้อมพอง พร้อมก้านยาวยื่นออกมา ว่าเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่มีพิษมีภัย ประวัติศาสตร์การเป็นวัตถุจำเพาะในหน้าที่จำเพาะไม่อาจอ่อนข้อปล่อยให้ประดิษฐ์ความคิดไปเป็นอื่น เลี่ยงอำนาจและความรุนแรงแฝงเร้นไม่พ้น ตู้ปลาที่แต่งเติมปะการังและเปลือกหอย เพื่อให้ปลาและสัตว์ทะเลอาศัย ไม่ได้แค่สวยบรรเจิดจากการจัด เพราะปลาก็ถูกกำกับให้มองนิเวศจำลองนั้นว่าอยู่ได้ ว่ารอด  

นั่นไม่ใช่รถถัง ไม่ใช่รถถังในสภาพปกติหรือเคยคุ้น ถูกหักเหประโยชน์ไปเป็นอื่น เป็น Still Life ที่วาดด้วยภาพเคลื่อนไหว คือชีวิตแน่นิ่งตามตัวอักษร ยังไม่ตาย แต่ไม่ใช่มรณานุสติโบราณ ภาษาฝรั่งเศสเรียกภาพหุ่นนิ่งว่า Nature Morte โดยต้องไม่แปล Morte ในความหมายทั่วไปว่า ตาย แต่คือ Still/ นิ่งไม่ไหวติง ไม่มีธรรมชาติตาย ธรรมชาติไม่ตาย ยังว่ายเวียนหลอนประดิษฐ์กรรมจากน้ำมือมนุษย์ หรือว่าต่างเป็นสิ่งตกค้างคือ “เศษเสี้ยวของข้อมูลกับความทรงจำ” ดังคำของ ธนาวิ โชติประดิษฐ ยามเมื่อรถถังแสดงที่แกลเลอรี Nova 

การเป็นภาพหุ่นนิ่งโยงไปยังผลงานของธามม์ที่นำธรรมชาติมาจัดวางในลักษณะหลากหลาย แขวน ร้อยกับตาราง วางติดพื้นใต้กระจก ไม่มีเรื่องมีราวจำเพาะอันใด แบบเดียวกับภาพ Still Life โบราณก็นิ่งเงียบไม่มีเรื่องเล่าเบื้องหลังใหญ่โต แต่ภาพยุคเก่าก็มีกลไกเรียกร้องสายตาและผัสสะของผู้ชม ภาพหุ่นนิ่งของสกุลศิลปินตอนเหนือขึ้นชื่อเรื่องพื้นผิววัสดุที่สมจริงจับตา หลากภาพหุ่นนิ่งที่เป็นข้าวปลาอาหารเรียงราย บางทีก็มีสัตว์มาด้อมๆ มองๆ ราวเป็นผู้ชมในภาพ หรือผักผลไม้มีดช้อนก็อาจเกยพ้นขอบโต๊ะ ยื่นมาทางฝั่งผู้ชม เชื้อเชิญให้หยิบจับร่วมโต๊ะ ผลงานของศิลปินร่วมสมัยไร้กลไกพิเศษอันใด แค่อยู่ตรงนั้นให้พินิจคำนึง ผู้ชมอาจคิดตามคำในโพยนิทรรศการ เช่น ‘ธรรมชาติ’ (ที่ชัดในตัว) ‘ความทรงจำ’ (เกี่ยวกับอะไรหรือใคร) หรืออาจมีท่าทีอย่างอื่น

อย่างไรก็ตามธรรมชาติเหล่านั้นกำลังสูญเสีย กุยช่ายจะร่วงโรย พืชในตาข่ายก็เหี่ยวแห้ง ส่วนที่ปลูกไว้ใต้กระจกก็ไม่รู้ได้ว่าจะรอดไหม สุนทรียศาสตร์แบบ Ephemeral ที่ไม่ขับเน้นความยืนยงของวัตถุ แปลงให้พืชผักเหล่านั้นยังไม่ตาย ไม่ตาย ตกค้าง ดังคำบรรยายเรื่อง ‘ปรับสร้างรูปทรงใหม่ การใช้ส่วนที่หลงเหลือมาทำงานอีกครั้ง’ เจือด้วยลักษณะ Poetic คือมีอารมณ์สุนทรีย์ที่ไม่ใช่มรณานุสติของศิลปินโบราณ  

นิเวศวิทยาจำลองไม่ได้ไร้ซึ่งอำนาจ เพราะกำลังเสื่อมสภาพ เป็นอำนาจคนละแบบกับรถถัง ไม่ใช่ในความหมายของความรุนแรงที่ถูกสยบหรือถูกพักรบแช่ไว้ให้นิ่ง แต่เป็นอำนาจจาก Object สามมิติเบื้องหน้าที่ผู้ชมโยกย้ายขยับไปรอบ วนได้เหมือนปลาในทะเล หากกลับมาดูอีกครั้ง วัตถุศิลปะจะไม่คงเดิม ผันแปรไปกับเวลา คือสภาพภายหน้าที่ไม่อาจเดาได้เกลี้ยง แล้วอะไรเล่าที่ยั่งยืนดังที่มักขับเน้นกัน ก็ในเมื่อผักยังร้าง รถถังยังเฉา มีความชั่วคราวในสรรพสิ่ง และศิลปะเองก็อยู่ในพื้นที่ของการรอ 

ทุกการรอมีความเสี่ยง หลืบของการ Transit กอปรด้วยอันตราย วิดีโอรถถังพาไปไกลทั้งในความนึกคิดและในทางกายภาพที่มีจอคำและอักษรให้อ่านประกอบเรื่องอีกหนึ่งจอ ตัวอ้างอิงและการอ้างอิงกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการผุกร่อนของเอกเทศในตัว พืชผักในระบบการตัดต่อจัดวาง นิ่ง แช่ในความนึกคิด อันตรายจากทุกหุ่นนิ่งและทุกข้าวของไร้เรื่องจึงอาจมาจากท่าทีความเกลี้ยงเกลา ที่อาจมองเท่เพราะเปลื้องปลดจากปรสิตอื่นใด  

รถถังจมน้ำเหมือนพืชเหี่ยวกลางแกลเลอรีที่จ่อยื่นหาผู้ชม พลังของสิ่งตกค้างคือค้างผู้ชมให้เผชิญกับความหมายไร้จุดสิ้นสุด สุดได้แค่ชั่วขณะสัมผัส ส่วนจะยุติเมื่อไรนั้น พอเกินเลยเวลาไป เราจะถามหาความหมายจากอะไรและเพื่ออะไร ก็อาจต้องรั้งรอ ชะลอท่วงท่าความนึกคิด ยอมเสี่ยงไปกับอำนาจนิ่งเมื่อสรรพสิ่งคงแช่ไว้ให้ยลและประเมิน 

ระหว่างรอ ลองข้ามสะพานปูนกลางดึกพร้อมหนุ่มตุ้ยนุ้ยและสองหนุ่มแมนๆ แล้วดูว่า อะไรเหลือหลงในคำนึงนึก ตกค้างในความว่างเปล่า 

Fact Box

  • ผลงานของธามม์ ร่วมแสดงในนิทรรศการ A Year in the Ground ที่แกลเลอรี STORAGE Bangkok วันที่ 6 เมษายน-8 มิถุนายน 2568
  • ผลงานของธาดา ในนิทรรศการ No man ever steps in the same river twice จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) วันที่ 4 เมษายน-7 มิถุนายน 2568 
Tags: , , , , , ,