รอยสัก (Tattoo) หรือการสักลายบนผิวหนัง อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือกว่า 4,000 ปี ดังที่พบหลักฐานเป็นรอยสักบนร่างกายของมัมมี่ฟาโรห์ในอียิปต์ โดยการสักในอดีตมีจุดประสงค์และความเชื่อที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่และวัฒนธรรม บ้างสักเพื่อความสวยงาม บ้างสักเพื่อประจานความผิด บ้างสักเพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง บ้างก็สักเพื่อแสดงความเป็นสมาชิกกลุ่ม หรือสักเป็นข้อมูลเพื่อเตือนความจำ
หากย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้านี้ การสักหรือคนที่มีรอยสัก มักโดนสังคมตัดสินว่าเป็นคนไม่ดี เกเร เป็นนักเลงหรือเป็นพวกนักโทษ อีกทั้งรอยสักยังเป็นอุปสรรคต่อการสมัครงานหรือเข้ารับราชการ
ทว่าในปัจจุบันภาพลักษณ์ของรอยสักมีความเป็นแฟชั่นและศิลปะมากขึ้น
งาน Thailand Tattoo Expo เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ยืนยันว่า วงการรอยสักในประเทศไทยกำลังเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เพราะภายในงานมีช่างสักมากฝีมือทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มาแสดงผลงานที่ไม่สามารถหาชมได้ง่ายๆ อีกทั้งยังปรากฏภาพของกลุ่มช่างสักที่มาแลกเปลี่ยนแนวคิดและเทคนิคกันภายในงาน เป็นภาพความกลมเกลียวของวงการสักไทยที่เติบโตไปอย่างก้าวกระโดด
The Momentum มีโอกาสเข้าชมงาน Thailand Tattoo Expo ครั้งที่ 5 ภายในงานเต็มไปด้วยรอยสักมากมายหลายสไตล์ รวมไปถึงผู้คนที่ชื่นชอบรอยสักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน เป็นสิ่งบ่งบอกว่า กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก ขณะเดียวกันยังมีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ยิ่ง ยังเติร์ก’ หรือ พนิษฐ์นันท์ นิ่มนวล หัวเรือใหญ่ที่ทำให้เกิดงาน Thailand Tattoo Expo ผู้ที่อยากผลักดันวงการสักไทย จาก ‘Ink on Skin’ ให้เป็น ‘Art on Skin’
บทสนทนากับ ‘ยิ่ง ยังเติร์ก’ หรือ พนิษฐ์นันท์ นิ่มนวล เจ้าของร้าน Ying Youngterk Tattoo Studio เริ่มต้นไปอย่างเรียบง่าย โดยพนิษฐ์นันท์ได้เล่าเส้นทางการสักของตนเอง ตั้งแต่เริ่มจับเข็มครั้งแรกในปี 2532 ก่อนที่จะฝึกฝนตนเองมาโดยตลอด จนมีร้านของตนเองที่พัทยา จตุจักร และซอยวิภาวดี 16 นอกจากนี้ พนิษฐ์นันท์ยังมีโอกาสได้เดินทางไปหาประสบการณ์ต่างแดน ทั้งประเทศสิงคโปร์ สวีเดน และออสเตรเลีย ซึ่งมีโอกาสเข้าร่วมการประกวดและได้รับรางวัลมาตลอด
พนิษฐ์นันท์เล่าถึงภาพรวมวงการสักไทยสมัยก่อนที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่า ตอนนั้นช่างสักเหมือนชนกลุ่มน้อย คนมักจะมองรอยสักว่าเป็นคนเกเร เป็นนักเลง เป็นผู้ร้าย จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาอยากสร้างทัศนคติต่อรอยสักแบบใหม่ โดยจาก หมึกบนผิวหนัง (Ink on Skin) เป็นศิลปะบนผิวหนัง (Art on Skin) แทน
สำหรับการได้มาเป็นผู้จัดงาน Thailand Tattoo Expo พนิษฐ์นันท์ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นว่า เกิดจากวันหนึ่งมีรุ่นน้องมาบอกว่ามีงานเกี่ยวกับรอยสักที่ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK) ด้วยความสนใจตนจึงไปเข้าร่วม และมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้จัดของทาง MBK จนกลายมาเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมจัดงานในเวลาต่อมา
“ทีแรกคนก็ไม่ให้ความสนใจ ผมก็เดินแจกใบปลิว เพราะสมัยก่อนไม่มีโซเชียลฯ เลย กระจายข่าวกันยาก คนในวงการเองก็ดูแคลน บอกว่าจัดไม่ได้หรอก แต่ก็ไม่เป็นไร ไม่ชอบก็อยู่กันคนละมุมไป” พนิษฐ์นันท์กล่าว
จนมาถึงปี 2560 พนิษฐ์นันท์ได้เริ่มจัดงาน Expo ครั้งแรกที่ไนท์บาซาร์ รัชดา ซึ่งเป็นการจัดงานแต่เพียงคนเดียว ชนิดที่ว่า ‘ได้ก็ได้คนเดียว เจ็บก็เจ็บคนเดียว’ โดยเหตุผลที่มาจัดกับทางไนท์บาซาร์ แทนที่จะเป็นห้างสรรพสินค้ามาบุญครองซึ่งเป็นสถานที่แบบ Outdoor เป็นเพราะเรื่องสภาพอากาศและการควบคุมบรรยากาศภายในงาน
งานครั้งนั้นจบลงด้วยดี มีช่างสักชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ช่างสักไทยเองก็มาร่วมงานแลกเปลี่ยนความคิดกันไม่น้อย จึงทำให้เกิดงานครั้งต่อๆ มา จนถึงวันนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว
นอกจากช่าง คนที่ชื่นชอบรอยสักก็พร้อมจะเป็นหุ่นให้กับช่างภายในงาน โดย สิน-พงษ์อมร สมิตทันต์ (คนซ้าย) พนักงานบริษัทหนุ่มผู้หลงใหลในเสน่ห์ของการสักโดยเฉพาะรอยสักสไตล์ญี่ปุ่น ตัดสินใจมาร่วมงานครั้งนี้ในฐานะหุ่นหรือโมเดลประกวดรอยสักของร้าน 38 Tattoo Studio ซึ่งนี่เป็นหุ่นประกวดครั้งที่ 4 ของเขาแล้ว
พงษ์อมรเล่าถึงเส้นทางการเป็นหุ่นสำหรับสักว่า ไม่ได้กังวลอะไร เพราะเชื่อใจ รู้ฝีมือ รู้สไตล์ช่างสักอยู่ก่อนแล้ว โดยที่ผ่านมา เขาได้ชนะการประกวดในงาน Thailand Tattoo Expo มาแล้ว 2 รางวัล คือรางวัลชนะเลิศประเภทเจแปน และอันดับที่ 3 ประเภท Big Job Colour
“เห็นรอยสักแบบนี้ จริงๆ ที่บ้านไม่มีใครรู้สักคนเลยนะพี่ เต็มตัวขนาดนี้ไม่มีใครรู้เลย (หัวเราะ) พอดีผมไม่ได้กลับบ้านเลย บ้านอยู่ต่างจังหวัด เดี๋ยวสงกรานต์นี้ว่าจะกลับและไปบอกที่บ้านด้วย” พงษ์อมรกล่าวติดตลกถึงเรื่องรอยสักบนตัวเขา แต่อย่างไรเขาก็มั่นใจว่าที่บ้านจะเข้าใจ เพราะหากทำงานแล้ว ดูแลตัวเองได้ ทางบ้านก็ไม่ขัดในเรื่องความชอบอื่นๆ ของตน อยากจะทำอะไร ก็สามารถทำได้เลย
แม้รอยสักจะมีกระบวนการอันเจ็บปวดจากฝีเข็มสู่ผิวหนัง แต่งานศิลปะศาสตร์นี้ไม่เคยแบ่งแยกเพศ ทุกคนมีรอยสักได้ ในยุคปัจจุบันผู้หญิงนิยมการสักมากขึ้น ทั้งสักเพื่อความสวยงาม หรือสักลายสายมูฯ เพื่อเสริมความมั่นใจในการงานอาชีพ
โดยบุคคลทั่วไปสามารถซื้อตั๋ววอล์กอินติดต่อช่างสักได้เลย หากถูกใจและชื่นชอบในผลงานของช่างคนไหนภายในงาน Thailand Tattoo Expo โดยช่างสักจะออกแบบลายสักตัวอย่างให้ผู้เข้าชมได้เห็น ถ้าถูกใจก็ลงเข็ม สักกันภายในบูธต่อได้ทันที
แม้ปัจจุบันเครื่องมือและอุปกรณ์การสักจะพัฒนามากขึ้น แต่ยังมีช่างสักบางส่วนเลือกที่จะใช้เครื่องมือแบบเข็มไร้เครื่อง เพราะสุดท้ายความถนัด ความชำนาญ และการสร้างผลงานให้ลูกค้าพึงพอใจได้ คือเป้าหมายของการสัก ไม่ใช่เรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแต่อย่างใด
สำหรับ Thailand Tattoo Expo ถือเป็นงานสักที่ได้รับความนิยมขึ้นทุกปี โดยในปีนี้มีบูธจากช่างสักชาวไทยและชาวต่างชาติ มาแสดงผลงานและสร้างสีสันมากถึง 200 บูธ
หุ่นหรือโมเดลที่มีลายสักสวยงาม น่าสนใจ ก็ดึงผู้ร่วมงานเข้ามาชมในบูธได้มากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของงาน คือการประกวดรอยสักประเภทต่างๆ บนเวทีใหญ่ของงาน ซึ่งการประกวดดังกล่าวเรียกความสนใจจากผู้ชื่นชอบรอยสัก ให้เข้ามาชมผลงานจากช่างฝีมือระดับสูง อีกทั้งยังเพื่อให้กำลังใจผู้เข้าร่วมประกวดบนเวทีได้ไม่น้อย
สำหรับการประกวดแบ่งเป็น 2 วันโดยไม่ซ้ำประเภท นอกจากนี้ยังมีการประกวด Miss Tattoo Expo เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงานเช่นกัน
อ้างอิง
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramalaser/th/knowledge/tattoo1
Tags: รอยสัก, Tattoo, Art on Skin, Ink on Skin, Thailand Tattoo Expo, Feature, สัก