5 ธันวาคมเวียนมาบรรจบอีกครั้ง คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีว่า วันนี้คือ ‘วันพ่อแห่งชาติ’ บรรยากาศการใส่เสื้อเหลือง ประดับประดาด้วยดอกพุทธรักษา แม้ว่าในห้วงยามนี้อาจจะเห็นสิ่งเหล่านี้น้อยลงไป หลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือภาพที่เราคุ้นชินมาเป็นหลายสิบปี 

อันที่จริงคำว่า ‘พ่อแห่งชาติ’ เพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อราว 43 ปีก่อนนี้เอง และวันพ่อแห่งชาติเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการสถาปนาในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะ ‘พ่อ’ ของแผ่นดิน เป็นบทบาทที่เพิ่มเติมจากการเป็นองค์พระมหากษัตริย์ และจากการเป็นประมุขของรัฐ

The Momentum ชวนสำรวจเบื้องลึกเบื้องหลังของ ‘วันพ่อแห่งชาติ’ ทั้งบริบทที่ก่อกำเนิดวันสำคัญนี้ สำรวจวันพ่อแห่งชาติในประเทศอื่นๆ ในโลก รวมไปถึงวิเคราะห์วาทกรรม ‘พ่อแห่งชาติ’ ว่ามีความเป็นมาและความสำคัญอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงยังอยู่อย่างเหนียวแน่นเช่นนี้

วันพ่อ วันชาติไทย และในหลวงรัชกาลที่ 9

สำหรับ ‘วันพ่อแห่งชาติ’ ของไทย ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม 2523 โดย คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา เป็นผู้คิดและริเริ่ม กำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวง ‘รัชกาลที่ 9’ โดยหลักการและเหตุผลที่มีการระบุไว้สำหรับการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติขึ้นก็เพราะเห็นความสำคัญว่า ‘พ่อ’ คือบุคคลที่เป็นผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญยิ่งในครอบครัว ดังนั้น จึงก่อให้เกิดการจัดงานวันพ่อขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เป็นลูกได้เคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณพ่อ รวมไปถึงให้สังคมโดยรวมยกย่องและให้เกียรติผู้เป็นพ่อ ซึ่งหากมองในแง่นี้ ในห้วงเวลานั้นผู้ที่มีเกียรติยศและเหมาะสมที่จะเป็น ‘พ่อแห่งแผ่นดิน’ ที่สุด ก็คงไม่พ้นในหลวงรัชกาลที่ 9

หลังจากนั้น ในประเทศไทยทุกวันที่ 5 ธันวาคม ก็มีการเฉลิมฉลองวันพ่อแห่งชาติอย่างต่อเนื่องมาทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 43 แล้วที่มีการจัดเฉลิมฉลองเหล่านี้

วันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความพิเศษที่นอกเหนือไปจากเป็น ‘วันพ่อแห่งชาติ’ รัฐไทยยังกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมนี้เป็น ‘วันชาติไทย’ อีกด้วย โดยวันชาติถูกเปลี่ยนจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ให้เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาในยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

ถึงแม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตไปนานกว่า 7 ปีแล้ว แต่วันพ่อแห่งชาติยังคงเป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเช่นดังเดิมไม่มีการเปลี่ยน ดังที่ระบุไว้ในประกาศกำหนดวันสำคัญของชาติไทย ของสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 (รวมถึงในประกาศนี้ยังเป็นประกาศที่ระบุเพิ่มเติมให้ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันชาติไทย’ ดังที่กล่าวไปข้างต้น)

สำรวจมุมมองการเฉลิมฉลอง ‘วันพ่อ’ ในต่างประเทศ

นอกเหนือไปจากประเทศไทย อีกหลายประเทศทั่วโลกก็มีการเฉลิมฉลองวันพ่อแห่งชาติเช่นเดียวกัน เช่น

1. วันที่ 19 มีนาคมของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติของประเทศอิตาลี สเปน โปรตุเกส โดยทั้ง 3 ประเทศ มีวันพ่อเป็นวันเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นวันฉลองนักบุญโจเซฟ (St. Joseph) ซึ่งเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของพระบิดา โดยประเทศอิตาลี เดือนมีนาคมยังถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง ส่วนทางด้านสเปนและโปรตุเกสจะเน้นไปทางกิจกรรมทางคริสต์ศาสนา อย่างไรก็ตาม นักบุญโจเซฟถือเป็นแบบอย่างพ่อและสามีที่ดีสำหรับชาวคริสตชน จึงทำให้เกิดการเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวขึ้น

2. ในบางประเทศอย่างเยอรมนี วันพ่อของพวกเขาคือ 40 วันหลังจากวันอีสเตอร์ (Easter Day) การฉลองวันพ่อในเยอรมนีอาจมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เล็กน้อย เพราะว่าไม่ได้เน้นในส่วนของครอบครัวนัก หากแต่เน้นในแง่การเชิดชู ‘ความเป็นชาย’ อย่างยิ่งยวด ซึ่งกิจกรรมซึ่งเป็นประเพณีในวันดังกล่าวคือ การเข็นรถขึ้นผู้เขา การดื่มเบียร์หรือไวน์ ซึ่งในบางครั้งชาวเยอรมันบางส่วนเองก็กล่าวว่า เป็นวันที่ได้ปลดปล่อยให้ ‘ผู้ชาย’ กลายเป็น ‘เด็กผู้ชาย’ ด้วยซ้ำไป โดยวันพ่อของพวกเขาตรงกับวันที่พระเยซูเสด็จกลับสู่สวรรค์ตามความเชื่อของชาวคริสต์ ซึ่งจะตรงกับ 40 วันหลังวันอีสเตอร์พอดิบพอดี

3. ในฝั่งของสหรัฐอเมริกา วันพ่อของอเมริกาเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากการที่ โซโนรา สมาร์ต ดอดด์ (Sonora Smart Dodd) ได้เข้าร่วมพิธีเทศนาเกี่ยวกับโบสถ์เกี่ยวกับแม่และวันแม่ เธอจึงคิดว่า พ่อในฐานะผู้ดูแล ก็สมควรที่จะได้รับการยกยอเกียรติยศเช่นเดียวกัน โดยเธอจึงเข้าพบและเสนอเรื่องนี้กับรัฐมนตรีเมืองสโปเคน (Spokane) จนสุดท้ายจึงได้ข้อสรุปเป็นวันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายนในทุกปี ซึ่งก็ได้เฉลิมฉลองมาตั้งแต่ปี 2453 เป็นต้นมา ซึ่งในวันดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็น ‘แม่แบบ’ การจัดงานวันพ่อในอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้วันเดียวกัน เช่น ญี่ปุ่น อาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ กัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม และสหราชอาณาจักร

หากดูอย่างตัวอย่างที่ยกไปข้างต้นอาจกล่าวได้ว่า วันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายนอาจเป็น ‘วันพ่อ’ ที่มีแพร่หลายไปทั่วโลกมากที่สุด กระทั่งประเทศพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงยึดเอาวันนี้มาเป็นวันพ่อของชาติตัวเองเช่นเดียวกัน

แล้วเหตุใดกันเล่า ‘วันพ่อแห่งชาติ’ ของไทย จึงต่างออกไป?

วันพ่อแห่งชาติไทย: พ่อ กษัตริย์ รัฐ ความเป็นชาย

หากลองสังเกตจากที่ผู้เขียนยกมาข้างต้นจะพอเห็นได้ว่า ในแต่ละภาคพื้นที่จะมีการเลือกสรรให้ความสำคัญกับ ‘พ่อ’ และ ‘การเฉลิมฉลองในวันพ่อ’ ที่แตกต่างกันไปตามบริบท ทั้งในแง่ครอบครัว ศาสนา และสังคม

ถึงแม้ว่าวันพ่อที่ฉลองใน ‘วันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน’ จะมีบริบทการเกิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง แต่การที่หลายประเทศทั้ง ‘ประเทศที่พัฒนาแล้ว’ และ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ ได้เลือกวันนี้ให้เป็นวันพ่อของประเทศตัวเองเฉกเช่นเดียวกัน ถึงยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด ก็เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าเกี่ยวข้องกับลัทธิการล่าอาณานิคมหรือไม่ อย่างไรก็ดี แม้ว่าสิ่งนี้จะถือว่าเป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่วโลก (Worldwide) แต่ยังอาจไม่ถึงจะเรียกว่า ‘เป็นสากล’ (International) เพราะว่ายังมีบางประเทศที่ไม่ได้ยึดถือวันพ่อในตามธรรมเนียมปฏิบัติเฉกเช่นดังนี้

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มี ‘วันพ่อ’ เป็นของตัวเอง รวมถึงรัฐและประชาชนไทยยังเรียกอย่างภูมิใจว่าเป็น ‘วันพ่อแห่งชาติ’ เพราะว่าเป็นที่เดียวในโลกที่ใช้วันนี้เป็นวันพ่อ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่หาซ้ำได้ยาก

สำหรับผู้เขียนมองว่า ‘วันพ่อแห่งชาติ’ ของไทย ถูกสร้างขึ้นและประกอบไปด้วยอย่างน้อย 4 องค์ประกอบย่อย ได้แก่ พ่อ กษัตริย์ รัฐ ความเป็นชาย ที่ทำงานร่วมกันจนทำให้กลายเป็นวันพ่อแห่งชาติมานานถึง 43 ปีอย่างเช่นในทุกวันนี้

ดังที่กล่าวไปช่วงต้นบทความว่า วันพ่อแห่งชาติของไทยเพิ่งถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม 2523 ซึ่งมาจนถึงปี 2566 นี้ก็ประจวบเหมาะเจาะเป็นปีที่ 43 พอดิบพอดี อย่างไรก็ดี สิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงขึ้นครองราชย์ในปีที่ 35 ในรัชกาลของพระองค์ และปีเดียวกันกับที่เป็นเข้าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งภายหลังต่อมาก็ได้กลายมาเป็นทั้ง ‘องคมนตรี’ และ ‘รัฐบุรุษ’ ซึ่งยังเป็นตัวกลางระหว่าง 3 เสาหลักของการเมืองไทย อันได้แก่ กองทัพ พรรคการเมือง และสถาบันกษัตริย์

อาจกล่าวได้ว่าในสมัยนั้นเป็น ‘ยุคสร้างชาติ’ ของประเทศไทย เพราะในสมัยนั้น ประเทศไทยเริ่มมีแนวทางปรับเปลี่ยนประเทศให้สอดรับกับความเป็นสากลมากขึ้น ทั้งการให้ความสำคัญกับภาคเอกชนและการปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในห้วงเวลานั้นเป็นช่วงที่อำนาจของสถาบันกษัตริย์กำลังพยายามสร้างชื่อเสียงและวางรากฐานสถาบันไว้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการจัดทำ ‘โครงการในพระราชดำริ’ เพื่อขยายฐานการรับรู้ของประชาชนในวงกว้าง

ดังนั้น การเกิดขึ้นของวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งหยิบยกจากวันพระราชสมภพของกษัตริย์มาให้ถูกนำมาจดจำและระลึกถึงในฐานะนี้ รวมถึงการสร้างวาทกรรม ‘พ่อแห่งชาติ’ จากในหลวงภูมิพลที่ทรงพระปรีชาสามารถ เป็นตัวอย่างที่ดีทั้งในการปกป้องครอบครัวและประเทศ ซึ่งวาทกรรมนี้ได้สอดรับกับบริบททางการเมืองและสังคมไทยในขณะนั้นเป็นอย่างดี และยิ่งเสริมสร้างความรัก เคารพ และศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ให้แพร่หลายเช่นเดียวกัน

และในอีกแง่หนึ่ง วาทกรรมพ่อแห่งชาติ ยังปลูกฝังความคิด ความเชื่อว่าด้วย ‘ความเป็นชาย’ ในแบบแผนหลักของประเทศไทย ที่คนเป็นผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายที่เป็นพ่อ จะต้องเป็นผู้นำและหัวหน้าครอบครัวที่ดี มีความเข้มแข็ง เก่งรอบด้าน (โดยอาจกล่าวได้ว่า ทั้งหมดนี้มีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพ่อแบบ) รวมถึงยังปลูกฝังให้เด็กๆ ที่เป็นลูกจะต้องกตัญญูรู้คุณและตอบแทนพ่อในวันสำคัญนี้ ซึ่งการประกาศเป็นวันหยุดประจำปี ก็อาจเป็นไปเพราะต้องการให้เป็นทั้ง ‘วันครอบครัว’ และเป็นวันที่เฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 

ทั้งหมดที่ผู้เขียนยกมาข้างต้นอาจเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในตัวอย่างของปฏิบัติการทางวาทกรรมที่ทำให้ประชาชนคนไทยเห็นได้อย่างชัดเจนถึงคำว่า ‘พ่อแห่งชาติ’ ได้อย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านั้นได้ถูกผลิตซ้ำผ่านการรำลึกถึงในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี และคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หากความเป็นกษัตริย์ของรัฐไทยยังคงแข็งแกร่งไม่ถูกสั่นคลอนอำนาจ

ที่มา

https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/211641#:~:text=วันที่%205%20ธันวาคม%20ตรง,43%20ปีที่ผ่านมา

https://www.finearts.go.th/chantaburilibrary/view/37768-เรื่อง–วันพ่อแห่งชาติ-5-ธันวาคม-

https://prachatai.com/journal/2022/05/98792

https://www.timeanddate.com/holidays/us/fathers-day

https://www.italia.it/en/italy/things-to-do/fathers-day-in-italy-things-to-do

https://germanculture.com.ua/german-holidays/vatertag-fathers-day-in-germany/

Tags: , ,