หากย้อนไปในทศวรรษ 2530 นับว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของเศรษฐกิจไทย เป็นช่วงเวลาที่การเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจที่อยู่เฉลี่ย 7% ต่อปี ผลจากการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล ภายหลังมีข้อตกลง Plaza Accord ที่ทำให้ค่าเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นสูงขึ้น จึงเกิดแนวความคิด ‘ย้ายฐานการผลิต’ ซึ่งประเทศไทยได้รับอานิสงส์ดังกล่าว เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านแรงงานและมีค่าจ้างที่ต่ำ
อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดที่เปรียบดังเป็น ‘พระเอก’ พาเศรษฐกิจไทยพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วคือ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์’ ที่มีการจ้างงานและสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นกอบเป็นกำ ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นที่มีความสำคัญ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็ค่อยๆ เพิ่มบทบาทความสำคัญเช่นเดียวกัน จนรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ประกาศลั่นว่า ไทยจะเป็น ‘เสือตัวที่ 5’ ของเอเชียเคียงคู่กับ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ และหากย้อนดูที่ตัวเลขการส่งออกของไทยย้อนหลังตลอดตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 มาจนถึงปัจจุบัน Macrotrends เก็บสถิติการเจริญเติบโตของสัดส่วนรายได้จากส่งออกของประเทศไทยว่า มีสัดส่วนใน GDP จากราว 20% เป็นราว 60% ในปัจจุบัน
ดังนั้นแล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘การส่งออก’ ถือเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยล่าสุดจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาพรวมมูลค่าการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 9.42 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.4%
แต่ตัวเลขการส่งออกก็ยังไม่น่าพอใจ ไม่มากพอจะเป็นตัวเร่งให้ GDP ที่ไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.5% ‘พุ่งทะยาน’ ไปไกลกว่านั้น จนถึงวันนี้ GDP ยังรั้งท้ายในอาเซียน โดยมีสาเหตุใหญ่มาจากสินค้าจำพวกอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยแสดงผลงานได้ดีในอดีตกลับติดลบมาหลายไตรมาสติดต่อกัน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักออกมาแสดงความวิตกกังวล ถึงภาคการส่งออกของไทยที่ยังพึ่งพากับอุตสาหกรรมที่เคยรุ่งเรืองในอดีตอยู่
และภาคการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลัก อาจไม่ได้เป็น ‘เครื่องยนต์’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกแล้ว
The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมผู้จัดการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เพื่อหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับภาคการส่งออกไทย และแนวทางออกจากหล่มว่าด้วยการส่งออก
พิพัฒน์บอกว่า การส่งออกที่มีปัญหาต้องย้อนความนับจากการซบเซาของเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และนับจากนั้น สถานการณ์หลายอย่างก็ไม่เหมือนเดิม
“ช่วงที่เราปิดเมืองกันแน่นๆ ทุกคนต้อง Work from Home นั้น มีการขาดแคลนสิ่งของหลายชนิด ทุกคนสั่ง Device เพิ่ม สั่งจอคอมเพิ่ม อยากได้ iPad เพิ่ม ทำให้การส่งออกในช่วงปี 2021 และ 2022 ของไทยมันอยู่ในโหมดที่ค่อนข้างดีมากๆ แต่พอเมืองเริ่มเปิด มีกิจกรรมมากขึ้น สินค้าหลายตัวที่บริษัทต่างๆ ผลิตออกมา มีสินค้าคงค้างอยู่เยอะมาก ยกตัวอย่างเช่นเซิร์ฟสเก็ต
“เพราะฉะนั้น ปีที่แล้วการส่งออกไทยในสินค้าเกือบทุกชนิดจึงแย่หมดเลย ขณะที่ตอนนี้อยู่ในโหมด ‘การเลียแผล’ คือค่อยๆ ทยอยกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น และหากดูมูลค่าก็เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว” พิพัฒน์ระบุ
แต่แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะกลับมาอยู่ในแดนบวก โดยปิดบวกได้ในเดือนเมษายน หากเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มการเงิน KKP ยังมีความกังวลต่อประเด็นการส่งออกในระยะยาวของไทยว่า กำลังประสบปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการแข่งขันที่มากขึ้น โดยสินค้าการส่งออกที่สำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็น อาหาร, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์ และสินค้าพลาสติกและเคมีภัณฑ์ มี 2 ประเภทสินค้าที่ตนมองว่ามีความน่ากังวล ได้แก่
1. ‘รถยนต์’ ที่การผลิตรถยนต์ในประเทศถูกยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) จากต่างประเทศเจาะราว 10-20% ทำให้ยอดการผลิตและการส่งออกรถยนต์เริ่มได้รับผลกระทบ รวมถึงจีนยังเป็นฐานผลิตรถยนต์ใหม่ ทำให้ไทยส่งรถออกไปขายยากขึ้น เพราะมีการแข่งขันใหม่ จีนสามารถผลิตรถยนต์ EV และรถสันดาปได้ด้วยจึงมาแข่งกับเรา
2. ‘Hard Disk Drive’ จากเดิมเป็นสินค้าส่งออกระดับต้นๆ ของไทย ทั้งด้วยความสามารถในการผลิต (Capacity) และส่วนแบ่งในตลาด (Market Share) เยอะที่สุดในโลก ทั้ง Western Digital, Seagate ต่างก็รวบสายการผลิตมาอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด
“แต่ปัญหาคือปัจจุบันไม่มีใครใช้ Hard Disk แล้ว เพราะในอุปกรณ์ทุกวันนี้ก็ไม่มีสิ่งนี้แล้ว แต่ไทยยังคงผลิตอยู่ หลายคนพูดว่า มันคงไม่หายไปเพราะมันไปอยู่ใน Cloud หรือใน Data Center แทน ซึ่งมันก็เป็นความจริง แต่ความต้องการ (Demand) ในตลาดมันหายไปเยอะมาก โอกาสที่มันจะไปโตเหมือนเมื่อก่อนก็ยากขึ้น คือตอนนี้พูดได้ว่า เราเก่งในอุตสาหกรรมที่โลกลืม”
จากปัญหาความสามารถทางการแข่งขันที่เกิดขึ้นมานั้น พิพัฒน์มองว่า เป็นเพราะประเทศไทยยังขาดการลงทุนใหม่ๆ ในหลายประเทศเริ่มมีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ไม่ว่าจะเกาหลีใต้หรือไต้หวัน แต่ประเทศไทยไม่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เลย
“6-7 ปีที่แล้วที่ Intel คิดจะมาลงทุนในประเทศ แต่สุดท้ายไปลงทุนที่เวียดนามแทนและเกิดเป็น Ecosystem ขึ้นในต่างประเทศ ผมว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องหาสาเหตุว่า ทำไมประเทศไทยไม่เป็นที่ดึงดูดการลงทุนใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงๆ มาลงทุน
“แม้เราอาจได้การลงทุนใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าจากจีน แต่ก็จะเจอปัญหาอีกว่า พอเข้ามาแล้วจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมเก่าที่เรามี เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์สันดาป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก และมีสัดส่วนใน GDP รวมถึงการจ้างงานที่ใหญ่มากด้วย เราจะเปลี่ยนผ่านอย่างไร ประเด็นพวกนี้ก็จะกลายเป็นปัญหา เพราะเราไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีในเรื่องของการผลิตสินค้าและการส่งออกได้เอง”
ขณะที่ภาคการเกษตรเอง พิพัฒน์ก็มีมุมมองในลักษณะเช่นเดียวกันว่า ปัจจุบันสินค้าเกษตรของไทยก็กำลังเจอปัญหาความสามารถทางการแข่งขันเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง ‘ข้าว’ ที่เวียดนามสามารถผลิตต่อไร่ได้มากกว่าประเทศไทย จึงทำให้มีราคาถูกกว่าในตลาด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วพิพัฒน์จึงเสนอว่า จะต้องเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้เป็นสินค้าแปรรูปมากยิ่งขึ้นก่อนการส่งออก
“ถ้าเราดูญี่ปุ่น เขาผลิตข้าวได้เยอะ ข้าวเขาก็กินในประเทศ แล้วเขาก็แปรรูปส่งออกเป็นสุรา ที่เกิด Value added เยอะกว่าการส่งออกข้าวเฉยๆ”
นอกจากประเด็นสินค้าที่ไทยส่งออกแล้วนั้น พิพัฒน์ยังพูดถึง ‘ตลาดส่งออก’ ที่สำคัญของประเทศไทยไว้ด้วย โดยมองว่า ตลาดหลักที่ไทยส่งออกนั้นยังมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และยุโรป แต่ก็มีประเด็นสำคัญคือเมื่อสหรัฐฯ และจีนเกิดข้อพิพาทกีดกันทางภาษีขึ้น ผู้ประกอบการของจีนเลี่ยงการส่งออกสินค้าโดยตรงไปยังสหรัฐฯ และเลือกที่จะส่งสินค้ามาประกอบหรือติดฉลากที่ประเทศไทย ก่อนจะส่งออกไปยังสหรัฐฯ อีกทอดหนึ่งเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษี
“ในแง่ของมูลค่าเพิ่ม เราเห็นสินค้าหลายชนิด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ที่เมื่อก่อนจีนส่งไปสหรัฐฯ แต่พอเริ่มมีสงครามการค้าหรือมีกำแพงภาษี ก็มีการย้ายฐานการผลิตมาที่เมืองไทยและนำเข้าไดโอด (Diode) มาประกอบเป็นแผงโซลาร์เซลล์และส่งออกไป เพราะฉะนั้นมูลค่าเพิ่มที่ได้จะได้นั้น ก็ได้แค่การประกอบเฉยๆ Value added ไม่ได้มีเยอะเท่าสินค้าที่มี Local Content เยอะๆ
“การแข่งขันจากจีนจะเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น ตัวอย่างที่สำคัญคือ ‘เหล็ก’ ที่สมัยก่อนใช้ในประเทศเยอะ พอมาตอนนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนซบเซา ทำให้ Demand การใช้เหล็กลดลงตามไปด้วย
“ผู้ผลิตเหล็กเลือกจะส่งออกมาที่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ส่งผลให้โรงงานเหล็กในประเทศไทยต้องปิดกิจการไปหลายราย กลายเป็นว่าการนำเข้าส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ผลิตภายในประเทศ” พิพัฒน์อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มการเงิน KKP ยังกล่าวถึงแนวทางการป้องกันปัญหานี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า จะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปว่า มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่มีความอยุติธรรมหรือเกิดการกระทำผิดตามข้อตกลงทางการค้า
หรือแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยนั้น พิพัฒน์มองว่า ไทยควรจะตั้งข้อตกลงให้ผู้ผลิตนั้นใช้วัสดุภายในประเทศ (Local Content) ในสัดส่วนที่กำหนดไว้
“ประเด็นพวกนี้ต้องมีการพูดคุยกันว่ากระทบอย่างไร หรือหากไม่สามารถที่จะป้องกันการแข่งขันได้ อย่างน้อยก็ทำให้มีเวลาในการ Manage การเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ เพราะไม่งั้นมันจะเป็น Shock ที่ใหญ่ของอุตสาหกรรม
“การตั้งกำแพงภาษีในปัจจุบันการทำอย่างนั้นทำได้ยากขึ้น เพราะเรามี Free Trade Agreement และมีความสัมพันธ์กับจีน ถ้าเราไปตั้งกำแพงภาษีกับจีน อาจจะโดนผลกระทบด้านอื่นๆ เพราะจีนก็เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ของเรา ทั้งในแง่สินค้าและการท่องเที่ยว” พิพัฒน์อธิบาย
นอกเหนือจากประเด็นความสามารถทางการแข่งขันที่เป็นตัวฉุดรั้ง ‘การส่งออกไทย’ พิพัฒน์ยังเป็นห่วงถึงประเด็น‘สังคมผู้สูงอายุ’ (Aging Society) ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอีกด้วยว่า ถ้าหากประเทศไม่มีแรงงานที่ทักษะเพียงพอจะทำให้ประเทศไม่เป็นตัวเลือกของผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องคิดกันให้หนักมากขึ้นว่า จะจัดการอย่างไรให้ประเทศไทยกลับมา ‘น่าดึงดูด’ อีกครั้ง
“ปัญหาใหญ่อีกเรื่องของประเทศคือเรากำลังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ไม่ว่าจะเป็น STEM, วิศวกร อันนี้เราก็ต้องคิดกันหนักมากขึ้นว่า ถ้าเรื่องนี้เป็นข้อจำกัดสำคัญของการดึงดูดการลงทุนเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
“แน่นอนเราเพิ่มจำนวนประชากรไม่ได้ แต่ว่าเราอาจต้องคิดกันหนักขึ้นว่าถ้าแนวโน้มคือ วัยทำงานเราลดลง เราควรจะพิจารณานโยบายการเข้าเมืองของแรงงานที่มีทักษะหรือไม่ กรณีของสหรัฐฯ หรือสิงคโปร์ที่อนุญาตให้มีแรงงานย้ายฐานเข้ามา ตั้งรกรากได้
“และในอีกทางหนึ่ง เราควรปฏิรูประบบการศึกษา แก้ไขเรื่องของกฎระเบียบ การทุจริต คอร์รัปชัน เรื่องการกำกับดูแล (Regulations) ต่างๆ เพื่อสามารถสร้างแรงดึงดูดการลงทุนทั้งจากต่างประเทศ และทำให้คนไทยสามารถที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นได้” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP เสนอ
แม้ในวันที่ ‘การส่งออกไทย’ ดูเหมือนจะต้องเผชิญกับพายุของการเปลี่ยนแปลง แต่นโยบายสำคัญที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นตัวพลิกฟื้นเศรษฐกิจ กลับเป็นไปเพื่อ ‘กระตุ้นการบริโภค’ เสียส่วนใหญ่ อย่างโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) 1 หมื่นบาท โดยโจทย์ที่พิพัฒน์เห็นว่าประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นปัญหา ‘ความสามารถทางการแข่งขัน’ เสียมากกว่า
จนนำมาสู่คำถามที่สำคัญว่า ประเทศไทยกำลังใช้ทรัพยากรซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดอย่างคุ้มค่าหรือไม่
“เราควรเอาเงินกว่า 5 แสนล้าน ไปทำอย่างอื่นที่มันมีประโยชน์ต่อศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาวด้วยไหม คือถ้าเราจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมันก็โอเค แต่ว่าเราก็ต้องเห็นภาพชัดเจนว่าเราจะทำอะไรเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของเราด้วย
“อย่างที่เราเห็นเกาหลีใต้ลงทุนใช้เงินใกล้เคียงกับที่เราแจก เอาไปลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ก็เห็นแล้วว่าเราควรเอาเงินตรงนี้ไปลงทุนอย่างอื่นด้วยหรือไม่ มากกว่าเอามาแจกอย่างเดียว” พิพัฒน์กล่าว
ดังนั้นแล้ว พิพัฒน์จึงมองว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำในวันนี้คือ การประเมินว่าแต่ละอุตสาหกรรมมีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไร อย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ Hard Disk Drive ว่ามีปัญหาระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร หากในอนาคตมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงเรื่อยๆ ควรจะหาอุตสาหกรรมใหม่มาเป็นเรือธงหรือไม่ โดยส่งเสริมและสร้างความน่าดึงดูดการลงทุนให้เกิดขึ้น
อีกทั้งจะทำอย่างไรในภาวะที่ ‘สินค้าไทย’ กำลังโดนแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค รวมไปถึงคู่แข่งในตลาดที่มีมากขึ้น นั่นเป็นโจทย์ที่พิพัฒน์ฝากไปถึงรัฐบาล
อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/business/economy/596747#google_vignette
https://www.macrotrends.net/global-metrics/countries/THA/thailand/exports
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=14985&filename=QGDP_report
https://factsanddetails.com/southeast-asia/Thailand/sub5_8g/entry-331
Tags: Feature, เศรษฐกิจไทย, เศรษฐกิจ, ไทย, KKP, ส่งออก