เป็นอีกครั้งแล้วสินะที่ต้อง ‘ยื่นภาษี’….

ในฤดูที่คนวัยทำงานจะต้องรวบรวมเอกสารและลองคำนวณดูว่า มีค่าใช้จ่ายอะไรที่สามารถลดหย่อน ได้บ้าง ก่อนที่จะนำเงินนั้นไปมอบให้กับ ‘รัฐ’ ในฐานะฟันเฟืองทางเศรษฐกิจตัวเล็กๆ ตามกฎหมาย

คงจะไม่ผิดนัก หากประชาชนหลายคนตั้งคำถามว่า ‘ภาษีที่เราจ่ายไปก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง?’ เพราะเงินที่จ่ายไปเป็นเงินที่มาจากน้ำพักน้ำแรงจากการทำงานอันเหน็ดเหนื่อย 

วันนี้ The Momentum ชวนหาคำตอบเส้นทางการเดินทางของภาษีที่จ่ายไปว่า ถูกจัดสรรไปอยู่ในสวัสดิการใดบ้าง ขอยกตัวอย่างกรณีการจัดเก็บภาษีงบประมาณปี 2565 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 มาประกอบ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

หลังจากประชาชนยื่น ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ กับกรมสรรพากร สังกัดกระทรวงการคลัง จากข้อมูลปี 2565 เปิดเผยว่า มีประชาชนเข้ายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งแบบ ภ.ง.ด.90  และ ภ.ง.ด.91 เป็นจำนวนกว่า 11.52 ล้านคน ซึ่งเป็นรายได้ให้รัฐอยู่ที่ 3.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนหน้า (2564) ที่เก็บได้เพียง 3.34 แสนล้านบาท 

ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 10% โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสัดส่วนอยู่ที่ 12% ของภาษีทั้งหมดที่ภาครัฐเก็บได้กว่า 3.07 ล้านล้านบาท

ภาษีทุกรูปแบบถูกนำไปใช้ในแผนการใช้จ่ายของรัฐบาล หรือที่เรียกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่สำนักงบประมาณ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นเจ้าภาพในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. … เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนจะประกาศบังคับใช้ต่อไปภายหลัง ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะประกอบกันด้วย 2 ลักษณะ  ได้แก่

1. รายจ่ายส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ หมายถึงรายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ มี 5 ประเภทย่อย คือ งบบุคลากร งบดำเนินงาน งบลงทุน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น ปัจจุบัน สัดส่วนของงบประมาณที่สูงและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คืองบประมาณบุคลากรที่อยู่ที่ 7.72 แสนล้านบาท คิดเป็น 24% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด

ขณะที่งบลงทุนอยู่ที่ 4.34 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 16.4% ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระจุกอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มีการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ขณะที่ต่างจังหวัดยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ประชาชนพึ่งพาได้

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกส่วนคือ งบประมาณรายจ่ายส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่รั่วไหลไปจำนวนไม่น้อย อ้างอิงดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) จากการสำรวจขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติที่มีการแถลงผลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่าประเทศไทยรั้งอยู่ที่อันดับ 108 ของโลก เป็นลำดับที่แย่ลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 101 และยังไม่มีทิศทางที่จะ ‘โปร่งใส’ มากขึ้น หากพิจารณาจากข่าวที่เห็นรายวัน

2. รายจ่ายงบกลาง หมายถึงรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปใช้จ่าย เช่น เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ รวมถึงเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ดังนั้นจะเห็นว่า ภาษีที่จ่ายไปถูกจัดสรรเพื่อไปใช้จ่ายในส่วนต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ‘สวัสดิการ’ ที่ประชาชนจะได้รับจากการบริการของภาครัฐด้วยเช่นเดียวกัน สวัสดิการที่รัฐบาลไทยจัดสรรให้มีตั้งแต่แรกเกิดไปจนเสียชีวิต ครบทุกช่วงวัย ผ่านการอุดหนุนงบประมาณไปยังหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ

กระนั้นเอง สวัสดิการเหล่านี้ก็ถูกตั้งคำถามว่า ‘ใช้ได้จริง’ หรือไม่ น้อยเกินไปหรือไม่ และหากเป็นสวัสดิการเพื่อ ‘ช่วยเหลือ’ จะสามารถลดภาระประชาชนได้เท่าไร

หากเจาะไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนจะพบว่า รัฐบาลมีสวัสดิการที่จัดไว้ให้กลุ่มนี้เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีบุตรเพิ่มมากขึ้น ผ่านการอุดหนุนเงินสมทบเด็กแรกเกิด 0-6 เดือน ได้รับเงินอุดหนุน 500 บาทต่อเดือน โดยใน พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1.63 หมื่นล้านบาท มีโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยงบประมาณกว่า 7.48 หมื่นล้านบาท และยังมีงบประมาณสนับสนุนอาหารกลางวันและนมโรงเรียนให้กลุ่มนักเรียนอนุบาลไปจนถึงระดับประถมศึกษาอีกกว่า 2.61 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นแล้วยังมีงบสำหรับสวัสดิการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท

ในขณะที่สวัสดิการของกลุ่มวัยแรงงาน รัฐบาลจัดสรรเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต วัยแรงงานถือว่าเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รัฐสนับสนุนผ่านเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ใช้งบประมาณกว่า 4.64 หมื่นล้านบาท และสมทบเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘บัตรทอง’ อีกกว่า 1.42 แสนล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลให้กับแรงงาน

นอกจากนั้นแล้ว ภาษีที่ถูกใช้ผ่านงบประมาณค่าใช้จ่ายประจำปี ยังมีสวัสดิการเงินสมทบกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยไปใช้จ่ายอุปโภคบริโภคด้วยเม็ดเงินกว่า 3.51 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีประชาชนเข้าข่ายอยู่ในส่วนนี้จำนวน 14.59 ล้านคน งบประมาณที่ตั้งไว้คาดว่าจะ ‘ไม่เพียงพอ’ อาจจะต้องนำงบกลางเข้ามาจ่ายเพิ่มเติมให้

สำหรับสวัสดิการที่ภาครัฐจัดไว้สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย คือสนับสนุนสงเคราะห์ ‘เบี้ยยังชีพ’ เมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ 60 ปีขึ้นไป โดยเบี้ยดังกล่าวจะเพิ่มในลักษณะขั้นบันไดระหว่าง 600-1,000 บาท ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 7.14 หมื่นล้านบาท และยังได้จัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับผู้พิการไว้อีกว่า 1.78 หมื่นล้านบาทอีกด้วย

แต่แน่นอนว่าจำนวนนี้ไม่เพียงพอ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ผู้สูงอายุได้เงินช่วยเหลือเดือนละ 600 บาท 700 บาท 800 บาทนั้น ใช้อะไรในชีวิตจริงได้บ้าง และในอนาคตที่ผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีเงินเก็บเพียงพอจะสร้างปัญหามากขนาดไหนในอนาคต

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากประชาชนจะตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของ ‘ภาษี’ ที่จ่ายไปในอัตราก้าวหน้าว่าถูกใช้ไปไหนบ้าง… แล้วจะมีใครหลายคนที่รู้สึกถึงความไม่คุ้มค่าของภาษีที่ถูกหักจากเงินเดือน หรือบางส่วนต้องจ่ายเพิ่มโดยที่ ‘รัฐสวัสดิการ’ ไม่ได้มีอยู่จริง และยังไม่อาจเกิดขึ้นจริงในระยะเวลาอันใกล้

แล้วสังคมรัฐสวัสดิการจริงๆ หน้าตาเป็นอย่างไร?

ในการที่จะสร้าง ‘สังคมรัฐสวัสดิการ’ ให้เกิดขึ้นจริงนั้นมีปัจจัยมากมาย อ้างอิงจากบทความของ The101.world ที่เคยศึกษาความสำเร็จจากกรณีศึกษาของประเทศเดนมาร์ก ที่อาศัย 4 ปัจจัยในการผลักดันให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริง ได้แก่

1. รัฐต้องมองเห็นความสำคัญของประชาชนว่า ประชาชนทุกคนจะต้องมีสวัสดิการที่รองรับความปลอดภัยทุกช่วงอายุของประชากร

2. รัฐต้องหาเงินมาจัดสวัสดิการผ่านการจัดเก็บภาษีจากประชาชน ซึ่งมีระบบที่เชื่อมโยงระหว่างรัฐบาล นายจ้าง และธนาคาร ทำให้มีข้อมูลทางการเงินของประชาชนส่งผลให้เลี่ยงการเก็บภาษีได้ยาก

3. รัฐต้องปล่อยอำนาจให้ท้องถิ่น เพราะเป็นหน่วยที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด รับรู้ความต้องการอย่างแท้จริง ดังนั้น ท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการจัดการและจัดสรรนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด

4. รัฐต้องมีประสิทธิภาพ กล่าวคือรัฐต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพและวางแผนการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป้าหมายบรรลุ นอกจากนั้น ‘ความโปร่งใส’ ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อรัฐสวัสดิการ ประชาชนต้องตรวจสอบได้ว่ารัฐจัดสรรงบประมาณอย่างไร เพื่อให้มีความมั่นใจในภาษีที่พวกเขาต้องจ่ายไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจที่ต่างกัน จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า ‘สวัสดิการเหมาะสมกับประเทศของเรานั้นเป็นอย่างไร?’ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดสรรให้เหมาะสม 

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าประชาชนไม่เพียงแต่มีหน้าที่ ‘จ่ายภาษี’ ให้รัฐบาลไว้ใช้เพียงอย่างเดียว บทบาทสำคัญคือประชาชนจะต้องตรวจสอบการใช้จ่ายภาษีเหล่านั้น ใช้ ‘ผู้แทน’ ผ่านระบบรัฐสภา ในการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายภาษี ใช้จ่ายงบประมาณให้รั่วไหลน้อยที่สุด และทำอย่างไรให้เกิดความ ‘คุ้มค่า’ มากที่สุด

หากประชาชนรู้สึกได้ ‘ผลตอบแทน’ บางอย่างจากภาษีที่จ่ายไป เสียงโอดครวญหรือเสียงบ่นดังๆ ก็จะน้อยลง และหากรัฐจัดการภาษีได้ดี ประชาชนย่อมพร้อมที่จะจ่ายภาษีมากขึ้นในอนาคต

 

อ้างอิง

https://chumphon.mju.ac.th/goverment/20111119104834_chumphon2/Doc_25610919100620_40725.pdf

https://rb.gy/ylzrq6 

https://dataservices.mof.go.th/menu3?id=2&page=&freq=month&mf=10&yf=2564&mt=9&yt=2565&sort=desc&search_text= 

https://wevis.info/thbudget66#/  

https://www.the101.world/denmark-welfare-state/

Tags: , , , , ,