ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตั้งงบประมาณเป็นวงเงิน 641 ล้านบาท เพื่อเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ตั้งแต่คนที่ถูกจับกุม ผู้เกิดความทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เพราะขาดอากาศหายใจระหว่างการลำเลียงผู้ชุมนุมและประชาชน จากสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ไปจนถึงผู้เสียชีวิตทันทีจากกระสุนปืนที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ รวมจำนวนผู้ได้รับการเยียวยาทั้งสิ้น 987 ราย 

นับจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เหลืออีกเพียง 7 วันที่คดีตากใบจะหมดอายุความทางอาญา (นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2547) แต่ก่อนที่คดีจะหมดอายุความ ชาวบ้านและผู้เสียหายได้รวมตัวกัน เพื่อยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อศาลอีกครั้ง นับเป็นการยื่นฟ้องครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2566 

ผู้ถูกฟ้องมีทั้งนักการเมืองฟากฝั่งเดียวกันกับรัฐบาล อดีตเจ้าหน้าที่ของกองทัพระดับพลเอกและพลโทที่อยู่คอยบัญชาการการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ และผู้อยู่เบื้องหลัง ในขณะที่ประชาชนผู้ติดตามคดีนี้เริ่มตั้งคำถามว่า ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี จนคดีจะหมดอายุความในอีกไม่กี่เดือน เหตุใดจึงชาวบ้านจึงกลับมารวมตัวฟ้องอีกครั้ง และทำไมการเยียวยาของรัฐบาล ณ ขณะนั้นจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในสายตาของครอบครัวผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ 

ภาพ: AFP

ตากใบ-เยียวยา-จบ มีอะไรขาดหายไปในสมการนี้กันแน่ 

และการรวมตัวเพื่อฟ้องร้องต่อศาลอีกครั้งในระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่มาก พ่วงทั้งนักการเมืองฝั่งรัฐบาลและเหล่าผู้มีตำแหน่งยศในบ้านเมือง นี่เป็นเกมการเมืองของผู้ประสงค์ร้ายต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือมีเหตุผลอื่นที่เป็นไปได้มากกว่านั้นกัน

เหตุใดรัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบ

อันที่จริงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2555 ในสมัยรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ โดยมอบเงินเป็นจำนวน 7.5 ล้านบาทให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ที่พิการจากการสลายการชุมนุม ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมอบเงินเยียวยาแก่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวแต่ไม่ได้ดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 987 ราย ภายใต้วงเงินเยียวยา 641 ล้านบาท 

นี่เป็นความรับผิดชอบในฐานะรัฐบาลครั้งแรกที่เกิดขึ้นแบบเป็นรูปธรรม และไม่ใช่การรับผิดชอบในฐานะพรรคการเมือง ที่มีอำนาจบริหารในช่วงเวลาเดียวกันกับโศกนาฏกรรมนั้น แต่เป็นความรับผิดในฐานะที่ ‘รัฐ’ เป็นชนวนของเหตุการณ์ทั้งหมด ตั้งแต่การออกกฎหมายพิเศษควบคุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งยังส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมโดยไร้หลักสากล จนนำมาซึ่งผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 85 ราย ขณะเดียวกันการบังคับบัญชาเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการในพื้นที่ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอย่างนายกฯ น้อยที่สุดคือการรับทราบการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่หน้างานว่า จะทำอย่างไรกับสถานการณ์ตากใบ 

ภาพ: AFP

ดังนั้นแม้ความสูญเสียจากโศกนาฏกรรมตากใบ จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกิดเหตุโดยไม่มีนายกฯ อยู่ด้วย แต่การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องได้รับการบังคับบัญชาจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล มิใช่ว่าเจ้าหน้าที่หน้างานทั้งทหารและตำรวจคิดจะทำอย่างไรกับผู้ชุมนุมก็ทำได้ตามอำเภอใจ เหตุนี้ตากใบจึงไม่สามารถแยกความผิดออกจากรัฐบาลได้เลย และนั่นเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการเยียวยาแก่ครอบครัวและผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วย้อนหลัง

ขณะที่ล่าสุดพรรคเพื่อไทยโต้กลับว่า พรรคไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีตากใบแล้ว หลังจากที่ พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น ผู้สั่งสลายการชุมนุมหน้า สถานีตำรวจภูธรตากใบ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรค แต่เมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวคำขอโทษและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย และระบุว่า ได้รับการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีการสอบถามกับตนว่าจะทำอย่างไร กระนั้นเน้นย้ำว่า ไม่ได้สั่งให้ยัดทะนานผู้ชุมนุมนับพันบนรถบรรทุก 

อย่างไรก็ตามน่าสังเกตว่า เมื่อมีการสอบถามการแก้ไขสถานการณ์ ณ สถานีตำรวจภูธรตากใบ จากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการแล้ว เหตุใดนายกฯ จึงไม่สั่งการเพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ หรือเป็นเพราะความเพิกเฉยนี้เอง ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ไร้กรอบการปฏิบัติขั้นสูงสุดในการสลายการชุมนุม จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมความสูญเสียในครั้งนี้

ภาพ: AFP

เมื่อรัฐเยียวยาแล้ว เหตุใดคดีไม่จบ

เหตุการณ์สลายการชุมนุมด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ต้นเหตุแห่งความสูญเสียล้วนมีทิศทางชี้ไปที่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจ ทหาร และพลเรือน ที่ปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยวิธีการไร้ความเป็นสากล ยังส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้เสียหายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

ส่วนคำถามที่ว่า เหตุใดการเยียวยาของรัฐบาลในภายหลังจึงไม่ใช่ ‘จุดสิ้นสุด’ ของคดีความ เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจระหว่างการรับผิดชอบต่อความสูญเสีย กับความรับผิดชอบในการคืนความยุติธรรมแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบที่ยังเหลือรอดจากเหตุการณ์ตากใบ

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความจากมูลนิธิทนายความมุสลิม ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum โดยชี้ว่า การเยียวยาของภาครัฐคือ ‘ความจำเป็น’ ที่ต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน เมื่อความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในส่วนของการนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นอีกประเด็นหนึ่ง 

“การเยียวยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐจะต้องทำในฐานะผู้รับผิดชอบ แต่การเอาผู้กระทำผิดมารับโทษนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง การเยียวยาในคดีที่มีการเสียชีวิตของคนจำนวนมากมายขนาดนี้ ไม่สามารถเยียวยาด้วยเงินเพียงอย่างเดียวได้ มันไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ” 

ทนายความจากมูลนิธิทนายความมุสลิมเสริมว่า ขณะที่การเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว รุดหน้าจนเสร็จสิ้นไปในปี 2555 แต่ในแง่ของการเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม แม้สำนวนไต่สวนการตายจะเป็นที่แน่ชัดในปี 2552 ที่ศาลจังหวัดสงขลาระบุว่า การตายของทั้ง 78 ราย เกิดขึ้นระหว่างการลำเลียงผู้ชุมนุมนับพันขึ้นรถบรรทุกของเจ้าหน้าที่รัฐไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ด้วยวิธียัดอัดแน่นจนขาดอากาศหายใจ

“ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2552-2555 ที่มีการเยียวยาคดีตากใบ รัฐบาลไม่มีการดำเนินการทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับคดีตากใบเลย แต่อยู่ๆ ก็ข้ามมาที่การเยียวยา ซึ่งผมมองว่ามันไม่ใช่สิ้นสุดคดีอย่างถูกต้อง”

ภาพ: AFP

ตากใบผุด-ดิสเครดิตรัฐบาล?

การรวมตัวระหว่างครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2566 เกิดขึ้นขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ทั้งยังมี 1 ในจำเลยทั้ง 14 คนที่ศาลเรียกตัวเข้าพบเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค และเมื่อมองดูช่วงเวลาที่เหลือกับการยื่นฟ้อง ก็ดูแล้วไม่เหมาะสมและได้รับความยุติธรรมได้ยาก จนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเวลาที่เหมาะเจาะแต่ไม่เหมาะสมในส่วนของอายุความที่ผ่านมาแล้วหลายปี

จากข้อมูลการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสในคดีตากใบนั้น เกิดขึ้นภายหลังกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ตากใบในพื้นที่เมื่อปี 2566 ที่ชาวตากใบพบว่า คดีความกำลังจะหมดอายุความในอีก 1 ปี โดยที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐในการนำตัวผู้กระทำมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม จึงมีการติดต่อทนายความมุสลิม นำมาสู่การตั้งทีมทนายประชุม เพื่อเตรียมส่งฟ้องพร้อมกับผู้ประสงค์ร่วมฟ้องคดี 48 คน ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 

ความละเลยและการทำงานของกระบวนการยุติธรรม ที่ทอดทิ้งความยุติธรรมของตากใบ จึงเป็นเหตุผลก้อนหลักที่ขับเน้นให้ชาวบ้าน ต้องรวมตัวยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐกันเองในเวลาที่เหลืออยู่เพื่อต่อความหวัง

“เขามีการเรียกร้องให้หาตัวคนทำผิดมาลงโทษทุกๆ ปี ในวันที่ 25 ตุลาคม บังเอิญว่าในปี 2566 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่เราได้พูดคุยกันเรื่องของอายุความ เมื่อสอบถามชาวบ้านเขาก็บอกว่า ยังไม่มีความคืบหน้า เราเลยมีการร้องเรียนเพื่อสอบถามให้เกิดความแน่ใจว่า คดีตากใบคืบหน้าอย่างไรแล้ว ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินคดีจริงๆ ก็เป็นที่มาให้ชาวบ้านมีการยื่นฟ้องด้วยตัวเองที่ศาลจังหวัดนราธิวาส” อับดุลเลาะห์เล่า และเสริมว่า ภายหลังการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเสร็จสิ้นไป ชาวบ้านต้องพบกับการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่หลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเยี่ยมบ้าน เรียกตัวสอบสวน ส่งหมายไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่หลายนาย โดยเขาอ้างว่าเพื่อไม่ให้ชาวบ้านรื้อฟื้นคดีตากใบอีก

ภาพ: AFP

หากเป็นการดิสเครดิตรัฐบาลจริง นี่คงเป็นการดิสเครดิตที่แลกเลือดเนื้อมากที่สุด เพราะแลกมากับจำนวนผู้เสียชีวิต มีผู้พิการเกิดขึ้นจริง และอีกนับพันต้องกลายเป็นผู้มีภาวะจิตเภท จมอยู่กับความสยดสยองจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถยืนยันได้คือ ชาวสามจังหวัดชายแดนใต้ที่สูญเสียครอบครัวไม่มีใครต้องการเงิน พวกเขาไม่เคยเรียกร้องให้การตายของคนในครอบครัวต้องมีราคา เพราะสิ่งเดียวที่พวกเขายืนหยัดต่อสู้มาจนถึงวันนี้คือ การคืนความยุติธรรมให้ทุกชีวิตที่ถูกพรากลมหายใจ ให้แขนขาที่พวกเขาสูญเสีย 

ในขณะที่เงินเยียวยาทั้ง 641 ล้านบาท ล้วนมาจากภาษีของประชาชน แต่ผู้กระทำการจนเกิดความสูญเสียกลับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนี้จึงน่าสนใจเหลือเกินว่า การรับผิดชอบโดยการจ่ายเงินที่ตัวผู้กระทำผิดไม่ได้เป็นผู้หาเงินเอง แต่กลับเป็นเงินของประชาชนทั้งประเทศ เหตุใดจึงหลุดพ้นจากความผิดที่ได้กระทำไปโดยไม่ต้องสูญเสียอะไรเลย 

และคนไทยยอมหรือ ที่เงินภาษีของตัวเองมีส่วนสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในกระบวนการยุติธรรมไทย

Tags: , , , ,