ก่อนการค้นพบร่องรอยทางประวัติศาสตร์เมื่อปี 2556-2558 ภายในถ้ำผีแมนโลงลงรัก อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งนั้น ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช หัวหน้าโครงการขุดค้นโบราณคดีพร้อมกับคณะทำงาน ต้องฝ่าด่านความเชื่อของชาวชาติพันธุ์ในละแวกอย่างการขออนุญาต ‘ผี’ เพื่อให้เหล่านักโบราณคดีเข้าไปปฏิบัติภารกิจภายในถ้ำได้ 

ฉะนั้นการทำงานภายในแหล่งโบราณคดี นักโบราณคดีจึงมีโอกาสเผชิญหน้ากับความเชื่อทางไสยศาสตร์จากคนในท้องถิ่นอยู่เสมอ เนื่องจากการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีมิได้จำกัดเฉพาะการเสาะหาโบราณวัตถุ หรือการขุดชั้นดินเพื่อสร้างลำดับชั้นของเวลา (Chronology) เพื่อประเมินอายุของสิ่งที่ค้นพบเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องทำงานร่วมกับคนท้องถิ่นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการอีกด้วย

ดร.ภีร์ เวณุนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า นักโบราณคดีถูกสอนให้มองตัวเองเป็น ‘บุคคลภายนอก’ หลังจากเข้าไปภายในแหล่งขุดค้นโบราณคดี และต้องมุ่งให้ความสำคัญกับคนภายในอย่างคนท้องถิ่นก่อนเสมอ ในขณะที่ท้องถิ่นบางพื้นที่มีความเชื่อผูกโยงกับแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งมีความละเอียดอ่อน นักโบราณคดีจึงต้องทำงานในลักษณะที่คล้อยไปตามความเชื่อของชาวบ้าน เช่น ขออนุญาตดวงวิญญาณเจ้าที่หรือผีในการเข้าพื้นที่ทำงาน นิมนต์พระสงฆ์มาจัดพิธี หรือกระทั่งพูดคุยกับคนทรงในหมู่บ้านเพื่อชี้ว่า บริเวณใดที่สามารถขุดค้นทางโบราณคดีได้บ้าง 

“ในมุมมองของนักโบราณคดี ความเชื่อหรือพิธีกรรมไม่ได้อยู่ในหลักการทำงานด้านโบราณคดีหรอก แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า พอเรามาทำงานแม้เราจะบอกว่าตัวเองมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดนักโบราณคดีก็ต้องทำงานกับชาวบ้าน และเมื่อความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของเขา เราจะต้องทำงานร่วมกับสิ่งที่เขาเชื่อด้วย”

ดังนั้น เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความสบายใจ และเพื่อให้การทำงานของนักโบราณคดีเป็นไปอย่างราบรื่น นักโบราณคดีจึงต้องประนีประนอมกับความเชื่อที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ จนบางครั้งนักโบราณคดีที่ขุดค้นประวัติศาสตร์มาหลายปี ก็ต้องแปรสภาพกลายเป็นผู้นำบวงสรวงก่อนจะเริ่มต้นโครงการ เช่นเดียวกับธัชวิทย์ ทวีสุข ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ที่ผ่านงานขุดค้นทางโบราณคดีมาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งถึงกับต้องกลายเป็นคนนำบวงสรวงตามความเชื่อของคนท้องถิ่น จนกลายเป็นความตราตรึงใจของนักโบราณคดีรายนี้

“มีพิธีกรรมหนึ่งที่แหล่งโบราณคดีเนินนกทา จังหวัดยโสธร ชาวบ้านเขาเชื่อว่า แหล่งโบราณคดีนี้ใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวจะทำให้เกิดความฉิบหายกับหมู่บ้านก็เลยต้องมีคนไปบวงสรวง แต่คนในพื้นที่ไม่กล้าเข้าไปทำ เพื่อนนักโบราณคดีด้วยกันก็ต้องหาคนไปทำ ผมก็พอทำได้ก็เลยไปประกอบพิธีกรรมให้ บายศรีชาวบ้านก็ช่วยกันทำ ของที่เอามาไหว้ชาวบ้านก็ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือเพื่อความสบายใจของชาวบ้าน” ธัชวิทย์เล่าประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งนักโบราณคดีต้องกลายเป็นคนนำบวงสรวง

อย่างไรก็ตามการทำตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ยังคงพิสูจน์ได้ยาก กลับมีประโยชน์ในการเชื่อมสัมพันธ์กับคนในชุมชน และเมื่อตกลงกันได้อย่างลงตัวระหว่างวิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ภาพการทำงานร่วมกันระหว่างนักโบราณคดีกับชาวบ้านในภายหลัง ตั้งแต่การสนับสนุนด้านข้อมูลจากประสบการณ์ของผู้อยู่อาศัย การสนับสนุนด้านแรงงานท้องถิ่นในการขุดค้น กระทั่งการเป็นหูเป็นตารักษาความปลอดภัยให้เหล่านักโบราณคดีที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่

รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อินทนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า การมีอยู่ของความเชื่อทางไสยศาสตร์นั้นเป็นไปเพื่อปกป้องบางสิ่งบางอย่างไม่ให้ถูกล่วงละเมิด แต่การใช้เรื่องลี้ลับนำมาใส่ลงในความเชื่อเป็นเพราะคนโบราณไม่สามารถจะอธิบายได้ว่า การละเมิดสิ่งนั้นจะเกิดผลเสียอย่างไร จึงสร้างกรอบความเชื่อหนึ่งขึ้นมา ซึ่งในภาษาของนักมานุษยวิทยา เรียกว่า ‘ภูมิปัญญาสั่งสม’ 

“ยกตัวอย่าง การห้ามไม่ให้เผาศพในเมืองเชียงใหม่ ที่คนโบราณอาศัยทฤษฎีว่า ‘ขึด’ (แปลว่า อัปมงคล) แต่เมื่อความเจริญก้าวหน้ามาถึงเราถึงมารู้ตอนหลังว่า ที่คนโบราณไม่ให้เผากลางเมือง เพราะมันอับควัน เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นแอ่งกระทะ แต่คนโบราณเขาอธิบายให้คนเข้าใจแบบนั้นไม่เป็น”

อย่างไรก็ดีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติไม่ได้เป็นสิ่งแปลกปลอมในสายตาของนักโบราณคดีแต่อย่างใด ทุกพื้นที่ล้วนมีความเชื่อที่แตกต่างไปแล้วแต่ปัจจัยของพื้นที่นั้นๆ กลับกันก็มีประโยชน์ในแง่ของการรักษาพื้นที่และสภาพแวดล้อมไม่ให้ถูกรบกวน

การทำงานของนักโบราณคดีกับพิธีกรรมทางไสยศาสตร์จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อให้สิ่งเหนือธรรมชาติเป็นตัวช่วยสร้างผลลัพธ์ในการทำงานด้านโบราณคดี กลับกันการทำพิธีกรรมตามความเชื่อของคนในพื้นที่คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับคนในการทำงานด้านโบราณคดี เพื่อต่อเติมช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์

ดังนั้นอาจพูดได้ว่า การทำพิธีกรรมของนักโบราณคดีในแต่ละครั้งของการลงพื้นที่ทำงานในแต่ละชุมชนนั้นเปรียบเสมือน ‘กุญแจสำคัญ’ เพื่อเปิดประตูให้นักโบราณคดีได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ส่วนชาวบ้านก็ได้รับความสบายใจไม่ต้องเกรงกลัวว่า สิ่งเหนือธรรมชาติจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง ที่สำคัญเมื่อการขุดค้นแล้วเสร็จ พวกเขาก็จะได้รับรู้พร้อมกันว่า รากเหง้าของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร 

Tags: , , , , , ,