ไทยมีอุตสาหกรรมค้าบริการทางเพศใหญ่ระดับโลก ด้วยจำนวนพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) กว่า 2.5 แสนคน ส่งผลให้เมืองพุทธแห่งนี้รั้งอันดับ 4 ในเอเชียและคว้าอันดับ 8 ประเทศที่มีจำนวนพนักงานบริการมากที่สุดในโลก แต่การยืนอยู่ตามมุมมืดริมถนน และเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้งว่า ‘ค้าบริการเพศ’ ในปัจจุบัน ยังเสี่ยงถูกจับขังคุกและกลายเป็นอาชญากร

ก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศปี 2566 หลายพรรคการเมืองชูนโยบายยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติห้ามค้าประเวณีในที่สาธารณะและซ่องอย่างชัดเจน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตั้งแต่ปรับ จำคุก มีประวัติอาชญากรติดตัว แต่ผ่านการเลือกตั้งเข้าสู่ปีที่ 2 การปราบปรามพนักงานบริการยังคงมีให้เห็น โดยเฉพาะย่านสถานบันเทิงตามหัวเมืองท่องเที่ยว 

นอกจากกฎหมาย ศาสนายังมีอิทธิพลสำคัญต่อการยอมรับพนักงานบริการ ในประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ เวรกรรมถูกนำมาใช้ตัดสินผู้หารายได้โดยการเปิดเปลือยเนื้อตัวร่างกาย อาชีพพนักงานบริการทางเพศจึงไม่ใช่ความภิรมย์สำหรับชาวไทยหลายคน

แต่สำหรับ ขวัญ และพรทิพย์ ต่างมองว่า ศีลธรรมและกฎหมายไม่ได้มอบความมั่นคงในชีวิตเทียบกับอาชีพพนักงานบริการ การหลับนอนกับลูกค้าไม่ใช่การมักมากในกาม แต่คือเกมการเอาชีวิตรอดในฐานะ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ในฐานะชาวชาติพันธุ์ไทใหญ่กับแหล่งรายได้เพียงหยิบมือ 

 

ปัจจุบัน อนาคต ขับเคลื่อนด้วยเงิน

“เมื่อก่อนพี่ไม่มีเงินเลย แต่มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าทำบัตรประจำตัวคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) และใบอนุญาตทำงาน เราทำงานได้เงินก็ต้องเอาไปจ่ายค่าเอกสารพวกนี้ที่หัวหน้างานไม่ได้จ่ายให้ พี่เลยทำงานประจำปกติและรับงานเอ็นเตอร์เทนลูกค้าไปด้วย”

พรทิพย์ พนักงานบริการวัย 41 ปี เธอเกิดและเติบโตในรัฐฉาน พื้นที่ส่วนหนึ่งของเมียนมา แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนร้าย ตั้งแต่เมื่อ 25 ปีก่อน ทำให้พรทิพย์ต้องลี้ภัยตั้งแต่เด็กมาฝั่งไทย เพื่อสร้างตัวในประเทศใหม่ที่มีโอกาสในชีวิตมากกว่า

และ ‘เชียงใหม่’ พื้นที่ที่ Sex Worker จำนวนไม่น้อยเป็นชาว ‘ไทใหญ่’ ที่นี่คือสถานที่เธอเลือกในการทำงาน

“หากจะต่อสถานะแรงงานข้ามชาติ เราต้องจ้างนายหน้าเดินเอกสารให้ ทั้งบัตรสีเขียว ทั้งพาสปอร์ต บัตรแรงงาน ครั้งหนึ่งเคยเสียรวมทั้งหมด 1.6 หมื่นบาท มีบัตรสีชมพูใบเดียวยังทำงานไม่ได้ มันมีหลายขั้นตอน พี่เสียเงินแล้วเสียเงินอีก”

จ่ายเงินหลักหมื่น 2 ปีต่อครั้ง แลกสถานะ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ทำให้คนรายได้หลักพันอย่างพรทิพย์มีรายได้ไม่พอรายจ่าย บวกกับค่าเล่าเรียนของลูกสาวที่เธอส่งเสียเพียงคนเดียวเพราะสามีชาวไทยหย่าร้าง ภาระทางการเงินจึงเพิ่มขึ้นเท่าตัว 

“พี่ส่งลูกสาวเรียนตั้งแต่เรียน ป.4 อนาคตของลูกพี่ต้องขับเคลื่อนด้วยเงิน ลำพังเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้าน เงินเดือนไม่พอค่าเทอมหรอก” เธอเล่า

เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ รายรับเพียงหนึ่งคงไม่พอต่ออนาคตของลูกสาว พรทิพย์ตัดสินใจรับงานเสริมเพิ่มเติม จากพนักงานร้านอาหารหญิงทั่วไปเป็นพนักงานบริการที่สามารถหลับนอนกับลูกค้า ผู้ใช้บริการมีตั้งแต่อาจารย์ ไปจนถึงนักการเมืองท้องถิ่นที่ยอมควักกระเป๋าขอเพียงได้แวะเวียนมาอยู่กับพรทิพย์สักครึ่งชั่วโมงหรือเหมาสักเดือนหนึ่ง หากจ่ายไหว

“เมื่อก่อนพี่รับงานจากนายหน้าต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ แต่ตอนหลังไม่อยากเสียค่านายหน้าแล้วเพราะเราเริ่มรู้จักลูกค้า เราก็ดีลเอง มีตั้งแต่ซื้อบริการชั่วคราว รายเดือน เอาเราเดินทางไปต่างจังหวัดด้วยอาทิตย์หนึ่งก็ได้หลายหมื่นนะ”

พนักงานบริการ ไม่ใช่แฟน นี่เป็นสิ่งที่พรทิพย์ยึดเป็นกฎเหล็ก เมื่อเธอเสร็จงานนั่นคือชีวิตส่วนตัวของเธอกับลูกสาว ลูกค้าไม่มีสิทธิโทรตาม สอบถามเธอว่าอยู่ที่ไหนหรือทำอะไร 

“ไม่มีสิทธิโทรถามว่าเราทำอะไร อยู่ที่ไหน หรือกินอะไร เพราะเขาเป็นลูกค้า เราไม่มีสิทธิถามฉันเใด เขาก็ไม่มีสิทธิถามเราฉันนั้น” พรทิพย์พูดเสียงขรึม

และหากถามถึงความพร้อมกับการป็นพนักงานบริการ คำตอบที่ได้จากพรทิพย์ลบมายาคติที่คนส่วนใหญ่มองพนักงานบริการว่าขาดทักษะ เพราะการแต่งตัวสวย ทำตัวหอมหลับนอนร่วมเตียงกับคนไม่รู้จัก ไม่ใช่ใครทุกคนจะทำได้ สิ่งที่พนักงานบริการทางเพศต้องมีติดตัวไว้คือ ‘ความอดทน’

“Sex Worker ต้องมีความอดทน และใจเย็น เราเลือกไม่ได้ว่าจะไปกับลูกค้าที่เรารักหรือเราไม่รักเพราะมันคืองาน ความคิดที่จะเลือกไปหรือไม่ไปกับใครจึงไม่อยู่ในหัวเรา ถ้าไม่ไปก็คงเพราะเขาไม่มีค่าตอบแทนให้เรานั่นแหละเลยไม่ไป”

เงินจากการใช้เรือนร่างทำงานได้บรรเทาภาระทางการเงินของพรทิพย์ไปมากโข เงินที่เธอหาได้ ใช้ส่งแม่ที่ป่วยเข้าโรงพยาบาลดีๆ อีกความภาคภูมิใจของพนักงานบริการหญิงชาวไทใหญ่รายนี้คือ ‘ใบปริญญา’ จากลูกสาว

“ตอนนี้ลูกสาวพี่เรียนจบคณะสถาปัตยกรรมออกมาทำงานแล้ว เงินที่พี่ส่งลูกเรียนก็มาจากอาชีพพนักงานบริการ ครอบครัวเราไม่ได้กู้ กยศ.พี่ใช้เงินตัวเองส่งเขาเรียน เราไม่ได้หวังอะไรจากลูกมากไปกว่าเขาสุขภาพดี และมีความสุขกับการทำงาน”

ความยากจนและสงคราม

คนคนหนึ่งมีเหตุผลมากมายในการโยกย้ายถิ่นฐานจากประเทศบ้านเกิด เหตุผลอาจเป็นจุดที่ตั้งไม่อุดมสมบูรณ์พอปลูกพืชผล เป็นพื้นที่ด้อยการศึกษา ขาดโอกาสในการเติบโต ฯลฯ 

สงครามและความยากจน เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องจำใจหันหลังให้บ้านเกิด ไปเติบโตยังต่างแดน

ขวัญ หญิงสาวชาวไทใหญ่วัย 23 ปี ต้องผันตัวจากพนักงานรับจ้างทั่วไปมาเป็น Sex Worker ภายในร้านนวดตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัวที่มีแม่และน้องสาว และเพื่อหลีกหนีความจนตั้งแต่ 3 ปีก่อน

“ช่วงโควิด ร้านค้าต่างๆ ปิดหมด งานเย็บผ้าที่แม่เรารับออเดอร์จากโรงงานก็ติดขัด ครอบครัวเราไม่มีงานทำ 3-4 เดือน เอาแต่เงินเก็บมาใช้จนหมด ต้องหยิบยืมจากคนอื่น พอหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องหางานอื่นเสริม

“ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย แฟนหางานร้านนวดให้เราทำ เราเลยไปสมัคร มารู้ทีหลังว่ามันไม่ใช่ร้านนวดไทยทั่วไป แต่เป็นร้านนวดที่มีบริการเสริมให้ลูกค้าด้วย แต่ตอนนั้นคิดในใจว่าทำงานอะไรก็ได้ ฉันทำได้หมด ขอแค่มีเงินมาใช้หนี้ มีรายได้พอให้เราแม่ลูกอยู่รอดก็พอแล้ว”

แม้ขวัญตกใจกับข้อเท็จจริงตรงหน้าจนเธอกล่าวว่า “แทบอยากจะเดินออกจากตรงนั้น” แต่หากต้องคิดว่าพรุ่งนี้ แม่ น้องสาว และตัวเธอจะเอาอะไรกิน หญิงสาวได้แต่กัดฟันทำงานในร้านนวด ซึ่งการเป็นพนักงานนวดช่วงแรกเป็นเพียงนวดน้ำมันธรรมดาไม่มีบริการเสริม แต่ด้วยปัญหาค่าใช้จ่าย ขวัญจึงเริ่มทำงานเสริมให้ลูกค้าเพื่อเพิ่มรายได้

“การเป็น Sex Worker ของเราเริ่มจากในร้านนวด เพราะรายได้แค่นวดอย่างเดียวมันไม่พอเอามาโปะหนี้สินของครอบครัวเราในตอนนั้น เลยต้องขยับมาทำงานบริการทางเพศเสริม” 

ความจำเป็นทางการเงินเพื่อให้ครอบครัวมีชีวิตรอดในแต่ละวัน ทำให้ขวัญเป็นพนักงานบริการทางเพศตั้งแต่วัยรุ่น เงินที่ได้จากการทำงานถูกใช้ไปกับค่าเช่าบ้าน ค่าข้าวค่าน้ำให้แม่และน้องสาว ส่วนที่เหลือเธอเก็บไว้เป็นของขวัญสำหรับตัวเองที่ทำงานหนัก

ชีวิตที่อัตคัด ฐานะทางการเงินครอบครัวที่ฝืดเคือง ชีวิตในประเทศไทยสำหรับขวัญไม่ใช่ความน่าภิรมย์ที่ใครอยากเผชิญ เราถามขวัญว่าเหตุใดจึงไม่กลับไปใช้ชีวิตในพม่า นอกจากรายได้ อีกคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘สงคราม’ 

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เมียนมากลายเป็นพื้นที่สีแดงที่ห้ามคนในออกคนนอกเข้า ขวัญในวัยเพียง 20 ต้นๆ กำลังหวาดผวากับการถูกเรียกเข้ากรมไปรบในสงคราม 

“ช่วงก่อนมีข่าวจากครอบครัวเราที่พม่า ให้เตรียมตัวกลับบ้านเพราะทหารจะเอาทั้งผู้หญิงผู้ชายไปรบ เรากลัวมากตอนนั้น แต่ถ้าเราไม่ไปครอบครัวที่พม่าจะถูกจับ ไม่งั้นก็ถูกยึดทรัพย์สิน สู้เรากลับบ้านดีกว่าครอบครัวเราจะมาโดนอะไรแบบนั้น”

ขวัญเตรียมตัวกลับบ้าน ทว่าญาติของเธอจากฝั่งเมียนมาปรามไว้ให้รอ 1 สัปดาห์แล้วจะติดต่อกลับ แต่เวลาผ่านไปทุกอย่างเงียบหาย กระทั่งได้รับข่าวสารว่าระบบเกณฑ์หญิงไปรบยกเลิกไปแล้ว 

อย่างไรก็ดี การยกเลิกเกณฑ์ผู้หญิงไปรบไม่ใช่สัญญะการเลิกล้มก่อสงครามในเมียนมา นั่นจึงเป็นสาเหตุของการอยู่ไทยยาวๆ ของขวัญและครอบครัวที่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้

แม้จะเป็นกรณีสงครามเช่นเดียวกันกับขวัญ แต่เส้นประสบการณ์ของพรทิพย์นั้นแตกต่างจากขวัญอยู่มาก เพราะเธอคือผู้อยู่ในสงครามและหลีกหนีมาผ่านความช่วยเหลือของตัวเธอเอง 

“พ่อแม่ของเราที่รัฐฉานมีลูกกันทั้งหมด 5 คน เป็นผู้ชาย 2 คนมีครอบครัวหมดแล้ว กับผู้หญิง 3 คน เราเป็นคนกลาง

“ช่วงนั้นเป็นช่วงสงคราม บ้านไหนที่มีลูกสาวสวยเขาจะเอาไปเป็นเมียทหารพม่า เรากับพี่สาวต้องไปนอนในสวนข้าวโพดตลอด”

ชีวิตในวัยเด็กของพรทิพย์ในเมียนมาคือการหลบซ่อน และเป็นชีวิตของผู้หญิงในรัฐฉานทั้งหมดไม่ใช่แค่เธอกับพี่สาว มีเพียงเพิงพักกลางสวนข้าวโพดที่พ่อแม่เป็นคนสร้าง คอยปกป้องชีวิตในวัยเด็กจากเหล่าทหารเมียนมาได้ 

“บ้านไหนที่มีลูกสาวส่วนใหญ่เขาจะทำเพิงพักหลบไว้ในสวนข้าวโพด มีน้ำมัน มีข้าวสารไว้ให้ในเพิง ทหารที่เอาเด็กไปเป็นเมียเขาไม่ดูอายุเลย ผู้หญิงบ้านไหนสวยอายุสัก 14-15 เขาก็เอาไปเป็นเมีย

“แต่ละหมู่บ้านจะใกล้เคียงกัน เมื่อกลุ่มทหารพม่าเดินทางผ่านหมู่บ้านมาเจอผู้ชาย เขาจะให้ไปหาบของไปที่ต่างๆ แต่ผู้หญิงบ้านไหนสวย เขาจะจับไปเป็นเมียของหัวหน้าเขา แต่ละหมู่บ้านเลยส่งข่าวกันว่าทหารจะเดินผ่านไปทางไหน เราไม่ค่อยได้อยู่ในหมู่บ้าน ต้องใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ เลยคุยกับพี่สาวว่าไม่อยากใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว เราจะข้ามไปฝั่งไทย”

การเดินทางข้ามน้ำข้ามเขาของขวัญและพรทิพย์มีสาเหตุคล้ายกันคือ การหนีห่างจากความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมา และความยากจน และทางเลือกการหารายได้ที่น้อยนิดทางอาชีพ พนักงานบริการจึงเป็นอาชีพเพียงไม่กี่อย่างที่ทำรายได้ให้กับชาวชาติพันธุ์หญิงทั้ง 2 คน 

เป็นเรื่องไม่ยุติธรรม หากผู้หญิงทั้ง 2 คนจะต้องพบเจอกับความยากลำบากทางการเงิน และการหาเลี้ยงปากท้องกับต้นเหตุปัญหาที่พวกเธอไม่ได้ก่อ และหากมองด้วยเลนส์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะชาติพันธ์ุใดก็ควรมีสิทธิในการอยู่รอดในฐานะพลเมืองโลกทั้งสิ้น 

อาชีพสุจริตที่ยังผิดกฎหมาย 

“ไม่พบการขายบริการที่พัทยา” เป็นวลีดังที่ถูกนำมาใช้ซ้ำบ่อยครั้ง เพื่อหยอกล้อการทำงานของตำรวจที่อ้างว่า ไม่พบการค้าบริการทางเพศในพัทยา และบ่อยครั้งสะท้อนว่าข้าราชการพยายามปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อให้ Sex Worker ยังคงอยู่ต่อไปโดยไร้กฎหมายเข้ามาดูแลอย่างเป็นกิจจะลักษณะเหมือนกับอาชีพอื่นๆ

และการระบุว่า ‘ไม่พบการขายบริการ’ นั่นเท่ากับว่า ตำรวจมองไม่เห็นคน 2.5 แสนคนที่ทำงานเป็น Sex Worker ในประเทศไทยจากการเปิดเผยของเว็บไซต์ Sex Worker Statistics ในปี 2566 ซึ่งทำให้ไทยเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศที่มี Sex Worker มากที่สุดในโลก 

แม้จะมากด้วยจำนวน แต่การยอมรับทางกฎหมายไม่ได้มากขึ้นตามไปด้วย 

“เราอยากให้กฎหมายมันยอมให้พนักงานบริการเป็นอาชีพเหมือนงานอื่น การเปิดรับทางกฎหมายมันจะเปลี่ยนทัศนะของคนที่มองมายังอาชีพพนักงานบริการแง่ลบๆ เพราะเขายังมองว่าอาชีพของเราไม่ดี” พรทิพย์ระบุ

แม้จะมีสัญญาณที่ดีสำหรับการผลักดันกฎหมาย เพื่อคุ้มครองพนักงานบริการ จากการให้คำมั่นของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในงาน Pride Month ที่ระบุว่า จะทำให้ Sex Worker ได้รับการยอมรับ พร้อมให้สิทธิสวัสดิการต่างๆ กับอาชีพนี้ แต่สำหรับกฎหมายคุ้มครองพนักงานอาชีพบริการ หรือ Sex Worker ที่เสนอโดยภาคประชาสังคมกลับถูกแช่แข็งมานานกว่า 5 ปี โดยไม่ถูกเสนอเพื่อพิจารณาในระดับคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด

เมื่อ Sex Worker ยังไม่ถูกกฎหมาย สิทธิ สวัสดิการในฐานะคนทำงานจึงมีน้อยหรือแทบไม่มี เนื่องจากไม่ถูกนับเป็นแรงงานตามกฎหมาย แม้แต่การแจ้งความเมื่อเกิดคดี อย่างพนักงานถูกทำร้ายร่างกายระหว่างทำงาน หรือการล่วงละเมิดข้อตกลงของลูกค้าในการรับบริการ เช่น การแอบบันทึกภาพ วิดีโอ พนักงานบริการไม่สามารถแจ้งความได้ เนื่องจากทำอาชีพผิดกฎหมาย และอาจกลายเป็นว่าผู้แจ้งความอาจโดนจับเสียเองในข้อหาค้าบริการ 

“เราเจอแอบถ่ายคลิปครั้งหนึ่ง และมีลูกค้าพยายามถอดถุง แต่เราแจ้งความไม่น่าได้ เพราะการทำงานบริการทางเพศสำหรับพี่มันผิดกฎหมายอยู่ ถ้าเราแจ้งมันอาจย้อนมาแจ้งเราเอง” 

หรือแม้แต่กับขวัญในอาชีพที่ยังไม่ถูกกฎหมาย ก็ทำให้เธอต้องเผชิญกับการรีดไถจากเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 2 ครั้ง ทำให้เธอเกิดความหวาดกลัวที่จะประกอบอาชีพมาจนถึงวันนี้

ดังนั้นไม่เพียงแต่ทัศนคติของคนเท่านั้นที่เปลี่ยนไป แต่การโอบรับทางกฎหมายกับอาชีพพนักงานบริการ คือการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบอาชีพนี้ ทั้งความปลอดภัยทางร่างกาย ยังไม่นับรวมสวัสดิการทางอาชีพที่พนักงานคนหนึ่งควรได้รับ 

หลายคนอาจตั้งคำถามเล็กๆ ว่า หาก Sex Worker ถูกกฎหมายแล้ว พนักงานบริการชาวไทใหญ่พร้อมหรือไม่กับการเข้าสู่ระบบ ‘ภาษี’ เหมือนกับชาวไทยที่ประกอบอาชีพอื่นๆ

พรทิพย์ตอบกับเราอย่างมั่นใจว่า เธอพร้อมเข้าสู่ระบบภาษีอย่างคนไทยทุกประการ

ทว่าช่วงเวลาที่กฎหมาย Sex Worker ถึงเส้นชัย และวันที่ชาวชาติพันธุ์มีสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะคนทำงานนั้น ยังคงห่างไกล

Tags: , , , , , , , ,