“การรถไฟฯ ไม่มีใครมาพูดกับแม่ค้าเลย แม่ค้าที่ขายของตรงริมทางรถไฟฯ ไม่มีใครรู้อะไรทั้งนั้น แม้แต่ตึกที่เช่าเขาก็ไม่ต่อสัญญา ไม่ได้บอกอะไรก็อยู่กันไปแบบนี้ คลุมเครือได้ยินแต่กระแสว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง จะย้ายหรือไม่ย้าย … ถ้าโดนไล่ที่จริงก็ไม่รู้เหมือนกันชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องเร่ร่อนขายข้าวแกง” แม่ค้าขายข้าวแกงริมทางสถานีรถไฟอยุธยากล่าว

ผ่านมา 9 ปีแล้ว นับตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยมีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการรัฐประหาร ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านการใช้ ‘อำนาจพิเศษ’ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในการดำเนินการก่อสร้าง เมื่อปี 2560 เพื่อยกเว้นกฎหมายและระเบียบการตรวจสอบนานัปการ ส่งผลให้ชะตากรรมชีวิตชุมชนและประชาชนบริเวณริมทางรถไฟสถานีอยุธยาต้องอยู่กับความ ‘ไม่รู้’ ว่า รัฐบาลจะมีการเปลี่ยนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ หรือยืนยันที่จะสร้างบนแนวรถไฟเดิม

นอกจากวิถีชีวิตและคนในชุมชน สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดไม่น้อยไปกว่ากัน คือประวัติศาสตร์ รากเหง้า หลักฐานประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่อาจตีมูลค่าได้อาจถูกทำลาย และพื้นที่กรุงศรีอยุธยาอาจถูกถอดจากเมืองมรดกโลก

ก่อนจะเข้าสู่หัวข้อหลัก อยากชวนทุกคนย้อนดูแผนรถไฟความเร็วสูงสักนิดเพื่อให้เห็นภาพตรงกัน หากดูตามแผนการแล้วจะมีการพัฒนาทั้งหมด 4 สาย โดยขณะนี้ เพิ่งเริ่มสร้างได้เพียงสายเดียวจากแผนการสร้างหลายสาย คือ ‘สายตะวันออกเฉียงเหนือ’ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย รวมระยะทาง 609 กิโลเมตร

กระนั้นเอง เส้นทางดังกล่าวก็ยังไม่อาจสร้างได้ตามแผน เพราะติดอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นจังหวัดหลัก และหาก ‘สายเหนือ’ ซึ่งวิ่งไปยังจังหวัดเชียงใหม่เกิดขึ้นจริง จะต้องพาดผ่านยังตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา เส้นทางดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง ว่าด้วยผลกระทบกับ ‘เมืองเก่า’ หลักฐานโบราณคดี และอาจทำให้พระนครศรีอยุธยาถูกถอดจากมรดกโลก ส่งผลให้กลุ่มคนที่ต้องการใช้บริการรถไฟความเร็วสูงออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการ ‘ถ่วงความเจริญ’ ความคิดล้าสมัย วิพากษ์ไปถึงขั้นว่ามรดกโลก ‘ไม่ใช่พ่อ’ 

เมื่อ ‘มรดกโลก’ ไม่ใช่พ่อ แล้วการตามหารากเหง้าประวัติศาสตร์ ผ่านคำถามยอดฮิตอย่าง ‘คนไทยมาจากไหน’ ยังจำเป็นอยู่ไหม? 

หากถามว่าราชธานีแห่งแรกของประเทศไทยคืออะไร?

หลายคนคงตอบว่ากรุงสุโขทัย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะที่ผ่านมา ในบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์มักสอนให้เราท่องจำเช่นนี้ แต่เมื่อไม่นานมานี้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และพงศาวดารหลายอย่างบ่งชี้ว่า เมือง ‘อโยธยา’ หรือเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร เป็นต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน-นักประวัติศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา ‘มรดกเผด็จการ ม.44 ทำลายมรดกโลก อโยธยา’ ไว้ว่า ทฤษฎีอัลไต น่านเจ้า ที่พูดถึงถิ่นกำเนิดคนไทยถูกสั่นคลอนมาราว 60 ปีแล้ว และถูกถอดออกจากหนังสือเรียนแบบเงียบๆ รวมไปถึงประวัติศาสตร์ไทยที่ระบุว่า สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกก็ถูกถอดไปแล้วเช่นกัน หลังมีการขุดค้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และพบว่าเมืองอู่ทองไม่มีพระเจ้าอู่ทอง แต่สิ่งเหล่านี้ กรมศิลปากรไม่เคยประกาศเพราะอาย สุจิตต์มองว่านี่เป็นการกระทำที่ทำร้ายประวัติศาสตร์ ทำร้ายประชาชน และทำให้งมงาย 

“หากถามว่าคนไทยมาจากไหน ตอบว่ากูก็ไม่รู้ มันอยู่ที่ว่าจะ Definition คนไทยว่าอะไร”

สุจิตต์กล่าวต่อว่า อโยธยาเป็นเมืองไทยแห่งแรก เป็นเมืองต้นกำเนิดคนไทยและภาษาไทย ไม่ใช่สุโขทัย ดังนั้น อโยธยาจึงแทนที่สุโขทัยในทุกเรื่อง อะไรที่เคยเชื่อว่าเกิดในสุโขทัย ให้เปลี่ยนเป็นอยุธยาให้หมด ยกเว้นอยู่สองเรื่องคือ นางนพมาศ และจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ทำในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยรัชกาลที่ 4)

หากมาดูแผนการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะพบว่า เมืองอโยธยาที่เป็นเมืองเก่าถูกผ่าออกเป็นสองซีก คือเมืองอโยธยาที่มีอายุตั้งแต่ราว พ.ศ. 1600 และเมืองอยุธยาที่มีอายุเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 1893 ตามตำรา ดังนั้น การสร้างรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่เมืองโบราณ (ไม่เพียงแต่สร้างทับเส้นทางรถไฟเดิม แต่เพียงการก่อสร้าง ขุด เจาะ ลงเสาเข็ม ล้วนส่งผลต่อโบราณวัตถุใต้ดินทั้งสิ้น) นับเป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มิอาจตีมูลค่าได้ รวมถึงความรู้ด้านวิชาการต่างๆ ก็จะสูญหายไปพร้อมกับสายรถไฟความเร็วสูงนี้อีกด้วย 

‘อโยธยา’ เมืองเก่าของเราแต่ก่อน แต่ทำไมถูกทำให้จางหายในหน้าประวัติศาสตร์ไทย? 

หนึ่งในเหตุผลที่อธิบายการไม่ยอมรับประวัติศาสตร์และขีดเขียนทับประวัติศาสตร์เดิม คือการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองชาตินิยม และก่อให้เกิดการคลั่งเชื้อชาติ ผ่านการสร้างรัฐในอุดมคติ สุจิตต์มองว่า การที่ชนชั้นนำต้องการให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย มาจากเหตุผลว่า หากยอมรับว่าเมืองอโยธยามีอายุเก่าแก่กว่าสุโขทัยที่เชื่อว่าเป็นราชธานีแห่งแรก ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในประเด็นอื่นๆ ตามมา เป็นต้นว่า การตั้งคำถามว่าพ่อขุนรามคำแหง ประดิษฐ์อักษรไทยเมื่อไร 

ดังนั้น เมืองอโยธยาจึงต้องถูกด้อยค่าและบังคับให้สูญหายจากประวัติศาสตร์แห่งชาติ สังคมไทยจึงไม่รู้เกี่ยวกับเมืองอโยธยา นั่นหมายความว่าสังคมไทยถูกหลอกมาตลอดเวลาราวร้อยกว่าปี 

สุจิตต์สรุปความว่า ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยแต่งเหมือนนิยายขายเฟกนิวส์ สังคมไทยทุกวันนี้จึงรู้สึกเคว้งคว้างกลางสุริยะจักรวาล “เพราะหานิยามไม่ได้ หาคำอธิบายก็ไม่พบว่าคนไทยเป็นใคร และประเทศไทยมาจากไหน ผมคิดว่าอโยธยาและปริมณฑล มีหลักฐานครบถ้วน ทั้งอยู่ใต้ดินและเหนือดิน ว่าเป็นเมืองต้นกำเนิดภาษาไทย คนไทย ประเทศไทย และอื่นๆ อีกมาก สังคมไทยต้องร่วมกันพิทักษ์อโยธยาทั้งเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย แบบไม่เฟกนิวส์”

คัดค้านการสร้างทับเมืองโบราณ  ≠  ไม่สนับสนุนรถไฟความเร็วสูง

หลีกเลี่ยงการทำลายเมืองโบราณ เมืองอโยธยา ไม่ได้ขัดขวางความเจริญครับ ไอ้ที่บอกว่าขัดขวางความเจริญ สงสัยว่าเราคิดเรื่องความเจริญต่างกัน ความเจริญของเราไม่ตรงกัน ความเจริญของคุณคือรัฐประหาร ความเจริญของผมก็ประชาธิปไตย” 

สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า การที่กลุ่มนักวิชาการ นักโบราณคดี หรือภาคประชาชน ออกมารณรงค์หรือล่ารายชื่อผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อผลักดันข้อเสนอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่จะกระทบโบราณสถาน เช่น วัดพิชัยสงคราม วัดประดู่ทรงธรรม วัดสิงห์นารายณ์ และโบราณสถานต่างๆ ที่อยู่ใกล้รัศมี ไม่ได้หมายถึงการคัดค้านไม่เอารถไฟความเร็วสูงเลย แต่ต้องการรักษาเมืองโบราณควบคู่ไปกับรถไฟความเร็วสูงต่างหาก

“ผมสนับสนุนรถไฟความเร็วสูง ไม่ได้เพิ่งมาสนับสนุน แต่สนับสนุนมาตั้งแต่สมัยคุณชัชชาติ (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) เพราะฉะนั้น ที่ไปพูดกันว่ามาคัดค้านเลอะเทอะ” 

ด้าน ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล รองศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า แม้เขตที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกอยู่ห่างจากสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยากว่า 1.5 กิโลเมตร แต่หากประเทศไทยเดินหน้าสร้างสถานีอยุธยาบนพื้นที่เดิม อยุธยาจะถูกถอดออกมรดกโลกอย่างแน่นอน ด้วยพื้นที่ที่ก่อสร้างอาจกระทบโบราณสถาน และเขตเมืองเก่าอโยธยาก็ยังมีหลายจุดที่ไม่ได้ขุดค้นทางโบราณคดี พร้อมกับตั้งคำถามต่อว่า รัฐบาลเคยให้ข้อมูลกับประชาชนหรือเปล่า หากถูกถอดจากมรดกโลกแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ต่อมาคือหากมาดูจุดประสงค์ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็เป็นไปเพื่อปกป้องแหล่งวัฒนธรรมของประเทศโลกที่สาม ที่รัฐบาลไม่ควรทำลาย 

เว็บไซต์ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) เปิดเผยขอบเขตมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (Ayutthaya Historical Park) พบว่าวัดที่อยู่ในพื้นที่มรดกโลกมีทั้งหมด 7 วัด ได้แก่

1. วิหารพระมงคลบพิตร

2. วัดพระศรีสรรเพชญ์

3. วัดพระราม

4. วัดราชบูรณะ

5. วัดมหาธาตุ

6. วัดธรรมิกราช

และ 7. วัดโลกยสุธาหรือวัดพระนอน

ไม่ได้เพิ่งคัดค้าน คัดค้านกันมานานแล้ว ขนาดพลเอกประวิตรยังคัดค้านเลย

หากมาย้อนดูไทม์ไลน์การเตือน การคัดค้าน และการพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางเมืองโบราณ ก็จะพบว่าสิ่งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มีการพูดคุยมานานแล้ว เพียงแต่การรถไฟฯ ทำตัวไม่รู้ไม่ชี้

โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้

1. ในปี 2563 ศูนย์มรดกโลกยูเนสโกแจ้งทางการไทย ผ่านกระทรวงต่างประเทศว่า ห่วงกังวลเกี่ยวกับการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ที่อาจกระทบมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียง จึงขอให้ประเทศไทย ในฐานะภาคีจัดทำรายการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessments: HIAs) ก่อนดำเนินการ 

2. เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 กรมศิลปากรแจ้งกระทรวงคมนาคมว่า บริเวณที่รถไฟจะสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงเป็นพื้นที่โบราณสถาน มีโบราณสถานสำคัญมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ใกล้พื้นที่มรดกโลกส่งผลกระทบสูงจึงขอให้หลีกเลี่ยง 

3. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ประชุมครั้งที่ 1/2564 มีมติให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาการก่อสร้างสถานีในทางเลือก โดยมี 2 แนวทาง ดังนี้ 

1. ก่อสร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก และ 2. เปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยอ้อมพื้นที่มรดกโลก

การทำ HIAs ที่เปรียบเหมือนสำนวน ‘แข็งดังเหล็กเงินง้าง อ่อนได้โดยใจ’

ในขั้นตอนการทำ HIAs ตามที่ยูเนสโกบอกนั้น โดยปกติสากลโลกแล้ว จะต้องใช้หน่วยงานกลางในการจัดทำ HIAs แต่ทางการรถไฟฯ ผู้ต้องการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงกลับเป็นผู้ว่าจ้างในการทำการประเมิณผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกเสียเอง โดยจ้างงานคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่ง สุจิตต์ ได้ตั้งคำถามต่อการกระทำนี้ว่า เป็นสิ่งเที่ยงธรรมตรงไหน และจะต่อสู้กับการรถไฟฯ ได้อย่างไร? 

“เคยได้ยินคติโบราณไหมครับ เขามีโคลงโลกนิติที่กล่าวว่า ‘แข็งดังเหล็กเงินง้าง อ่อนได้โดยใจ’ รู้จักใช่ไหม คนที่รับจ้างคือคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีหน้าที่สอนให้นักศึกษาอนุรักษ์โบราณสถาน คุณคิดดูว่ามันเที่ยงธรรมตรงไหน คณะโบราณคดีส่วนใหญ่ อาจารย์มีหน้าที่ไปชี้หน้าด่าคนอื่นว่าบุกรุกโบราณสถานนะครับ แต่คณะนี้เคยทำงานให้ที่ริมถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นคณะที่ทำวิจัยเรื่องป้อมมหากาฬ และทำให้ต้องไล่ชาวบ้าน เป็นคณะเดียวกันหมด” 

เสียงของคนในชุมชน ผู้ไม่รู้ชะตาชีวิต เพราะการรถไฟฯ ไม่ยอมพูดคุยและชี้แจง

“ป้าเป็นเด็กรถไฟ พ่อทำงานการรถไฟฯ วิ่งเล่นอยู่แถวนี้ เกิดที่นี่ พูดง่ายๆ ว่าทั้งชีวิตอยู่ที่นี่” จรูญศรี อายุ 65 ปี คนขายเครื่องดื่มบริเวณสถานีรถไฟอยุธยากล่าว

จรูญศรีพูดต่อว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากจะต้องไปรื้อ และขยับขยายชานชาลารถไฟจนไปทับถมโบราณสถานต่างๆ เพราะหากมีการสร้างทับเส้นทางวิ่งเดิม ย่อมต้องเกิดการรื้อถอนทั้งหมด 

“ในข่าวบอกว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วเขาก็ไม่เห็นด้วยกัน อย่างชุมชนแจ้งวัฒนาก็ต้องโดนรื้อ เขาก็ไม่เห็นด้วย

“มีมรดกโลกทำอะไรไม่ได้ อยุธยาไม่เจริญสักที” พงศักดิ์ อินตวิเชียร์ อายุ 45 ปี วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบริเวณสถานีรถไฟอยุธยากล่าว

เรียงจากซ้ายไปขวาพงศักดิ์ และสมศักดิ์

พงศักดิ์พื้นเพเป็นคนจังหวัดกรุงเทพฯ แต่มาขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมสิบปี ที่พักอาศัยไม่ได้อยู่ในบริเวณที่จะถูกสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงจึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่มองว่าหากมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงจริง จะส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น

“เขาก็มาถามนะ เคยมาลงพื้นที่ 1 ครั้ง ติดกัน 3 วัน เสียงส่วนใหญ่ก็บอกว่าอยากได้ พวกที่ถูกไล่ที่ไม่อยากได้ แต่ตอนนี้พูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว เขาจะหาที่ให้อีกที”

เมื่อถามพงศักดิ์ว่า คิดว่ารถไฟความเร็วสูงจะกระทบต่อโบราณสถานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือไม่ เขาตอบว่า คิดว่าไม่กระทบเพราะไม่ได้สร้างในเกาะอยุธยาเมืองเก่า และไม่กลัวว่าจะหลุดมรดกโลก เนื่องจากการมีมรดกโลกส่งผลให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่เจริญ

เมื่อถามต่อว่า หากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสามารถมีรถไฟความเร็วสูง ขณะเดียวกันก็อนุรักษ์ พิทักษ์รักษาโบราณสถาน และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกันๆ เพียงแต่เส้นทางรถไฟอาจไม่ได้ตัดผ่านสถานีรถไฟฯ เดิม จะเห็นด้วยหรือไม่

“ผมอะไรก็ได้ครับ สร้างตรงไหนก็ได้ แค่อยากให้อยุธยามีรถไฟความเร็วสูง ถ้าอนุรักษ์ไปด้วยได้ก็ดีกว่าเดิมครับ” พงศักดิ์ทิ้งท้าย

“การรถไฟฯ ไม่มีใครมาพูดกับแม่ค้าเลย แม่ค้าที่ขายของตรงริมทางรถไฟไม่มีใครรู้อะไรทั้งนั้น แม้แต่ตึกที่เช่าเขาก็ไม่ต่อสัญญา ไม่ได้บอกอะไรก็อยู่กันไปแบบนี้ คลุมเครือ ได้ยินแต่กระแสว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง จะย้ายหรือไม่ย้าย… ถ้าโดนไล่ที่จริงก็ไม่รู้เหมือนกันชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องเร่ร่อนขายข้าวแกง” แม่ค้าขายข้าวแกงริมทางสถานีรถไฟอยุธยากล่าว

แม่ค้าขายข้าวแกงผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เนื่องด้วยกังวลว่าอาจถูกเพ่งเล็งจากการรถไฟฯ และจะถูกไล่ที่เป็นคนแรก บอกกับเราว่า นับตั้งแต่มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไม่เคยเกิดการพูดคุยระหว่างแม่ค้าเลย ส่งผลให้ชะตาชีวิตแม่ค้าไม่สามารถวางแผนอะไรได้ 

ณ ตอนนี้ เธอไม่รู้ชะตากรรมชีวิตตัวเอง เพราะเป็นคนอยุธยามาตั้งแต่เกิดและทำอาชีพขายข้าวแกงริมทางรถไฟ โดยรับช่วงมาจากแม่ จึงนับเป็นแม่ค้ารุ่นที่สอง 

เรียงจากซ้ายไปขวา สุวัฒน์ เตียปราภางกูร และศศิพิมพ์ เตียปราภางกูร

“พี่ไม่กล้าออกความคิดเห็นว่าอยากให้มีหรือไม่มี มันก็ขึ้นอยู่กับเขา เราทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว แต่อยากให้เขาบอกมาให้ชัดเจนเลย เราจะต้องปรับตัวอย่างไร ถ้าเราไม่ได้ขายตรงนี้ เราจะได้หาที่ ตอนนี้มันไม่ชัดเจนอะไรสักอย่าง” แม่ค้าขายข้าวแกงทิ้งท้าย

“อยู่กันตั้งแต่เกิด นี่คือบ้านเรา ครอบครัวอยู่ที่นี่เป็นร้อยกว่าปีแล้ว ถ้าเตี่ยของก๋งยังอยู่จะมีอายุจะเกือบ 200 ปี ปัญหาตอนนี้คือ มันยืดเยื้อ การรถไฟฯ เพิ่มค่าเช่าจากสัญญาเก่า ปกติสามห้องเช่าจะต้องจ่ายประมาณเดือนละสี่พันกว่าบาท ปัจจุบันเกือบสองหมื่นบาท” ศศิพิมพ์ เตียปราภางกูร อายุ 53 ปี เจ้าของตึกเช่าบริเวณริมทางรถไฟสถานีอยุธยากล่าว

ภายหลังจากที่ การรถไฟฯ มีโปรเจกต์รถไฟฟ้าความเร็วสูง ตึกเช่าริมทางรถไฟก็ถูกปรับสัญญาเช่า จากเดิมจะขึ้นค่าเช่าทุกปี ปีละ 5% แต่อยู่ๆ ค่าเช่ากลับพุ่งกระโดดพร้อมกับขอเก็บค่าเช่าย้อนหลัง ปัจจุบันห้องแถวบริเวณริมทางรถไฟยังไม่มีใครได้ต่อสัญญาเช่ากับทางการรถไฟฯ

“ตอนนี้เขาจะส่งจดหมายมาเรียกทีละเจ้าของตึกไปคุย เพราะครั้งแรกส่งจดหมายมาพร้อมกัน เราเลยรวมตัวกันไปยื่นเรื่อง หลังจากนั้นเขาเลยส่งจดหมายมาทีละคน ตอนนี้จึงยืดเยื้อไปหมด พอจะไปคุยกับการรถไฟฯ เขาก็บอกว่างานยุ่งเดี๋ยวจะเรียกเอง”

ศศิพิมพ์มองว่า หากการอนุรักษ์สามารถทำควบคู่ไปกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะดีมาก เพราะการอนุรักษ์สามารถทำได้พร้อมกับความเจริญ เธอมองว่า หากย้ายรถไฟความเร็วสูงไปแถวถนนสายเอเชียน่าจะเหมาะกว่า นอกจากนี้ เธอยังกล่าวว่าการที่สร้างรถไฟความเร็วสูงทับเส้นรถไฟเดิม ส่งผลให้ประชาชนหลายภาคส่วนต้องเสียเงินในการเดินทางมากขึ้น รวมไปถึงคนที่ค้าขายในขบวนรถไฟก็จะมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นอีกด้วย 

“ถ้าเขามาไล่เราจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เพราะนี่คือบ้านของเรา”

การพัฒนาเมืองต้องไปควบคู่กับการอนุรักษ์ พิทักษ์รักษา ‘มรดกโลก’

ว่ากันตามจริง เราต้องยอมรับก่อนว่า คนไทยถูกปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์วัตถุโบราณ โบราณสถานแบบผิดๆ หรือจริงๆ เราไม่เคยถูกปลูกฝังเลยต่างหาก หากการอนุรักษ์ในความหมายของคนไทยคือการธำรงให้สวยงาม เพื่อความเจริญหูเจริญตา สามารถสร้างทับสิ่งที่ผุผังเก่าแก่ดั้งเดิมได้ ก็อยากจะถามกลับไปว่า นี่คือการอนุรักษ์แบบไหน? 

หากเราลองเปลี่ยนความคิดและมาอธิบายพูดคุยกันให้มากขึ้นว่า โบราณวัตถุ หลักฐานประวัติศาสตร์ต่างๆ ทั้งบนดินและใต้ดิน ไม่ได้เป็นเพียงของเก่าคร่ำครึ เป็นเพียงเศษซากในอดีต แต่สิ่งเหล่านี้คือมรดกอันล้ำค่า ที่หากสูญหายหรือพังทลายไปแล้วไม่อาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ดั่งอโยธยาที่ยังไม่รู้ชะตากรรมของหน้าประวัติศาสตร์หน้านี้ และแน่นอนว่ามูลค่ามหาศาลของการสูญเสียมิอาจตีเป็นตัวเลขได้

ดิฉันในฐานะผู้เขียน สนับสนุนการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่างสุดหัวใจ แต่การสร้างไม่ควรไปทำลายโบราณสถาน เพราะความเจริญ การอนุรักษ์ และชุมชนควรไปด้วยกันได้

ดิฉันขอยกคำพูดของสุจิตต์ทิ้งท้ายไว้ดังนี้ 

“พิทักษ์รักษาอโยธยา ไม่ใช่การพิทักษ์รักษาอิฐ หิน ดิน ทราย แต่พิทักษ์ขวัญ และจิตวิญญาณที่สิงสู่อยู่ใน อิฐ หิน ดิน ทราย เหล่านั้นของเมืองอโยธยา ซึ่งมีสตอรี่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี เพื่อประวัติศาสตร์ไทยจะใกล้เคียงความจริง ซึ่งไม่เหมือนเดิม”

Tags: , , , , , , , , ,