ปี 2544 เนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกของโลก ที่กฎหมายรับรองการสมรสของเพศเดียวกัน เป็นชนวนจุดกระแสให้ทั่วโลก มุ่งขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จนในหลายประเทศคลอดร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมตามกันมาไม่ขาดสาย รวมถึงประเทศไทยเอง ที่มีแนวโน้มว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านทุกวาระ และประกาศใช้ภายในปี 2567
‘นอกจากสถานภาพอย่างเป็นทางการ และสิทธิประโยชน์ที่คู่สมรสพึงควรมี’ ในประเทศที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ยังหมายถึงความก้าวหน้าของสังคมที่โอบรับกลุ่ม LGBTQIA+ ด้วยการปฏิบัติและเคารพดังที่มนุษย์ทุกเพศควรจะได้รับ
ทว่าก่อนที่ความตระหนักรู้เรื่องเพศจะเบ่งบาน ในอดีตยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้รับสิทธิในด้านนี้เท่าที่ควร อีกทั้งยังต้องอยู่ในสังคมที่ไม่เปิดกว้างและยอมรับในเพศสภาพอันหลากหลายของผู้คน จึงทำให้มี LGBTQIA+ อยู่หลายคู่ที่แม้จะรักกันมากเพียงใด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้สถานะคู่แต่งงาน เนื่องจากไร้ซึ่งกฎหมายรองรับ
ในช่วงเวลาของ การสมรสและความรักเบ่งบาน The Momentum ชวนสำรวจชีวิตอีกด้านหนึ่งของ LGBTQIA+ ที่ต้องถูกลิดรอนสิทธิในการสมรส จนหลายคนต่างรู้สึกเสียดายไม่น้อย ว่าหากเขาเกิดในช่วงเวลานี้ ชีวิตและความรักของพวกเขานั้นจะเบ่งบานขนาดไหน
เลสลี่ จาง เรื่องราวของ Queer Iconic ตัวตนที่สังคมฮ่องกงยังไม่ยอมรับในอดีต
“จิตใจของผมเป็นไบเซ็กชวลนะ มันง่ายมากเลยที่ผมจะชอบผู้หญิง แต่ก็ง่ายเหมือนกันที่ผมจะหลงรักผู้ชาย”
หากพูดถึงเรื่องราวของ เลสลี่ จาง (Leslie Cheung) นักแสดงในดวงใจหลายคน นอกจากผลงานภาพยนตร์ระดับไอคอนิกที่ฝากเอาไว้ตั้งแต่ Farewell My Concubine (1993) อย่าง Happy Together (1997) แล้ว หลายคนน่าจะเคยได้ยินถึงเรื่องราวความรักของเขากับแดฟฟี่ ถง (Daffy Tong) ที่ควรจะเบ่งบานเหมือนหน้าที่การงานของตัวเขา ทว่าสังคมกับไม่อนุญาตให้เรื่องแบบนี้ได้เกิดขึ้น
หากพิจารณาถึงตัวตน หลายคนคงสังเกตได้ว่า นักแสดงคนนี้ไม่ได้มีเพศวิถี (Sexual Orientation) ตามขนบธรรมเนียมของผู้ชายในสมัยนั้นที่ต้องครองคู่กับหญิงสาว แต่กลับมีรสนิยมแบบไบเซ็กชวล (Bisexual) คือรักได้ทั้งชายและหญิง ดังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน อีกทั้งยังสังเกตได้จากบทบาทที่เลสลี่ จางเลือกรับเล่นที่ส่วนใหญ่คือชายรักชาย รวมถึงรสนิยมในการแต่งตัวและจริตต่างๆ
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดว่า เลสลี่ภูมิใจกับการสิ่งที่ตัวเองเป็น คือการขึ้นแสดงในคอนเสิร์ต Leslie Cheung Live in Concert 97 ที่เขาแต่งตัวด้วยชุดสูทสีเงินมีประกายระยิบระยับ และรองเท้าส้นสูงสีแดง อีกทั้งยังเต้นคู่กับผู้ชาย เป็นภาพที่ไม่ค่อยได้เห็นในหน้าวงการบันเทิงฮ่องกงในช่วงเวลานั้นเท่าไรนัก
ในคอนเสิร์ตดังกล่าว เลสลี่ร้องเพลง The Moon Represents My Hear ซึ่งได้มีการเกริ่นก่อนเข้าเพลงขอบคุณแม่และแดฟฟี่ ถง ที่เป็นเหมือนแสงจันทร์นำทางชีวิตของเขา ในช่วงเวลาที่มืดหม่นของชีวิต
แน่นอนว่าเรื่องนี้ สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในพฤติกรรมของเขา ณ เวลานั้น รวมถึงข่าวลือกับการคบหา แดฟฟี่ ถง เพื่อนวัยหนุ่มของเลสลี่ ที่ถูกขุดคุ้ยจนล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของนักแสดงคนนี้มาโดยตลอด
แม้จะไม่ได้พูดอย่างเป็นทางการ แต่เลสลี่ จางไม่เคยปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ หลายต่อหลายครั้งเขาพูดถึงความรู้สึกดีๆ ต่อแดฟฟี่อย่างโจ่งแจ้ง เพียงแต่ว่านั่นไม่ใช่การพูดในฐานะคู่รักฉันสามี ภรรยาเป็นเพียงเพื่อนสนิทที่รู้ใจกันเท่านั้น
นั่นอาจเป็นเพราะในช่วงเวลานั้น ไม่ได้มีกฎหมายการแต่งงานของชายรักชายเกิดขึ้นบนโลกมาแม้แต่ฉบับเดียว
หากเลสลี่ จางรับรู้ว่าอนาคตหลังจากนี้ ความรักของเขาจะถูกยอมรับอย่างถูกกฎหมาย เรื่องราวอาจจะไม่ลงเอยด้วยน้ำตาของคนทั้งโลก เพราะในท้ายที่สุดวันที่ 1 เมษายน 2003 เลสลี่ตัดสินใจกระโดดตึกโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล ด้วยผลพวงจากโรคซึมเศร้าที่ตัวเขาต้องเผชิญอยู่หลายปี ทิ้งไว้เพียงจดหมายอำลา ที่เป็นเหมือนเจตจำนงสุดท้ายต่อทุกคนที่เขารัก
“เรื่องราวในปีนี้มันยากมากสำหรับผม ผมไม่สามารถที่จะสู้ได้อีกต่อไป ขอบคุณถังถัง ขอบคุณครอบครัว..ในชีวิตผมไม่เคยทำอะไรแย่ๆ เลย แต่ทำไมผมถึงต้องมาเจออะไรแบบนี้”
อลัน ทัวริง: บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ ผู้เคยถูกตราหน้าเป็นอาชญากร เพียงเพราะรักเพศเดียวกัน
อลัน ทัวริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษและผู้ที่ได้สมญานามในฐานะ ‘บิดาแห่งคอมพิวเตอร์’ หลังสามารถถอดรหัสของเครื่องอีนิกมา ที่กองทัพนาซีเยอรมนีใช้สื่อสารอย่างเป็นความลับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สำเร็จ
ไม่เพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ของเขาอย่าง ทัวริงแมชชีน (Turing Maching) ที่กลายเป็นรากฐานการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในเวลาต่อมา แต่ผลงานของทัวริงยังช่วยลดความสูญเสียของมวลมนุษยชาติไปได้มาก โดยมีการประเมินว่า หากปราศจากความพยายามของเขาและทีม สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจดำเนินต่อไปถึง 2-4 ปี และคร่าชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านคน
แม้จะมีความสามารถโดดเด่นและสร้างคุณูปการใหญ่หลวงให้กับอังกฤษและสังคมโลก ทว่าครั้งหนึ่ง ทัวริงเคยถูกตราหน้าเป็น ‘อาชญากร’ จากรัฐ เพียงเพราะเขาเป็น LGBTQIA+ จากการรักเพศเดียวกัน
หากย้อนกลับไปถึงชีวิตรักของทัวริง ประสบการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา เขามีความรู้สึกดีให้กับ คริสโตเฟอร์ มอร์คอม (Christopher Morcom) เพื่อนชายร่วมรุ่นที่มีความสนใจด้านคณิตศาสตร์เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุด ความรักครั้งแรกของเขาก็ไม่สมหวัง เพราะคริสโตเฟอร์เสียชีวิตจากอาการป่วย
อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของคริสโตเฟอร์ปลุกเร้าความสนใจทางวิชาการของทัวริงเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่ง เขาเคยเขียนเปเปอร์ที่เกี่ยวข้องกับการที่ดวงวิญญาณยังคงอยู่ต่อไป แม้ร่างกายจะสูญสลาย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์กลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics)
ครึ่งชีวิตของทัวริงยังต้องปกปิดตัวตน ด้วยการหมั้นกับ โจนส์ คลาร์ก (Joan Clark) หนึ่งในทีมงานโปรเจกต์ลับถอดรหัสลับนาซีของรัฐบาลอังกฤษ โดยทัวริงก็แจ้งให้คลาร์กทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างดี โดยมีเรื่องเล่าว่า คลาร์กไม่รู้ตกใจแต่อย่างใดที่ทัวริงเป็นเกย์ นั่นจึงนับเป็นมิตรภาพอันยิ่งใหญ่ระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาวคู่หนึ่ง
แม้หน้าที่การงานของทัวริงไปได้สวยหลังโปรเจกต์ลับเสร็จสิ้น แต่แล้วเขาถูกจับได้ว่า กำลังมีความสัมพันธ์กับ อาร์โนลด์ เมอร์เรย์ (Arnold Murray) เด็กหนุ่มวัย 19 ปี หลังมีโจรขึ้นบ้าน ซึ่งในเวลานั้น การคบหาเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอังกฤษ ทัวริงจึงถูกจับในข้อหาอนาจารอย่างร้ายแรง (Gross Indecency) ในปี 1952
ท้ายที่สุด ทัวริงยอมรับข้อกล่าวหาและยืนยันว่า ตนเองเป็นเกย์จริง แต่ก็ยังคิดว่ากฎหมายปราศจากความยุติธรรมอยู่ สะท้อนจากคำพูดของเขาครั้งแรกที่ถูกจับกุมตัวว่า “การรักเพศเดียวไม่ควรผิดกฎหมาย” และแสดงออกด้วยการไม่ปริปากขอโทษถึงความผิดที่ถูกกล่าวหาแม้แต่คำเดียวเสียด้วยซ้ำ
ต่อมา ทัวริงต้องเข้ารับการบำบัดด้วยการฉีดสารเคมี ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง โดยเดอะการ์เดียน (Guardian) เปิดเผยความรู้สึกในเวลานั้นของเขาผ่านจดหมายส่วนตัวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทัวริงกับแม่เป็นไปไม่ค่อยดี เพราะเรื่องฉาวโฉ่ดังกล่าว และเขาไม่อยากยอมรับว่า ตนเองกำลังจะเป็นกลุ่ม ‘รักต่างเพศ’ เหมือนคนอื่น หลังเข้ารับการบำบัด
น่าเศร้าที่ทัวริงตัดสินใจอัตวินิบาตกรรมในวัย 41 ปี โดยมีการค้นพบสารไซยาไนด์ในร่างกายของเขามากเกินไป ทว่าส่วนหนึ่งมีการวิเคราะห์ว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะปลิดชีพตนเอง แต่อาจเป็นความผิดพลาดในการทดลองทางวิชาการ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2013 สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ (Queen Elizabeth II) พระราชทานอภัยโทษให้กับ อลัน ทัวริง ซึ่งตามมาด้วยกฎหมายมีชื่อของเขาว่า Alan Turing Law เพื่ออภัยโทษให้กับชายและหญิงนับ 7.5 หมื่นคนที่มีความผิดรักร่วมเพศในอดีต
เรื่องราวชีวิตคู่ ที่แม้แต่ ‘ความตาย’ ก็พราก ‘รัก’ ไปไม่ได้
“ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ขอให้ตายด้วยกัน ถ้าสีดาตายก่อน ชีพต้องตายตามไป ถ้าชีพตายก่อน สีดาก็จะตายตามด้วยไป” คำสาบานจากคู่รักอย่าง ประโนตย์ วิเศษแพทย์ บุรุษหน้าหวาน ฉายา ‘สีดา’ และชีพ-สมชาย แก้วจินดา สามีของเธอเพื่อยืนยันความรักที่มั่นคงของทั้งสอง
หากย้อนกลับไปที่ประวัติความเป็นมาของประโนตย์ เจ้าของฉายาสีดานั้น เธอเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัว ‘วิเศษแพทย์’ ครอบครัวเศรษฐีย่านสวนพลู เติบโตขึ้นท่ามกลางการเลี้ยงดูของสตรี ทำให้มีพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘ออกสาว’ ในปัจจุบัน
ชีวิตภายหลังการศึกษาชั้นประถมศึกษา เธอเข้าเรียนในโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยนาฏศิลป) ต่อมา ด้วยความที่เป็นคนหน้าหวาน จึงทำให้ได้รับบทบาทที่สำคัญอย่างตัวละครสีดาในละครโขนตอนหนึ่ง จนชื่อตัวละครในวรรณคดีกลายเป็นชื่อเล่นของเธออีกชื่อหนึ่ง
แม้ชีวิตภาพรวมจะดูดีไร้ที่ติ แต่หากมองไปที่เรื่อง ชีวิตรักของสีดากลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ประโนตย์มีคนรักคนแรก แต่ก็ทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่หลายครั้ง หนักข้อขึ้นมีถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกาย ทำให้สุดท้ายเลิกรากันไป
จนกระทั่งมาพบกับคนรักคนที่สองอย่างชีพ คนขับรถแท็กซี่ มีหน้าตาหล่อเหลา สุภาพและเรียบร้อย เพียงแต่ว่าฐานะไม่ได้ร่ำรวยเช่นเธอ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองตกหลุมรักกัน โดยคนรักของเธอก็พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นคนประเภท ‘เกาะกะเทยกิน’
ความรักของทั้งสองดูจะเป็นรักที่ยืนยาว และร่วมให้คำสาบานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและศาลหลักเมืองว่า “ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ขอให้ตายด้วยกัน ถ้าสีดาตายก่อน ชีพต้องตายตามไป ถ้าชีพตายก่อน สีดาก็จะตายตามด้วยไป”
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติของชีวิตคู่ที่ต้องมีการกระทบกระทั่งกัน ด้วยความหล่อของชีพจึงทำให้มีสาวมีติดพันหลายครั้ง จนประโนตย์คิดว่า เธอไม่ใช่ผู้หญิง จึงไม่สามารถเติมเต็มความพึงพอใจให้กับเขาได้ ด้วยความคิดดังกล่าวนั้นจึงเป็นบ่อเกิดของ ‘ความหึงหวง’
ประโนตย์ตัดสินใจซื้อรถสองแถวให้กับคนรักเพื่อทำงาน และเธอก็ไปนั่งเป็นตุ๊กตาหน้ารถเพื่อ ‘กีดกัน’ ไม่ให้มีสาวสวยมาตามสามีของเธอ จากพฤติกรรมดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับชีพอย่างมาก ชีพจึงขอให้ประโนตย์หยุดการกระทำเหล่านั้นลง
แต่อย่างไรเสียก็เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งภายหลังความรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้เธอตัดสินใจจบชีวิตด้วยการดื่ม ‘ยาฆ่าแมลง’ จนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2510 อย่างโดดเดี่ยวในบ้านพัก
เมื่อชีพได้รู้ข่าวการเสียชีวิตของคนรัก เขาเสียใจเป็นอย่างมากและได้สินใจ ‘บวช’ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับคนรัก แต่ผ่านไปเพียง 3 คืนเท่านั้น เขาก็ตัดสินใจสึกออกมา พร้อมทั้งนำทรัพย์สินไปจำนำ เพื่อนำเงินที่ได้ไปมอบให้แก่ครอบครัว
โดยชีพเขียนจดหมายแสดงเจตจำนงไว้ว่า “ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวนี้เพื่อไปทำศพของผม ขอให้พี่ๆ ช่วยเป็นภาระในการเลี้ยงดูแม่ ส่วนศพของผมให้เอาไว้ที่วัดหัวลำโพงคู่กับศพของประโนตย์”
ท้ายที่สุดเขาตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะเดินทางตามคนรักไป ด้วยการดื่มยาฆ่าแมลงเพื่อปิดชีวิตตัวเองเช่นเดียวกับคนรัก และสิ้นใจเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2510
ต่อมาเมื่อญาติของเขาเห็นจดหมายดังกล่าว จึงนำศพของชีพและประโนตย์ออกมาตั้งสวดอภิธรรมที่วัดหัวลำโพงตามที่เขาตั้งความมั่นหมายไว้ สร้างความสะเทือนใจของผู้คนที่พบเห็น
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกลายเป็นตำนาน ‘คู่รักโลงศพ วัดหัวลำโพง’ ที่นำไปดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เพลงสีดา ของแจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์, ละครเวทีฉุยฉายเสน่หา หรือภาพยนตร์ในปี 2563 เรื่องสีดา ที่กำกับโดย เอกชัย ศรีวิชัย
ช้อย-ถม ตำนานหญิงรักหญิงกับวิวาห์เถื่อน
หากบอกใครต่อใครโดยไร้ซึ่งข้อมูลประกอบ อาจยากที่พวกเขาเหล่านั้นจะเชื่อว่า เมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว มีการคบกันระหว่างหญิง-หญิงอย่างเปิดเผย และเป็นไปโดยได้รับการยอมรับจากเหล่าญาติที่มาร่วมงานแต่งของคู่บ่าว-สาว ที่เป็นเพศกำเนิดหญิงทั้งคู่
ย้อนกลับไปในปี 2471 ช่วงเวลาที่ยังไร้กฎหมายรองรับความรักระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน บริเวณคลองบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี ณ บ้านหลังหนึ่งเกิดพิธีวิวาห์ ‘ลักเพศ’ (ตามคำสื่อใช้ในสมัยนั้น) ขึ้น บรรยากาศเป็นไปอย่างราบเรียบตามที่พิธีวิวาห์ควรจะเป็น ไม่มีสิ่งใดรบกวนการแต่งงาน แม้คู่รักบนแท่นพิธีจะเป็นเพศหญิงทั้งคู่ก็ตาม
ในพิธีวิวาห์ ตำแหน่งเจ้าสาวเป็นของถม และเจ้าบ่าวเป็นของช้อย บุตรของตระกูลน้อมศิริ มีน้องชายร่วมบ้าน 1 คน แต่ทั้งสองกำพร้าบิดา-มารดาตั้งแต่เล็ก อย่างไรก็ตาม การกำพร้าครอบครัวมิได้ทำให้ช้อยลำบากนัก ด้วยฐานะทางบ้านของตระกูลน้อมศิรินับว่า มีฐานะของชุมชนคลองบางระมาด
การแต่งงานระหว่างช้อยกับถม แม้จะได้รับเสียงตอบรับจากครอบครัวทั้งสองฝั่ง รวมทั้งเหล่ามิตรสหายอย่างดี ทว่าด้วยสังคมสมัยนั้นที่ยังไม่เข้าใจ หรือไม่แม้แต่จะทำความเข้าใจในเรื่อง ความรักระหว่างเพศเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า การถูกมองว่า ‘แปลก’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับที่ หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งตามติดการแต่งงานของคู่บ่าวสาวที่เป็นผู้หญิงอยู่หลายฉบับด้วยกัน ด้วยมองว่าเป็นเรื่องแปลกตาสำหรับยุคสมัย เห็นได้จากพาดหัวข่าว ‘ลักเพศ’ เรียกงานแต่งของคู่รัก
ลักเพศ (อ่านว่า ลัก-กะ-เพด) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 ให้ความหมายไว้ว่า ทำหรือแต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน เช่น คฤหัสถ์แต่งตัวปลอมเพศเป็นสมณะ ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง
การใช้คำว่าลักเพศในพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง อาจมองว่าการแต่งงานระหว่างช้อยกับถมเป็นการแต่งงานที่ผิดเพศ ผิดธรรมเนียมโดยปกติ อาจยึดตามฐานเพศกำเนิดที่มองว่า ทั้งคู่มีเพศกำเนิดหญิง ฉะนั้นจึงต้องวิวาห์กับชายเพศกำเนิดเท่านั้นจึงจะเหมาะควร
นอกจากจะถูกมองว่าเป็นการวิวาห์ที่แปลกแห่งยุคสมัย การใช้ชีวิตครองครู่กันไป ดังที่ช้อยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ศรีกรุงว่า “ดิฉันจะปกป้องครองกันไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่” นั้น ก็เป็นไปโดยไร้การรับรองทางกฎหมาย แม้รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นสมัยก่อนหน้า จะเข้าใจถึงความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันผ่านนิพนธ์บทความในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตในหัวเรื่อง ‘กะเทย’ และ ‘ทำไมกะเทยจึงรู้มากในทางผัวๆ เมียๆ’ ที่เป็นการเขียนเชิงวิชาการ และไม่ได้มีกลิ่นอายของการให้ร้าย และเกลียดกลัวเพศเดียวกัน ก็ตาม ทว่าในรัชกาลที่ 7 การยอมรับความสัมพันธ์รักแบบเพศเดียวกันก็มิได้ก้าวหน้ากว่าเก่านัก การวิวาห์ระหว่างช้อยกับถมจึงเป็นวิวาห์เถื่อนไปโดยปริยาย
สำหรับชีวิตหลังแต่งงานของช้อยกับถมค่อนข้างสั้น ทั้งคู่ใช้ชีวิตหลังวิวาห์ได้เพียง 1 เดือนกับ 13 วัน ก็ต้องพบกับเหตุอุกฉกรรจ์ โดยช้อยเสียชีวิตจากการถูกลอบยิงในช่วงเช้าของวันที่ 14 มิถุนายน 2471 เสียชีวิตในบ้านของตัวเองท่ามกลางความตกตะลึงของนางถม และคนบ้านใกล้เรือนเคียง
Tags: กฎหมายสมรสเท่าเทียม, สีดา, นางช้อยนางถม, อลัน ทัวริง, เลสลี่ จาง, Love Right(s) Here, สมรสเท่าเทียม