ปีนี้ Pride Month ถูกนิยามใหม่ เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเท่าเทียมและสัญญะแห่งการเคารพสิทธิ เสรีภาพในความหลากหลาย เห็นได้จากในต้นปีที่ผ่านมา เมื่อกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2025
Pride Month 2025 จึงต่างไปจากปีอื่นๆ เพราะสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริงในปีนี้แล้ว จากการต่อสู้ เรียกร้อง ผลักดัน และสนับสนุนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และประชาชนที่เล็งเห็นถึงความเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือที่เรามักเรียกอย่างติดปากกันว่า ‘แสนสิริ’ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียม รวมถึงประเด็นความเท่าเทียมต่างๆ เสมอมา โดยในปีนี้ทางบริษัทได้รับรางวัลสำคัญระดับประเทศอย่าง ‘Pride Value of Company Awards 2025’ จาก Bangkok Pride Awards 2025 โดยในเทศกาล Pride Month ปีนี้ แสนสิริยังคงผลักดันความเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง ผ่านแคมเปญ ‘Just Don’t Judge’ เพื่อชูแนวคิดหยุดตัดสินและหันมาทำความเข้าใจต่อผู้ที่มีความแตกต่าง เพื่อสร้างพื้นที่เสรีและความเท่าเทียมแก่ทุกคน
The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff ของบริษัทแสนสิริ ถึงแคมเปญดังกล่าว รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องความเท่าเทียมอย่างแท้จริง
‘ความเท่าเทียม’ ในนิยามของแสนสิริคืออะไร
สมัชชากล่าวว่า “แท้จริงแล้ว ความเท่าเทียมมีหลายมิติ แสนสิริผลักดันเรื่องความเท่าเทียมมาหลายปีแล้ว สุดท้ายเรากลับมานั่งคิดว่า ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นก็ต้องเริ่มจากตัวเราต้องไม่มีอคติ หรือเกิดความคิดในเชิงเหมารวม (Stereotypes) คนที่อยู่รอบข้าง หรือคนที่มีมนุษยสัมพันธ์กับเรา
“เราอย่าตัดสินเขาบนเพศสภาพ สถานภาพ ศาสนา หรือใดๆ ก็ตามที่ทำให้เราเกิดอคติ แล้วผมเชื่อว่าถ้าเราทำแบบนั้นได้ เราก็จะทรีตคนเท่าเทียมกัน”
การปิดทองหลังพระของแสนสิริ กว่า 20 ปีในการผลักดันจากจุดเล็กๆ
“การผลักดันความเท่าเทียมของแสนสิริเริ่มตั้งแต่เด็กและเยาวชนก่อน ซึ่งเริ่มเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จาก ‘ฟุตบอล’ เป็นอคาเดมีสอนเด็กๆ”
เราเชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก ‘เมสซีเจ’ หรือ เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ นักฟุตบอลทีมชาติที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ซึ่งเติบโตทางด้านกีฬาและได้รับโอกาสจากเด็กที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการเรียนฟุตบอลที่แสนสิริ อคาเดมีเช่นกัน
“ไอเดียหลักก็คือ เป็นพื้นที่ให้เด็กที่มีพื้นเพความหลากหลายทางเศรษฐกิจและสังคม เข้ามาเล่นกีฬาด้วยกัน โดยเอาฟุตบอลมาเป็นตัวเชื่อม ไม่ว่าจะมาจากไหน พ่อแม่เป็นใคร เราไม่สนใจ เมื่อมาอยู่บนสนามฟุตบอลแล้ว ทุกคนต้องเท่าเทียมกันหมด
“นั่นเป็นไอเดียที่เราเริ่มทำตั้งแต่แรก คือเรื่องความเท่าเทียมของเยาวชน แล้วก็ค่อยๆ วิวัฒนาการมา จะเป็นไปตามบริบทของสังคม คือเรื่องความเท่าเทียม ความเสมอภาคทางเพศ
“แสนสิริพยายามเอาไอเดียตั้งต้นมาปรับใช้ แล้วก็กลายเป็นแคมเปญ จนกระทั่งสุดท้ายเราก็ถือว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่ช่วยให้เกิดกระแสในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม จนมันเกิดขึ้น และขอร่วมยินดีกับทุกคนที่มีส่วนร่วมทั้งหมดด้วย”
แล้วในปีนี้คือแคมเปญ ‘Just Don’t Judge’ เป็นอย่างไร
“แคมเปญนี้มีหลากหลายประเด็น หลากหลายมิติ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองที่ต้องไม่ตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่เราเห็น เราต้องเปิดใจ ทำความเข้าใจ และยอมรับว่าทุกคนมีความแตกต่าง ถ้าเราไม่ด่วนตัดสินใจ หรือไม่มีอคติส่วนตน เราก็จะปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือแนวคิดของแคมเปญนี้”
สำหรับ Just Don’t Judge จะผลักดันแนวคิดเพื่อหยุดตัดสินกันจากภายนอก เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความเสมอภาคให้ทุกคนมีสิทธิเท่ากันและได้เป็นตัวของตัวเอง ด้วยการสร้างศักยภาพของตัวเองโดยไม่ถูกตีกรอบ ทั้งทางเพศสภาพ ศักยภาพ และสถานะทางสังคมอย่างครอบคลุม
ความเท่าเทียมที่ไม่ได้สนับสนุนแค่เฉพาะภายนอก แต่ยังรวมถึงภายในองค์กร
ความเท่าเทียมของแสนสิริยังถูกนำมาใช้ภายในองค์กร ในด้านสวัสดิการต่างๆ ของพนักงาน สมัชชากล่าวในเรื่องนี้ว่า แสนสิริเป็นองค์กรใหญ่ แต่มีพนักงานหลากหลายรุ่น เราจึงเปิดกว้าง ดังนั้นสวัสดิการที่ทางฝ่ายทรัพยากรบุคคลหามา จำเป็นต้องสอดคล้องกับพนักงานทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลาต่างๆ
อีกทั้งสมัชชายังบอกแก่เราว่า แม้ในเชิงกฎหมายแรงงานจะไม่ได้มีกฎข้อบังคับว่า แบบไหนลาได้หรือลาไม่ได้ แต่สิ่งที่แสนสิริพยายามทำก็คือ Work Around นั่นคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และพยายามหาทางออกเพื่ออำนวยความสะดวก และบรรเทาทุกข์ให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม
“แสนสิริพยายามหาทางออกให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย เห็นได้จากสวัสดิการที่ยืดหยุ่นได้ ตอบโจทย์สำหรับผู้มีความหลากหลาย ซึ่งอาจไม่ได้ตรงกับกฎหมายแรงงานเสียทีเดียว แต่ตอบสนองต่อพนักงานทุกกลุ่ม”
และสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด หลังจากที่เราไปสัมภาษณ์ก็คือ บรรยากาศการทำงานของ SIRI Campus ซึ่งเป็นออฟฟิศและสำนักงานหลักของแสนสิริ ที่ทำให้ออฟฟิศเป็นมากกว่าที่นั่งทำงานไปวันๆ ทั้งการออกแบบที่ทันสมัย กว้างขวาง เอื้อต่อการทำงานที่ต้องใช้ไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์
บรรยากาศรายล้อมนั้นจึงเต็มไปด้วยพลังบวกดีๆ พร้อมแรงบันดาลใจให้พนักงานทุกคนทำงานได้อย่างมีคุณภาพ สมดุลกับการมี Work Life Balance ได้
เพราะ SIRI Campus ไม่ได้มีห้องทำงานประจำ โดยทุกที่จะเป็นที่นั่งแบบ Hot Seat ที่พนักงานทุกคนสามารถนั่งทำงานตรงไหนก็ได้ กระจายตามจุดต่างๆ อย่างมีสไตล์ทั่วทั้งออฟฟิศ มีทั้งเก้าอี้นวด เก้าอี้สำหรับทำงานแบบนั่งชมวิว เก้าอี้แบบจัดโซนนั่งขั้นบันได เก้าอี้ที่สามารถเอนนอนได้สบายๆ มีฟิตเนส เทรนเนอร์ สิ่งสร้างความบันเทิงใจ รวมถึงโซนสำหรับสัตว์เลี้ยง ให้สามารถว่ายน้ำ วิ่งเล่น หรือเดินเล่นได้ หรือโซนสำหรับคุณแม่ ในการให้นมบุตร ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในออฟฟิศ
แล้วความเท่าเทียมกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวข้องกันอย่างไร
“เรื่องของความเท่าเทียมและความหลากหลายต้องเริ่มจากก้นบึ้งของคนทำงานก่อน ถ้าองค์กรเข้าใจเรื่องพวกนี้ ทุกสิ่งที่เราทำออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้าหรือบริการก็จะตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความหลากหลายไปด้วย” สมัชชาตอบคำถาม
แม้บ้านอาจไม่ได้บอกว่า ตอบโจทย์กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายโดยตรง เพราะทุกเจ้าก็ทำได้เหมือนกันหมด แต่เวลาเข้ามาอยู่ในโครงการแล้ว คนที่เป็นผู้บริหารโครงการ ทีมงานของแสนสิริ หรือบริษัทลูก ถ้าสามารถเข้าใจว่าสังคมประกอบไปด้วยคนหลากหลาย ก็จะเป็นแต้มต่อ
ทั้งนี้การดูแลคนที่มีความหลากหลายในหมู่บ้านหนึ่ง ถือว่าไม่ง่าย ถ้าสามารถเข้าใจได้ก่อน ก็จะสามารถอำนวยความสะดวกคนเหล่านั้นได้ตามโจทย์ ที่ทุกคนมีความจำเป็นไม่เหมือนกัน
สมัชชาเชื่อว่า การที่คนสนใจในการอยู่บ้านสักหนึ่งหลัง ไม่ได้มีเพียงแต่ตัวบ้านว่า สร้างมาแล้วออกแบบอย่างไรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทัศนคติของผู้ประกอบการด้วย
“เพราะลูกค้าจะมองออกว่า ผู้ประกอบการรายใดที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และความเท่าเทียม ซึ่งมันสะท้อนออกมาเป็นภาพรวม องค์รวม ที่แสดงออกมาว่าบ้านหลังนั้นจะเป็นสังคมที่เขาอยู่แล้วสบายใจได้”
ในอนาคตแสนสิริวางแผนเรื่องความเท่าเทียมอย่างไรต่อไป
“สำหรับเรื่องของความเท่าเทียม องค์กรเราถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งหนึ่งคืออยากชวนคนอื่น เพราะการที่แสนสิริหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งลุกขึ้นมาทำเรื่องพวกนี้ มันเป็นแค่องค์ประกอบเล็กๆ ในภาคเศรษฐกิจหรือธุรกิจ” สมัชชาระบุ
โดยส่วนตัวเขา อยากชักชวนภาคเอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ สนใจเรื่องนี้ ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการเข้าไปหาหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกที่เขามีองค์ความรู้เรื่องนี้จริงๆ”
“มันไม่ผิดที่จะเริ่มช้า แต่ถ้าเกิดว่าทุกคนทำความเข้าใจกับมัน แล้วท้ายสุดอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจของกันและกัน ผมเชื่อว่าสังคมจะดีขึ้น และทุกคนก็จะช่วยกันขับเคลื่อนความเท่าเทียมในหลากหลายมิติ”
สุดท้ายนี้สมัชชาพูดถึง บุญรอด-บุญรอด อารีย์วงษ์ และขนุน-กมลชนก สมบูรณ์ ผู้สร้างแรงบันดาลและตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลาย ซึ่งมาแบ่งปันประสบการณ์และพูดคุยกับ The Momentum ในแคมเปญ Just Don’t Judge ของแสนสิริด้วยเช่นกันว่า
“ทั้ง 2 คนเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ในสังคมเราการที่แต่ละคนมีสถานภาพหรือสถานะที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถแสดงศักยภาพและตัวตนออกไปได้ จะต้องมองข้ามบางสิ่งบางอย่าง ทั้งความเป็นตัวตนของเรา ความเป็นตัวตนของเขา หรือสิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เราเป็น และทั้งสองคนก็สามารถขับศักยภาพของตัวเอง รวมถึงขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีได้”
Tags: Just Don’t Judge, สมัชชา พรหมศิริ, แสนสิริ, Sansiri, Pride Month