‘หัตถศิลป์’ สำหรับหลายคนอาจเป็นสิ่งเกินเอื้อม เก่าแก่ และไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แต่แท้จริงแล้ว งานหัตถศิลป์ถือเป็นแขนงหนึ่งของงานหัตถกรรม คือการผลิตสิ่งของด้วยมือ หรืองานคราฟต์เพื่อประโยชน์ใช้สอย และงานหัตถศิลป์เน้นไปที่ความวิจิตรงดงามจึงทำให้ชิ้นงานดูโดดเด่น

และในวันนี้เราได้เห็นงานหัตถศิลป์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของแบรนด์เนมของใช้ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ เช่น แบรนด์วาสนา (Vassana) แบรนด์กระเป๋าสัญชาติไทยที่ใช้วัสดุธรรมชาติ ได้ร่วมกับ Dior ในการทำ ‘กระเป๋า Lady Dior ไม้ไผ่สาน’ เพื่อจัดแสดงใน Dior Gold House ประเทศไทย สะท้อนความเป็นไปได้ของหัตถศิลป์ไทย รวมถึงงานหัตถกรรมในประเภทอื่นๆ ของไทยที่จะถูกยกมาพูดถึงในระดับโลก และถูกหยิบมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์

The Momentum ไปเยือนจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อสัมผัสงานศิลปหัตถกรรมล้านนา ทั้ง ‘เฮือนมาดี’ อำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ กับงานผ้าทอล้านนา เยี่ยมชม ‘เตาชวนหลงเซรามิก’ จังหวัดลำพูน กับหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา และกลับมาที่ ‘สังกะดี สเปซ’ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนมาเรียนรู้การทำงานคราฟต์ท้องถิ่นของ นุสรา เตียงเกตุ นักพัฒนาผ้าทอล้านนา 

พร้อมพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACIT) ภายใต้ภารกิจสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนครูศิลป์ ครูช่าง และทายาท โดยมุ่งไปที่การเสริมความรู้และแนวคิดร่วมสมัย เพื่อตอบรับเทรนด์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

สืบสานผ้าทอโบราณล้านนา สร้างสรรค์เครื่องเคลือบดินเผา และส่งเสริมพื้นที่ทำงานคราฟต์ท้องถิ่น

สำหรับ SACIT มีการสนับสนุนทายาทช่างศิลปหัตถกรรม แต่ทายาทในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นทายาททางสายเลือดเท่านั้น เพราะผู้ที่มีความตั้งใจเรียนรู้งานและต้องการสานต่อเทคนิคของงานของครูศิลป์หรือครูช่าง ตลอดจนมีเจตนารมณ์อยากถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไปก็ถือเป็นทายาทช่างศิลป์ ซึ่ง กอล์ฟ-วัชรพงษ์ ต้องรักชาติ เจ้าของเฮือนมาดี วัย 34 ปี คือทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2564 ในหัตถกรรมประเภทงานผ้าทอล้านนา 

กอล์ฟ-วัชรพงษ์ ต้องรักชาติ

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก วัชรพงษ์เติบโตมาในบ้านจังหวัดลำปาง ตามครรลองของชาวเหนือที่ผู้หญิงจะต้องรับหน้าที่ทอผ้า ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชาย แต่วัชรพงษ์ที่เป็นเด็กผู้ชายอายุ 10 ปีกลับสนใจในการทอผ้าอย่างมาก จนคะยั้นคะยอให้ป้าสอนเขาทอผ้าได้สำเร็จ เป็นจุดเริ่มต้นของแพสชันที่มีต่อผ้าทอล้านนา กระทั่งได้เจอกับอาจารย์นุสรา ครูศิลป์ผู้ฟื้นฟูและพัฒนากระบวนการทอผ้าล้านนาโบราณ วัชรพงษ์จึงฝากตัวเป็นศิษย์ แล้วย้ายจากลำปางมาอยู่ที่เชียงใหม่ 

วัชรพงษ์ถนัดการทอผ้าแบบโบราณที่ใกล้สูญหายให้ยังคงอยู่ เช่น ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ซิ่นตีนจกเชียงแสนโบราณ ซิ่นตีนจกจอมทอง และซิ่นยกมุกโบราณ เฮือนมาดีแห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้าล้านนาโบราณสำหรับผู้ที่สนใจ

ซิ่นคือผ้านุ่งที่ทอจากไหมหรือฝ้าย สิ่งที่ทำให้ซิ่นของแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ต่างกันคือเทคนิคการทอและลวดลาย โดยอัตลักษณ์ของ ‘ซิ่นตีนจก’ ในภาคเหนือคือทอด้วยเทคนิคการจก หรือการควักเส้นด้ายพิเศษสีต่างๆ มาผูกกับเส้นอื่นให้เกิดเป็นลวดลาย โดยซิ่นตีนจก 1 ผืนจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่นอยู่ตรงล่างสุด ซึ่งส่วนตีนซิ่นเป็นส่วนที่ทอเป็นลวดลาย ทั้งลายนกกินน้ำร่วมต้น ลายหงส์ ลายโคม ลายขัน และลายหางสะเปา ตามขนบของซิ่นโบราณซึ่งเป็นผูกโยงกับประเพณีวัฒนธรรมล้านนา

ในเมื่อซิ่นมีสถานะเป็นเครื่องนุ่งห่มฉันใด ก็ย่อมมีคนต้องการใส่ในทุกยุคสมัย วัชรพงษ์จึงไม่ได้ทำหน้าที่สอนทอผ้าโบราณ แต่เขาทอผ้าเพื่อขายด้วย และด้วยความต้องการของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป อย่างในเรื่องสีของผ้าที่นิยมสีสันต่างจากแบบโบราณที่ใช้แค่สีดำกับสีแดง วัชรพงษ์จึงปรับเปลี่ยนมาทอสีพาสเทลตามออเดอร์ของลูกค้า แต่วิธีการทอและการวางลวดลาดของเขายังคงไว้ซึ่งเทคนิคดั้งเดิม

นอกจากนี้เขายังทอผ้าลายโบราณแบบต่างๆ เพื่อส่งให้กับโรงแรมที่ต้องการนำไปใส่กรอบจัดแสดงให้แขกต่างชาติได้ชื่นชมความงดงามของผ้าทอโบราณอีกด้วย

“เราจะทำให้งานหัตถศิลป์นั้นมีชีวิตสืบต่อมาได้ ก็ต่อเมื่อมีคนปัจจุบันเป็นผู้รับสืบทอดงานช่าง ถ้าเราไม่สามารถทำอดีตให้อยู่กับปัจจุบันได้ งานเหล่านั้นก็เป็นเพียงโบราณวัตถุ หรือศิลปะวัตถุที่วางไว้ในพิพิธภัณฑ์ โดยที่เราไม่รู้กระบวนการสร้างมันอีกต่อไป

“เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือทำให้งานช่างคงมีชีวิตอยู่ อย่างเช่นซิ่นโบราณ เมื่อมันมีชีวิตอยู่กับคนแล้ว การที่จะกลับไปผลิตซ้ำมันก็ทำได้ หรือจะต่อยอดไปทำของใหม่ให้เป็นของโมเดิร์นก็สามารถทำได้ เพราะสิ่งที่มันอยู่คือเรื่องของเทคนิค คือเรื่องของทักษะ นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ” อนุชา ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ SACIT กล่าว

ขณะเดียวกันการส่งเสริมด้านการตลาดก็เป็นอีกภารกิจของ SACIT

“ในโลกปัจจุบัน ไม่มีช่างคนไหนที่จะอยู่ได้โดยไม่ใช้เงิน เพราะฉะนั้นเรื่องของการส่งเสริมตลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปกับเรื่องอนุรักษ์งานช่าง ต้องบาลานซ์ให้มันเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ไม่ละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” อนุชาระบุ

อีกหนึ่งงานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่า ทว่าใช้งานใช้งานได้จริงคือเครื่องเคลือบดินเผา โดยเครื่องเคลือบดินเผาจากเตาชวนหลงมาจากฝีมือของ อุทัยย์ กาญจนคูหา ครูช่างศิลปหัตกกรรม ปี 2566 ซึ่งอุทัยย์ศึกษาและเชี่ยวชาญในเรื่องของน้ำเคลือบ ที่ช่วยสร้างสีสันลวดลายให้เครื่องปั้นดินเผามีชีวิตชีวา แม้ในตอนเริ่มต้นอุทัยย์ไม่ได้เรียนจบด้านศิลปะมาก็ตาม

อุทัยย์ กาญจนคูหา

นอกจากเครื่องเคลือบดินเผาประเภทจานชาม แจกัน อ่างน้ำ ที่สามารถใช้งานได้จริง อุทัยย์ยังมีผลงานโดดเด่นคือการปั้นพระพิฆเณศ คชสิงห์ พญานาค นกหัสดีลิงค์ ฯลฯ ซึ่งมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และด้วยมีโอกาสไปแสดงผลงานที่ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นศิลปินอีกท่านหนึ่งที่ทำให้งานหัตถศิลป์ไทยเป็นที่รู้จักระดับสากล

อุทัยย์ยังนำลวดลายโบราณ เช่น เครื่องเคลือบเวียงกาหลง เครื่องถ้วยสันกำแพง และเครื่องสังคโลก มาปรับให้เกิดเอกลักษณ์เป็นลวดลายใหม่ตามจินตานาการของตนเองอย่างหาตัวจับยาก

ในมุมมองของผู้อำนวยการ SACIT อนุชาอธิบายว่า “งานศิลปะมีพลวัตของมันอยู่ งานที่เป็นประณีตศิลป์ งานโบราณ สะท้อนถึงจิตวิญญาณของคนไทยในรุ่นหนึ่ง แต่เราก็ต้องไม่ละเลยว่า การสร้างสรรค์ของคนรุ่นปัจจุบันก็สะท้อนจิตวิญญาณของคนยุคปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ของเราคือการประสานอดีตกับปัจจุบันให้อยู่ด้วยกันได้”

นุสรา เตียงเกตุ

สถานที่สุดท้ายที่เราไปเยือนคือ สังกะดี สเปซ อำเภอสันกำแพง เป็นพื้นที่ที่ครูนุสรา นักพัฒนาผ้าทอล้านนากับครอบครัว ได้ถางพื้นที่สำหรับเรียนรู้งานคราฟต์ท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ SACIT เห็นว่ามีศักยภาพ 

โดยการเรียนรู้งานคราฟต์ที่สังกะดี สเปซจะจัดสอนตามความสะดวกของคุณครู ทั้งการเรียนรู้ผ้าทอจากใยบัว เส้นใยไหม การถักพวงมาลัยจากเส้นด้าย และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนเข้ามาทำงานหัตถศิลป์ และใช้จินตนาการของตนเองอย่างอิสระในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพราะอาจต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทยได้ในอนาคต

คนเรามีอิสรภาพในการออกแบบ มีจินตนาการไม่จำกัด หากแต่จะถูกจำกัดด้วยเทคนิค ถูกจำกัดด้วยวัสดุ แล้วก็ถูกจำกัดด้วยฟังก์ชัน มนุษย์เราทำงานศิลปะที่ไม่มีฟังก์ชันก็ได้ แต่ถ้าเราจะทำเพื่อขาย อย่างไรก็ต้องคำนึงถึงฟังก์ชัน คำนึงถึงลูกค้า คำนึงถึงวัสดุ คำนึงต้นทุน คำนึงถึงความทนทานของมัน เพราะฉะนั้นในแง่ของการขาย อิสระนั่นหมายถึงอิสระภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้” อนุชาอธิบาย

สังกะดี สเปซยังเปิดพื้นที่ร้านค้าให้ชาวบ้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ได้นำงานคราฟต์ในชุมชนของตนเองมาขายด้วย

เมื่อถามผู้อำนวยการ SACIT ว่า ผู้ที่สนใจงานคราฟต์ท้องถิ่นในปัจจุบันเป็นคนกลุ่มใด และมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เขาตอบว่า เวลานี้กระแสสังคมเริ่มสนใจงานคราฟต์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะในงาน Crafts Bangkok 2024 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในปีที่ผ่าน มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจจำนวนมาก โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ พูดคุย ถามถึงกระบวนการทำงานคราฟต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่างศิลป์ก็คาดไม่ถึงเช่นกัน

“เวลานี้เราเห็นแบรนด์เนมต่างๆ ก็เริ่มหันมาหางานที่เป็นงานหัตถกรรมมากขึ้น อย่างงานถักทอหรืองานจักสาน นี่คือโอกาสที่เราจะสร้างการตระหนักรับรู้ในเรื่องของงานศิลปหัตถกรรมของประเทศไทย การที่คนรู้จักงานเครื่องถักทอหรืองานเครื่องสานจากแบรนด์เนม ก็อาจจะนำพาเข้ามาเรียนรู้ว่า ในประเทศไทยเรามีงานจักสานหลายประเภท มีวัสดุที่ใช้ในงานจักสานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นต้นคล้า คลุ้ม ลิเภา เตยปาหนัน หวาย หรือไผ่ เรามีวัสดุมากมายเลยที่จะนำมารังสรรค์เป็นงาน แล้วก็ขายในราคาที่จับต้องได้ ขึ้นอยู่กับความประณีตของผลงาน มันเป็นโอกาสที่คนปัจจุบัน คน Gen Alpha หรือ Gen Beta ต่อไปก็จะได้เรียนรู้ว่า เรามีของดี แล้วมันสามารถที่จะทำได้ทัดเทียมกับแบนด์เนมเหมือนกัน”

“การตระหนักรับรู้เป็นเรื่องสำคัญ บางทีกับคนเจนใหม่ที่ยังเป็นเด็กๆ เขาอาจจะไม่ได้ซื้อวันนี้หรอก แต่ถ้าเราสร้างการตระหนักรู้ให้เขารู้ว่า มีของดีอยู่ในประเทศ ในไม่ช้าเมื่อเขามีทุนทรัพย์เพียงพอเขาก็ต้องหาโอกาสที่จะซื้อ” 

นอกจากงานหัตถศิลป์ล้านนาหรือในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว SACIT บอกว่า ในพื้นที่อื่นหรืองานหัตถศิลป์หลายประเภทก็มีความสุ่มเสี่ยงสูญหาย ไม่ว่าจะเพราะไม่ตอบสนองการใช้งานในสังคมปัจจุบัน หรือหมดฟังก์ชันไปแล้ว เช่น พัด ซึ่งการถือพัดเคยเป็นเสน่ห์ของตะวันออก แต่ถูกแทนที่ด้วยพัดลมมือถือแทน หรืองานที่เสี่ยงสูญหายเพราะวัสดุมีราคาแพงอย่างงานคร่ำเงิน คร่ำทอง งานถมทองบนเครื่องประดับเครื่องใช้โลหะ ที่ในวันนี้ทองมีราคาสูงมาก ซึ่งปัญหานี้สะท้อนความไม่มั่นคงของช่างศิลป์ไทยในโลกปัจจุบัน และถือเป็นอีกภารกิจที่ SACIT ต้องส่งเสริมต่อไป

 

ภาพ: สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย

Tags: ,