การเมืองเรื่องจีวร
ในสายตาของคนทั่วไป การเปลี่ยนสีจีวรของพระสงฆ์คงดูเป็นเรื่องปกติไม่มีสาระสำคัญอะไร แต่สำหรับพระภิกษุแล้ว การเปลี่ยนสีจีวรนับเป็นการเมืองภายในวัดรูปแบบหนึ่ง หากสังเกตหรือติดตามข่าวสารแวดวงพระสงฆ์ ก็อาจจะทราบได้ว่าหลายวัดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์), วัดมหรรณพารามวรวิหาร, วัดสีหไกรสร และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มีการเปลี่ยนสีจีวรจากสีมหานิกายเดิมมาเป็นสี ‘พระราชนิยม’ เรียบร้อยแล้ว
รูปประกอบสีจีวรสองสี
ภาพ The kreate
ทั้งนี้การเปลี่ยนสีจีวรของวัดสระเกศ ไม่ใช่การเปลี่ยนสีจีวรนุ่งห่มของพระสงฆ์ทั่วไป แต่กลับมีชนวนมาจากความขัดแย้งภายในวัด เนื่องจากพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังมีประเด็นเรื่องคดีเงินทอนวัด
ต่อมาเจ้าคุณพระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย) ขึ้นเป็นรักษาการเจ้าอาวาสแทน ทั้งนี้ โดยปกติแล้วเมื่อวัดใดขาดเจ้าอาวาสและหากในวัดมีพระภิกษุที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิพรั่งพร้อม ก็จะแต่งตั้งมาเป็นรักษาการ และขึ้นรับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสเป็นลำดับต่อไป
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้กลับไม่เป็นเฉกเช่นทุกครั้ง เพราะมหาเถรสมาคมมีมติแต่งตั้งพระธรรมโพธิมงคล (สมควร อุบลไทร) ให้เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสรูปเดิมที่ดูแลวัดสระเกศ ทำให้หลายฝ่ายในวัดแสดงความไม่พอใจกับการแต่งตั้งของมติมหาเถรสมาคมในครั้งนี้ จึงเกิดการขัดขืนเจ้าอาวาสขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธรรมเนียมการนุ่งห่มจีวรสีส้มมหานิกายเดิมตามธรรมเนียมวัดสระเกศ มากกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งให้เปลี่ยนเป็นสี ‘พระราชนิยม’ ตามแบบของเจ้าอาวาสรูปใหม่ จนทำให้เกิดความขัดแย้งภายในวัดขึ้นและความขัดแย้งนั้นก็เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัด
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา พระธรรมโพธิมงคล บรรยายในการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส ในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงการห่มผ้าจีวรให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นสีพระราชนิยมเหมือนกันหมดในการประชุมครั้งนี้ และมีอยู่ช่วงหนึ่งในการบรรยายได้พาดพิงถึงการห่มผ้าจีวรในวัดสระเกศว่า
“วัดสระเกศเป็นวัดของบูรพมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ท่านทรงสร้างไว้ วัดหลวงอื่นๆ อีกหลายวัด ยกตัวอย่างเช่น วัดนิมมานรดี ก็เป็นวัดหลวง เป็นวัดหลวงยก ชาวบ้านสร้างไว้แต่ยกมาเป็นวัดหลวง ไม่มีประวัติศาสตร์ที่สลับซับซ้อนมากนัก ก็เกี่ยวกับจีวรเช่นเดียวกัน
“จีวรสีพระราชนิยม ใช้คำว่าพระราชนิยม ท่านดึงสีกรักที่เข้มๆ กับสีเหลือง ออกมาคนละครึ่ง ไม่ใช่ของธรรมยุตและไม่ใช่ของมหานิกาย แล้วออกมาเป็นสีพระราชนิยม อมกรักอมเหลืองอย่างที่เราเห็น นี่คือสีที่เราเห็นเนี่ย ไม่ใช่ของธรรมยุตและไม่ใช่สีของมหานิกาย เป็นสีที่ ‘พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรด’
“ผมถามพระ ในพระอุโบสถวัดสระเกศ ผมถามว่าตั้งแต่ท่านเข้างานพระราชพิธีกันมา ท่านเคยเห็นไหมในหลวงถวายสีจีวรสีเหลืองมีไหม? ไม่มี นั่นหมายความว่าอย่างไร ผู้ที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตรู้ดีว่า ไม่ต้องพูดตรงๆ มีแต่คนงี่เง่าเท่านั้นที่ไม่เข้าใจ สอนทางอ้อมท่านไม่สอนพระตรงๆ ถวายสีพระราชนิยมมาให้พระห่ม แม้แต่สีจีวรยังยึดติด อย่าว่าแต่ไปนิพพานเลย สวรรค์ก็ยังไปไม่ได้ ไม่มีครั้งไหนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงเปลี่ยนสีพระราชนิยมเนี่ยถวายสีเหลืองให้เห็น แม้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ก็เคยตรัสถามพระ ‘แล้วจีวรที่ฉันถวายไปให้เอาไปไหนหมด ไม่เห็นห่มเลย’ นั่นบทบาลีบทหนึ่งซึ่งอยู่ในพระสูตร อนุชานามิ ภิคเว ราชูนัง อนุวัตติตุง – ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระราชา ให้คล้อยตามพระราชา พระราชาเอาอย่างไรก็เอาอย่างนั้น”1
เมื่อข่าวเรื่องการบรรยายของพระธรรมโพธิมงคลเผยแพร่ในวงการคณะสงฆ์อย่างกว้างขวาง มีการซุบซิบนินทากับข้อปัญหาดังกล่าวจนเรื่องดังไปถึงหู พระพรหมโมลี (สุชาติ สีสอด) วัดปากน้ำภาษีเจริญ จึงเกิดวิวาทะขึ้น และมีการตอบโต้กลับไปว่า
“มีความพยายามทำให้พระใช้สีทอง เป็นสีพระราชนิยมทั้งหมด โดยแอบอ้างบุคคลที่อ้างแล้วน่าเชื่อถือ ขอให้ใช้ผ้าสีเหลืองทองของเราไป อย่าไปเกรงใจคนที่แอบอ้าง ให้ภูมิใจในสิ่งที่บูรพาจารย์รักษามา ผ้าก็คือผ้า อย่าให้เป็นปัญหาเหมือนอดีตกาลโน้น ไม่รู้ว่าใครคนไหนมาขุดคุ้ย เพื่อให้เกิดความไม่สบายใจกับพระที่ท่านใช้สีเหลือง ผมใช้คำว่ารุกรานด้วยซ้ำไป การบรรลุธรรม การสอบเปรียญได้ ผ้าสีไหนก็บรรลุธรรมได้ ผ้าสีไหนก็เรียนได้ ผ้าสีไหนก็สอนได้ ผ้าสีไหนก็รับใบประกาศได้”
คำถามสำคัญก็คือ หากเป็นนักบวชในพุทธศาสนา จะคล้อยตามพระราชาหรือจะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า?
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พระธรรมโพธิมงคลกล่าวว่า การเป็นพระภิกษุนั้นจะต้องคล้อยตามพระราชา โดยชูบทบาลีบทหนึ่งว่า ‘อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุนฺติ’ หมายความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระราชา ซึ่งบทบาลีบทนี้มาจากพระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 วัสสูปนายิกาขันธกะ บทนี้มาจากเหตุที่ว่า พระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ ได้ขอเลื่อนพรรษาไป 1 ค่ำ ของอีกเดือน แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงให้เลื่อนตามคำขอ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องคล้อยตามพระราชาทุกเรื่อง หากพิจารณาบทนี้ การคล้อยตามพระเจ้าพิมพิสารในการเลื่อนการจำพรรษานั้นไม่ผิด เพราะการเข้าพรรษานั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ
1. ปุริมพรรษา หมายถึงพรรษาแรก คือเริ่มเข้าพรรษาปกติในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึง 15 ค่ำ เดือน 11
2. ปัจฉิมพรรษา หมายถึงพรรษาหลัง คือเริ่มต้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึง 15 ค่ำ เดือน 12 (การเข้าพรรษาแบบที่ 2 พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เผื่อให้พระภิกษุรูปใดที่เดินทางไกลแล้วกลับมาไม่ทันสามารถเข้าพรรษาหลังได้ แต่จะไม่มีสิทธิรับองค์กฐิน เพราะหมดเขตการทอดกฐินแล้ว ถือว่ามีคุณสมบัติไม่ครบ แต่ก็ยังถือว่าไม่ขาดพรรษาในการบวช
หากพิจารณาแล้ว การคล้อยตามพระราชาของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้ขัดกับพระธรรมและพระวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ อีกทั้งบทบาลีบทนี้ก็ไม่มีข้อเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสีจีวรแต่อย่างใด เพียงแต่พูดเรื่องการขอเลื่อนพรรษาจากพระเจ้าพิมพิสาร การตีความแบบนี้ของพระธรรมโพธิมงคลเรียกว่า ‘การตีขลุม’ และไม่ได้พิจารณาพระไตรปิฎกให้รอบคอบ
แล้วพระพุทธเจ้ากล่าวถึงสีจีวรอย่างไร?
หากย้อนไปดูว่าพระพุทธเจ้าพูดเรื่องของผ้าจีวรและสีจีวรในพระไตรปิฎกอย่างไร จะพบว่าพระองค์ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในพระวินัยปิฎกเล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 2 ทรงอนุญาตให้ย้อมสีผ้า 6 ชนิดได้แก่ 1. น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเหง้า 2. น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ 3. น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ 4. น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ 5. น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ และ 6. น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้
ส่วนสีจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามนั้นประกอบด้วย สีเหลืองล้วน สีบานเย็น สีดำล้วน สีแสดล้วน สีชมพูล้วน สีแดงเลือดล้วน และสีหลังตะขาบล้วน โดยมีสาเหตุมาจากพระฉัพพัคคีย์ได้นุ่งจีวรสีเหล่านี้ ซึ่งพระพุทธเจ้ามองว่าการนุ่งห่มผ้าแบบนี้ไม่ต่างจากคนธรรมดาสามัญชน ไม่ใช่สิ่งที่นักบวชพึงปฏิบัติ จึงถูกพระพุทธเจ้าห้ามไว้ หากพระรูปใดฝ่าฝืนต้องโทษอาบัติทุกกฎ (อาบัติที่เกิดจากการทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสม) ซึ่งเป็นโทษอย่างเบาสำหรับพระสงฆ์และต้องรับโทษด้วยการสารภาพผิดหรือประจานตนต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ด้วยกันเอง
จากข้อสังเกตเหล่านี้จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกหรือกำหนดว่าต้องห่มผ้าจีวรสีเดียว ซึ่งคล้ายกับวาทะของพระพรหมโมลีที่กล่าวว่า “การบรรลุธรรม การสอบเปรียญได้ ผ้าสีไหนก็บรรลุธรรมได้” หากไม่ได้ฝ่าฝืนพระวินัยที่พระพุทธเจ้ากำหนด
และอาจจะพูดได้หรือไม่ว่า คำสั่งนี้ที่ไม่คล้อยตามพระธรรมและไม่คล้อยตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อาจถือได้ว่าไม่เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ เพราะเจ้าอาวาสใหม่รูปนี้ไม่ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่บัญญัติไว้ และเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าเจ้าอาวาสรูปนี้ทำตามคำสอนของใคร?
ความคิดเห็นของผู้เขียนเห็นว่า การบังคับให้ห่มผ้าแต่เพียงสีเดียวทั้งหมดนั้น จะทำให้พระภิกษุสงฆ์ใช้ชีวิตลำบาก หรือเป็นผู้ใช้ชีวิตยากไม่ต่างจากคนธรรมดา ขณะที่การห่มผ้าหลายสีนั้นก็เปรียบเสมือนดอกไม้ในแจกันที่มีดอกไม้หลายสีมามารวมในแจกันแล้วสวยงาม มากกว่าจะปักเพียงแค่สีใดสีหนึ่งไว้เพียงสีเดียว และไม่ทำให้พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้อยู่ง่าย ไม่อยู่ยาก ซึ่งสีพระราชนิยมนั้นควรใส่แต่เพียงมีงานพระราชพิธีเท่านั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการเหมาะสม มากกว่าที่จะเปลี่ยนสีจีวรไปเลย
แล้วสุดท้ายเรื่องนี้จะจบลงในจุดไหน ทั้ง 2 วัดจะเลือกปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้า หรือจะคล้อยตามสงฆ์ที่มีอำนาจรัฐ?
การต่อสู้มาถึงขั้นที่ว่าพระเณรวัดสระเกศยังยืนกรานใส่จีวรสีเดิมอยู่ โดยให้เหตุผลว่าเป็นประเพณีของวัดที่ใส่มาตั้งแต่อดีตและไม่ผิดพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด
เมื่อเป็นไปดังนั้น ทำให้เจ้าอาวาสใหม่ที่เพิ่งถูกแต่งตั้งเข้ามาประจำการที่วัดไม่พอใจ จึงได้ออกกฎใหม่ภายในวัดว่า หากพระรูปไหน สามเณรรูปใด อุปสมบทจากวัดสระเกศ ‘ขาดเรียนเกิน 1-3 ครั้ง ต่อ 2 สัปดาห์ จะต้องบังคับลาสิกขา’
คำถามจึงดังระงมว่า เพราะเหตุใดจึงต้องเป็นคนที่บวชจากวัดสระเกศแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น? หากเป็นพระภิกษุสามเณรที่ติดตามเจ้าอาวาสใหม่ขาดเรียนจะถูกบังคับให้ลาสิกขาเหมือนกันหรือไม่? และแม้แต่พระธรรมโพธิมงคล ผู้ออกกฎ ก็ย้ายมาจากวัดนิมมานรดี และเข้ามาอยู่ในวัดสระเกศผ่านการแต่งตั้งของมหาเถรสมาคม โดยไม่ผ่านการเลือกตั้งของพระในวัดสระเกศ
เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลโดยง่ายที่หลายฝ่ายมองว่า เจ้าอาวาสใหม่รูปนี้พยายามสร้างฐานอำนาจของตนเอง ผ่านการโอนถ่ายคนในวัดสระเกศออก และเอาพระเณรจากวัดนิมมานรดีเข้ามาอยู่เพื่อเสริมฐานอำนาจให้กับตนเอง อีกทั้งยังพยายามกำจัดคนที่หัวแข็งออกไป โดยไม่สนใจพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแม้แต่น้อย ผ่านการใช้อำนาจโดยตรงแบบไม่มีเหตุผล แม้จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ให้อำนาจเจ้าอาวาสเป็นประกาศิต ตามมาตรา 38 ข้อที่ 2 สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่ไม่อยู่ในโอวาทเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด2 ที่ตามมาตรานี้ เจ้าอาวาสมีอำนาจจะย้ายใคร หรือจะไล่ใครก็ได้ หากตนเองไม่พอใจ
และด้วยมาตรานี้ ทำให้เราเห็นว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจ สามารถทำลายรากฐานที่เป็นวัฒนธรรมของไทยโดยไม่สนใจในหลักการและเหตุผลเอาเสียเลย
หนทางข้างหน้าของวัดสระเกศจะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามว่าบรรดาพระเณรรุ่นใหม่ ‘ยุวสงฆ์’ วัดสระเกศจะสู้กับพระชั้นผู้ใหญ่อย่างไร
ส่วนทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาของศาสนา ในมุมมองของผู้เขียนมีเพียงหนทางเดียวเท่านั้น คือการแยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐ ไม่มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อไม่ให้พระสงฆ์มีอำนาจตามกฎหมาย และใช้อำนาจตามอำเภอใจประหนึ่งว่าตนเองเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง อีกทั้งยังทำให้พระภิกษุสงฆ์มีสิทธิตีความศาสนาได้แตกต่างหลากหลาย และไม่ถูกควบคุมกำกับคำสอนโดยรัฐ เรื่องนี้จะทำให้พุทธศาสนาสามารถเจริญงอกงามต่อไปในภายหน้ามากกว่าปล่อยให้รัฐควบคุมศาสนาเพียงฝ่ายเดียว
อ้างอิง
1 ประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และพระวินยาธิการ. (2565, กรกฎาคม 5). Facebook. Retrieved July 20, 2022,
2 สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม. (2565, กรกฎาคม 30). The Secretariat of the Sangha Supreme Council. Retrieved from The Secretariat of the Sangha Supreme Council: https://ssc.onab.go.th/th/content/category/detail/id/7/iid/6576
Tags: Feature, พุทธศาสนา, พระสงฆ์, Analysis, จีวร, มหานิกาย