รู้หรือไม่ว่าหลายปีที่ผ่านมา จังหวัดน่านสูญเสียพื้นที่ป่าไปมากกว่า 1 ล้านไร่ เนื่องจากการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว ทั้งที่น่านถือเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปริมาณน้ำสมทบมากกว่า 40%

ดังนั้น การเริ่มต้นการปลูกต้นไม้ที่จังหวัดน่านจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ซึ่งสามารถนำไปสู่การขยายผลในจังหวัดอื่นๆ ได้ในอนาคต

แต่ไม่ใช่แค่เรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่า หรือฟื้นฟูระบบนิเวศของแหล่งต้นน้ำ แต่การปลูกต้นไม้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่สูงของจังหวัดน่านในการปรับลดการปลูกพืชไร่ระยะสั้น มาสู่การปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตให้กับเกษตรกร 

คงจะดีไม่น้อย หาก ‘การปลูกป่า’ กลายเป็นภารกิจที่สำคัญ และจะดีแค่ไหนหากการปลูกป่านั้นสามารถ ‘ติดตาม’ การเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละต้นได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ภารกิจสำหรับการประชาสัมพันธ์ ที่สุดท้ายก็ถูกทิ้งขว้าง

จากเรื่องราวข้างต้นจึงกลายเป็นโจทย์และภารกิจสำคัญที่กลุ่ม ‘รีคอฟ ประเทศไทย’ เข้ามาทำโครงการ ‘ต้นไม้ของเรา’ ที่จังหวัดน่าน เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชุมชนที่เกิดจากการปลูกต้นไม้ พร้อมติดตามให้มั่นใจว่า ต้นไม้ที่ถูกปลูกจะได้รับการดูแลรักษาอย่างยั่งยืน

The Momentum มีโอกาสติดตามทีมรีคอฟ ประเทศไทย ลงพื้นที่จังหวัดน่านเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในช่วงที่สายฝนโปรยปรายเช้าจรดค่ำ เพื่อเดินทางไปยังอำเภอสันติสุข พื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างทีมรีคอฟกับชุมชน โดยเฉพาะเกษตรกร ในกิจกรรม ‘วันต้นไม้ของเรา: ปลูกและติดตามเพื่อเปลี่ยนแปลง’ ในวันที่โครงการดำเนินผ่านมาแล้ว 1 ปี

 

โครงการต้นไม้เพื่อเกษตรกรในพื้นที่สูง

โครงการ ‘ต้นไม้ของเรา’ หรือ Trees4All เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยรีคอฟ ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคีหลัก ได้แก่ สถาบัน ChangeFusion คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นไม้ของเรา เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่สูงของจังหวัดน่าน ในการปรับลดการปลูกพืชไร่ระยะสั้นมาสู่การปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ท้องถิ่น 

เนื่องจากน่านเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และเป็นอันดับสองของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนการใช้ที่ดินและความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าต้นน้ำ ดังนั้น การช่วยคนต้นน้ำปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินเพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตให้กับเกษตรกร และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศของแหล่งต้นน้ำได้

กองทุน ‘เงินอุปถัมป์ต้นไม้’ 

สำหรับพื้นที่หลักในการดำเนินโครงการปัจจุบัน คืออำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ซึ่งมี 518 หลังคาเรือน โดยการดำเนินงานของโครงการ คือมีการเปิดให้บริษัทที่สนใจหรือบุคคลทั่วไปบริจาคเงินอุปถัมภ์ต้นไม้ต้นละ 100 บาท โดยกองทุนจะนำเงินที่ได้รับบริจาคไปสนับสนุนเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ด้วยการลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวและเพิ่มต้นไม้ทดแทน พร้อมดูแลให้ต้นไม้เติบโตในระยะเวลา 3 ปี และใช้ในการบริหารจัดการกองทุน พร้อมทำหน้าที่ติดตามและรายงานผลการปลูกต้นไม้และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริจาค 

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา 1 ปี โครงการต้นไม้ของเรารวมเงินบริจาคจากทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปได้มากกว่า 1,000,500 บาท (ตัวเลขเมื่อวันที่14 กรกฎาคม 2566) ถือเป็นตัวเลขที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และใกล้กับเป้าหมายของโครงการในการสนับสนุนเกษตรกรจำนวน 200 ราย ด้วยจำนวนเงินรวม 2,200,000 บาท ซึ่งผู้บริจาคสามารถติดตามผลการปลูกต้นไม้ทุกต้นได้ผ่านเว็บไซต์ www.trees4allthailand.org และสามารถทราบชื่อเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้และติดตามข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ที่ปลูกได้

สำหรับเงินที่บริจาคเข้ามาบริหารโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นไม้ ซึ่งมีการจัดทำระบบบัญชีของเงินที่ได้รับบริจาคและการทำทะเบียนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยกลุ่มมีคณะกรรมการจากหลายองค์กรมาเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงมีการตรวจสอบบัญชีประจำปี

ปลูก ติดตาม เปลี่ยนแปลง

สำหรับปีแรก มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้ว 33 ราย ปลูกต้นไม้แล้ว 4,200 ต้น ซึ่งชนิดของต้นไม้ที่ปลูกมุ่งเน้นให้เป็นไม้พื้นถิ่นใกล้เคียงกับไม้ในระบบนิเวศเดิมและมีศักยภาพในการฟื้นฟูป่า ร่วมกับต้นไม้ที่ให้ผลผลิตในทางเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรจะเป็นผู้เลือกชนิดต้นไม้ร่วมกับโครงการ เพื่อเลือกชนิดต้นไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่และตรงความต้องการของเกษตรกร หรือในกรณีที่ต้องการเลือกพันธุ์ไม้ประเภทอื่น เกษตรกรสามารถจัดหาเองได้ โดยปัจจุบัน ต้นที่มีการปลูกเยอะที่สุด คือ ‘ยางนา’ ที่เป็นทั้งพืชเศรษฐกิจและยังเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์อีกหลากหลายด้าน

ความจริงแล้วมีความพยายามในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าน่านมาแล้วในอดีต รวมถึงโครงการปลูกป่าในพื้นที่ แต่หลายครั้งทุกอย่างกลับจบลงด้วยการประชาสัมพันธ์ในเบื้องต้น และถูกทิ้งขว้างในบั้นปลาย แต่ในโครงการต้นไม้ของเรา เน้นการ ‘ปลูก ติดตาม เปลี่ยนแปลง’ โดยการปลูกต้นไม้ทุกต้นมี ‘ระบบแสดงตำแหน่ง’ ต้นไม้ที่ปลูกขึ้นเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ พร้อมกับรายงานผลที่เกิดขึ้นทั้งด้านระบบนิเวศ ความเป็นอยู่ และการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้อุปถัมภ์ต้นไม้สามารถติดตามต้นไม้และมั่นใจได้ว่า ต้นไม้ที่บริจาคเงินอุปถัมภ์มายังเจริญเติบโตในพื้นที่ทำกินของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 

ติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ผ่านเครื่องมือ

สำหรับต้นไม้ที่เกษตรกรปลูกในโครงการ มีการใช้ระบบติดตามต้นไม้ ผ่านเครื่องมือในการวัดความเจริญเติบโตของต้นไม้ ซึ่งเกษตรกรได้รับคำแนะนำในการใช้ เพื่อวัดและถ่ายภาพต้นไม้เพื่อรายงานผลตามเวลาที่กำหนด เมื่อได้ข้อมูลภาคสนามทั้งความกว้าง ความสูง ของต้นไม้และใบ ก็จะถูกส่งต่อให้ทีมเก็บข้อมูลในระบบออนไลน์เว็บไซต์ www.tree4allthailand.org ซึ่งจัดเก็บข้อมูลต้นไม้ พร้อมระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ และยังสามารถติดตามในระดับแปลงภาคสนาม เพื่อให้ผู้อุปถัมป์ติดตามดูข้อมูลอัปเดตได้ตลอด

เกษตรกรต้องดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในอนาคต

สำหรับช่วง 3 ปีแรก ทางโครงการเข้ามาช่วยดูแลในการดำเนินการทุกอย่าง โดยโครงการทำการประเมินและรายงานความคืบหน้าของโครงการปลูกต้นไม้ปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ในระยะเวลา 3 ปี โดยมีการรายงานผลการรอดตายและความเติบโตประจำปี รวมถึงการรายงานเรื่องผลที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ สังคม และการบริหารจัดการ

ส่วนต้นไม้ในโครงการที่ปลูกและได้รับการดูแลโดยเกษตรกรที่มีสิทธิทำกินในที่ดินแปลงนั้น หลังจากครบ 3 ปี เกษตรกรจะดูแลต้นไม้ต่อและเก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นไม้ที่ปลูกต่อไปได้ในอนาคต โดยสิทธิในการเป็นเจ้าของและการช่วยให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากต้นไม้นั้น เป็นประกันว่าต้นไม้จะได้รับการดูแลและมีการจัดการต่อไปอย่างยั่งยืน

Tags: , , , , , , , , , ,