วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภา ทั้งโลกร่วมยินดีกับไทย คู่รักเพศหลากหลายหลายคู่เตรียมไปจดทะเบียนสมรส รัฐบาลเตรียมขยายผลจากกฎหมายฉบับนี้ไปสู่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์หลายด้าน เซเลบริตี LGBTQIA+ ชื่อดังประกาศว่าจะจัดงานแต่งงาน 7 วัน 7 ธีม ท่ามกลางเสียงฉลองกึกก้อง ผู้เล่นสำคัญอย่างทีมงาน Bangkok Pride ซึ่งปิดประตูนอนร้องไห้หลังจัดงานไพรด์จบปีที่แล้ว ปีนี้ได้รับบาดแผลสาหัสไม่น้อยกว่าเดิม
“เราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องโกหกหรือเปล่า ที่เวลาเราทำงานใหญ่สำเร็จเราจะมีความสุข จริงๆ มันไม่ใช่ แต่มันต้องแบกอะไรไปด้วยมากมายเลยพี่น้ำ” อรรณว์ ชุมาพร (วาดดาว) ประธานบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด กล่าวกับ ธารา บัวคำศรี (น้ำ) ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ที่มาสนทนาร่วมกัน
สูตรลับนฤมิตไพรด์ที่ได้จากการเมืองบนท้องถนน
ทำไมองค์กรซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีทำให้เกิดงานไพรด์ที่ยิ่งใหญ่ตาแตกและผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ไม่ใช่องค์กรทุนหนา หรือเซเลบริตี้ LGBTQIA+ ผู้ทรงอิทธิพล แต่คือทีมงานเล็กๆ ราว 20 คนที่จดทะเบียนในชื่อ บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด แต่ชื่อที่เป็นที่รู้จักดีกว่านั้นคือ ทีมงาน Bangkok Pride วาดดาวกล่าวว่า สูตรลับที่ใครก็ปรุงได้ไม่เหมือน Bangkok Pride มาจากการต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนน
“เราเคยทำงานแบบรูทีน (Routine) เลียนแบบรุ่นพี่ที่ทำต่อๆ กันมา เขาเขียนรายงานขอทุน UN เราก็เขียน ทำอบรม จัดประชุม ทำทุกอย่าง เรียกว่าใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มี จนเราได้มาหยุดคิดทบทวน”
วาดดาวเริ่มต้นรณรงค์ประเด็นสิทธิคนเพศหลากหลาย ด้วยการทำงานในองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งนับเป็นยุคการทำงานแบบ ‘คลาสสิก’ ก่อนมาถึงยุคที่วาดดาวเปิด ‘โรงน้ำชา’ พื้นที่สนทนาสาธารณะที่แม้จะเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ LGBTQIA+ เป็นหลัก แต่เชื่อมโยงกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยโรงน้ำชานั้นมีเป็นเหมือนที่ทำการพรรคสามัญชนที่วาดดาวเป็นผู้ร่วมก่อตั้งด้วยอยู่กลายๆ
“คนที่ชวนดาวไปสู่ขั้นตอนการทบทวนนี้มีหลายคน คนแรกคือพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) ดาวเองเป็นคนเสื้อแดง ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาหลังถูกสลายการชุมนุมปี 2553 เราจำได้ว่า วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ก็ซัดเซและเห็นพลังของพี่หนูหริ่งทำแฟลชม็อบวันอาทิตย์สีแดง ดาวได้รับเอเนอร์จีของการทำแฟลชม็อบตั้งแต่นั้น จึงได้เอารูปแบบการทำงานแบบแฟล็ชม็อบมาใช้ในองค์กรชื่อโรงน้ำชา
“อีกคนสำคัญที่ทำให้ดาวทบทวนคนสำคัญคือ บุ้ง เนติพร (เนติพร เสน่ห์สังคม) ตอนนั้นเขาอยู่ในกลุ่มนักเรียนเลว ไม่มีใครรู้ว่าบุ้งหลังไมค์มาหาดาวตอนปี 2563 บอกว่า ‘พี่ หนูขอยืมธงรุ้งหน่อยได้ไหม’ แล้วตอนนั้นโรงน้ำชาเป็นองค์กรเดียวที่มีธงรุ้งผืนยาวและใหญ่มาก เราเลยเอาธงรุ้งไปให้น้องเขายืม เราเซอร์ไพรส์มากและยังโพสต์ภาพนั้นไว้ในเพจโรงน้ำชา ตอนนั้นมีแบนเนอร์ของโรงน้ำชาในธงและเขียนว่า เราไม่ใช่ตัวประหลาด”
นอกจากสมบัติและบุ้งที่จุดการทบทวน พลังสังคมอย่างการเกิดม็อบเยาวชน ม็อบที่สื่อสารเรื่องสิทธิคนเพศหลากหลายเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกอย่าง ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ การเกิดงานไพรด์นักเรียน #เราไม่ใช่ตัวประหลาด ขึ้นครั้งแรกโดยกลุ่มนักเรียนเลว การเกิดเพจอย่าง Thai Consent ซึ่งรณรงค์เรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การเกิดพรรคอนาคตใหม่ซึ่งมีนโยบายความหลากหลายทางเพศที่ก้าวหน้า ฯลฯ ความความก้าวหน้ามากมายหลอมรวมให้การตัดสินใจของวาดดาว ที่จะนำประเด็นเพศสภาพเดินทางร่วมไปกับพลังทางสังคมเหล่านี้ถูกที่ถูกเวลา
“เราไปปราศรัยเรื่องสมรสเท่าเทียมในม็อบตุ้งติ้ง แล้วเราไปเห็นป้ายที่เขียนมือในกระดาษ A4 เขียนคำว่าสมรสเท่าเทียม เขียนคำว่า Sex work is work. คำว่าทำแท้งเสรี แล้วเรารู้สึกว่ามีสภาวะที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเรา เราเซอร์ไพรส์มากว่าคนที่เขียน ไม่ใช่คนที่เราอบรมและจัดตั้ง แล้วคนเหล่านี้คือใคร
“จากนั้นดาวเอาตัวเองไปอยู่ในแนวหน้าของการเคลื่อนไหว ตั้งกลุ่มผู้หญิงปลดแอก ตั้งกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกขึ้นหลังจากนั้น แล้วหยุดทำกิจกรรมทุกรูปแบบที่เกี่ยวกับการอบรม เพื่อจะผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมาย Sex work is work. การทำแท้งถูกกฎหมาย และนำเรื่องรัฐธรรมนูญสีรุ้งไปขับเคลื่อนพร้อมๆ กับเรื่องการเมือง ถ้าคุณพูดถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พูดถึงสมรสเท่าเทียม คุณพูดถึงการปล่อยนักโทษการเมือง เราขอพูดถึงเรื่องการยุติการเอาผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง เราเคลื่อนมาแบบนี้จากการที่เราเห็นป้ายแผ่นนั้น”
หลังตัดสินใจต่อสู้ในประเด็นสิทธิของคนเพศหลากหลายอย่างเป็นเนื้อเดียวประเด็นสิทธิทางการเมือง วาดดาวถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 8 คดี เช่น จากเหตุชุมนุม Carmob #แหกกีไปไล่คนจัญไร #RainbowCarMob เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ชุมนุม #ขบวนกี ชุมนุม #ม็อบ2กันยา ที่แยกอโศก เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 เธอบอกว่า ถ้าหากนับรวมของเฟมินิสต์ปลดแอกแล้ว กลุ่มของเธอถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมรวมประมาณ 70 คดี ซึ่งนับรวมทุกคนที่เข้ามาในกิจกรรมที่ทางกลุ่มจัด และอาจไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม[1]
“ปลายปี 2565 หลังกระแสม็อบแผ่วลง ทุกคนที่เคลื่อนเรื่องสมรสเท่าเทียมกลับมาจัดงานในฮอลล์ ห้องประชุม ห้าง โรงแรมหรู หอศิลป์ ฯลฯ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าไม่ใช่เป็นภาพงานที่เราอยากเห็น และเราลองมาจับสิ่งที่ตัวเองถนัดมากสุด คือการเดินบนท้องถนน
“ผู้ก่อตั้ง Bangkok Pride เกือบทุกคนมีคดีการเมืองติดตัว มีแค่ 20% ที่ไม่มีคดีทางการเมือง แต่ละคนเจอมาแล้วคนละ 7-8 คดี ตอนนั้นเราคิดว่าเจอคดีที่ 9 เข้ามาอีกจะเป็นอะไร
“ดาวชวนเพื่อนมาจัดไพรด์แบบไม่ได้ขออนุญาตตำรวจ แต่รู้ว่าจะเจรจาอย่างไร และใช้จังหวะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วมีนโยบายเรื่อง LGBTQIA+ เราเอาคำเชิญของชัชชาติมาเป็นโอกาส ในภาษานักกิจกรรมเราว่า การช่วงชิงการนำ”
ย้อมมาย้อมกลับ
งานไพรด์มีความหมายตรงตัวว่า งานแห่งความภาคภูมิใจ งานไพรด์เต็มรูปแบบปีแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นในปี 2565 ชื่อว่างาน #ไพรด์นฤมิต มีวาดดาวและเพื่อนๆ ที่เปี่ยมประสบการณ์ทำม็อบและจัดขบวนประท้วงเป็นทีมหลักในการจัดงาน ขบวนไพรด์ที่สนุกสนานและแหลมคมปีนั้นไม่ทำให้ใครได้คดีกลับมาแต่ได้ ‘เพื่อนใหม่’ มากมายที่อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจนี้
การทำงานของวาดดาวเข้าสู่ยุค ‘ดิฉันเป็นประธานบริษัท’ หลังจดทะเบียนตั้งบริษัทนฤมิตไพรด์และเป็นแกนหลักในการจัดงาน Bangkok Pride อีก 2 ปีถัดมา โจทย์ที่วาดดาวต้องเจอตอนนี้ไม่ใช่การหลบกระสุนยาง หรือรถฉีดน้ำกำลังสูงจากตำรวจควบคุมฝูงชนอีกแล้ว แต่คือการรับมือกับการ Rainbow Washing หรือ ‘ย้อมรุ้ง’
“เชื่อไหมว่าตอนเราเดินขบวนปีแรก ผู้สนับสนุนเราเขาซื้อโฆษณาตามป้ายตลอดทางที่เราเดิน กลายเป็นขบวนที่เราเดินมีภาพป้ายของเขาใหญ่โตติดไปด้วยตลอดทาง แล้วเขาก็ไม่ผิดเพราะป้ายโฆษณานั้นเป็นสิ่งที่เขาสามารถซื้อได้ กลายเป็นเขาได้รับรางวัลอินฟลูเอนเซอร์เรื่องความหลากหลายทางเพศ คุณจะรับมือกับเรื่องพวกนี้ยังไงล่ะ?”
วาดดาวรู้ว่าทุนกำลังแย่งชิงพื้นที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศเพื่อหาประโยชน์ ทว่าสิ่งที่เธอทำไม่ใช่การผลักไสทุนออกไป แต่คือการต่อรองเชิงอำนาจและนำประเด็นความหลากหลายทางเพศเข้าไปยึดแย่งพื้นที่ของทุนกลับ
“ตอนจัดงานไพรด์ปีที่ 2 บริเวณห้างใหญ่ที่สุด หรูหราที่สุด เราเอาเสา Pole Dance ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพัฒน์พงษ์ สัญลักษณ์ของ Sex Worker ไปตั้ง ปีที่ 2 เขาให้เราเอาเสา Pole Dance ไปวางอีกทั้งที่เขารู้อยู่แล้วว่า นี่คือพื้นที่ของ Sex Worker
“ในแบนเนอร์ของห้างสรรพสินค้าทุกป้าย เราขอให้มีข้อความ Sex work is work. อยู่ ซึ่งจริงๆ เรื่องการทำให้กะหรี่ถูกกฎหมายไม่มีใครกล้าพูด และเรารู้ว่าทุนไม่ได้แคร์เรื่องกะหรี่ถูกกฎหมาย แต่เขาแคร์ว่า งาน Bangkok Pride คนเยอะ แล้วถ้าเขาปฏิเสธกะหรี่ถูกกฎหมาย เขาจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของไพรด์ เพราะฉะนั้นเขาเลยต้องมาอยู่ในขบวนที่รณรงค์ให้กะหรี่ถูกกฎหมาย แม้เขาจะเป็นบริษัทใหญ่ขนาดไหน ปีหลังเราขอเพิ่มคอนเซปต์ Support Survivor รณรงค์หยุดความรุนแรงทางเพศเข้าไป
“อยู่ๆ การไปหยุด Corporate ที่มีเงินเยอะมากๆ เราจะไปหยุดทันทีไม่ได้เลย เชื่อไหมว่าถ้าเขาจ่ายเงินพวกเรามา 1 ส่วน แต่ที่เขาจ่ายค่าโฆษณานั้นอยู่ใน 10 ส่วน เปรียบเทียบง่ายๆ เขาจ่ายให้ Bangkok Pride 1 แสน แต่ตัวเลขที่เขาจ่ายให้ค่าโฆษณาคือ 1 ล้าน สู้ได้เหรอ? แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือทำให้เกิดการถกเถียง และสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนในสังคมเพิ่มมากขึ้น นี่จะเป็นการเขยื้อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”
งานไพรด์ครั้งที่ 3 หรือครั้งล่าสุด จบลงอย่างยิ่งใหญ่และนิยามสั้นๆ ได้ว่า ไพรด์ ‘แมสแล้ว’ ไม่มีใครที่ไม่อยากมาร่วมขบวนไพรด์ ขณะเดียวกันงานไพรด์ปีนี้จุดข้อถกเถียงร้อนแรง ต่อกรณีที่บริษัทนฤมิตไพรด์รับสปอนเซอร์จากทุนใหญ่ซึ่งภาคประชาชนและภาคประชาสังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเชื่อมโยงของระบบเกษตรพันธสัญญาของบริษัทและปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดน อีกทั้งถูกตั้งคำถามถึงการผูกขาดทางธุรกิจมาตลอด ว่านี่คือการ ‘ย้อมรุ้ง’ หรือไม่
“เราต้องมาถกเรื่อง Rainbow Washing กันใหม่ การ Rainbow Washing ดาวคิดว่าต้องโฟกัสเรื่องบริษัทและนโยบายที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ แต่สุดท้ายพอช่วงได้เทรนด์ของการตลาด ก็ลุกขึ้นมาโปรโมตการความเป็นธรรมทางเพศอย่างน่าอาย เคสที่เป็นกรณีในงานไพรด์จริงๆ เคสนี้ไม่ใช่ Rainbow Washing นโยบายเขาคือรับคนเพศหลากหลายเข้าทำงาน กระเทยและทอมจำนวนมากที่ออกจากระบบการศึกษาก็มีแค่ที่นี่แหละที่รับเข้าทำงาน เพราะมีโครงสร้างที่องค์กรระหว่างประเทศไปบีบให้เขาปรับตัวมาเรียบร้อยแล้ว จริงๆ เคสนี้เป็นเคสที่ Bangkok Pride ต้องคำนึงเรื่องการบริหารแบบทุนผูกขาด การมีกฎหมายของรัฐจำนวนมากเอื้อต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นเคสที่ Bangkok Pride ต้องคำนึงเรื่องสังคมที่เป็นธรรมมากกว่า Rainbow Washing”
ส่วนคำวิจารณ์ว่าในงานมีการให้แสงให้ซีนกับนายกฯ เศรษฐาอยู่มาก วาดดาวกล่าวว่าเบื้องหลังมีเหตุผลที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น การที่ให้นายกฯ มอบธงไพรด์ให้ตัวแทนแต่ละจังหวัดนั้น ซ่อนไว้ด้วยเหตุผลที่คิดคำนวณมาดีแล้วว่า จะใช้ประโยชน์จากนายกฯ อย่างไร
“นอกจากสีสันความเป็นตัวของตัวเอง ความฟู่ฟ่าอลังการที่เกิดขึ้น จริงๆ พวกเรามีวาระทางสังคมเยอะมาก เราต้องคิดว่าจะช่วงชิงการนำอย่างไร จะตะโกนอย่างไร งานไพรด์มีสินค้าเข้ามาแล้ว มีหน้าตาของผู้มีอำนาจเข้ามาแล้ว ตอนนี้ทุกจังหวัดจับมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ จัดงานไพรด์ ส่วนเครือข่าย LGBTQIA+ ที่ต่อสู้อยู่ทุกวันไม่ใช่แค่วันเดินขบวนไพรด์ เขากลับไม่มีพื้นที่นอกจากแต่งตัวไปเดินให้ผู้ประกอบการฯ การที่ให้ตัวแทน LGBTQIA+ จากแต่ละจังหวัดที่สู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศ รับธงไพรด์จากมือนายกฯ คือสิ่งที่การันตีว่า เมื่อเขากลับไปจังหวัดของตัวเอง ผู้ว่าฯ ข้าราชการ และเจ้าของธุรกิจในจังหวัดจะเกรงใจเขา และทำให้เขามีพื้นที่ของตัวเองในขบวนไพรด์”
นี่คือหนึ่งในหลายกลยุทธ์ที่วาดดาวขย้ำรัฐและทุนกลับ แต่สิ่งที่นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ทะเยอทะยานที่สุด คือการทำให้หลายกฎหมายด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศของประเทศไทย ลอยลำไปพร้อมการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Word Pride 2030
การจัดงาน World Pride ไม่ใช่งานที่เสนอตัวจัดได้ง่ายๆ แม้จะเป็นรัฐบาลหรือบริษัทใหญ่ เนื่องจากต้องผ่านคุณสมบัติหลายประการ และผู้จัดงานต้องเป็นองค์กรในชุมชน LGBTQIA+ ที่มีความต่อเนื่องในการเคลื่อนไหวและการจัดงานไพรด์ อีกทั้งต้องพิสูจน์ตัวเองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี ดังนั้นสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีเพียงแค่ทีมงาน Bangkok Pride หรือบริษัทนฤมิตไพรด์เท่านั้นที่คุณสมบัติผ่าน
“ถ้ารัฐบาลอยากหาองค์กรเสนอตัวจัด World Pride ในปี 2030 มีแค่ Bangkok Pride เท่านั้นที่มีคุณสมบัติเพียงพอจะเสนอตัวได้ หากใช้องค์กรอื่นจะจัดได้อย่างเร็วที่สุดคือปี 2032 การจัด World Pride ไม่ได้เป็นเป้าหมายใหญ่สำหรับทีม Bangkok Pride แต่เราต้องการให้ World Pride เป็นโอกาสที่เราจะได้เสนอกฎหมายทั้งหมด 4 ฉบับ นั่นคือสมรสเท่าเทียม (Equal Marriage) ที่ผ่านแล้ว กฎหมายการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (Non Discrimination) กฎหมายรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition) และกฎหมายการให้อาชีพให้บริการทางเพศถูกกฎหมาย (Legalize Sex Worker) นี่เป็นโจทย์เบื้องต้นที่ทำให้เรายื่นข้อเสนอกับรัฐบาลว่า แก้กฎหมายให้ฉันด้วย ไม่อย่างนั้นฉันก็ไม่เสนอตัวจัด World Pride”
ไม่มีความภาคภูมิใจในโลกที่ตายแล้ว
‘No Pride in Dead Planet’ คือข้อความหนึ่งบนป้ายรณรงค์ของกรีนพีซ ประเทศไทย ที่กรีนพีซนำไปร่วมขบวนไพรด์ตลอดทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนการจัดงานไพรด์ปีที่ 3 กรีนพีซไม่ได้เข้าร่วมขบวนเนื่องจากติดภารกิจรณรงค์ เรื่องความยุติธรรมทางมหาสมุทร (Ocean Justice) ซึ่งต้องรณรงค์บนเรือ Rainbow Warrior ที่แล่นไปหลายประเทศทั่วโลก
กรีนพีซ ประเทศไทย คือองค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมที่ต่อกรกับบรรษัทอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรขนาดใหญ่มาตลอด จนหากกรีนพีซออกแถลงการณ์ยับยั้งการรับสปอนเซอร์ของบริษัทนฤมิตไพรด์ก็ดูไม่ใช่เรื่องผิดฝาผิดตัว แต่เพราะเหตุใดกรีนพีซถึงไม่ได้แสดงออกเช่นนั้น ‘ธารา บัวคำศรี’ ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย มองเรื่องนี้อย่างไร?
“ผมคิดว่าประเด็นที่มีบริษัทหนึ่งมาสนับสนุนงานไพรด์เป็นเรื่องที่มีรายละเอียด เอาแบบมองทะลุกรอบคือเราจะใช้กระแส Rainbow Washing เป็นโอกาสในการสร้าง Disruptive Moment เพื่อเปลี่ยนบริษัทนั้นได้อย่างไร
“สำหรับกรีนพีซเรามี Code of Conduct ชัดเจนว่าเราไม่รับเงินจากบริษัท พรรคการเมืองและรัฐบาล แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องคาดหวังให้โมเดลการทำงานของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ ต้องทำแบบเดียวกันเสมอไป ยิ่งเรายึดถือในหลักการของเรา เราต้องยิ่งปล่อยวางความคาดหวังที่มีต่อผู้อื่น เราอาจต้องพิจารณาแยกแยะสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าเรากับความพยายามของคนจัดงานในการค้นหา การทดลอง และจัดรูปการทำงานแบบใหม่ เพื่อตอบรับกับความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือของยุคสมัยนี้
“กรณีงานไพรด์จะมี Corporate มาสนับสนุน หากกรีนพีซไปร่วมขบวนไพรด์ เราจะไปยกป้ายรณรงค์เรื่องภาระรับผิด (Accountability) ของบริษัท ไปพูดถึงเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปปาทานการผลิตที่ขับเคลื่อนโดยนโยบายรัฐและมีบรรษัทใหญ่มารับซื้อ และไปตั้งคำถามถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดน
ด้านวาดดาวที่นั่งสนทนาข้างกันเสริมว่า “การรับเงินจาก Corporate ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมด่าได้ ถ้าใครอยากชูป้ายว่าไม่เอา Corporate ในพื้นที่งานไพรด์ไม่ถูกกันออกสักคน ดาวว่าโคตรสนุก ดาวเชียร์ว่าไปถือป้ายได้เลย ตามสบาย
“จริงๆ ตอนคนพูดถึง Rainbow Washing ดาวโคตรสะใจเลย เพราะทุกคนเริ่มตระหนักเรื่องนี้ แล้วดาวเชียร์ด้วยว่า คุณด่าเลยว่าบริษัทที่ดาวรับเงินทำอะไรกับสังคมไทย ถ้างานไพรด์จัดบนห้างใหญ่ๆ คุณอาจไปเขียนป้ายเลยว่า ห้างกำลังสร้างขยะ ทำให้เกิด Fast Fashion ทำให้โลกรวน ทำให้ท้องวาฬเปลี่ยนไปยังไง เราทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้คุณแล้ว และหวังว่าคุณจะคว้ามัน”
โลกรู้จักคำว่าการฟอกเขียว (Greenwashing) เป็นครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 2528 การมีวิวัฒนาการมากว่า 40 ปี ธารากล่าวว่านี่ทำให้การฟอกเขียวไม่ใช่สิ่งที่สามารถใช้มุมมองแบบขาว-ดำ จัดการหรือแก้ปัญหาได้เสมอไปและตลอดเวลา แต่ต้องใช้กลยุทธ์และมุมมองอันหลากหลายเพื่อเอาชนะเกมนี้
“การฟอกเขียวมีความซับซ้อน มีความแยบยลของมัน corporate ใหญ่ๆ เขามีเงิน มีทรัพยากรจำนวนมหาศาล สามารถสร้างกระแสใหญ่มาก และยึดโยงโดยระบบโดยโครงสร้างที่มีอยู่ของรัฐ และเราก็ไม่ชนะหรอกในท้ายที่สุด ตราบเท่าที่เราไม่หายุทธศาสตร์ใหม่ๆ ในการทลายมายาคติหรือชุดความคิด สร้างเรื่องเล่าใหม่ๆ คิดค้นแนวทาง กลยุทธ์ หรือการทดลองใหม่ๆ”
“มีอยู่ครั้งหนึ่งเราไปนั่งคุยกับบริษัทใหญ่ (Asia Pulp and Paper และ Sinar Mas) ที่เป็นตัวการทำลายป่าพรุในอินโดนีเซีย จากการขยายตัวของปาล์มน้ำมันและอะคาเซียที่ใช้ทำเยื่อกระดาษ หลายคนบอกว่ากรีนพีซไปคุยกับเขาทำไม แต่มันจำเป็นต้องไปคุย ไปเจรจา เราต้องการจะปกป้องป่าพรุแล้วมีคนที่ทำลายป่าพรุ นอกจากไปประท้วงแล้วการเจรจาทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนโยบาย ผมว่านั่นคือความสำเร็จ และเราก็ทำสำเร็จ ทำให้ส่วนหนึ่งของหมอกควันข้ามแดนจากอินโดนีเซียบรรเทาลง
“มียุคหนึ่งกรีนพีซผลักดันแนวคิดให้การจัดโอลิมปิกมีเรื่อง Green แล้วนักวิทยาศาสตร์กรีนพีซ คิด Green Freeze ขึ้นมาทดแทนสารทำความเย็น เป็นสารที่ไม่ทำให้เกิดการทำลายโอโซน จากนั้นบริษัทโค้กเอาเทคโนโลยี Green Freeze ไปใช้ในโอลิมปิกที่ซิดนีย์ แล้วโฆษณาว่าโค้กใช้ Green Freeze ที่ลดละเลิกสารทำลายโอโซน เรารู้ว่าบริษัทจะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่การที่เขาโอบรับเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี
“กลับมายุคปัจจุบัน โค้กกลายเป็นบริษัทที่ผลิตขยะพลาสติกเป็นอันดับหนึ่งของโลก เราก็กลับไปทำแคมเปญใหม่ เรียกว่าในทางการรณรงค์ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร ถ้าบริษัทตั้งใจจะทำบางสิ่งที่เกิดผลกระทบเชิงบวกในสังคม เราก็สนับสนุน แต่ถ้าเขาไปทำอีกเรื่องหนึ่งที่มันไม่น่าจะใช่ เราก็ไปทำแคมเปญคัดค้านเขา และเราต้องสร้างเครื่องมือในการติดตาม เช่น ถ้าเราผลักดันให้เขาทำเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เราต้องสร้างเครื่องชี้วัดเพื่อมอนิเตอร์รายปีว่า เขาทำไปถึงไหนแล้ว”
ภูเขาที่หายลับและป้ายไพรด์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นสปอนเซอร์งาน
“เมื่อวาดดาวพูดถึงเฟมินิสต์ปลดแอก จริงๆ เป็นเรื่องในใจที่ผมอยากทำอะไรบางอย่าง เพราะผมโตมากับครอบครัวที่แวดล้อมไปด้วยความหลากหลายทางเพศ และมีผู้หญิงเป็นผู้นำของครอบครัว ตอนทำกิจกรรมก็จะอยู่กับคนที่ทำเรื่องเฟมินิสต์มาโดยตลอด ทำให้เราได้ต่อยอดมา ให้เราเห็นถึงสิ่งที่เป็นเรื่องของขบวนการไพรด์มากขึ้น”
การเคารพความคิดเห็นของวาดดาวตลอดการพูดคุยของธาราหากนับว่าน่าแปลกใจสำหรับหลายๆ คนแล้ว หากย้อนกลับไปดูกระแสต่อต้าน ‘ซีพี’ ในฐานะสปอนเซอร์งานไพรด์ที่ผ่านมาจะพบอีกสิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจมากกว่า นั่นคือสมาชิกพรรคสามัญชนซึ่งวาดดาวเคยเป็นหัวหน้าพรรคและมีนโยบายโดดเด่นด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แทบไม่มีใครตำหนิหรือวิจารณ์วาดดาวในเรื่องนี้ ซึ่งวาดดาวกล่าวว่าสมาชิกพรรคสามัญชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเธอทำอะไรอยู่
“จริงๆ คิดว่าถ้าตัวเองไม่มาทำประเด็นเพศสภาพ สิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นที่ท้าทายหนึ่ง จริงๆ สิ่งที่ดาวอยากทำมากที่สุดคือทุบเขื่อน เป็นคนที่เห็นเขื่อนแล้วรู้สึกเจ็บปวดกับมันมากๆ ตอนดาวทำงานร่วมกับสมาชิกพรรคสามัญชนที่ต่อสู้เรื่องเหมือง เราก็เห็นว่ามันส่งผลกระทบต่อคนตัวเล็กตัวน้อย ดาวได้ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ หลายเครือข่ายหลายพื้นที่ที่ถูกแย่งยึดที่ดินเพื่อเอาไปทำโรงงานน้ำตาล ยังไม่นับว่าดาวเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง และรู้ว่าส่วนที่แย่ที่สุดคือเกษตรพันธสัญญาที่ทำให้ทั้งภูมิทัศน์ โลกทัศน์ และสิ่งแวดล้อมหายไปจำนวนมาก”
“ดาวเคยเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับการระเบิดภูเขามาถมทะเล เป็นเรื่องสั้นที่มาจากชีวิตจริงดาวที่อยู่ปากน้ำกลาย จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนนั้นกำลังจะมีท่าเรือของบริษัททุนพลังงานขนาดใหญ่ และท่าเรือนั้นมันอยู่ตรงปากน้ำกลายที่เราโตขึ้นมา เราเห็นว่าขณะที่เขาพยายามสร้างท่าเรือ ภูเขาที่เราเห็นตอนเด็กๆ มันหายไป เราก็รู้แล้วล่ะว่าเขาระเบิดภูเขานั้นมาถมทะเลทำสันเขื่อนบริเวณปากน้ำที่เราเกิด ดาวเจ็บปวดมาโดยตลอด
“แน่นอนว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นโจทย์ที่อยู่ในหัวใจ สิ่งที่อยู่ในแนวความคิด แต่เราไม่สามารถที่จะยึดทุกเรื่องเป็นก้อนเดียวกัน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ยืดหยุ่น ดาวผูกพันตัวกับการทำงานเรื่องเพศสภาพในวินาทีนี้ แน่นอนว่าดาวสุดลิ่มทิ่มประตูในเรื่องเพศสภาพ ถ้าวันหนึ่งมีบริษัทหนึ่งเข้ามาขอมีส่วนร่วมกับงานไพรด์ โดยมีประวัติว่าหัวหน้าของคุณเคยข่มขืน ล่วงละเมิด ทางเพศ หรือเหยียดเพศ แน่นอนว่าเราจะสู้ แต่ประเด็นอื่นๆ แน่นอนว่าภาวะของความยืดหยุ่นก็มีอยู่บ้าง
“ที่เราทำทั้งหมดคือการทดลอง และเรารู้ว่าการทดลองนี้บาดแผลคืออะไร แต่เรารู้ว่าเราจะรักษาบาดแผลยังไง เราจะรับฟังฟีดแบ็กยังไง การรับทุนใหญ่ของประเทศเรารู้สึกว่าไม่ต้องไปขอโทษใคร แต่แน่นอนว่าเราต้องทบทวน ถ้าบางอย่างที่เราต้องเปลี่ยน เราก็เปลี่ยนได้ ไม่ต้องรับก็ได้เจ้านี้” วาดดาวกล่าว
น้อยคนจะรู้ว่าปีนี้ Bangkok Pride ภายใต้การนำของวาดดาว ได้ปฏิเสธการเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ของกลุ่มทุนพลังงานใหญ่ทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่ง หากใครทันสังเกตจะพบว่า ในขบวนไพรด์ปีนี้ไม่มีป้ายกลุ่มทุนพลังงานมาร่วมเดินขบวน
20 กว่าปีก่อนกลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่ เคยเสกให้ภูเขาที่วาดดาวผูกพันหายวับไปจากสายตาของเธอ แล้วสร้างเขื่อนกัดเซาะชายหาดขึ้นมาแทน ณ วันนี้วาดดาวมีอำนาจไม่อนุญาตให้ป้ายของกลุ่มทุนพลังงานไม่ว่ากลุ่มใดๆ ปรากฏต่อสายตาใครๆ ในขบวนไพรด์เช่นกัน
“ถ้าทุนเหล่านั้นต้องการมาเดินงานไพรด์ เราจะปฏิเสธ เหมือนที่พี่ๆ นักกิจกรรมสื่อสารว่า ทุนที่เป็นประเด็นปีนี้ส่งผลกระทบต่อฝุ่นพิษ PM2.5 อยากให้ถอนสปอนเซอร์ออก สำหรับเราเราจะพิจารณาในปีถัดๆ ไป แต่สำหรับการลงมือทำงานในระบบสปอนเซอร์ชิพ ที่ได้เซ็นสัญญาในปีนี้ไปแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อ เรารับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์และยอมรับการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้น แต่เราเชื่อมั่นว่าสังคมจะเป็นฝ่ายเลือก เราเชื่อว่างานไพรด์จะเติบโตได้จากความคิดเห็นและการจัดงานที่หลากหลาย การคว่ำบาตรครั้งนี้จะเกิดงานครั้งใหม่ที่ทรงพลัง เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งงาน Bangkok Pride และงานไพรด์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น”
ปฏิเสธหรือร่วมช่วงชิง
“ขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมมีมานานแล้วและเราเรียนรู้จากความล้มเหลวมาโดยตลอด เรารู้สึกว่า กว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จต้องอาศัยการทดลอง อาศัยกลยุทธ์ ลูกล่อลูกชนในการที่จะเก็บเกี่ยว Disruptive Moment จังหวะต่างๆ ในการทำทั้งเรื่องบู๊เรื่องบุ๋น ในการจะไปต่อรองกับคนที่เรารู้สึกว่าพวกนี้เป็นพวกทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เราก็ต้องไปนั่งคุยกับเขา ผมฟังวาดดาวแล้วคิดว่าวาดดาวใช้ Disruptive Moment ในจังหวะที่ดี มันเป็นจังหวะที่ดีที่ภาคธุรกิจเขาอยากจะมาอยู่ตรงนี้” ธารากล่าว
“ส่วนการทะลวงการฟอกเขียว ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว เรื่องที่วาดดาวเล่าให้ฟังสะท้อนให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องมีการเรียนรู้จากกระบวนการที่เกิดขึ้นใหม่ ทำอย่างไรให้การเรียนรู้เรื่องการ Washing ของทั้ง 2 ขบวน ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางเพศ หรือจริงๆ อาจรวมไปถึงการ Washing อีกหลายแบบมาก ให้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน เปิดรับแบบจำลองการทำงานใหม่ๆ เปิดอกเปิดใจ และหาปัญหาที่หลากหลายของเรา” ธารากล่าว
“ส่วนดาวรู้สึกว่าเราจะเท่าทันเรื่อง Rainbow Washing หรือ Greenwashing ต่อเมื่อต้องอนุญาตให้แม้กระทั่งพวกเราเองถูกตรวจสอบ ถูกตั้งคำถาม ดาวชอบมากตอนมีคนตั้งคำถามเรื่องการรับทุนของ Bangkok Pride หรือตอนมีคนบอกว่าอยากทำ Justice Pride
“ตอนนี้ Bangkok Pride ดูมีพลังก็จริง แต่เราเองก็ต้องรับฟัง ตรวจสอบตัวเอง และอนุญาตให้เพื่อนๆ เราลุกขึ้นมาตั้งคำถาม เรารับฟังได้ ตรวจสอบเราได้ เพื่อที่เราจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และสร้างทางเลือก เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของเรา
“ถ้า Bangkok Pride ทำ Bullshit ไปอีกสัก 2-3 ปี แล้วไม่ได้ตอบสังคมว่า สุดท้ายอยากตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่ออยากจะรวยเหรอ สุดท้ายดาวไม่ได้อยากทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย คนก็ด่าไปเอง แล้วจะอยู่ในสังคมได้ไหม เป็นสิ่งที่คุณจะต้องท้าทายออกไป”
วาดดาวกล่าวว่า ก้าวต่อไปของนฤมิตไพรด์คือ การผลักดัน ‘เศรษฐกิจ LGBT เขยื้อน GDP’ โดยต่อยอดจากการที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ขับเคลื่อน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. ท่องเที่ยว (Tourism) เช่นการขายสินค้าและบริการให้แก่นักท่องเที่ยวผู้เลือกเที่ยว ในประเทศที่เป็นมิตรต่อคนเพศหลากหลาย 2. บันเทิง (Entertainment) เช่น การผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ 3. การแพทย์ (Medical) เช่น การผ่าตัดแปลงเพศ 4. สุขภาพครบวงจร (Wellness) ให้ไปไกลมากขึ้น
“4 อุตสาหกรรมนี้ คือความคิดสร้างสรรค์จากเนื้อตัวของพวกเรา จากเอเนอร์จีของความเป็น LGBTQIA+ ถ้ารัฐบาลสนับสนุน 4 อุตสาหกรรมนี้ มูลค่าการตลาดจะถึงแสนล้าน ในเคสกะเทยที่มีเงินเยอะๆ สักคนหนึ่ง มาผ่าตัดแปลงเพศที่ไทย เขาอาจใช้เงินในไทยถึงครั้งละ 1 แสน-2 ล้าน และเขาอาจไม่ได้แค่ผ่าตัด แต่ซื้อกระเป๋าใบละหมื่นกลับไปด้วย
“ถ้าประเทศไทยมีศักยภาพอย่างนี้ก็ไม่ต้องสร้างเขื่อน ไม่ต้องสร้างเหมืองโปแตช เราเอาความคิดสร้างสรรค์ของพวกเรา มาสร้างสรรค์เศรษฐกิจได้
“คุณคิดว่าดาวเป็นนักกิจกรรม นักธุรกิจ นักเคลื่อนไหว เป็น NGO เป็นนักรณรงค์ หรือนักการเมือง? คุณจะนิยามว่า ดาวเป็นใครก็ได้แต่โมเดลของดาวเป็นอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดาวถอดบทเรียนจากการเป็นนักเคลื่อนไหวมาแล้วด้วยซ้ำ ดาวไม่อยากเดินทางเดิม”
ส่วนธารากล่าวถึงเส้นทางของวาดดาวในมุมมองของเขาว่า รู้สึกดีใจที่ได้มานั่งตรงนี้ เพราะก่อนหน้านี้มีหลายเรื่องที่เคยคาดเดาไปเองล่วงหน้า
“มาได้ยินวาดดาวแล้วผมรู้สึกว่ามันมีมิติใหม่ๆ ที่เราจะต้องช่วยกันโอบอุ้ม ช่วยกันดูแล ช่วยกันเทกแคร์ ให้ความฝันของทุกคนที่อยากมีชีวิตที่ได้รับความเป็นธรรมทางสังคมเกิดขึ้นต่อไป”
วาดดาวกล่าวว่า สูตรลับของ Bangkok Pride ไม่ใช่สูตรที่ลับเสียจนจะไม่มีใครถอดสูตรได้เลย ตรงกันข้าม โอกาสที่เราจะมีงานไพรด์ที่มีวัดปทุมวนารามฯ เป็นจุดผ่านของขบวน พร้อมเขียนป้ายติดหน้าวัดว่า ‘ที่นี่มีคนตาย’ อย่างในงานไพรด์ปีที่ 2 หรือมีผู้ชูป้ายประท้วงการดำเนินธุรกิจของสปอนเซอร์งานเหมือนในงานไพรด์ปีที่ 3 ไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถมองโลกในแง่ดีว่าจะเกิดขึ้นได้ตลอดไป เพราะทุนปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
“เราโยนโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาในขบวนไพรด์ตลอด และปีนี้เรายินดีให้โยนโจทย์ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเข้ามาด้วย แต่ว่ามันไปไม่ถึง เนื่องจากเพื่อนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับทุน Corporate ใหญ่ของ Bangkok Pride ถอนตัว ไม่อย่างนั้นคุณจะเห็นได้ว่า สแตนด์ดี้ของคนที่ต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพถูกขังอยู่ในเรือนจำอยู่ในงานไพรด์ได้อย่างไร
“อีก 2 ปีข้างหน้า ดาวทำไม่ได้แล้วนะ เพราะจะมีคนเก่งกว่าดาว และเขาจะก่อตั้งความเป็น Corporate ที่ชัดเจน 2 ปีนี้คุณอยากท้าทายประเด็นทางสังคมแบบไหนคุณทำไปเลย”
2 ปี คือจำนวนปีที่ Bangkok Pride ยังมีแต้มต่อจากการมีสิทธิเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด World Pride แต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นย่อมเป็นไปได้ว่า อาจถึงเวลาที่รัฐและทุนจะช่วงชิงการนำกลับ
จึงมาถึงคำถามว่า ในงานไพรด์ปีหน้า เราจะไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความชอบธรรมกลุ่มทุนที่อาจเข้ามาเพื่อย้อมรุ้ง หรือดำเนินกิจการอย่างไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคมด้วยการไม่ไปร่วมงานไพรด์ หรือเข้าร่วมช่วงชิงพื้นที่กระแสหลักนี้ แล้วต่อต้านความไม่เป็นธรรมนั้นในพื้นที่เดียวกัน?
เราจะจัดวางการผลักดันประเด็นทางสังคม ท่ามกลางการย้อมรุ้งและฟอกเขียวที่ฉลาดและปรับตัวตลอดเวลาเช่นไร?
เป็นคำถามที่ชวนทุกคนตอบไปด้วยกัน
เชิงอรรถ
[1] https://www.ilaw.or.th/articles/10045
Tags: Pride, ย้อมรุ้ง, green washing, สมรสเท่าเทียม, นฤมิตไพรด์, ฟอกเขียว, Rainbow Washing, Bangkok Pride, ธารา บัวคำศรี, Feature, วาดดาว ชุมาพร