“อยากได้แร่ เจาะที่บ้านแม่มึงสิ”

ข้อความบนป้ายผ้าบ่งบอกความอัดอั้นตันใจของชาวบ้านหลายตำบลในอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ที่มารวมตัวประท้วงบริษัท ไทยคาลิ จำกัด หนึ่งในสามผู้ได้รับประทานบัตรการทำเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน

บนถนนสาย 201 (ชัยภูมิ-สีคิ้ว) บริเวณทางเข้าหมู่บ้านหนองไทร ตำบลหนองไทร ถูกปิดเหลือเลนเดียว ชาวบ้านกว่า 200 ชีวิตนั่งชุมนุมอย่างสงบภายในเต็นท์ผ้าใบ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาสั่งระงับการทำเหมืองโดยทันที 

จังหวะนั้น หญิงคนหนึ่งเดินลากถุงปุ๋ยเข้ามา ก่อนเทวัตถุคล้ายก้อนหินสีขาวลงพื้นจนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

“ดูซะ นี่คือหลักฐานแห่งความพินาศของชาวหนองไทร” 

ก้อนหินสีขาวขุ่นนี้คือผลึกเกลือที่แซะออกมาจากผิวดินบนเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นวงกว้างในตำบลหนองไทร พวกเขาเชื่อว่าเป็นน้ำเกลือที่รั่วไหลมาจากเหมือง ทำให้ดินกลายสภาพเป็นโคลนสีสนิม ต้นไม้ใบหญ้าตายเรียบ ห้วยหนองคลองบึงแปรเปลี่ยนเป็นน้ำเค็มจนไม่อาจใช้อุปโภค-บริโภคได้ดังเดิม

การชุมนุมคัดค้านเหมืองโปแตชในภาคอีสานเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น หลังจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ออกมาเร่งรัดให้กลับมาเดินหน้าทำเหมืองอย่างจริงจัง

แม้ที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองโปแตชมานานหลายทศวรรษ กระทั่งในปี 2558 มีเพียง 3 บริษัทที่ได้ประทานบัตรการทำเหมืองโปแตชใน 3 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย บริษัท อาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ บริษัท เอเชียแปซิฟิคโปแตช คอร์เปอเรชัน จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 

แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีบริษัทใดขุดเจาะแร่ขึ้นมาสกัดได้แม้แต่รายเดียว 

กระแสคัดค้านการขุดเจาะหาแร่หวนกลับคืนมา หลังจากเมื่อปลายปี 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาเร่งรัดให้มีการทำเหมืองโปแตชอย่างจริงจัง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี สืบเนื่องจากราคาผันผวนที่เป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน บวกกับการประเมินว่าไทยมีแร่โปแตชมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รัฐบาลจึง ‘กดปุ่มไฟเขียว’ ให้เดินหน้าเต็มที่

เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือน ‘การปลุกผีโปแตช’ ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ท่ามกลางความหวาดผวาของชาวบ้านรอบเหมือง โดยเฉพาะชาวหนองไทรที่ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส สูญเสียที่ดินทำกิน บ้านเรือนพังเสียหาย ชุมชนแตกเป็นสองฝ่าย และอาจทำให้วิถีชีวิตชนบทล่มสลายลงในที่สุด

สุปราณี ทองอุไร กับลูกชายวัย 4 ขวบ โดยมีฉากหลังเป็นฝูงวัวในสภาพผอมโซ และทุ่งเจิ่งนองด้วยน้ำฝนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนาข้าวเขียวขจี แต่วันนี้ปลูกอะไรไม่ขึ้นแล้ว

ความฝันที่พังภินท์บนแผ่นดินรกร้าง

ฝูงวัวกว่า 20 ตัวยืนนิ่งอยู่บนโคลนเละๆ ภายในคอกไม้เก่าๆ แทบทุกตัวผ่ายผอมจนเห็นซี่โครง ใกล้กันมีต้นมะขามใหญ่ยืนตายซาก… ทุ่งนารกร้างทอดไกลอยู่เบื้องหลัง 

สุปราณี ทองอุไร ชาวบ้านหนองไทร เหม่อมองภาพตรงหน้าด้วยสายตาปวดร้าว มือขวาโอบไหล่เด็กชายตะวัน ลูกชายวัย 4 ขวบ อีกมือลูบเบาๆ บริเวณท้องน้อยของเธอที่เพิ่งตั้งครรภ์ไม่กี่เดือน พลางปล่อยใจล่องลอยไปยังอดีตครั้งที่ผืนดินยังอุดมสมบูรณ์กว่านี้

“สมัยก่อนแถบนี้อุดมสมบูรณ์มาก เรียกว่าอู่ข้าวอู่น้ำได้เลย ในคลองมีกุ้งหอยปูปลา ดินดีปลูกอะไรก็งอกงาม” สุปราณีทอดสายตามองทุ่งร้างเบื้องหน้าที่ 10 ปีก่อนยังเคยเป็นนาข้าวเขียวขจี

“ส่วนตรงโน้นเขาเรียกว่าซับมะขาม เคยเป็นบ่อน้ำสาธารณะที่คนในชุมชนได้อาศัยดื่มกิน” เธอชี้ไปที่บ่อน้ำใต้ต้นมะขาม ซึ่งบัดนี้ไม่สามารถใช้อุปโภค-บริโภคได้อีกต่อไปเพราะน้ำเค็มจัด

“ในอดีตที่เคยเป็นทุ่งข้าวเขียวขจี บัดนี้ได้กลายสภาพเป็นนาเกลือไปโดยสมบูรณ์” ชาวบ้านรายหนึ่งบอก

ครอบครัวของสุปราณีครอบครองที่ดิน 29 ไร่อันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ อาชีพหลักคือปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงวัว ฐานะพออยู่พอกิน ไร้หนี้สิน และยังมีเงินเก็บหอมรอมริบ

“ก่อนคลอดน้องตะวัน เราวางแผนอนาคตไว้ว่าจะส่งเขาเรียนสูงๆ ตอนนั้นชีวิตสบายมาก ปลูกข้าวปลูกผักไว้กินเอง เหลือก็ขาย เงินที่ได้ก็เอามาปลูกบ้านใหม่สร้างไว้เป็นร้านขายของชำเล็กๆ มีรถกระบะสองคัน วัวอีกยี่สิบสี่ตัว ตั้งใจจะยกให้ลูกทั้งหมด แต่ตอนนี้ความฝันพังทลายไปแล้ว” 

สุปราณีจำได้ว่า ประมาณปี 2560 เพียงปีเดียวหลังจากเหมืองไทยคาลิเข้ามาดำเนินการขุดแร่ ชาวบ้านเริ่มสังเกตเห็นน้ำผุดซึมบนที่นาตัวเอง เมื่อเดินไล่ดูก็พบกับร่องรอยน้ำไหลออกมาจากบริเวณคันดิน ซึ่งเป็นบ่อพักของเหมือง 

เมื่อร้องเรียนไป ทางเหมืองชี้แจงว่าได้ปูพลาสติก HDPE (พลาสติกลักษณะขุ่น แข็งแรงทนทาน ใช้ป้องกันความชื้นและการรั่วซึม) ไว้แล้ว เพื่อป้องกันการรั่วซึม แต่ชาวบ้านยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากน้ำที่รั่วซึมออกมานั้นมีค่าความเค็มผิดปกติ โดยผลตรวจวัดค่าความเค็มจากบ่อน้ำวัดหนองไทรในปี 2562 พบว่าสูงถึง 78 ppt ซึ่งมีความเค็มกว่าน้ำทะเลถึง 2 เท่า 

ต่อมาในปี 2563 มีข่าวน้ำใต้ดินรั่วซึมเข้าท่วมอุโมงค์ขุดเจาะจนไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ทำให้เหมืองไทยคาลิต้องหยุดเดินเครื่องชั่วคราว ขณะเดียวกันก็เร่งสูบน้ำในอุโมงค์ขึ้นมายังบ่อพักด้านบน โดยไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง

“เหมืองบอกว่าปูพลาสติก HDPE ไว้ใต้บ่อพักแล้ว ไม่รั่วซึมแน่นอน แต่เราไม่เชื่อ เพราะปริมาณน้ำที่ล้นท่วมอุโมงค์นั้นน่าจะมากเกินกว่าที่บ่อพักจะรับไหว ยิ่งถ้าฝนตก ใครจะรู้ว่าน้ำเกลือที่ถูกสูบขึ้นมาข้างบนมันจะโดนชะล้างไปถึงไหนบ้าง” 

คราบเกลือขาวโพลนที่ปรากฏบนพื้นปูนของบ้านหลังหนึ่ง ในชุมชนหนองไทร

สัญญาณแห่งความพินาศค่อยๆ เริ่มขึ้น หลายคนสังเกตเห็นคราบเกลือปรากฏบนที่นาผืนแล้วผืนเล่า เกาะตัวเป็นแผ่นผลึกสีขาวสะท้อนแสงแดดวิบวับสุดลูกหูลูกตา ดูคล้ายนาเกลือ ดินแปรสภาพเป็นโคลนสีสนิมส่งกลิ่นเหม็น พืชไร่ทยอยล้มตาย สุดท้ายผืนดินทั้งผืนก็กลายเป็นทุ่งร้างเพราะปลูกอะไรไม่ขึ้น รวมถึงน้ำจืดจากแหล่งธรรมชาติที่เคยใช้อุปโภค-บริโภคก็กลายเป็นน้ำเค็มจัด แม้แต่วัวควายยังไม่กล้ากิน

“บ้านเราเคยมียุ้งข้าวสองยุ้งใส่ข้าวไว้จนเต็ม พอปลูกข้าวไม่ได้ แม่สั่งให้รื้อทิ้งเลย เพราะทนไม่ไหวที่เห็นยุ้งข้าวเปล่าๆ หยากไย่ขึ้น วัวที่เคยปล่อยไปกินหญ้าตามทุ่ง เดี๋ยวนี้ต้องขี่รถเครื่องออกไปเกี่ยวหญ้าจากที่อื่นมาให้แทน รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม ไหนจะค่าน้ำประปาที่ต้องจ่ายแพงขึ้นเพราะบ่อน้ำชุมชนไม่สามารถตักมาใช้ได้ 

“พอไม่มีเงินซื้อหญ้ามาเลี้ยงวัวได้เหมือนก่อน วัวก็ผอมโซ อดๆ อยากๆ จนพ่อไม่กล้าเดินไปเฉียดใกล้คอกแล้ว ยิ่งเห็นทุ่งนาเคยมีข้าวเขียวๆ กลายเป็นทุ่งร้าง แกร้องไห้ตลอด”

ปัจจุบัน อาชีพหลักของสุปราณีเหลือแค่เปิดร้านชำกับตระเวนขับรถกระบะไปขายของตามหมู่บ้าน ไม่ได้ทำนามาหลายปีแล้ว ผักก็ปลูกไม่ขึ้น ต้องไปซื้อเขากิน จากพึ่งพาตัวเองได้กลับกลายเป็นต้องพึ่งพาคนอื่น

 “ชีวิตไม่เคยมีหนี้ก็ต้องไปกู้เขา นี่เพิ่งเอารถกระบะคันนึงไปรีไฟแนนซ์ ทุกวันนี้ซื้อแพงทุกอย่าง ทั้งข้าว ผัก ปลา หญ้าวัว ยันน้ำประปา

“จะให้เราหนีไปไหน การเริ่มต้นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ผืนดินนี้เป็นมรดกตกทอดของปู่ย่าตายายส่งต่อมาให้พ่อแม่ พ่อแม่ก็รักษาไว้ให้เรา มันน่าเจ็บปวดนะ ถ้าเรารักษาเอาไว้ไม่ได้ ไม่มีอะไรเหลือไว้ให้ลูก” 

สักวันคงไม่มีบ้านให้ซุกหัวนอน

ไม่ใช่แค่สุปราณีที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน แต่เพื่อนบ้านติดกันอย่าง พิริยกร ดีขุนทด ก็ต้องพานพบกับชะตากรรมไม่ต่างกัน เมื่อที่ดิน 24 ไร่กลายเป็นผืนดินไร้ค่าเพราะดินเค็มจัด แต่ความเจ็บปวดที่สุดในชีวิตชาวนา คือจากเคยมีที่ดินทำกินของตัวเองกลับต้องไปเช่านาคนอื่นทำ

“ก่อนมีเหมืองเคยปลูกข้าวได้ปีละ 15-20 กระสอบ ปลูกผักไว้สะพรั่งเต็มรอบบ้าน เลี้ยงปลานิลไว้กินด้วย ไม่มีอดอยากแน่ๆ จนประมาณปี 2560 เริ่มมีข่าวน้ำเกลือรั่วซึมจากเหมืองไหลเข้าที่ดินชาวบ้านหนองไทร ตอนนั้นผมยังทำนาอยู่ กำลังเตรียมดิน อยู่ๆ ก็เจอน้ำผุดซึมทำให้ดินแฉะ ย่ำลงไปนี่จมมิดเท้าเลย 

“พอดินไม่แห้งก็ลงข้าวไม่ได้ สุดท้ายปีนั้นปลูกข้าวไม่ขึ้น ทุกวันนี้หมดหนทาง ไม่รู้จะทำยังไง ต้องไปเช่านาของน้าทำแบ่งครึ่ง แบ่งข้าวกันกิน”

เหตุผลเรื่องดินเค็มในตำบลหนองไทรที่ทางเหมืองไทยคาลิยืนยันว่า ‘มีค่าพื้นฐานความเค็มอยู่ก่อนแล้วตามธรรมชาติ’ โดยอ้างอิงผลการตรวจวัดค่าความเค็มจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ ภาค 11 และสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 6 รวมถึงการตรวจสอบของทางเหมืองเอง แต่พิริยกรยืนยันว่า

“เรื่องดินเค็มนี่เกิดมาก็เจอแล้ว เป็นคราบเกลือขึ้นบนผิวดินตามธรรมชาติ ยังพอปลูกอะไรขึ้น นาข้าว ต้นมะพร้าว อ้อย ผักหญ้าต่างๆ เติบโตได้ปกติ ต้นไม้ก็ยังเขียว พวกเราก็อยู่กันมาได้ แต่ทำไมช่วง 7 ปีหลังจากมีเหมืองปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ทำไมต้นไม้ยืนตายซากทั่วไปหมด ยิ่งหน้าแล้ง มองไปนี่ตกใจเลย มันแทบจะกลายเป็นนาเกลือไปแล้ว”

พิริยกร ดีขุนทด กับร่องรอยของผนังบ้านที่หลุดล่อนเพราะกรดจากความเค็ม

แม้แต่บ้านเรือนก็ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เห็นได้จากร่องรอยที่เกิดขึ้นกับบ้านหลายหลัง ตั้งแต่กำแพง ผนัง จนถึงเสาเรือน บางจุดมีคราบความชื้นจากเกลือให้เห็นเด่นชัด บางจุดมีรอยกะเทาะหลุดล่อนออกเป็นแผ่นๆ เสาเรือนบางต้นถูกกรดความเค็มกัดกินจนเห็นโครงเหล็กด้านในขึ้นสนิม เจ้าของบ้านต้องควักเงินซ่อมแซมทาสีใหม่ทุก 5 ปี

“คุณลองไปดูวัดหนองไทรสิ จากเคยร่มรื่นด้วยต้นไม้กลายเป็นแห้งโกร๋นหมด เมื่อก่อนคนมาทำบุญกันแน่นวัด เดี๋ยวนี้เงียบเหมือนวัดร้าง บรรยากาศหดหู่มาก อาคารผุพังต้องทาสีใหม่ไม่รู้กี่รอบ ยิ่งเมรุเผาศพข้างใต้นี่พรุนไปหมดแล้ว จนเขาต้องสั่งห้ามคนขึ้นไปเผาศพทีละเยอะๆ ต้องทยอยขึ้นไปเป็นกลุ่มเล็กๆ”

บรรยากาศวัดหนองไทรที่ชาวบ้านบอกว่าเคยมีคนมาทำบุญแน่นวัด ต้นไม้เขียวร่มรื่น แต่วันนี้กลับกลายเป็นเงียบเหงาวังเวง

พิริยกรเล่าว่า เหมืองไทยคาลิพยายามจ่ายเงินชดเชยชาวบ้านด้วยเงินจำนวนหนึ่ง บ้างก็ได้รับข้อเสนอขอซื้อผืนที่ดินที่เสียหาย ชาวบ้านบางส่วนยอมรับความช่วยเหลือแต่โดยดี ขณะที่ชาวบ้านอีกหลายคนรวมถึงพิริยกรเลือกที่จะปฏิเสธและลุกขึ้นมาต่อสู้ พร้อมทั้งยืนกรานว่าจะไม่อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น แม้ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับคืนมาได้อย่างไร 

ชาวบ้านกับต้นไม้ตายซากที่ปรากฏให้เห็นเป็นวงกว้างในพื้นที่ตำบลหนองไทร

“อยากให้ปิดเหมืองโดยเร็วที่สุด ขนาดยังขุดไม่เจอแร่ยังวิบัติขนาดนี้ ขืนเจาะอุโมงค์ใหม่สำเร็จ อีกหน่อยด่านขุนทดคงไปหมดทั้งอำเภอ”

เมื่อหายนะมาเคาะถึงหน้าประตู

ข่าวการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ 3 แห่งของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด บริเวณดอนหนองโพธิ์ซึ่งเป็นพื้นที่สูงที่สุดในตำบลหนองไทร สร้างความวิตกกังวลครั้งใหญ่แก่ชาวบ้านสระขี้ตุ่น ตำบลหนองบัวตะเกียด ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเหมืองอันเป็นพื้นที่ต่ำ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน น้ำเค็มสามารถรั่วไหลไปได้หลายทิศทาง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงสำนึกได้ทันทีว่า ‘หายนะมาเคาะถึงประตูบ้านแล้ว’

“ตอนนี้เครียดมาก จับตาดูตลอดว่ามันจะมาถึงบ้านเราเมื่อไร ถ้าเขาเปิดอุโมงค์ขุดแร่ที่ดอนหนองโพธิ์สำเร็จ บ้านเราโดนแน่เพราะอยู่ใต้เหมือง แถมเป็นที่ต่ำและรองรับน้ำที่ไหลมาจากดอนหนองโพธิ์” จงดี มินขุนทด ชาวบ้านสระขี้ตุ่นพูดพลางถอนหายใจ

จงดี มินขุนทด (คนหน้าสุด) กับพี่น้องชาวบ้านสระขี้ตุ่น ขณะเดินสำรวจที่ดินรอบเหมืองที่ได้รับผลกระทบ โดยมีฉากหลังเป็นเหมืองแร่โปแตชของบริษัทไทยคาลิ

วันหนึ่งในยามบ่ายร้อนแรง จงดีพาไปดูบริเวณขุดเจาะอุโมงค์แนวดิ่งใหม่ที่ดอนหนองโพธิ์ รถกระบะตอนเดียวมีลูกชายของเธอเป็นคนขับแล่นไปบนถนนลูกรังคลุ้งฝุ่น รอบตัวมีแต่ผืนดินสีน้ำตาลแห้งแล้ง บางแปลงซึ่งเป็นที่ดินของเหมืองยังเห็นรถแบคโฮทำงานอยู่กลางแดดอย่างขะมักเขม้น บางแปลงอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบก็ยังพอเห็นทุ่งข้าวสีเขียวประปราย อีกหลายแปลงเป็นประกายขาวโพลนจากคราบเกลือที่ฉาบอยู่บนผิวดิน 

ทันทีที่จอดรถ จงดีเดินลุยลงผืนนาเปล่าๆ ที่มีแต่ดินชื้นแฉะ เธอเตือนให้เดินระมัดระวัง เพราะดินที่เห็นเป็นโคลนตมซึ่งพร้อมจะยุบลงได้ทุกเมื่อ

“ฝนไม่ตกแต่น้ำเจิ่งนองเต็มทุ่ง มันเป็นไปได้ยังไง” เธอตั้งข้อสังเกต ก่อนชี้ให้ดูร่องรอยของทางน้ำที่ไหลจากบริเวณคันดินสูงชันของเขตเหมือง ไล่นิ้วต่อไปจนถึงที่ดินทำกินของชาวบ้านหนองมะค่าในและหนองมะค่านอก จากนั้นเธอมองไปไกลลิบๆ อันเป็นทิศที่ตั้งของบ่อน้ำขนาดใหญ่ 2 บ่อ นั่นคือบ่อน้ำวัดหนองไทร แหล่งน้ำสาธารณะของชุมชนที่บัดนี้มีค่าความเค็มเกินกว่าที่จะใช้อุปโภค-บริโภคได้

“น้ำท่วมยังขนของหนีได้ ไฟไหม้บ้านยังมีที่ทางเหลือไว้ให้สร้างใหม่ แต่ถ้าดินพังปลูกอะไรไม่ได้ก็จบ ต้องใช้เวลากี่สิบปีในการฟื้นฟู ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ถึงหรือเปล่า แล้วลูกหลานเราจะอยู่กันต่อยังไง”

เย็นวันนั้นฝนเทกระหน่ำลงมาจากพายุฤดูร้อน หากเป็นเมื่อก่อนเสียงฝนกระทบหลังคาคงเป็นดั่งเสียงสวรรค์ ไม่มีเกษตรกรคนไหนรังเกียจเสียงฝน เพราะมันหมายถึงความชุ่มฉ่ำที่ชุบชูต้นไม้ต้นไร่ให้งอกงาม เติมเต็มความอุดมสมบูรณ์แก่แผ่นดิน 

“ตอนนี้ฝนตกเหมือนฝันร้ายสำหรับเรา เพราะไม่รู้ว่ามันจะพัดพาน้ำเค็มจากเหมืองลงดินไปไหนต่อไหนบ้าง”

สภาพน้ำท่วมเต็มท้องนาหลังฝนตก ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีน้ำที่ถูกลักลอบปล่อยมาจากทางเหมืองปะปนอยู่ด้วย เนื่องจากมีสีเข้มคล้ำส่งกลิ่นเหม็น ต่างจากน้ำฝนธรรมชาติที่จะมีสีออกแดงๆ จากตะกอนของดิน

เช่นเดียวกับ อนุสรา ปราณีตพลกรัง ชาวบ้านสระขี้ตุ่นและหนึ่งในแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เธอรู้สึกโกรธแค้นกับคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ปลุกผีเหมืองโปแตชขึ้นมาอีกรอบ

“เขาบอกว่าใต้ดินบ้านเราเป็นแหล่งแร่โปแตชมูลค่ามหาศาล แต่มันเป็นทุกข์ของคนที่อยู่ข้างบนไง เราก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน มีบ้าน มีที่ดิน อาศัยผืนดินผืนน้ำทำเกษตรกรรม ถ้าต้องสูญเสียผืนดินผืนน้ำไป แล้วจะเอาอะไรกิน เราไม่ต้องการความเจริญของเหมือง ไม่มีเหมืองเราก็อยู่ได้ เรากินข้าว ไม่ได้กินแร่”

หลังจากอุโมงค์ขุดเจาะแห่งแรกเกิดเหตุน้ำท่วมก่อนรั่วไหลลงสู่ชุมชนหนองไทร ชาวบ้านในตำบลหนองไทร ตำบลหนองบัวตะเกียด และตำบลโนนเมืองพัฒนา จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้เหมืองชดใช้ค่าเสียหาย ส่งผลให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าจะตรวจสอบหาสาเหตุ รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมในการขุดเจาะอุโมงค์แห่งใหม่ที่ดอนหนองโพธิ์ด้วย 

อนุสราแย้งว่าทุกครั้งที่หน่วยงานราชการลงพื้นที่ ไม่เคยมีการแจ้งให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดรู้ล่วงหน้าเลย

เมื่อไม่อาจโยกย้ายถิ่นฐานไปที่อื่นได้ และไม่คิดจะขายที่ดินบรรพบุรุษ ชาวบ้านหลายคนจึงตัดสินใจลุกขึ้นสู้ในนาม ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด’ แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนเลือกที่จะรับเงินค่าชดเชยจากเหมือง แลกกับการไม่ออกมาเคลื่อนไหว

ตอนเขาลงมาตรวจสอบพื้นที่ขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ที่ดอนหนองโพธิ์ วันนั้นหน่วยงานราชการมากันเพียบ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ศูนย์ดำรงธรรม นายอำเภอด่านขุนทด พวกเรากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดไม่มีรู้ข่าวเลย มีแต่ชาวบ้านฝ่ายสนับสนุนเหมืองเท่านั้นที่ไปเข้าร่วม 

“เดือนกรกฎาคมปี 2566 พวกเราจึงยื่นหนังสือให้ผู้ว่าฯ ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตำบลหนองบัวตะเกียด ตำบลหนองไทร และตำบลโนนเมืองพัฒนา หลังจากมีการล่ารายชื่อให้สนับสนุนเหมือนแร่โปแตช แลกกับการรับเงินสองพันบาท

“จากชุมชนที่เคยสามัคคี พอแตกเป็นสองฝ่ายก็มองหน้ากันไม่ติด กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ เหมือนมีกำแพงกั้น เป็นกำแพงที่ก่อขึ้นด้วยเงินของนายทุน ตอนนี้ที่ทำกินเสียหายไปแล้ว บ้านเรือนค่อยๆ พังทลาย สุดท้ายชุมชนก็อาจล่มสลายไปด้วย”

7 กรกฎาคม 2566 สยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ในขณะนั้น) พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในอำเภอด่านขุนทด ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บ้านสระขี้ตุ่น อำเภอหนองบัวตะเกียด หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองไทยคาลิ

อย่างไรก็ตาม ผลเจรจาหลังการชุมนุมบนถนนสาย 201 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 มีการบันทึกข้อตกลงระหว่างกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดกับ สยาม ศิริมงคล ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น โดยมีสาระสำคัญ 5 ข้อ

1. ขอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ไม่พิจารณาอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง จนกว่าจะได้มารับฟังข้อเรียกร้อง ความห่วงใย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ดังนี้

2. แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการอุโมงค์เดิมและสภาพที่เกิดจากการทำเหมืองเดิมให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี ทั้งมิติสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต 

3. การดำเนินการของ กพร.ต่อเรื่องนี้ที่ผ่านมา ทางกลุ่มยังไม่มีโอกาสให้ความเห็น ดังนั้นจึงขอให้ทางกลุ่มได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญที่ กพร.ใช้ในการพิจารณา 

4. ให้ผู้ว่าฯ เจรจากับทางบริษัท ยับยั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผังก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากทาง กพร. (ดอนหนองโพธิ์) 

5. ผู้ว่าฯ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้มีการข่มขู่ คุกคาม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด

แม้ชาวบ้านจะพอใจกับการบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ แต่ก็อดกังวลใจไม่ได้ว่าบริษัทไทยคาลิจะยังคงเดินหน้าขุดแร่ต่อไป เพราะเป้าหมายสูงสุดของชาวบ้านคือ ต้องหยุดการทำเหมืองอย่างถาวรเท่านั้น

ระเบิดเวลาแห่งความเค็ม

ผลกระทบจากการทำเหมืองโปแตชในอำเภอด่านขุนทด ก่อให้เกิดคำถามว่า นอกจากผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลที่ได้รับแล้ว ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมนั้นน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนหนองไทรว่า การนำเกลือที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนผิวดินนั้นจะสร้างปัญหาตามมามากมาย

“ขั้นตอนการนำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาบนผิวดินคือเขาจะสูบน้ำเกลือขึ้นมาบนบก เพื่อนำตากหรือต้มแล้วกวาดเอาเกลือไปขาย ทำให้อัตราเร่งของดินเค็มมีมากกว่าเดิมเป็นร้อยเท่า เพราะว่าคุณจงใจเอาน้ำเค็มขึ้นมา ไม่ใช่ขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ 

“หากวันไหนร้อนหรือแล้งจัด น้ำก็จะระเหิดไปทิ้งไว้เป็นคราบเกลือดังที่เห็น วันไหนฝนตกก็อาจไม่มีร่องรอยอะไรมาก เพราะฝนมันชะล้างพัดพาไปที่อื่น จนเกิดการแพร่กระจายของความเค็มไปตามท้องไร่ท้องนาชาวบ้าน”

สภาพที่ดินทำกินของชาวบ้านซึ่งเต็มไปด้วยคราบเกลือฉาบผิวดิน และต้นไม้ยืนต้นตายซาก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านหนองไทรเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้วว่าอาจเกิดขึ้นได้ หากกระบวนการผลิตของเหมืองไม่มีมาตรฐานเพียงพอ

“สมมติคุณขุดแร่โปแตชขึ้นมา คุณจะไม่ได้แค่แร่โปแตชเพียวๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะเป็นแร่โปแตชเต็มที่อยู่ประมาณสักสี่สิบเปอร์เซ็นต์ อีกหกสิบเปอร์เซ็นต์คือเกลือโซเดียมคลอไรด์ หากเราสกัดเอาแค่แร่โปแตชแล้วทิ้งเกลือไว้ ถ้าไม่มีระบบกักเก็บที่ดีที่สามารถป้องกันการรั่วซึมได้ มันก็จะแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย เมื่อเกลือละลายน้ำก็จะซึมไปตามดิน น้ำไปถึงไหนเกลือไปถึงนั่น ไต่กำแพง ปีนเสาบ้าน ไปได้ทั่วทุกที่ที่มีน้ำ”

หากพิจารณาศักยภาพในการขุดแร่โปแตชของ 3 บริษัทที่ได้ประทานบัตรจะพบว่า บริษัท เอเชียแปซิฟิคโปแตช คอร์เปอเรชัน จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่ 26,446 ไร่ มีกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี 

บริษัท อาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ 9,356 ไร่ มีกำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี 

และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ 9,799 ไร่ มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี 

สภาพผืนดินและแหล่งน้ำบริเวณรอบเหมืองบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตำบลหนองไทร เต็มไปด้วยคราบเกลือ ต้นไม้ยืนตายซาก

“ถ้ารวมกำลังการผลิตของทั้งสามเหมืองก็เกือบ 3.3 ล้านตันต่อปี นี่แค่แร่โปแตชนะ ยังไม่นับกากเกลือที่ถูกทิ้งก็อีกเท่าหนึ่ง ประมาณ 6 ล้านตัน ไม่ใช่น้อยๆ เหมือนเอาระเบิดเวลาแห่งความเค็มมากองไว้ข้างบน รอว่ามันจะรั่วไหลเมื่อไร แล้วมันจะแพร่กระจายไปไกลแค่ไหนถ้าไม่มีการป้องกันที่ดี นี่พูดถึงปีเดียวนะ ประทานบัตรการทำเหมืองยาวถึง 25-30 ปี คิดดูว่าจะสาหัสขนาดไหน

“ผมเคยไปดูงานเหมืองแร่โปแตชที่รัฐซัสแคตเชวัน ประเทศแคนาดาซึ่งใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก กำลังการผลิตเกือบห้าล้านตันต่อปี รอบเหมืองเขาไม่มีชุมชนเลย เป็นป่า เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ แต่เหมืองโปแตชบ้านเรามีสี่สิบกว่าหมู่บ้านล้อมรอบ มีชาวบ้านเกือบ 5-6 หมื่นคน”

ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องเหมืองโปแตชมานาน สันติภาพมองว่า หากเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูผืนดินผืนน้ำให้กลับคืนมาเป็นเรื่องยากมาก 

“ถ้าดินเค็มไปแล้วไม่มีทางฟื้นฟูได้ อาจต้องขุดดินทุกที่ที่มีเกลือเอาไปล้างน้ำเกลือออก ไม่ก็เอาดินจากที่อื่นมากลบ ผสมอินทรีย์วัตถุต่างๆ แล้วกลับมาลองปลูกต้นไม้ดู มันใช้เงินเยอะ ถ้าต้องใช้เงินเป็นหมื่นๆ ล้านเพื่อแก้ไข ถามว่าเราจะเอาเงินมาจากไหน”

ผืนดินแห้งแตกระแหงกับต้นไม้ไร้ชีวิต คือภาพที่เห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ตำบลหนองไทรในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หลังเหมืองไทยคาลิเข้ามาดำเนินการในปี 2559

โศกนาฏกรรมที่เพิ่งเริ่มต้น

“ผมไม่เคยเห็นผืนแผ่นดินไหนพังเท่าที่หนองไทรมาก่อน”

แม้จะเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองมาค่อนชีวิต แต่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) ก็ยังรู้สึกสลดใจหลังได้เห็นภาพความพินาศของชุมชนหนองไทรด้วยตาตัวเอง

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) กำลังปราศรัยคัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตชในอำเภอด่านขุนทด ระหว่างการชุมนุมปิดถนนสาย 201 (ชัยภูมิ-สีคิ้ว) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567

เลิศศักดิ์พูดถึงนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมเหมืองโปแตชครั้งใหม่ของนายกฯ เศรษฐาว่า ‘เป็นอะไรที่ย้อนแย้งมาก’ 

“นายกฯ อ้างว่าพยายามลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งแร่โปแตช (Potash) หรือโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium Chloride) ที่ใช้เป็นแม่ปุ๋ย ประเทศไทยต้องนำเข้ามาประมาณเจ็ดแสนตันต่อปี ดังนั้นก็ควรที่จะอนุญาตให้มีการทำเหมืองเฉพาะแค่ลดการนำเข้า เพื่อให้ขนาดของเหมืองแร่ไม่ใหญ่เกินไป 

“แต่พอแปลงนโยบายมาสู่แนวทางปฏิบัติกลับผิดฝาผิดตัว เพราะขณะนี้ได้ให้ประทานบัตรไปแล้วสามแห่งคือเหมืองที่ด่านขุนทด อุดรธานี และชัยภูมิ รวมกำลังการผลิตกว่า 3.3 ล้านตันต่อปี ถือว่าเกินมาจากที่ตั้งเป้าไว้ถึงสี่เท่า นโยบายบอกว่าจะลดการนำเข้า แต่การปฏิบัติกลับมุ่งผลิตเพื่อส่งออก”

มีการคาดการณ์ว่าเป้าหมายในการส่งออกแร่โปแตชน่าจะเป็นประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมมากที่สุดในโลก และยังคงต้องการแร่โปแตชอีกมาก แม้ที่ผ่านมาประเทศจีนจะพึ่งพาการนำเข้าแร่โปแตชจากชาติตะวันตก เช่น รัสเซีย แคนาดา แต่แหล่งแร่โปแตชในภาคอีสานของไทยก็เป็นที่จับตามอง เนื่องจากอยู่ใกล้กว่าและราคาถูกกว่าที่อื่น 

ภาพรวมของสถานการณ์ล่าสุดของอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน เลิศศักดิ์ฉายภาพรวมให้ฟังว่า ปัจจุบันเหมืองที่ลงมือขุดแร่แล้วมีเพียงบริษัทไทยคาลิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนบริษัทเอเชียแปซิฟิคโปแตชฯ ที่อุดรธานี มีกระแสข่าวว่ากำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง 

ขณะที่บริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ อยู่ระหว่างรอเงินทุน รวมถึงบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน จำกัด จากประเทศจีน ซึ่งเคยได้รับอาญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจการทำเหมืองแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2558 แต่ดำเนินการไม่สำเร็จ และทำท่าว่าจะขออาญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจใหม่อีกครั้ง ยังไม่นับอีกกว่า 30 บริษัทที่กำลังยื่นขออาญาบัตรพิเศษเช่นเดียวกัน 

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความสำเร็จในการปลุกกระแสเหมืองโปแตชขึ้นมาอีกครั้งของนายกรัฐมนตรี แม้จะมีเสียงคัดค้านจากสังคมก็ตาม

“หลายคนพูดว่ายังไม่เห็นมีเหมืองไหนขุดแร่ได้เลย เหมืองไทยคาลิเองก็ยังขุดแร่ขึ้นมาสกัดไม่ได้ แถมตอนนี้เตรียมระเบิดอุโมงค์แห่งใหม่ ยังไม่ได้ขุดจริงๆ จังๆ ด้วยซ้ำ ผมขอตอบว่าปุ่มเดินเครื่องมันถูกกดไปแล้ว การทำเหมืองไม่ได้หมายความว่าใช้เครื่องจักรขุดแร่ขึ้นมาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ พ.ศ. 2560 ระบุว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง ไม่ว่าจะปรับหน้าดิน ถม ไถกลบ ขุดบ่อน้ำ สร้างคันดิน ปักเสาล้อมรั้วเพื่อเตรียมพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการทำเหมืองทั้งหมด

บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับประทานบัตร ในปี 2558 ผ่านไปกว่า 8 ปีจนถึงวันนี้ยังไม่สามารถขุดแร่ขึ้นมาสกัดได้เลย หนำซ้ำยังถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

“อุโมงค์ขุดแร่แห่งล่าสุดที่ดอนหนองโพธิ์ เขาจะลงมือวันไหนขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเป็นหลัก เพราะว่าใน EIA (รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ที่ระบุเรื่องปรับเปลี่ยนแผนผังการทำเหมืองขณะนี้ น่าจะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาปรับพื้นที่เสร็จเมื่อไร เครื่องจักรจะถูกส่งมาวันไหน ผมไม่รู้แผนการของทางเหมือง แต่บอกได้เลยว่าเขาพร้อมหมดแล้ว” 

สำหรับแนวคิดการชดใช้ค่าเสียหายเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้าน รวมถึงการเยียวยาฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมกลับคืนมาดังเดิม เลิศศักดิ์เชื่อว่าทั้งผู้ประกอบการเหมืองแร่โปแตชและหน่วยงานราชการยังไม่มีแผนดังกล่าวที่ชัดเจน 

“สิ่งที่บริษัทไทยคาลิทำก็คือพยายามไล่ซื้อที่ดินที่ได้รับผลกระทบ เพื่อตัดภาระความไม่พอใจของชาวบ้าน และกันเจ้าของที่ดินเหล่านั้นให้ออกไปจากพื้นที่ โดยไม่ต้องรอดูที่ดินตัวเองว่าจะฟื้นฟูยังไง เพราะมันกลายเป็นของเหมืองไปแล้ว คนที่พอใจกับเงินค่าชดเชยก็จะเงียบและหยุดต่อต้าน หลังจากนั้นเหมืองจะทำยังไงกับที่ดินของเขาก็ได้ตามใจชอบ เช่น เอาหน้าดินใหม่มาถมทับเพื่อกลบความขาวของเกลือ หรืออาจปล่อยไว้อีก 20-30 ปีแล้วลุ้นว่าในอนาคตอาจจะดีขึ้น

“ส่วนชาวบ้านที่ไม่ยอมขายที่ดินก็คงต้องปล่อยไปตามยถากรรม แล้วรอให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ซึ่งไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี เพราะภาพความเสียหายที่เราเห็นนั้นทำลายจิตใจมาก มันไม่เหมือนกับผืนป่าที่ชาวบ้านปลูกเพื่อสาธารณประโยชน์แล้วถูกหักล้างถางโค่น ปลูกต้นไม้ใหม่อีก 3-5 ปีเดี๋ยวก็ขึ้นเพราะดินยังดีอยู่ แต่ที่หนองไทรไม่ใช่แบบนั้น เมื่อดินมันพังไปแล้วจะปลูกอะไรได้อีก”

ชะตากรรมของชาวบ้านหนองไทรเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนยิ่งว่า เป็นการเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองโปแตชโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ยิ่งหากไม่มีกระบวนการผลิตที่รัดกุมและรอบคอบเพียงพอ ผลกระทบที่ตามมาอาจสร้างความเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้

ดูเหมือนว่าหายนะที่เกิดขึ้น… เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/thai/articles/cd1090z9j84o

https://hardstories.org/th/stories/natural-resources/thai-villages-unite-against-a-new-push-for-potash-mining

https://greennews.agency/?p=37378

https://www.seub.or.th/bloging/news/2023-185/

https://theisaanrecord.co/2024/03/21/preventing-of-the-potash-mine/

Tags: , , , , , ,