ถึงปีนี้ ‘วัดโพธิ์’ หรือ ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร’ น่าจะมีอายุเกินกว่า 246 ปี หากนับตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และใช้ชื่อวัดว่า ‘วัดโพธาราม’
นอกจากวัดโพธิ์จะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรี มีที่ตั้งอยู่เคียงข้างแท่น ‘ปราบดาภิเษก’ ก่อนที่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะยกทัพไป ‘ปราบดาภิเษก’ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทั้งยังเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตชั่วคราว ก่อนที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามจะสร้างแล้วเสร็จ อันที่จริง วัดโพธิ์ยังมีเรื่องราวมากมายทั้งในยามกลางวันและในยามค่ำคืน
ตั้งแต่เหตุผลของการที่วัดมีเจดีย์เพียงแค่ 4 รัชกาล คือรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ไปจนถึงเรื่องราวตาม ‘พงศาวดาร’ ว่าด้วยการก่อสร้างพระอุโบสถที่ ‘สังเวย’ คนงานก่อสร้างไปทั้งสิ้น 50 คน หรือประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าที่บอกเรื่องราวของ ‘ภิกษุต้นบัญญัติ’ เมื่อพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ 3 รูป รวมถึงพระพิมลธรรมวัดโพธาราม ถูกพระเจ้ากรุงธนบุรีสั่ง ‘เฆี่ยน’ เพราะทำให้พระองค์ทรงพิโรธ
เรื่อยไปจนถึงเรื่องราวยุคปัจจุบัน ว่าด้วยความผูกพันระหว่าง เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่ง ‘ไทยเบฟ’ กับวัดพระเชตุพนฯ ไปจนถึงสาเหตุที่ บารัค โอบามา (Barack Obama) ผูกพันกับวัดโพธิ์ ถึงขั้นต้องกำหนดให้อยู่จุดหมายปลายทางครั้งเยือนประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน
ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมวัดโพธิ์ในยามค่ำคืน ซึ่งจะส่องไฟให้สว่างกระจ่างชัดช่วง 18.00-20.00 น. ทุกวัน เราขอนำเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ เกี่ยวกับวัดโพธิ์ เพื่อให้การเยี่ยมชมของทุกท่านมีอรรถรสเพิ่มมากขึ้น
เจดีย์มีแค่ 4 รัชกาลฯ
จุดเด่นสำคัญของวัดโพธิ์อยู่ที่ ‘มหาเจดีย์ 4 รัชกาล’ เจดีย์ใหญ่ 4 องค์ที่เริ่มต้นสร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อครอบซากพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง 16 เมตร จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่กรุงศรีอยุธยา จากนั้นรัชกาลที่ 3 สร้างเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2 และของพระองค์เอง และรัชกาลที่ 4 ก็สร้างเจดีย์ของพระองค์อีกองค์
คำถามสำคัญก็คือ เมื่อเป็นวัดประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 1 แล้วทำไมรัชกาลต่อมาจึงไม่สร้างเจดีย์ของตัวเองต่อ ณ วัดโพธิ์
ตำนานเล่าว่า สมัยรัชกาลที่ 4 สร้างพระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัยไว้ 1 องค์ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อใกล้สวรรคตมีพระราชดำรัสกับรัชกาลที่ 5 ว่า “พระเจดีย์วัดพระเชตุพนฯ นั้นกลายเป็นใส่คะแนนพระเจ้าแผ่นดินไป ถ้าจะใส่คะแนนอยู่เสมอจะไม่มีที่สร้าง
“ควรจะถือว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งสี่พระองค์นั้นท่านได้เคยเห็นกันทั้งสี่ พระองค์จึงควรมีพระเจดีย์อยู่ด้วยกัน ต่อไปอย่าให้ต้องสร้างทุกแผ่นดินเลย” ข้อความนี้ถอดความมาจาก พระราชวิจารณ์ในรัชกาลที่ 5 เรื่อง จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
คำว่า ‘เห็นทันกัน’ อาจอธิบายได้ว่า รัชกาลที่ 1 เป็นพระราชบิดารัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 2 เป็นพระราชบิดารัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ในแง่หนึ่งรัชกาลที่ 4 เกิดทันเห็นรัชกาลที่ 1-3 แต่รัชกาลที่ 5 (เสด็จพระราชสมภพปี 2396) ทันเห็นเพียงรัชกาลที่ 4 เท่านั้น เมื่อทรงไม่ทันเห็นรัชกาลที่ 1-3 จึงเลือกเป็นเหตุผลที่จะไม่สร้างเจดีย์ร่วมกับอีก 4 พระองค์
ผนังอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ เคยพังทับคนตาย 50 คน
หนึ่งในจุดที่หลายคนชอบก็คือ ‘พระอุโบสถ’ เมื่อครั้งเปลี่ยนจากวัดโพธาราม มาเป็นวัดพระเชตุพนฯ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญพระพุทธเทวปฏิมากร พระพุทธรูปปางสมาธิ มาจากวัดศาลาสี่หน้า (ปัจจุบันคือวัดคูหาสวรรค์) ด้วยประสงค์ว่าจะเป็นพระนครอย่างถาวร นอกจากนี้ โดยรอบพระอุโบสถยังมีแผ่นหินแกะสลักภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์มากถึง 152 แผ่น
อย่างไรก็ตาม ในพระราชพงศาวดารของพระเจ้าทิพากรวงศ์เล่าเรื่องอันน่าสลด กล่าวคือ เมื่อครั้งบูรณะใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณะ ขยาย และสร้างพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ขึ้นใหม่ ในพระราชพงศาวดารระบุว่า “มาถึงวันจันทร์เดือน 4 แรม 4 ค่ำ มีการยกเครื่องบนขึ้น ผนังทะลายพังทับคนตาย 50 คน ลำบาก (บาดเจ็บ) เป็นหลายคน ด้วยเหตุพระอุโบสถใหญ่ มีเสาเล็ก ไม่มีเสาแก่น หนักตัวเข้าจึงพังลงมา รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้ทำใหม่ และใส่เสาแกนให้มั่นคง”
การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ครั้งใหญ่เกิดขึ้นรวม 3 ครั้ง ได้แก่ ในสมัยรัชกาลที่ 3, สมัยรัชกาลที่ 5 และสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9
ภิกษุต้นบัญญัติในยุค ‘พระเจ้ากรุงธนบุรี’
เรื่องเล่าอีกเรื่องที่อยู่คู่ ‘วัดโพธิ์’ ตั้งแต่สมัยเป็นวัดโพธาราม ก็คือเมื่อ ‘สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี’ ทรงมีพระราชปุจฉาถึงพระสงฆ์ 3 รูป ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี), พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรมวัดโพธาราม ทว่าทั้ง 3 รูป ตอบว่า ‘ไม่ได้’ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงพิโรธลงโทษทัณฑ์ภิกษุทั้ง 3 รูป ทั้งถอดจากสมณศักดิ์และเฆี่ยน กลายเป็น ‘ภิกษุต้นบัญญัติ’ หรือ หรือสงฆ์ผู้ทำผิดเป็นรูปแรก เรื่องเล่าก็คือการ ‘สั่งเฆี่ยน’ เกิดขึ้นที่วัดโพธารามนี้เอง
การ ‘สั่งเฆี่ยน’ และถอดพระภิกษุทั้ง 3 รูป กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเสียพระจริต เป็นการปูเรื่องจนเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์จักรีในเวลาต่อมา และหลังจากพระองค์ทรงปราบดาภิเษกไม่นาน ก็ทรงคืนสมณศักดิ์ให้กับพระสงฆ์ทั้ง 3 องค์ ก่อนที่พระพิมลธรรมจะได้รับการถวายสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระพนรัตน์ ที่วัดพระเชตุพนฯ ในปี 2337
กระนั้นเอง ผู้ที่เลื่อมใสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่า เรื่องของการสั่งลงโทษพระภิกษุไม่ใช่เรื่องที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระสติวิปลาส หากแต่เป็นเพราะพระพิมลธรรมวัดโพธารามและพระสงฆ์อีก 2 รูป อยู่ ‘ฝั่งตรงข้าม’ กับพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน อาจเป็นเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงใช้คำศัพท์บาลีที่มีความหมายถึงบุคคลที่ได้บรรลุธรรมวิเศษมี ‘โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล’ ที่เหนือกว่า ไม่ได้หมายความถึงพระองค์เอง ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ทั้ง 3 รูป อาจไม่ได้มีคำศัพท์บาลีเพียงพอในการตอบกลับสมเด็จพระเจ้าตากสิน แม้จะเป็นถึงพระราชาคณะ จึงอาจเป็นเหตุสมควรที่พระองค์ท่านจะต้องปลดออกจากสมณศักดิ์ เพราะคงไว้ก็ไม่มีประโยชน์ต่อพระบรมราโชบายของพระองค์ในการฟื้นฟูพระศาสนา
เรื่องทำนองนี้ ‘ผู้ชนะ’ เขียนประวัติศาสตร์ และไม่อาจมีใครล่วงรู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร
‘เจ้าสัวเจริญ’ และ ‘วัดโพธิ์’
หากเดินสำรวจทั่ววัดโพธิ์ จะเห็นชื่อ ‘มูลนิธิสิริวัฒนภักดี’ อุปถัมภ์อยู่ทั่ววัด… สาเหตุสำคัญก็เพราะ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวใหญ่แห่ง ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ มีประวัติที่ผูกพันกับวัดโพธิ์อย่างแนบแน่น
ครั้งยังเด็ก เคียกเม้ง แซ่โซว เคยรับจ้างรถส่งสินค้าขายแถวย่านสำเพ็ง ทรงวาด ก่อนจะกลายเป็นพ่อค้าหาบของขาย ทั้งน้ำปลาและเครื่องอุปโภคบริโภคเล็กๆ น้อยๆ เมื่อท้องหิวเคียกเม้งก็อาศัยข้าวก้นบาตรพระที่วัดโพธิ์ช่วยประทังชีวิต
ในเวลาต่อมา เคียกเม้งกลายเป็น ‘นายเจริญ’ (ว่ากันว่าพระสงฆ์ในวัดโพธิ์ตั้งชื่อไทยให้) แต่งงานกับ วรรณา แซ่จิว บุตรสาวของเจ้าสัวกึ้งจู แซ่จิว นักธุรกิจใหญ่ย่านทรงวาด และมีบทบาทชักนำให้เจริญเข้าสู่ธุรกิจสุราอย่างเต็มตัว สร้างฐานะร่ำรวยให้กับเจ้าสัวเจริญทุกวันนี้
เมื่อร่ำรวย เจ้าสัวเจริญก็ไม่ลืมวัดโพธิ์ กลับมาอุปถัมภ์วัดตลอดมา ทั้งในนาม ‘ไทยเบฟ’ และในนาม ‘มูลนิธิสิริวัฒนภักดี’ ขณะเดียวกัน ก็ส่งบุตรชาย 2 คน ทั้ง ฐาปน สิริวัฒนภักดี และปณต สิริวัฒนภักดี บวชที่วัดโพธิ์
ปัจจุบัน ไวยาวัจกรของวัดพระเชตุพนฯ มีชื่อว่า ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของไทย และหลายโอกาสสำคัญ ครอบครัวสิริวัฒนภักดีมักจะปรากฏตัวกันพร้อมหน้า บริเวณแท่นใกล้กับพระอุโบสถของวัดพระเชตุพนฯ
โอบามากับภาพสลักในตำนาน
หากสังเกตภายในวัดโพธิ์ จะพบภาพถ่ายของบรรดาผู้นำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ของฝรั่งเศส ดมีทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย และผู้นำจากประเทศน้อยใหญ่หลากหลายคนยืนเคียงคู่กับ พระเทพวัชราจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์
เรื่องที่ผู้นำโลกทั้งหมดต่างเลือกวัดโพธิ์เป็นจุดหมายปลายทาง เริ่มต้นจากอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barack Obama) ของสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางมาเยือนเป็นคนแรกๆ เมื่อปี 2555 ครั้งเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
เหตุที่ประธานาธิบดีโอบามา เลือกวัดพระเชตุพนฯ เป็นจุดหมายหลัก มีเรื่องเล่าว่า สแตนลีย์ แอนน์ ดันแฮม (Stanley Ann Dunham) แม่ของโอบามาซึ่งอาศัยอยู่ในอินโดนีเซียเป็นเวลานาน เมื่อครั้งยังสาวเคยมาเยือนวัดโพธิ์ครั้งหนึ่ง โดยมี ‘ภาพสลัก’ ลายนางรำจากเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งลอกลายมาจากภาพสลักข้างอุโบสถวัดโพธิ์ และดันแฮมน่าจะประทับใจกับภาพสลักดังกล่าว ถึงขั้นวางไว้ข้างโต๊ะทำงานเป็นของที่ระลึกติดออฟฟิศ
สิ่งที่ดันแฮมบอกลูกชายที่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ ก็คือ หากมาเมืองไทย อย่าลืมไปดูภาพสลักที่วัดโพธิ์ และเมื่อลูกชายได้เป็นประธานาธิบดี ก็ชวน ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในเวลานั้น เดินเยี่ยมชมวัดโพธิ์ เพื่อตามหาภาพสลัก ในช่วงบ่ายวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555
เกร็ดประวัติศาสตร์ก็คือ วัดโพธิ์นั้นไม่เคยปิด… แต่ปิดเป็นวันแรกเมื่อประธานาธิบดีโอบามาและรัฐมนตรีคลินตันเยี่ยมชมวัดโพธิ์ เพราะเมื่อประธานาธิบดีแห่งโลกเสรีเข้าเยี่ยมชม ต้องมีทั้งหน่วยรักษาความปลอดภัย หน่วยสืบราชการลับอารักขาโอบามาอย่างเพียบพร้อม กระทั่งบนโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ก็ต้องมีพลแม่นปืนเฝ้าประจำจุดอย่างเคร่งครัด
ภาพที่เห็นเป็นประจำก็คือภาพของประธานาธิบดีโอบามาหัวเราะอย่าง ‘เอร็ดอร่อย’ ไปกับพระเทพวัชราจารย์
วันนั้น โอบามาพูดกับพระเทพวัชราจารย์ว่า “นักท่องเที่ยวเยอะขนาดนี้ วัดโพธิ์น่าจะรายได้เยอะน่าดู”
“ใช่ รายได้เยอะ แต่ไม่รู้วันนี้เราขาดรายได้ไม่รู้กี่ล้าน กับการปิดวัดให้คุณเดินเที่ยว” พระเทพวัชราจารย์หยอกกลับประธานาธิบดีโอบามาเป็นภาษาอังกฤษอย่างออกรสชาติ ทำให้ทั้งโอบามาและคลินตัน ต่างก็ขำพร้อมกัน
Fact Box
วัดโพธิ์ในเวลากลางคืน เปิดให้เข้าชมเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เวลา 18.00-20.00 น. ชาวไทยเข้าชมฟรี ขณะที่ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชมคนละ 300 บาท