วันที่ 20 มิถุนายน 2566 นับเป็นหนึ่งวันสำคัญที่คนอาจไม่รู้จักกันเท่าไรนักอย่าง ‘วันผู้ลี้ภัยโลก’ (World Refugee Day) โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) กำหนดขึ้น เพื่อระลึกถึงความเข้มแข็งและความกล้าหาญของผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศบ้านเกิดจากความขัดแย้ง ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นแก่ผู้ลี้ภัยทั่วโลก

อ้างอิงจากรายงานประจำปีของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) พบว่า ภายในสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา จำนวนผู้พลัดถิ่นจากสงครามและความรุนแรงอันเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก อยู่ที่ 108.4 ล้านคน (หรือจำนวนประมาณการทั้งสิ้น 110 ล้านคน) ซึ่งเพิ่มจากปี 2564 ถึง 19.1 ล้านคน นับเป็นจำนวนที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และจากจำนวนทั้งหมดข้างต้นพบว่า กว่า 35.3 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัยที่อพยพข้ามพรมแดนระหว่างประเทศเพื่อหาที่ปลอดภัย โดยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 58% นี้ (ประมาณ 62.5 ล้านคน) เป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ (Internally Desplaced People: IDPs) เนื่องจากความขัดแย้ง ความรุนแรง และการถูกคุกคามอันมีสาเหตุมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน

หากกล่าวถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น หรือผู้อพยพย้ายถิ่นในบริบทที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย กลุ่มผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศเมียนมาถือเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก และในหลายครั้งก็ส่งอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับไทยในแต่ละยุคสมัยของการเมืองไทย ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังรัฐประหาร มาจนถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เรียกได้ว่ามีชาวเมียนมาจำนวนไม่น้อยที่จับตาดูการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของการเมืองไทยครั้งนี้

เพราะการเมืองไทยก็ส่งผลกระทบกับพวกเขาเช่นกัน

The Momentum คุยกับตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มากไปถึงการถูกปฏิบัติจากรัฐไทยอย่างไร และไปถึงความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในครั้งนี้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ปัญหาผู้ลี้ภัยในเมียนมาที่แก้ไขไม่ตรงจุด: อุปสรรคจากอำนาจรัฐส่วนกลางที่คำนึงถึงแต่ ‘ความมั่นคง’ เป็นหลัก ไร้ซึ่งความเข้าใจในแง่การปฏิบัติ

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 เวลา 13.00 น. มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, เสมสิกขาลัย, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF), Karen Peace Support Network และ The Border Consortium ร่วมกันจัดงานเสวนาโต๊ะกลม ‘เพื่อนข้างบ้าน’ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการและการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาและผู้พลัดถิ่นในประเทศ พบว่า อุปสรรคจากอำนาจรัฐส่วนกลางที่ลงมากำกับนโยบายผู้อพยพข้ามแดน โดยคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงเป็นหลักเพียงอย่างเดียวนั้น สร้างความยากลำบากในการจัดการและการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเป็นอย่างมาก

ในวงสนทนาดังกล่าว นักวิชาการ นักการเมืองในท้องที่ ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้าน และหน่วยงานที่ทำงานขับเคลื่อนในภาคประชาสังคม ทุกคนมีส่วนที่มองคล้ายและต่างกันออกไปตามงานที่แต่ละคนทำและแนวปฏิบัติยึดถือ แต่สิ่งที่มองเห็นตรงกัน คือหลังการรัฐประหารเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจำนวนมากเข้ามาในเขตอำเภออุ้มผาง อำเภอแม่สอด และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ทั้งผู้อพยพริมน้ำและผู้ลี้ภัยในเมือง ปัญหาคือแม้จะมีพื้นที่รองรับผู้ประสบภัยอยู่บ้าง แต่ไม่มีการประสานงานที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือแต่เข้าถึงพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจากติดขั้นตอนการประสานงานกับทหารไทย คนที่ต้องการความช่วยเหลือจึงเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้

ในที่ประชุมมีข้อเสนอร่วมกันว่า ภาครัฐควรทำความเข้าใจทั้งพื้นที่และคนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการออกนโยบายที่ครอบคลุมและแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด รวมไปถึงเสนอให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการประสานงาน และเป็นกลไกให้ผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพเข้าถึงพื้นที่ปลอดภัยและความคุ้มครอง ในขณะที่การสู้รบในเมียนมายังคงดำเนินอยู่และเป็นเรื่องยากที่จะสิ้นสุดลงในเร็ววันนี้ คนที่ข้ามแดนเข้ามาด้วยสถานการณ์ความไม่สงบก็คงไม่อาจเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ บางคนที่เข้ามาและข้ามกลับไปมีความเสี่ยงถึงชีวิต เราจึงยังต้องคิดถึงเรื่องการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ที่ข้ามมาเพื่อแสวงหาพื้นที่ปลอดภัย

ดังนั้น ปัญหาหลักเกี่ยวกับประเด็นผู้ลี้ภัยเมียนมาในตอนนี้ เป็นปัญหาการจัดการในพื้นที่ซึ่งรัฐยังมองเรื่องความมั่นคงเป็นสำคัญอยู่ จึงทำให้ยากต่อการจัดการ ขณะที่บริเวณอำเภอแม่สอด อุ้มผาง และพบพระ มีการจัดการโดยคนพื้นที่ร่วมด้วย จึงมีความเข้าใจในปัญหามากกว่า ซึ่งหากสามารถดึงศักยภาพของรัฐในพื้นที่และชุมชนเข้ามาร่วมจัดการ จะทำให้การรับมือกับสถานการณ์ได้ผลเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือชุมชนในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เป็นชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกันมานาน

คุยกับตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ตัวแทนจาก HRDF เริ่มต้นจากการเล่างานที่ทำคร่าวๆ ว่า เป็นการประสานงานอยู่ที่คลินิกกฎหมายแรงงานอำเภอแม่สอด โดยมักให้ความช่วยเหลือในด้านคดีความกับแรงงานข้ามชาติ แล้วก็ให้ความรู้ในด้านของกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งกับแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายแรงงาน ภาครัฐ รวมไปถึงภาคเอกชนในการผลักดันให้เกิดการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามกฎหมายระบุไว้ หากพบช่องว่างก็จะผลักดันในด้านของกฎหมายและนโยบายให้เกิดการแก้ไข

สำหรับในส่วนของคนและพื้นที่ตรงนั้น ส่วนใหญ่เป็นของคนเมียนมาที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามา มีทั้งแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย (ที่อยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัย) ไปจนถึงกลุ่มที่ลักลอบเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประสบภัยทางการเมืองจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และกลุ่มสุดท้ายคือชาวบ้านที่อยู่ตามเกาะซึ่งก็คือผู้พลัดถิ่นในประเทศ

ตัวแทน HRDF กล่าวว่า ในส่วนของการพยายามจะจัดประเภทคนเป็นไปได้ยากมาก เพราะผู้คนมีการผสมผสานกันไปหมด อีกทั้งเมื่อต้องมาจัดประเภทเพื่อให้สามารถระบุตัว และหาสถานะทางกฎหมายที่แต่ละคนสามารถระบุเพื่อถูกรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะกฎหมายของรัฐไทยไม่ครอบคลุมกับคน

กล่าวได้ว่า งานของ HRDF เป็นงานที่มีการใช้ ‘กฎหมาย’ เป็นเครื่องมือ ซึ่งที่ผ่านมา HRDF พยายามใช้กรอบกฎหมายให้ถูกต้อง และพยายามหาดูว่ามีช่องกฎหมายใดที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและพลัดถิ่นเหล่านั้นได้บ้าง

ตัวแทนจาก HRDF กล่าวต่อว่า ‘ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาขึ้นอยู่กับสถานะที่ได้รับ’ กล่าวคือ คนเมียนมาที่เข้ามามีหลายกลุ่มมาก พอดูในแง่ความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย ข้อกฎหมายไทยระบุให้เขา ‘เป็นเพียงแค่แรงงานหรือผู้ลี้ภัยในแคมป์’ ถ้าไม่ได้เป็นแรงงานแต่เป็นผู้ลี้ภัยในแคมป์เข้าเมืองมา ก็จะถูก พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2521 ระบุว่าเป็นบุคคลหลบหนีเข้าเมือง ถ้าเขาเริ่มคิดจะทำงาน เขาจะเจอ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เข้ามาจัดการ เพราะว่ากฎหมายไทยระบุเพียงแค่ว่า จะเป็นได้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ระหว่าง ‘แรงงาน’ กับ ‘ผู้ลี้ภัย’ จึงส่งผลให้คนส่วนมากที่มีสถานะทับซ้อนกันไม่สามารถกระทำอะไรได้ เพราะว่าเขามีสถานะที่ทับซ้อน และการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ครอบคลุมต่อการใช้ชีวิต

“แต่คนมันไม่สามารถที่จะอยู่เฉยๆ รอความช่วยเหลือได้ตลอด แล้วสถานะที่มันไม่แน่นอน การนิยามสถานะที่แคบมาก มันไม่สามารถที่จะไปไกลได้ขนาดนี้

“ตัวอย่างเช่น พอจับพวกเขามาแล้วบอกว่าเป็นแรงงานเมียนมา ไม่ได้สอบถามว่าสถานะเบื้องหลังของเขาเป็นใคร เขาก็จะถูกจับไปให้พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจที่จะส่ง ตม. (ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง) ส่งให้รับสารภาพแล้วผลักกลับประเทศไปเลย โดนข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้าเจอเรื่องของการทำงานด้วยก็จะเจอ พ.ร.ก.การบริหารจัดการ”

ตัวแทนจาก HRDF ขยายต่อว่า เมื่อโดนกฎหมายคนเข้าเมือง กระบวนการจะเร็วมาก และสามารถผลักคนเหล่านั้นกลับประเทศได้เลย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นระบบของการคัดกรองบุคคล ดังนั้น ความพยายามขององค์กรในการแยกออกมาว่า คนหนึ่งคนมีปัจจัยเบื้องหลังที่แท้จริงคืออะไร ก็เป็นไปเพื่อจะได้เร่งให้ความช่วยเหลือในกรอบทางด้านกฎหมาย รวมถึงการคุ้มครองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้อง ซึ่งกรณีของเมียนมามีความซ้อนทับกันหลายภาคส่วนและหลายองค์กร

การที่เขาถูกปฏิบัติจากรัฐเช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างไรกับคนในพื้นที่บ้าง

การปฏิบัติจากรัฐส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิต สถานะทางกฎหมาย มากไปถึงความเป็นอยู่และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขา

“คนเขาก็ต้องแสวงหาสถานที่และวิธีที่เขาอยู่ได้ แล้วก็ในส่วนตัวเราเองมองว่า เราทำงานต้องพยายามถามให้มากขึ้นว่าเขาเป็นใคร รวมถึงร่วมมือกับเครือข่าย เพื่อ Qualified ให้ชัดว่าเขาเป็นใคร คือมันเหมือนกับว่าในกรอบการ Screening ของเราเป็นเพียงแค่กรอบการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วภายใต้กรอบนั้นมันมีมากกว่า คือสถานะของคนที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ทางสัญชาติ เชื้อชาติ หรือว่าในด้านของความเป็นและไม่เป็นเหยื่อ แต่จริงๆ แล้ว คนมีสถานะที่ซ้อนอยู่ข้างหลัง”

The Momentum ถามต่อว่า ในส่วนของ HRDF ช่วยเหลืออย่างไรได้อีกหรือไม่ นอกจากเรื่องทางกฎหมาย ซึ่งตัวแทน HRDF กล่าวว่า กฎหมายเหมือนเป็นเครื่องมือในทางสถานะ เราทำได้ประมาณนี้ในเบื้องต้น ดังนั้น จึงต้องเกิดการทำงานกันในหลายภาคส่วนว่าจะรับและส่งต่อยังไง และผลักดันในเชิงนโยบายอย่างไรให้ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการขูดรีดเพื่อผลประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเปราะบางไปยิ่งกว่านี้อีกจากสถานะของพวกเขา อีกเรื่องหนึ่งคือสิทธิเบื้องต้นของคนกลุ่มนี้ เช่น การเข้าโรงเรียน การเข้ารักษาตามโรงพยาบาล เพราะการอพยพย้ายถิ่นของเขาเวลามาไม่ได้มาเพียงแค่คนเดียว แต่มาเป็นครอบครัว ก็ต้องมาดูว่ากรณีไหนที่จะรับ และกรณีไหนที่จะส่งต่อตามหน้าหน้าที่งานต่อไป

“คนที่อยู่ตรงนั้นเขาไม่รู้แม้กระทั่งว่าเขาเป็นใคร เพราะกฎหมายถูกตีแค่เป็นคนในแคมป์หรือไม่เป็นคนในแคมป์ หลบหนีเข้าเมืองหรือเปล่า พอคนกลุ่มนี้เขาพยายามหาสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้องขึ้นมา ต้องไปขึ้นทะเบียนแรงงาน พอไปขึ้นทะเบียนแรงงานและต้องหานายจ้าง สถานะเขาจะขัดแย้งกันไหม (ระหว่างการลักลั่นสองสถานะระหว่าง ‘ผู้ลี้ภัย’ กับ ‘แรงงาน’)

“ไหนจะเรื่องกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ จะส่งผลกับพวกเขาไหม เพราะกระบวนการพิสูจน์สัญชาติต้องมาจากประเทศต้นทาง ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่าพม่ามีความหลากหลายและขัดแย้งในเชื้อชาติสูง เราคิดว่าอันนี้มันเป็นการจำกัดกรอบที่แคบเกินไป เราอยากให้มันเกิดการแก้ไขปัญหาตามสถานะของเขาจริงๆ เพราะกระบวนการไปประเทศที่สามก็ค้างคาไว้เยอะ”

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า คนเมียนมาที่เข้ามามีทั้งความต้องการที่จะอพยพและลี้ภัย หากแต่ ‘ประเทศไทยอาจเป็นแค่ทางผ่าน ไม่ใช่ปลายทาง’ แต่เมื่อกระบวนการการไปประเทศที่สามไม่ได้มีสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่จำกัดแค่คนที่เป็นผู้ลี้ภัยในแคมป์ ซึ่งประเทศที่สามส่วนใหญ่ที่พวกเขาพยายามไปให้ถึง เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงเพราะติดกระบวนการที่ไทย

ผู้ลี้ภัยเมียนมาในฐานะ ‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’: คนที่ไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของไทย แต่กลับถูกรัฐไทยหยิบยกไปใช้ในฐานะเครื่องมือทางการเมือง

จิออร์จิโอ อกัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี เสนอแนวคิดเรื่อง ‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’ (naked life, bare life, homo sacer) เพื่ออธิบายถึงสภาวะของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์ในสภาวะสมัยใหม่ อกัมเบนสนใจเรื่องนี้เพราะเขามองว่าชีวิตของมนุษย์ในสภาวะสมัยใหม่นั้นไม่สามารถแยกออกจากการเมืองและอํานาจขององค์อธิปัตย์ได้ เขาจึงศึกษาการทํางานของอํานาจอธิปัตย์ต่อชีวิตมนุษย์ ซึ่ง ‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’ ก็เป็นตัวแบบอันหนึ่งที่เขานํามาใช้อธิบาย โดยการมองหาตรรกะของตัวอย่างที่เขายกมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าอํานาจอธิปัตย์ทํางานกับชีวิตมนุษย์อย่างไร ซึ่งกรณีชาวยิวกับค่ายกักกันเอาท์ชวิตซ์เป็นตัวอย่างที่อากัมเบนมักนํามาใช้บ่อยๆ

‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’ ในทัศนะของอากัมเบนอาจกล่าวอย่างเข้าใจโดยง่ายว่า เป็นชีวิตที่มิได้รับความสนใจจากสังคมและจากรัฐ รัฐไม่มีการคุ้มครองทั้งในแง่ของสิทธิและเสรีภาพ หากแต่เป็นชีวิตที่ถูกจับจ้องและควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเคร่งครัด มากไปถึงการควบคุมดังกล่าวนั้นมักอยู่ในสถานะยกเว้น (State of Exception) ซึ่งเป็นสภาวะที่มุ่งทำให้บุคคลสูญเสียสถานภาพทางการเมืองอย่างถึงที่สุด อีกทั้งชีวิตที่เปลือยเปล่าและสภาวะยกเว้นเช่นนี้อาจมิได้เกิดจากความผิดพลาดหรือการไม่สามารถควบคุมทางการเมือง หากแต่เป็นความจงใจของผู้มีสิทธิอำนาจอย่างรัฐในการสร้าง ‘ผู้เปลือยเปล่า’ ขึ้นมา

กลับมาที่สถานการณ์ของผู้อพยพย้ายถิ่นและลี้ภัยชาวเมียนมามาสู่ไทย จะเห็นว่านอกเหนือไปจากสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว ยังมีสถานะอื่นที่ทับซ้อนกันอยู่ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ลี้ภัยในแคมป์ที่ถูกทำให้กลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า หากแต่ผู้อพยพย้ายถิ่นในรูปแบบอื่นๆ ก็ถูกทำให้กลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าได้เช่นเดียวกัน จากการที่รัฐออกกฎหมายที่ไม่ครอบคลุมกับสถานะและความเป็นอยู่ในความจริงของพวกเขา ความลักลั่นในสถานะดังกล่าวทำให้พวกเขาตกอยู่ในความ ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง’ เฉกเช่นทุกวันนี้

ความหวังครั้งใหม่ของผู้อพยพลี้ภัยจาก ‘การจัดตั้งรัฐบาลไทย’ ที่กำลังจะมาถึง

เมื่อวานนี้ (20 มิถุนายน 2566) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ย้ำจุดยืนแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองเมียนมาหลังการรัฐประหาร 2564 เน้นยึด ‘หลักฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน’ เตรียมเปิดการเจรจาทุกฝ่ายเพื่อนำเมียนมาไปสู่สันติภาพและความมั่นคง เผยเตรียมตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่าน ดูแลปัญหานี้โดยเฉพาะ

พิธาระบุว่า เขาและทีมงานติดตามสถานการณ์ปัญหาวิกฤตการเมืองเมียนมาอย่างใกล้ชิด แต่มีข้อกังวลบางประการ โดยเฉพาะจุดยืนของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการกับสถานการณ์ในเมียนมา

อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐไทยตระหนัก และมีความต้องการอย่างยิ่งในการจะแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเมียนมา แม้ในแถลงการณ์นี้จะไม่ได้กล่าวถึงผู้อพยพลี้ภัยหรือย้ายถิ่นโดยตรง หากแต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้อพยพลี้ภัยชาวเมียนมาอย่างแท้จริงแน่นอน อีกทั้งพวกเขายังติดตามการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะผ่านการพูดคุยเจรจากันในหลากหลายภาคส่วน หรือเข้ามาศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ เพื่อออกแบบกฎหมายและนโยบายให้สอดคล้องกับผู้คนและพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างไรก็ตาม เราก็คาดหวังว่าชีวิตของพวกเขาจะถูกรับรองในสถานะทางกฎหมายและสังคมโดยรัฐ และหวังว่าพวกเขาจะไม่ต้องถูกทำให้กลายเป็น ‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’ อีกต่อไป

อ้างอิง

– ประชาไท. (2565). ‘ผู้ลี้ภัยพม่า’ ท่ามกลางสงคราม และการจัดการที่ไม่ก้าวข้ามความมั่นคงของรัฐไทย. https://prachatai.com/journal/2022/06/99195

– ปิติรักษ์ คืนตัก. (2565). “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” มองผู้ลี้ภัยทางการเมืองผ่านคนรุ่นใหม่ และประสบการณ์จริงของผู้ไร้แผ่นดิน https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/361

– SDG Move. (2566). “hope away from home” แม้อยู่ไกลบ้าน แต่ยังมีหวัง – ชวนติดตามกิจกรรมและชมภาพยนตร์ใน ‘วันผู้ลี้ภัยโลก’

Tags: , , , ,